หน้าแรก    ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบคำถาม    เข้าสู่ระบบ      


สุดอาลัย?เรือหลวงนาคา? รับใช้ราชนาวีไทย 40 ปีเตรียมส่งคืนมะกัน

โดยคุณ : ท.กองหนุน เมื่อวันที่ : 18/05/2007 14:25:14

สุดอาลัย?เรือหลวงนาคา? รับใช้ราชนาวีไทย 40 ปีเตรียมส่งคืนมะกัน
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 18 พฤษภาคม 2550 10:53 น.

เตรียมพร้อมส่งมอบเรือหลวงนาคา

คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
นำเรือหลวง นาคาเข้าเทียบท่าเรือแหลมเทียน ฐานทัพเรือสัตหีบ

เรือหลวง นาคา

ภาพ เรือหลวง นาคา ในอดีต

สมาคมนักรบโบราณสหรัฐอเมริกา ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2

ศูนย์ข่าวศรีราชา - กองทัพเรือเตรียมส่งมอบเรือหลวงนาคา ที่ต่อขึ้นในยคสงครามโลกครั้งที่ 2 คืนให้กับสมาคม National Association of USS LCS (L) 1 - 130 ของสหรัฐฯ เพื่อทำเป็นเรือพิพิธภัณฑ์ 22 พ.ค.นี้ ณ ท่าเรือจุกเสม็ด ฐานทัพเรือสัตหีบ หลังให้กองทัพเรือไทยใช้มากว่า 40 ปี
       

       ผู้สื่อข่าวรายงานจากกองทัพเรือว่า พลเรือเอก สถิรพันธุ์ เกยานนท์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้สั่งการให้สำนักงานเลขานุการ กองทัพเรือ จัดนายทหารควบคุมการนำเรือหลวงนาคา โดยเรือเอก จิระพล ช้อยเพ็ง ผู้บังคับเรือหลวงมันในกองเรือยกพลขึ้นบก กองเรือยุทธการ พร้อมข้าราชการประจำเรือหลวงนาคา เดินทางออกมาจากท่าเทียบเรืออู่พระจุลจอมเกล้า จังหวัดสมุทรปราการ ด้วยการใช้เรือหลวงแสมสารช่วยในการลากจูงเข้ามาเทียบไว้ที่ท่าเทียบเรือแหลมเทียน ฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
       
       ทั้งนี้ เพื่อจัดเตรียมเรือในการส่งมอบให้กับสมาคม National Association of USS LCS (L) 1-130 ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 ณ การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยมี พลเรือเอก สถิรพันธุ์ เกยานนท์ เป็นประธานส่งมอบลงนามโอนสิทธิ์เรือ ระหว่างกองทัพเรือ กับสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา และสมาคมนักรบโบราณสงครามโลกครั้งที่ 2 ของสหรัฐอเมริกา
       
       สำหรับการโอนสิทธิ์เรือหลวงนาคา กลับคืนสู่พิพิธภัณฑ์ทางประวัติศาสตร์สงครามประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงกลาโหม ให้กองทัพเรือส่งมอบเรือให้กับสมาคมดังกล่าวตามความเห็นชอบของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อนำเรือไปเป็นเรือพิพิธภัณฑ์ทางประวัติศาสตร์ที่ Mare Island Naval Shipyard เมือง Vallejo ประเทศสหรัฐอเมริกา ภายใต้เงื่อนไขการคืนเรือจะกระทำในลักษณะตามสภาพที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน
       
       โดยประเทศสหรัฐอเมริกาจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งหมด และยังให้สัญญาว่าจะยังคงชื่อเรือ นาคา หรือ " H.T.M.S. NAKHA" และประวัติเรือไว้เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่ประเทศไทย และกองทัพเรือ อีกทั้งจะเป็นสัญญาลักษณ์แห่งความสัมพันธ์ทางทหารที่ดีระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาตลอดไป
       

       เรือหลวงนาคา ชื่อเดิม LSSL-102 ต่อที่อู่เรือ Commercial lron Works เมือง Portland รัฐโอเรกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา วางกระดูกงูเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2488 ปล่อยเรือลงน้ำเมื่อ พ.ศ.2488 เพื่อเป็นเรือสำหรับการยกพลขึ้นบกของหน่วยนาวิกโยธิน(Landing Craft Support - LCS) หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพสหรัฐอเมริกาได้โอนกรรมสิทธิ์ให้กองทัพเรือญี่ปุ่นใช้ชั่วคราว จนหมดความจำเป็นสหรัฐอเมริกาจึงได้ขอเรือกลับคืนมาทำการซ่อมทำใหม่ แล้วส่งมอบให้กับกองทัพเรือไทยตามโครงการช่วยเหลือทางทหาร ซึ่งส่งมอบให้กองทัพเรือไทยเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2509 ณ ฐานทัพเรือสัตหีบ
       
       ได้ทำพิธีมอบและขึ้นระวางประจำการไว้ในสังกัดกองเรือยกพลขี้นบก เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2509 ณ ท่าราชวรดิษ โดยมี พลเรือเอก จรูญ เฉลิมเตียรณ ผู้บัญชาการทหารเรือในขณะนั้น ซึ่งต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า "เรือหลวงนาคา"
       

       นาวาเอก นพพล สุภากร อดีตผู้บังคับการเรือหลวงนาคา คนที่ 22 เปิดใจว่า ขณะที่รับตำแหน่งเป็นผู้บังคับการเรือ ได้มีโอกาสนำเรือออกเดินทางปฏิบัติตามคำสั่งลับของกองเรือยุทธการ ให้เป็นหมู่เรือลาดตระเวนชายแดนทางด้านจังหวัดตราดเขตติดต่อกับประเทศกัมพูชา เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย แนวชายแดนทางทะเล
       
       ยอมรับว่าเรือลำนี้มีศักยภาพสูงและสมรรถนะสูงในการทำการยุทธ์ เป็นเรือที่มีปืนใหญ่ประจำเรือมากที่สุดในกองทัพเรือ เมื่อนำเรือไปปฏิบัติราชการชายแดนจะทำให้ข้าราชการประจำเรือมีขวัญกำลังใจ อุ่นใจเมื่อเกิดภัยขึ้น ซึ่งปืนขนาดต่าง ๆ ใช้ในภารกิจยิงสนับสนุนการยกพลขึ้นบกให้กับ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
       
       เมื่อทราบว่าเรือลำนี้ถูกร้องขอกลับคืนไปสู่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่าของนักรบรุ่นเก่า ก็ถือว่าเป็นการเชิดชูเรือนาคาที่ราชนาวีไทยได้รักษาเอาไว้อย่างดีที่สุด เป็นเรือรบลำแรกที่ยังเหลือให้ค้นคว้าประวัติศาสตร์สงครามในยุคเก่า
       
       พลเรือโท ปิติ อุตตะโมท รองผู้บัญชาการ กองเรือยุทธการ เผย ว่านับเป็นเวลานานถึง 40 ปี ที่เรือหลวงนาคา ประจำการอยู่ในสังกัดกองเรือยุทธการ โดยเรือมีความยาวตลอดลำ 47.40 เมตร กว้าง 7.00 เมตร ระวางขับน้ำสูงสุด 387 ตัน เครื่องจักรใหญ่ดีเซล 2 เครื่อง ความเร็วสูงสุด 13 น็อต มีภารกิจหลักคือการระดมยิงฝั่งและการยิงสนับสนุนระหว่างการยกพลขึ้นบก ป้องกันภัยทางอากาศ
       
       เรือลำนี้จึงได้รับการติดตั้งปืนขนาดต่าง ๆ เป็นจำนวนมากที่สุดในกองทัพเรือ จนได้รับฉายาว่า "เรือบรรทุกปืน" นับว่าเป็นเรือที่เป็นเขี้ยวเล็บสำคัญยิ่ง มีผู้บังคับการเรือมาแล้วถึง 42 นาย คนแรก คือ เรือเอก วิเชษฐ การุณยวนิช ปัจจุบันเป็นพลเรือเอก เกษียณอายุราชการ และคนสุดท้ายคือ เรือเอก ภาณุชา ลุขะลัง
       

       โดยเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2549 กระทรวงกลาโหมได้มีคำสั่งให้ปลดเรือหลวงนาคาออกจากระวางประจำการ ปิดฉากการรับใช้ชาติอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งเรือหลวง นาคา ได้เคยปฏิบัติราชการ หมู่เรือลาดตระเวนชายแดนด้านภาคใต้ และหมู่เรือลาดตระเวนชายแดนภาคตะวันออกด้านจังหวัดตราดเขตติดต่อกับกัมพูชา มาแล้วหลายครั้ง เพราะเป็นเรือที่มีศักยภาพทางการรบสูง
       
       พลเรือเอก สถิรพันธุ์ เกยานนท์ ผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าวว่า นับเป็นความอาลัยของกองทัพเรือและข้าราชการที่เคยประจำเรือหลวง นาคา ด้วยความผูกพันที่ต้องสูญเสียเขี้ยวเล็บของกองทัพไป แต่ก็แฝงไว้ด้วยความดีใจที่ สมาคมนักรบทางเรือรุ่นเก่าสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ขอโอนสิทธิ์การดูแลกลับคืนไปสู่พิพิธภัณฑ์ทางประวัติศาสตร์ ที่มลรัฐ California ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่าเป็นเรือลำแรกที่สหรัฐอมริกาพบว่าหลงเหลืออยู่ในการดูแลของกองทัพเรือไทย และในวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 เวลา 15.00 น.จะทำพิธีส่งมอบโอนสิทธิกัน
       
       หลังจากนั้นทางสมาคมดังกล่าวจะลากจูงเรือไปที่ฮ่องกง เพื่อบรรทุกขึ้นเรือขนส่ง (Cargo Ship) ไปส่งมอบกันที่เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกาต่อไป และได้ให้คำมั่นสัญญาว่า จะคงไว้ซึ่งชื่อเรือหลวง "นาคา"ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ฯ พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาอีกด้วย