ทัพเรือสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ต.991 จำนวน 3 ลำ เพื่อสนองแนวพระราชดำรัส และเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษาพระบาทพระเจ้าอยู่หัว ผบ.ทร.มั่นใจเสร็จก่อน 5 ธ.ค.นี้แน่นอน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสแก่กองทัพเรือ เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2545 เกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพของกองทัพเรือให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันประเทศ ความว่า
"เรือรบขนาดใหญ่มีราคาแพง และมีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานสูง กองทัพเรือจึงควรใช้เรือที่มีขนาดเหมาะสม และสร้างได้เอง ซึ่งเมื่อสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.991 ได้แล้ว ควรขยายแบบเรือให้ใหญ่ขึ้น และสร้างเพิ่มเติม"
กองทัพเรือจึงเร่งดำเนินการสนองแนวพระราชดำรัส โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชวินิจฉัยในเรื่องขนาด รูปทรงของเรือ และน้ำหนัก รวมทั้งการใช้เชื้อเพลิงและการออกแบบ เพื่อให้เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งลำใหม่มีสมรรถนะสูงสุดในการปฏิบัติการทางทะเล
การจัดสร้างเรือ ต.991 จำนวน 3 ลำ จะใช้วงเงินประมาณ 1,912 ล้านบาท ใช้ระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2548-2550 เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2550
โดยกองทัพเรือมีแผนที่จะปลดประจำการเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุด เรือ ต.11 ที่ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา เนื่องจากใช้งานมานานประมาณ 40 ปีแล้ว โดยได้นำแนวพระราชดำรัสมาดำเนินการพัฒนาแบบเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดใหม่ให้มีคุณสมบัติครบถ้วน และมีการ "ขยายแบบ" ให้ใหญ่ขึ้น
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2546 กองทัพเรือได้รับอนุมัติจากกระทรวงกลาโหม ให้ดำเนินโครงการจัดหา "เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง" ซึ่งเป็นโครงการใหม่เพื่อทดแทนเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.11 โดยมีแผนจะปลดประจำการ 6 ลำ โดยมี พล.ร.ท.วีรวัฒน์ วงศ์ดนตรี เจ้ากรมอู่ทหารเรือ และ พล.ร.ท.วัลลภ เกิดผล รองเสนาธิการทหารเรือ เป็นประธานจัดสร้าง "เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติ"
พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) กล่าวถึงความสำคัญของโครงการนี้ว่า ถือเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์สำหรับการตระเตรียมกำลังทางเรือ เพราะการใช้เรือโดยทั่วไป เรือในชุดเดียวควรมีเรือ 3 ลำ เพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจเดียวกันได้อย่างสมบูรณ์ และต่อเนื่องตามหลักนิยมของการใช้เรือ
เรือลำแรก จะออกปฏิบัติการทางทะเล
เรือลำที่ 2 จะเตรียมพร้อมรบอยู่ในท่าเรือ หรือในฐานทัพ
เรือลำที่ 3 จะเข้ารับการซ่อมบำรุงอยู่ในอู่แห้ง
ทั้งนี้ กรมอู่ทหารเรือ รับผิดชอบดำเนินการสร้างเรือ ต.991 จำนวน 1 ลำ ส่วนอีก 2 ลำ คือ เรือ ต.992 และเรือ ต.993 ได้ว่าจ้างบริษัทมาร์ซัน ทำการต่อเพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมต่อเรือภายในประเทศ
พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ กล่าวว่า เราได้ดำเนินการต่อเรือในปี 2549 โดยเรือชุดนี้ 3 ลำ มีเวลาดำเนินการเพียง 2 ปี ถือว่าค่อนข้างหนัก แต่ด้วยความพยายามของผู้ต่อเรือ ทุกอย่างจึงเป็นไปตามแผน
"โครงการต่อเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา จะต้องเสร็จก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2550" ผบ.ทร. กล่าวย้ำ
พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ กล่าวอีกว่า เรือ ต.991 กองทัพเรือได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มาทรงประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำ ในวันที่ 30 เมษายน 2550 ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม เพราะเรือลำแรก ต.91 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็เสด็จฯ ปล่อยเรือลงน้ำ และเรือ ต.991 พระองค์ท่านก็เสด็จฯ ปล่อยเหมือนกัน ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่จะต้องจารึกเอาไว้
ส่วนเรือลำแรกของกองทัพเรือที่ต่อขึ้นมาเอง คือ เรือ ต.91 หมายเลข 91 คือ เลข 9 หมายถึงรัชกาลที่ 9 และเลข 1 คือ ลำที่ 1
นอกจากนั้นก็มี "เรือพีจีเอ็ม" ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา มอบให้กองทัพเรือในสมัยสงครามเวียดนาม ประมาณ 10 ลำ เมื่อรวมกับเรือ ต. ของกองทัพเรือที่มีอยู่ ก็ประมาณ 20 ลำ
เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งที่มีอยู่ประมาณ 20 ลำ ถือเป็น "เรือม้างาน" ที่ใช้งานในยามปกติ ซึ่งกองทัพเรือได้ส่งไปอยู่ในอ่าวไทย และทะเลอันดามันตามภารกิจในการลาดตระเวน ทั้งงานปราบปรามผู้กระทำความผิดกฎหมายทางทะเล เช่น ค้ายาเสพติด ลักลอบนำอาวุธสงครามเข้าประเทศ หรือหลบหนีเข้าเมือง และช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยทางทะเล หรือกระทั่งช่วยเหลือเรือสินค้าที่ประสบความเดือดร้อน
"เรือที่กองทัพเรือมีอยู่ 20 ลำ จึงไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติภารกิจ เพราะจะต้องออกปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง" ผบ.ทร. ย้ำถึงความจำเป็นในการต่อเรือชุดใหม่
สำหรับพิธีน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หลังจากที่เรือทั้งสามลำต่อเสร็จเรียบร้อย พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ วางโครงการว่า ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2550 จะนำเรือทั้งสามลำไปจอดที่บริเวณหน้าพระที่นั่งไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อถวายอารักขา และประดับไฟเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสนั้นด้วย แต่ขณะนี้ก็จะต้องดูสถานการณ์ก่อนว่าถ้าทำได้ และเหมาะสมก็จะทำ
ด้าน พล.ร.ท.วีรวัฒน์ วงศ์ดนตรี เจ้ากรมอู่ทหารเรือ กล่าวถึงความคืบในการต่อเรือว่า เนื่องจากสถานที่ต่อเรือค่อนข้างจำกัด เราจึงจำเป็นจะต้องมีการต่อเรือแบบแบ่งเป็นบล็อกๆ จำนวน 8 บล็อก แต่ละบล็อกจะแบ่งไปสร้างตามที่ต่างๆ ซึ่งแต่ละบล็อกจะทำงานขนานกันไป จะทำให้ช่างสามารถทำงานได้ประณีต เมื่อแต่ละบล็อกเสร็จก็นำมาต่อเป็นเรือ ต.991 หลังจากนั้นก็จะต่ออุปกรณ์ต่างๆ เข้ากับตัวเรือ ขณะนี้สามารถดำเนินการไปแล้วประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์
พล.ร.ท.วีรวัฒน์ ระบุว่า ในวันที่ 30 เมษายนนี้ จะมีการปล่อยเรือลงน้ำ และจะเลื่อนเรือไปสร้างต่อที่อู่ทหารเรือ จ.สมุทรปราการ คือ อู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้าฯ
เหตุผลที่ไม่สามารถสร้างให้เสร็จที่กรมอู่ทหารเรือ กทม.ได้ เพราะมีสะพานพุทธยอดฟ้าเป็นอุปสรรค เนื่องจากเวลาน้ำลดต่ำสุดจะมีช่องว่างให้เรือลอดไปได้ประมาณ 7 เมตรกว่าเท่านั้น ซึ่งประมาณปลายเดือนพฤษภาคม จะเคลื่อนย้ายไปที่ จ.สมุทรปราการ
เมื่อสร้างเสร็จก็จะมีการทดสอบการทำงานในเรือ ที่เรียกว่าการ "ทดลองหน้าท่า" ก่อนที่จะนำเรือไปแล่นในทะเลน้ำลึก เมื่อเสร็จสมบูรณ์ก็จะนำเรือเข้าพิธีประจำการประมาณเดือนกันยายนนี้
ขณะที่ พล.ร.ท.วัลลภ เกิดผล รองเสนาธิการทหารเรือ กล่าวเสริมว่า ในการดำเนินการก่อสร้างมีการจัดจ้างตามปกติทั่วไป โดยประกาศเชิญชวนให้ผู้ที่มีความพร้อมเข้ามาก่อสร้าง เพราะเวลาก่อสร้างมีเวลาสั้นเพียง 2 ปี เรื่องของความพร้อมของอู่ถือมีความจำเป็นมาก จึงได้มีการคัดเลือกเข้มงวด
กองทัพเรือได้ว่าจ้างอู่มาร์ซันในการดำเนินการ โดยได้ลงนามเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2549 ให้เวลาก่อสร้าง 660 วัน หรือประมาณ 22 เดือน ซึ่งจะสามารถส่งมอบเรือให้กองทัพเรือได้ในเดือนตุลาคม
พล.ร.ท.วัลลภ อธิบายสาเหตุที่ต้องแยกการสร้างเรือว่า เพราะไม่ต้องการให้เป็นภาระของกรมอู่ทหารเรือ ซึ่งมีภาระหน้าที่ทั้งซ่อมและปรับปรุงเรือที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่การสร้างเรือทั้งสามลำ จะใช้แบบที่กรมอู่ทหารเรือ เป็นผู้ออกแบบ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชวินิจฉัย
รองเสนาธิการทหารเรือ ระบุว่า สำหรับเครื่องจักร บริษัทมาร์ซันจะเป็นผู้ส่งให้แก่ทั้งสองอู่ ส่วนระบบไฟฟ้า ระบบอาวุธ ระบบสื่อสาร ระบบเดินเรือ กองทัพเรือเป็นผู้จัดหา และส่งให้แก่ทั้งสองอู่
เรือ ต.992 และเรือ ต.993 ขณะนี้เสร็จไปแล้วประมาณ 60% ซึ่งจะสามารถปล่อยเรือลงน้ำได้ในเดือนสิงหาคม คือ ทุกอย่างจะพร้อมทุกระบบ
ดังนั้น อุปกรณ์จะเหมือนกันทั้งสามลำ เพื่อความสะดวกและประหยัดในเรื่องการบำรุงรักษาในอนาคต
ต.91 ตำนานเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง
เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดแรกที่กองทัพเรือมี คือ เรือ ต.91 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงริเริ่มให้กองทัพเรือมีไว้ประจำการ โดยพระองค์ท่านไปทอดพระเนตรการสร้างเรือที่ประเทศเยอรมนี เมื่อปี 2503 จึงมีพระราชปรารภว่า กองทัพเรือควรจะมีเรือพวกเหล่านี้ไว้ใช้ และกองทัพเรือจะต้องสร้างเอง โดยพระองค์ท่านทรงประสานขอให้เจ้าหน้าที่ที่เก่งในการต่อเรือของประเทศเยอรมนีมาเป็นที่ปรึกษาด้วย
สมรรถนะ "เรือ ต.991"
ระวางขับน้ำ ปกติ 170 ตัน เต็มที่ 185 ตัน
ความยาวตลอดลำ 38.7 เมตร
ความกว้าง 6.46 เมตร
ความเร็วสูงสุดต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่า 27 นอต
ระยะปฏิบัติการ ไม่น้อยกว่า 1,500 ไมล์
ปฏิบัติการในทะเลต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 7 วัน
กำลังพลประจำเรือ 29 นาย
ระบบขับเคลื่อน เครื่องจักรใหญ่ดีเซลเรือ (Marine Diesel Engine) 2 เครื่อง
ระบบอาวุธ ปืนกลขนาด 30 มิลลิเมตร 2 กระบอก ปืนกลขนาด .50 นิ้ว 2 กระบอก เครื่องควบคุมการยิงแบบ Optronic 1 ระบบ
เครื่องจักรใหญ่ ใช้ตราอักษร MTU 16V 4000 M90 ของ ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งถือเป็นรายการเครื่องจักรและอุปกรณ์มาตรฐานที่กองทัพเรือกำหนด โดยเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนที่ติดตั้งในเรือรบของกองทัพเรือหลายชุด เช่น เรือฟริเกต ชุดเรือหลวงตากสิน ชุดเรือหลวงเจ้าพระยา เรือเร็วโจมตีปืนทุกชุด และ เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชุดเรือหลวงคำรณสินธุ
อาวุธปืนหลัก เป็นปืนกลขนาด 30 มิลลิเมตร รุ่น DS-30M ของบริษัท MSI-DSL สหราชอาณาจักร โดยติดตั้งบริเวณหัวเรือและท้ายเรือ รวม 2 กระบอก สามารถทำการยิงด้วยเครื่องควบคุมการยิงในแบบ Remote Control และแบบ Local Control มีขีดความสามารถป้องปราม หยุดยั้ง หรือทำลายเรือผิวน้ำขนาดเล็ก รวมทั้งการป้องกันตนเองจากอากาศยานได้
ระบบควบคุมการยิง เป็นแบบ Optronic รุ่น Mirador ของบริษัท Thales ประเทศเนเธอร์แลนด์ ใช้ในการตรวจการณ์ ค้นหา ตรวจจับ พิสูจน์ทราบ ติดตามเป้า วัดระยะเป้าได้ทั้งกลางวันและกลางคืน รวมทั้งสามารถค้นหาและติดตามเป้าอากาศยาน/พื้นน้ำได้โดยอัตโนมัติเมื่อได้รับการชี้เป้าแล้ว เพื่อการใช้อาวุธได้อย่างน้อย 1 เป้า โดยเชื่อมต่อ และควบคุมการใช้อาวุธปืนหลักทั้งสองกระบอกได้พร้อมกัน
ระบบหลัก ประกอบด้วย กล้องตรวจการณ์ความละเอียดสูง แบบ Thermal Imager : IR Camera การแสดงภาพการตรวจการณ์แบบ TV Camera การติดตามเป้าแบบ Laser Range-Finder (LRF) ใช้วัดระยะได้ทั้งเป้าพื้นน้ำ และอากาศยาน และอุปกรณ์บันทึกภาพสถานการณ์ (Recorder) ที่ได้จากการตรวจการณ์ ...
ปัญญา ทิ้วสังวาลย์
nongya05@yahoo.com |