หน้าแรก    ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบคำถาม    เข้าสู่ระบบ      


ต.๙๙๑ เรือรบตามพระราชดำริ...ของกองทัพเรือไทย

โดยคุณ : Skyman เมื่อวันที่ : 25/04/2007 23:35:50

? เรือรบขนาดใหญ่มีราคาแพงและมีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานสูง กองทัพเรือจึงควรใช้เรือที่มีขนาดเหมาะสม และสร้างได้เอง
ซึ่งเมื่อสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.๙๑ ได้แล้ว ควรขยายแบบเรือให้ใหญ่ขึ้นและสร้างเพิ่มเติม ?

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อ ๑๕ เมษายน ๒๕๔๕ ที่ทรงพระราชต่อกองทัพเรือ แสดงให้เห็นถึงสายพระเนตรอันยาวไกล ประกอบกับพระปรีชาสามารถในด้านการต่อเรือ การเดินเรือ และกิจการนาวีของพระองค์ ที่ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการมีเรือรบที่ประเทศไทยสามารถต่อได้เองและซ่อมบำรุงได้เองอย่างมีประสิทธิภาพ

จากพระราชดำรัสดังกล่าว นำมาสู่โครงการจัดสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติในชั้น ต.๙๙๑ จำนวน 3 ลำของกองทัพเรือไทย สนองแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

มาวันนี้ ผมจะขอรวบรวมความเป็นมาและประสิทธิภาพของเรือรบรุ่นนี้ให้ได้ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณและพระปรีชาสามารถต่อกองทัพเรือไทยกันครับ




ความคิดเห็นที่ 1


บทเริ่มต้น...ต.๙๑

พ.ศ. 2503 ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จประพาทยุโรปนั้น ได้ทรงทอดพระเนตรกิจการการต่อเรือยนต์รักษาฝั่งของกองทัพเรือเยอรมัน จึงทรงมีพระราชดำริว่า..

"กองทัพเรือน่าจะต่อเรือยนต์เร็วรักษาฝั่งเช่นนี้ได้ เพื่อที่จะให้เกิดความชำนาญงาน และรู้จักใช้เทคนิคต่างๆ อันจะเป็นการประหยัดมากกว่าการจัดหาจากต่างประเทศ"

จึงทำให้กองทัพเรือ โดยกรมอู่ทหารเรือรับสนองพระราชดำริโดยการต่อเรือในชุดเรือต.๙๑ ขึ้น ซึ่งในระหว่างดำเนินการนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานคำแนะนำ ตลอดจนแก้ปัญหาต่าง ๆ อันเกิดจากกระบวนการต่อ รวมถึงทรงเป็นธุระติดต่อกับสถาบันวิจัยและทดลองแบบเรือแห่งชาติของประเทศอังกฤษ ให้ทำการทดสอบแบบของเรือ ต.๙๑ ให้ แม้แต่การทดสอบเรือในทะเล พระองค์ก็ทรงเสด็จไปร่วมทดสอบด้วยพระองค์เอง ทั้งยังทรงตรวจแก้ข้อผิดพลาดต่าง ๆ จนทำให้การต่อเรือสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

และในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2511 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงเสด็จไปประกอบพิธีปล่อยเรือ ต.๙๑ ลงน้ำ และนับจากนั้น กองทัพเรือได้ดำเนินการต่อเรือในชุด ต.๙๑ เพิ่มเติมอีกคือ ต. ๙๒, ต. ๙๓, ต. ๙๔, ต. ๙๕, ต. ๙๖, ต. ๙๗, ต. ๙๘, และ ต. ๙๙ ในระหว่างปี 2514 - 2530


โดยคุณ Skyman เมื่อวันที่ 23/04/2007 09:35:22


ความคิดเห็นที่ 2


เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชั้น ต. ๙๑

ปัจจุบัน เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชั้น ต.๙๑ ประจำการอยู่ในกองเรือตรวจอ่าว สังกัดหมวดเรือที่ 2 ทำหน้าที่ปราบปรามป้องกันภัยทางทะเลขนาดเล็ก เช่น การลักลอบขนสินค้าหนีภาษี การลักลอบขนอาวุธ และปราบปรามดจรสลัดและภัยการก่อการร้าย


โดยคุณ Skyman เมื่อวันที่ 23/04/2007 09:35:57


ความคิดเห็นที่ 3


สมรรถณะของเรือ ต.๙๑

ขนาด: กว้าง x ยาว - 31.8 x 5.3 ในเรือต.๙๑ และ 36 x 5.7 ในเรือลำอื่นของชั้นต. ๙๑
ระวางขับน้ำ: เต็มที่ 87.5 ตัน ในเรือต.๙๑ และ 130 ตันในเรือลำอื่นของชั้นต. ๙๑
เครื่องยนต์: MTU 12V 538 TB81/82 diesel 2 เครื่อง ให้กำลัง 3,300 แรงม้า
ความเร็ว: 25 น็อต
ระยะปฏิบัติการ: 700 ไมล์ทะเล ที่ความเร็ว 21 น็อต
กำลังพลประจำเรือ: 21 นาย
อาวุธ:
- ปืนกล Bofors 40mm/60 จำนวน 1 กระบอก
- ปืนกล .50 นิ้ว (12.7 ม.ม.) จำนวน 1 กระบอก
- เรดาร์พื้นน้ำ Raytheon SPS-35 (1500B) ในช่วง I-band


โดยคุณ Skyman เมื่อวันที่ 23/04/2007 09:36:37


ความคิดเห็นที่ 4


สู่...ต. ๙๙๑

...ให้พอเพียงในความคิดแล้วทำอะไรพอเพียง สามารถที่จะอยู่ได้ แม้แต่กองทัพก็ต้องพอเพียง แต่กองทัพทำอะไรพอเพียงเยอะแยะ ทำโครงการต่าง ๆ ที่ช่วย แล้วก็ที่สมควรที่จะทำแล้วก็ทำได้ เรือ ต.๙๑ นั้น เศรษฐกิจพอเพียง แต่เดี๋ยวนี้ ต.๙๑ ก็พังแล้ว แต่ก็ได้รับราชการมานานพอสมควร..

พระราชดำรัส ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2546 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง และทรงยกตัวอย่างเรือต.๙๑ ที่กองทัพเรือได้ต่อขึ้น ประกอบกับในช่วงเวลาเดียวกันนั้น กองทัพเรือโดยกองออกแบบต่อเรือ กรมแผนการช่าง กรมอู่ทหารเรือได้ทำการพัฒนาแบบของเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับกระแสพระราชดำรัสข้างต้น กองทัพเรือจึงเสนอโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเพื่อทดแทนเรือต. ๑๑ จำนวน 3 ลำ โดยได้ขอพะรราชทานพระบรมราชานุญาตเข้าเฝ้าเพื่อถวายแบบเรือและข้อมูลการออกแบบเบื้องต้นและเพื่อขอพระราชทานพระบรมราชวินิฉัยในการต่อในในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 ระหว่างเวลา 17.30 - 20.00 ณ พระราชวังไกลกังวล โดยทรงมีพระบรมราชวินิฉัยเรือขนาดของเรือ รูปร่างของเรือ น้ำหนัก รวมถึงการใช้เชื้อเพลิง เพื่อทำให้เรือมีสมรรถณะสูงสุด


โดยคุณ Skyman เมื่อวันที่ 23/04/2007 09:37:10


ความคิดเห็นที่ 5


การดำเนินงานในการจัดสร้างต.๙๙๑

" การดำเนินการต่อเรือใหม่ครั้งนี้มี 3 กองในกรมอู่ทหารเรือรับหน้าที่ในการออกแบบคือ กองออกแบบฝ่ายตัวเรือ คือปรับปรุงเรือและต่อโครงสร้างเรือ กองออกแบบกลจักร และกองออกแบบไฟฟ้า

เรือที่ทำการต่อนี้ได้พัฒนาแบบมาจากแบบเรือ ต.๙๙ โดยทำการขยายแบบไปทุกมิติประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ และนำแบบไปทดลองแบบจำลองเรือที่สถาบัน ฮัมบวร์ก ชิพ โมเดล เบซิน ประเทศเยอรมนี ว่าจากความเร็วที่เราต้องการคือ 27 น็อต ต้องใช้เครื่องขนาดกี่แรงม้า จากนั้นทางสถาบันจะนำไปทดลองหาค่าให้ว่าเรือต้องใช้ขนาดเครื่องยนต์เท่าใด เราก็จะนำมาปรับแต่งเรือให้ทนต่อความสูงของคลื่นที่ความสูงประมาณ 0.5-1 เมตร"

http://thai-offizier.de/modules.php?name=Forums&file=viewtopic&t=17&view=previous

กองทัพเรือได้ดำเนินการจัดสร้างเรือลำแรกคือ ต. ๙๙๑ ณ อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ ส่วนอีกสองลำนั้น กองทัพเรือได้เปิดให้บริษัทอู่เรือเอกชนที่ผ่านมาตรฐานรับรองระบบควบคุมคุณภาพไอเอสโอ 9001:2000 และผ่านการตรวจสอบและรับรองจากสมาคมต่อเรือและซ่อมเรือประกวดราคาแข่งขัน และได้ผู้ชนะคือบริษัท มาร์ซัน จำกัด รับหน้าต่อต่อเรือต่อไป


โดยคุณ Skyman เมื่อวันที่ 23/04/2007 09:37:48


ความคิดเห็นที่ 6


พระราชพิธีวางกระดูกงู

ในวันศุกร์ที่ 9 กันยายน 2548 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเสด็จเป็นองค์ประธานและทรงประกอบพิธีวางกระดูกงูเรือต. ๙๙๑ ณ อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ นับเป็นการตั้งต้นการสร้างเรือลำนี้อย่างเป็นทางการ


โดยคุณ Skyman เมื่อวันที่ 23/04/2007 09:38:25


ความคิดเห็นที่ 7


การดำเนินการต่อเรือ

โดยขั้นตอนในการออกแบบเรือย่างละเอียด สามารถอ่านได้ที่

http://www.navy.mi.th/dockyard/doced/Homepage/sontetset_files/T_991.pdf

และชมพัฒนาการในการต่อเรือได้ที่

http://www.navy.mi.th/dockyard/Web/frame1.html


โดยคุณ Skyman เมื่อวันที่ 23/04/2007 09:39:37


ความคิดเห็นที่ 8


คุณลักษณะและสมรรถณะของเรือ

ระวางขับน้ำ: เต็มที่ 185 ตัน
ขนาด: กว้าง x ยาว - 6.45 x 38.7
เครื่องยนต์: MTU 16V 4000 M90 2 เครื่อง
ความเร็ว: มากกว่า 27 น็อต
ระยะปฏิบัติการ: มากกว่า 1,500 ไมล์ทะเล
ระยะปฏิบัติการในทะเล: ไม่น้อยกว่า 7 วัน
ความคงทนทะเล: สามารถปฏิบัติการในทะเลที่ Sea State 3 ได้
กำลังพลประจำเรือ: 29 นาย
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ: 1,900 ล้านบาท


โดยคุณ Skyman เมื่อวันที่ 23/04/2007 09:40:13


ความคิดเห็นที่ 9


ระบบอาวุธของเรือ

อาวุธปืนหลักของเรือคือปืนกลขนาด 30 ม.ม. รุ่น DS-30M ของบริษัท MSI-DSL จำนวน 2 กระบอก ติดตั้งบริเวณหัวเรือและท้ายเรือ สามารคควบคุมการยิงได้จากเครื่องควบคุมการยิงของเรือ ตัวปืนมีความสามารถในการต่อต้านเรือผิวน้ำขนาดเล็กและอากาศยานได้ โดยปืนในกระกูลนี้มีอัตรายิงที่ 650 นัดต่อนาที ระยะยิงหวังผลต่อเป้าหมายผิวน้ำที่ 10,900 หลา ต่อเป้าหมายอากาศยานที่ 3,000 หลา และมีคุณสมบัติในการลดการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและรังสีอินฟาเรด


โดยคุณ Skyman เมื่อวันที่ 23/04/2007 09:40:52


ความคิดเห็นที่ 10


ระบบอาวุธของเรือ

ระบบควบคุมการยิงซึ่งเป็นระบบที่ใช้ควบคุมปืน 30 ม.ม. นั้น ทางกองทัพเรือได้จัดหาระบบควบคุมการยิงแบบ Optronic รุ่น Mirador รุ่นล่าสุดของบริษัท Thales ประเทศเนเธอแลนด์ โดยระบบนี้จะประกอบไปด้วยระบบเซนเซอร์ ระบบกล้อง TV สองกล้อง ระบบสร้างภาพจากความร้อน ระบบกล้องในช่วงแสงต่ำ ระบบเลเซอร์วัดระยะและระบบอินฟาเรด ระบบสามารถตรวจจับและติดตามเป้าหมายได้ทั้งสามมิติ โดยในเวลากลางวันสามารถใช้กล้อง TV ในการติดตามและตรวจจับเป้าหมาย และใช้ระบบอินฟราเรดในเวลากลางคืน โดยเลเซอร์วัดระยะที่ปลอดภัยต่อสายตาจะทำการวัดระยะจากเรือไปสู่เป้าหมาย รวมถึงคำนวณขีปนวิถี (ballistic calculations) ซึ่งผู้บังคับเรือทำหน้าที่เพียงกดปุ่มสั่งการยิงเท่านั้น


โดยคุณ Skyman เมื่อวันที่ 23/04/2007 09:41:42


ความคิดเห็นที่ 11


ความคืบหน้าล่าสุด

ตอนนี้ทางอู่ได้ปล่อยน้ำเข้ามาให้อู่ที่เรือต.๙๙๑ กำลังสร้างอยู่เรือบร้อยแล้ว ส่วนตัวเรือนั้นงานหลัก ๆ คืบหน้าไปมาก โดยในส่วนของ Superstructure (ส่วนที่เป็นห้องบังคับการ) ได้ถูกประกอบลงในตัวเรือแล้ว และได้ทำการสร้างแท่นเพื่อรองรับปืน DS-30M ด้านในตัวเรือมีการตกแต่งและปรับปรุงภายใน เดินสายไฟบริเวณกลางลำเรือ เป็นต้น

สำหรับระบบควบคุมการยิงแบบ Mirador จะได้รับในเดือนมิถุนายน โดยบริษัท Thales จะรับผิดชอบในการติดตั้ง



ในวันที่ 30 เมษายน 2550 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถจะทรงเสด็จเป็นองค์ประธานและทำพิธีปล่อยเรือ ต.๙๙๑ ลงน้ำ ณ กรมอู่ทหารเรือ รวมระยะเวลาในการต่อเรือประมาณ 2 ปี และคาดว่าเรือจะเข้าประจำการในกองทัพเรือได้ในช่วงปลายปีนี้

ทั้งนี้ โครงการเรือ ต. ๙๙๑, ต. ๙๙๒ และ ต. ๙๙๓ เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในนามพสกนิกรชาวไทย ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 ครับ

เว็บไซต์ของโครงการฯ สามารถเข้าชมได้ที่

http://www.navy.mi.th/sctr/ship/

สำหรับวันนี้ จบเพียงเท่านี้ สวัสดีครับ

Credit: http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=skyman&group=3&month=04-2007&date=23&gblog=50 (ให้เครดิตตัวเอง แหะ ๆ)


โดยคุณ Skyman เมื่อวันที่ 23/04/2007 09:42:50


ความคิดเห็นที่ 12


รอติดตามภาพข่าวในวันปล่อยเรือลงน้ำครับ
โดยคุณ AAG_th1 เมื่อวันที่ 23/04/2007 13:40:19


ความคิดเห็นที่ 13


ขยายแบบเรืออีกนิดก็น่าจะมีที่พอติด อวป. พื้นสู่พื้น ขนาดเล็กๆได้แล้วนะครับ อยากให้กองทัพเรือพัฒนาแบบต่อจากที่ตอนนี้เป็นเรือตรวจการณ์ปืน กลายเป็นเรือโจมตีเร็วอาวุธปล่อยจัง
โดยคุณ Trinity เมื่อวันที่ 23/04/2007 20:04:19


ความคิดเห็นที่ 14


เยี่ยมเลยครับท่าน skyman ผมก็หาอยู่ว่า ปืน 30 ม.ม. จะเป็นรุ่นไหน...เห็นบอกแค่ว่าเป็นของ เยอรมัน...ดูแล้วเรือ ต. รุ่นนี้ ทันสมัยดี แต่มูลค่า 1,900 ล้านบาท นี่ รวมระบบอาุวุธด้วยรึยังครับ...และเป็นของเฉพาะลำต้นแบบ หรือ รวมทั้ง 3 ลำ ครับ...

โดยคุณ juldas เมื่อวันที่ 23/04/2007 23:30:19


ความคิดเห็นที่ 15


 

ปืนกล ๓๐ มม. หัวเรือติดตั้งเรียบร้อยแล้วน่ะครับ วันพิธีปล่อยเรือลงน้ำได้มีปืนเอาไว้โชว์แน่ ส่วนอีก ๕ กระบอกจะทะยอยส่งมอบมาทางเรืออีกทีครับ

 

 

โดยคุณ CoffeeMix เมื่อวันที่ 24/04/2007 08:04:05


ความคิดเห็นที่ 16


อยากให้พัฒนาเรือ ในเวลาอันใกล้นี้เป็นเรือเร็วโจมตี และมีอาวุธปล่อยด้วยครับ เพราะส่วนตัวคิดว่าไม่เกินกำลังกองทัพเรือไทยครับ    เห็นด้วยกับคุณ TRINITY ครับ
โดยคุณ tik เมื่อวันที่ 24/04/2007 08:53:59


ความคิดเห็นที่ 17


ปืนเรือที่มีระบบควบคุมอัตโนมัติ นี่ ถ้ามี อาวุธนาวิถี เขามา มันจะยิงเองเลยหรือเปล่า หรือต้องให้ เรดาร์เตือนก่อนจึงตัดสินใจด้วยการกดปุ่มยิงครับ

โดยคุณ Lek-v เมื่อวันที่ 24/04/2007 09:48:13


ความคิดเห็นที่ 18


กองทัพเรือดำเนินโครงการสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งพร้อมกัน ๓ ลำ ในวงเงินรวมประมาณ ๑,๙๑๒.ล้านบาทครับท่านJuldas   ผมว่าน่าจะรวมระบบอาวุธแล้วน่ะครับ ไม่งั้นราคาคงพอๆกับเรือฟรีเกตแล้วล่ะครับ
โดยคุณ Mr. Bean เมื่อวันที่ 24/04/2007 10:04:45


ความคิดเห็นที่ 19


จะรอข่าวในวันที่ 30 เม.ย. นี้นะครับ
โดยคุณ กิตติโชค เมื่อวันที่ 25/04/2007 23:35:50