จากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2550 ครับ
ร่างแรกของปีกแห่งความฝัน ค่ายเด็กไทยสร้างเครื่องบิน
นับตั้งแต่สองพี่น้องตระกูลไรท์สร้างเครื่องบินลำแรกขึ้นมาในโลกสำเร็จ ขีดจำกัดระหว่างมนุษย์กับผืนฟ้าก็ลดห่างลงทุกทีตามเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า จากความใฝ่ฝันที่ขับเคลื่อนด้วยความปรารถนาโบยบินอิสระเฉกเช่นปีกของนก และเครื่องบินก็เป็นส่วนเติมช่องว่างแห่งความฝันนั้นให้เต็ม
เลโอนาโด ดา วินชี ศึกษาการบินของนก และวาดรูปจำลองต่างๆ ไว้กว่า 100 ภาพ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดในการสร้างเฮลิคอปเตอร์ในปัจจุบัน อังตวน เดอ แซงแต็กซูเปรี ผู้เขียน ?เจ้าชายน้อย? แม้จะเคยประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกในทะเลทรายลิเบีย เมื่อพยายามบินทำลายสถิติจากปารีส-ไซง่อน แต่ความฝันและหลงใหลในการบินของเขาไม่เคยจางหาย หลายคนเชื่อมั่นว่าเขาไปเกิดเป็นดาวดวงหนึ่ง หลังจากสาบสูญไปตลอดกาล ขณะออกบินลาดตระเวนประจำการอยู่ในแอฟริกาเหนือ บ้างก็ว่าเขาบินไปเยี่ยมดาวเคราะห์ดวงที่ บี-621 อันเป็นบ้านของเจ้าชายน้อย
ในหลักไมล์ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เครื่องบินจึงเป็นมากกว่าสิ่งประดิษฐ์ทางวิศวกรรม แต่มันเป็นสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงโลกทั้งโลก ทำให้มนุษย์เชื่อว่าความฝันสามารถกลายเป็นจริงได้ด้วยวิทยาศาสตร์และความมุ่งมั่น โดยไม่ปฏิเสธเชื้อชาติเผ่าพันธุ์?วันนี้ เครื่องบินเล็กลำแรกฝีมือของเด็กไทยระดับมัธยมปลาย กำลังรอวันกางปีกโผบินขึ้นสู่ท้องฟ้า ในค่ายนักสร้างรุ่นเยาว์ ?Aviation and Space Camp? โครงการที่นำเยาวชนไทยมาเรียนรู้การออกแบบและสร้างเครื่องบินชนิด Composite 4 ที่นั่ง เพื่อสานฝันเด็กไทยให้เป็นจริง
สร้างเครื่องบิน?เด็กไทยก็ทำได้?
วิศวกรรมการออกแบบสร้างเครื่องบินเป็นวิทยาการที่จัดว่าเป็นการเรียนรู้ใหม่สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาในประเทศไทย ซึ่งยังขาดโอกาสเรียนรู้เทคโนโลยีแขนงนี้ เนื่องจากประเทศไทยขาดผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถเพียงพอ อีกทั้งในการเรียนรู้เทคโนโลยีนี้ โรงเรียนจำเป็นต้องใช้ทุนทรัพย์สูงจึงทำให้นักเรียนไทยขาดโอกาสที่ดีในการเรียนรู้เกี่ยวกับวิทยาการทางด้านวิศวกรรมการบิน ซึ่งนับเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศ
ข้อแตกต่างตรงจุดนี้เอง ที่ส่งผลให้เด็กไทยขาดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพด้านการออกแบบและเรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องบิน ซึ่งในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และญี่ปุ่น ได้จัดกิจกรรมการสร้างเครื่องบินให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาได้ทดลองปฏิบัติมาหลายสิบปีแล้ว จึงทำให้เด็กในชาติต่างๆ เหล่านั้นมีความสามารถในการพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิศวกรรมจนสามารถประดิษฐ์ผลงานทางวิศวกรรมได้
โครงการสร้างความเข้าใจวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมสาธารณชน ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) ได้ประสานงานความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาและการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านอวกาศและการสร้างเครื่องบิน โดยร่วมกันจัดโครงการ ?Aviation and Space Camp? แก่เด็กนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในเขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานคร
วัตถุประสงค์หลักของโครงการนี้ คือต้องการส่งเสริมและสนับสนุนเด็กระดับมัธยมศึกษาตอนปลายได้พัฒนาทักษะกระบวนการทางวิศวกรรมศาสตร์การสร้างเครื่องบินชนิด Composite 4 ที่นั่ง โดยการเพิ่มพูนความรู้ทั้งทางวิชาการและการลงมือปฏิบัติ เพื่อสร้างแรงจูงใจและปลูกฝังทัศนคติที่ดีและถูกต้องเกี่ยวกับอาชีพทางด้านวิศวกรรมการบิน เพื่อพัฒนาเด็กไทยสู่การเป็นนักนวัตกรรมในอนาคต
?การสร้างเครื่องบินคนมักจะมองว่าใหญ่มาก ยากมาก คนไทยคงทำไม่ได้หรอก แต่ที่จริงแล้วเด็กไทยสามารถทำได้ อย่างเด็กอเมริกัน เด็กญี่ปุ่นระดับม.ปลายเขาก็สร้างเครื่องบินกันมาหมดแล้ว แต่ในประเทศไทยแม้แต่เด็กมหาวิทยาลัยก็ยังไม่เคยไปถึงสเกลนั้น โครงการนี้เราตั้งใจทำต้นแบบ เปิดโอกาสให้เด็กมาเรียนรู้และสัมผัสวิศวกรรมการสร้างเครื่องบิน ซึ่งจะกระตุ้นให้เด็กรู้จักคิด เกิดแรงบันดาลใจ เราต้องการให้เด็กไทยมีความมั่นใจ อันดับแรกต้องให้เขาเชื่อมั่นว่า เด็กไทย คนไทยมีศักยภาพ ซึ่งเครื่องบินของ สวทช. จะพิสูจน์ว่าเราทำได้? ดร.สวัสดิ์ ตันติพันธุ์วดี รองผู้อำนวยการ TMC กล่าวถึงที่มาของค่ายวิศวกรรมออกแบบและสร้างเครื่องบิน หรือ ?Aviation and Space Camp?
นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีคะแนนเฉลี่ยวิชาคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ตั้งแต่ 3.0 ขึ้นไป และมีทักษะในการใช้เครื่องมืออุตสาหกรรมจากโรงเรียนต่างๆ 5 โรงเรียนในกรุงเทพฯ ได้แก่ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา, สาธิตจุฬาฯ ,วัดบวรนิเวศ, สามเสนวิทยาลัย และมหิดลวิทยานุสรณ์ จำนวน 50 คน ถูกคัดเลือกมาเข้าค่ายที่ 1 เพื่อเรียนรู้ทฤษฎีเกี่ยวกับอวกาศยานชนิดต่างๆ รวมทั้งการออกแบบการสร้างและชิ้นส่วนต่างๆ ของเครื่องบิน ได้แก่ wings, winglets, elevator, canard, body, fuel tanks, cockpit, seats, control cables, glass cockpit cover รวมทั้งระบบเชื้อเพลิงและระบบการร่อนลงจอดของเครื่องบิน เป็นต้น
สาเหตุที่คัดเลือกเฉพาะนักเรียนจากโรงเรียนในกรุงเทพฯ นั้น ดร.สวัสดิ์อธิบายว่า เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการระยะยาวต่อเนื่อง 3 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2550 ไปจนสิ้นสุดโครงการในปี 2552 จึงจำเป็นต้องเลือกเด็กที่สามารถมาเข้าร่วมโครงการในระยาวได้โดยสะดวก แต่ในอนาคตหากโครงการประสบผลสำเร็จอาจมีการขยายพื้นที่เพื่อให้เด็กนักเรียนในต่างจังหวัดเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น
โดยค่ายปีที่ 2 และ 3 นั้น จะเน้นคัดเลือกเด็กที่มีทักษะในการประกอบอุปกรณ์ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือเคยประดิษฐ์เครื่องบินวิทยุ เพื่อเรียนรู้ทฤษฎีเครื่องยนต์และไฟฟ้า รวมทั้งลงมือปฏิบัติการประกอบระบบไฟฟ้าและเครื่องยนต์ในเครื่องบิน โดยมีขั้นตอนสุดท้ายคือ เรียนรู้ทฤษฎีการบิน ได้แก่ engine acceptance test และ airplane acceptance test และทดสอบการบินโดยนักบินที่มีใบอนุญาตเป็นคนขับ เมื่อบินทดสอบไม่น้อยกว่า 100 ชั่วโมงแล้ว จึงค่อยรับผู้โดยสาร
Cozy Mark IV ? เมดอินไทยแลนด์
เครื่องบินเครื่องยนต์เดี่ยวขนาดสี่ที่นั่งสีขาวทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า โดยมีกลุ่มเมฆบางเบาลอยเรี่ยเป็นฉากหลัง คือภาพของเครื่องบินต้นแบบ Cozy Mark IV ของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นต้นแบบของเครื่องบินเล็กชนิด Composite 4 ที่นั่ง ที่เด็กๆ ในค่ายจะได้เรียนรู้การสร้างและออกแบบเครื่องบินตลอดระยะเวลา 3 ปีนี้
แม้จะใช้ต้นแบบและวัสดุชิ้นส่วนต่างๆ ของเครื่องบินที่ผลิตจากประเทศสหรัฐอเมริกา แต่เหตุผลทั้งหมดก็เนื่องมาจากมาตรฐานความปลอดภัย เพราะการออกแบบและวัสดุที่ใช้มีคุณภาพได้มาตรฐาน ผ่านการคำนวณ ทดสอบ และรับรองคุณภาพจาก FAA ซึ่งเป็นองค์กรการบินระดับโลก
ดร.สวัสดิ์ยอมรับว่า การจะออกแบบและผลิตวัสดุในการสร้างบินด้วยตนเองทั้งหมดนั้น ยากและเสี่ยงต่อความปลอดภัยมากเกินไป แม้แต่ในต่างประเทศเองที่มีการสร้างเครื่องบินในระดับนักเรียนมัธยมปลาย ต่างก็ใช้ต้นแบบและวัสดุจากบริษัทผลิตเครื่องบินที่ได้มาตรฐานทั้งสิ้น
สาเหตุที่เลือกเครื่องบินรุ่น Cozy Mark IV เป็นต้นแบบนั้น เนื่องจากประสิทธิภาพที่สามารถบินได้ความเร็วสูงสุด 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใกล้เคียงกับเครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ ดร.สวัสดิ์บอกเล่าว่าที่ผ่านมาเครื่องบินรุ่นนี้ถูกสร้างขึ้นหลายร้อยลำ หากแต่ยังไม่เคยเกิดอุบัติเหตุตกเลยสักครั้ง จึงค่อนข้างเชื่อมั่นได้ในมาตรฐานความปลอดภัย
Cozy Mark IV ถูกออกแบบโดย Burt Rutan ประธานบริษัท Scale Composites LLC เจ้าพ่อแห่งการสร้างเครื่องบินที่เคยสร้างปรากฏการณ์บินรอบโลกมาแล้ว ปัจจุบันเครื่องบินลำนั้นถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สมิทโซเนียน เมื่อทาง TMC ซื้อลิขสิทธิ์ต้นแบบมา ก็จะได้รับแบบแปลนของเครื่องบินมา พร้อมขั้นตอนวิธีการสร้างและประกอบชิ้นส่วนต่างๆ มาโดยละเอียด แต่กระนั้น ขั้นตอนการประกอบเครื่องบินก็มิใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยความชำนาญและความประณีตในการทำงานไม่น้อย กว่าจะสำเร็จมาเป็นเครื่องบินฝีมือการสร้างของคนไทยลำหนึ่งได้ ระยะเวลา 3 ปีของโครงการจึงเป็นช่วงเวลาแห่งบทพิสูจน์ของเด็กไทยเหล่านี้ ว่าพวกเขาก็ทำได้ไม่แพ้เด็กชาติอื่น
นักประดิษฐ์รุ่นเยาว์
ธีรวิทย์ วิไลประสิทธิพร และภวินทร์ พานิชยานนท์ นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เป็นหนึ่งในจำนวนนักเรียนม.ปลาย 50 คนที่เข้าร่วมโครงการค่ายวิศวกรรมการออกแบบและสร้างเครื่องบิน ?Aviation and Space Camp? ในครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นค่ายแรกนี้
ทั้งสองเรียนอยู่ในโครงการจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งเป็นโครงการที่คัดเลือกเด็กที่มีความสนใจในวิทยาศาสตร์ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กที่เรียนเก่ง หรือไอคิวสูงเพียงอย่างเดียว ฉะนั้น เมื่อทราบข่าวค่ายวิศวกรรมสร้างเครื่องบินครั้งนี้ ทั้งสองจึงไม่รีรอที่จะสมัครทันที
ภวินทร์นั้นสนใจเกี่ยวกับเครื่องบินและอยากเป็นนักบินอยู่ก่อนแล้ว จึงเป็นแรงผลักดันให้เขาเข้าร่วมโครงการ ขณะที่ธีรวิทย์เคยใช้เวลาช่วงปิดภาคเรียนเข้าค่ายวิชาการต่างๆ อยู่เป็นประจำ แต่ส่วนมากมักเป็นค่ายวิทยาศาสตร์ นี่เป็นครั้งแรกที่มีการจัดค่ายวิศวกรรมศาสตร์และเขามีโอกาสเข้าร่วม ถึงแม้ทั้งคู่จะเพิ่งเรียนอยู่ชั้น ม.4 แต่หลักสูตรในชั้นเรียนของพวกเขาก็เรียนวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์มากกว่านักเรียนปกติอยู่แล้ว ถึงกระนั้นเมื่อได้มาเรียนภาควิชาการเกี่ยวกับทฤษฎีอวกาศยานและการออกแบบสร้างเครื่องบินตลอดระยะเวลา 4-5 วันที่ผ่านมาของการเข้าค่าย ทั้งคู่ต่างยอมรับว่ายากเป็นเสียงเดียวกัน แต่ก็รู้สึกท้าทายว่าพวกเขาจะสามารถเอาชนะอุปสรรคและการคำนวณยากๆ เหล่านั้นจนสร้างเครื่องบินได้สำเร็จหรือไม่
เช่นเดียวกับ นวพร เลื่องลือปัญญา, สุธินี ชำนาญกิจ, หรรษา หวงสุวรรณากร และปิยนาถ เกตุพงษ์พันธุ์ จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งพวกเธอเป็นนักเรียนหญิงเพียง 4 คน ที่ทางโรงเรียนคัดเลือกให้มาเข้าร่วมโครงการนี้ แม้จะเป็นผู้หญิงแต่ก็สนใจเรื่องเครื่องยนต์กลไกไม่แพ้ผู้ชาย ถึงเวลาจับเครื่องไม้เครื่องมืออาจจะดูเก้กังขัดๆ อยู่บ้าง แต่ทั้งสี่สาวยืนยันว่าอย่างไรเสีย อีก 3 ปีข้างหน้า จะต้องได้เห็นเครื่องบินลำแรกจากฝีมือของเด็กไทยแน่นอน
ถนิมาภรณ์ ตั้งตรัยรัตนกุล หนึ่งในอาจารย์ผู้ก่อตั้งชมรมของเล่นเพื่อการเรียนรู้ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กล่าวว่า โครงการค่ายวิศวกรรมศาสตร์ ของ TMC ซึ่งเป็นโครงการระยะยาวต่อเนื่อง 3 ปี จะมีส่วนช่วยให้เกิดความตื่นตัวในแวดวงการศึกษาของไทยมากขึ้น และยังช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักเรียนที่มีความสนใจอาชีพทางด้านวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในอนาคต
ถึงแม้ชมรมของเล่นเพื่อการเรียนรู้ของโรงเรียนเตรียมฯ ซึ่งมีการสร้างและออกแบบเครื่องบินเล็กบังคับวิทยุจะเป็นกิจกรรมเสริมทักษะด้านวิทยาศาสตร์นอกเวลาเรียนที่ดีแก่เด็กอยู่แล้ว แต่อาจารย์ถนิมาภรณ์บอกว่ายังไม่เพียงพอ เมื่อเทียบกับการเข้าค่ายวิศวกรรมศาสตร์ที่มีระยะเวลาต่อเนื่องมากกว่า ไม่ใช่เป็นโครงการระยะสั้นที่ดูจะฉาบฉวยเกินไปในความรู้สึกของเธอ
?หากเราหาเด็กใหม่มาเข้าค่ายทุกปี ปัญหาก็คือ เด็กที่มีความต้องการอยากได้ความรู้ตรงนี้ เขาก็จะมีโอกาสแค่ปีเดียว มันจะทำให้ไม่ต่อเนื่อง ถามว่าเด็กเหล่านี้เคยผ่านงานช่างมาไหม บางคนอาจจะไม่เคยผ่าน เพราะหลักสูตรการศึกษามันไม่เอื้อให้เขาทำแบบนั้น การเรียนการสอนส่วนใหญ่มักจะเน้นหนักทฤษฎี แต่ทักษะเป็นเรื่องของการทำซ้ำๆ จนเป็น skill ซึ่งสามารถฝึกได้ จึงเห็นได้ว่าเรามีทั้งเด็กผู้หญิงและผู้ชาย คือโครงการนี้เขาไม่ได้เน้นว่าจะต้องเป็นคนเดิมตลอดทั้ง 3 ปี แต่ถ้าเด็กชอบก็ควรจะต้องทำให้มันเสร็จ ไม่ใช่ทำปีเดียวแล้วเลิก ไม่งั้นก็เท่ากับว่าเด็กทำงานเฉพาะหน้าแล้วก็ทิ้งไป แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งก็เท่ากับว่าได้แค่เด็ก 10 คนในโครงการนี้ ไม่ใช่ 30 คน ซึ่งแน่นอนเราก็ยังไม่รู้ว่าเด็กอีก 20 คนข้างหน้าคือเด็กกลุ่มใหม่หรือว่าเป็นกลุ่มเดิม แล้วจะหาได้หรือไม่ได้ด้วย เพราะอย่าลืมว่าพอเด็กขึ้น ม.5 จะต้องเรียนหนักมากขึ้น พอ ม.6 ก็สอบโอเน็ต เอเน็ต ถ้าเราไม่ผูกเขาไว้ตรงนี้เลยจะยาก? อาจารย์ถนิมาภรณ์ตั้งข้อสังเกตทิ้งท้าย
ทางด้านวิรัตน์ ปานเจริญ อาจารย์สอนวิชาฟิสิกส์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาที่นำนักเรียนมาเข้าค่ายและร่วมสังเกตการณ์อยู่ด้วยกล่าวว่า นักเรียนของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาจำนวน 10 คน ที่มาร่วมโครงการครั้งนี้ จัดเป็นเด็กที่มีพรสวรรค์หรือความสามารถพิเศษ (Gifted) มีทั้งนักเรียนในโครงการนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ และนักเรียนที่อยู่ในโครงการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิก สอวน. ทว่า ปัญหาอย่างหนึ่งที่เขาสังเกตเห็นคือ หลายคนที่เคยชินกับการคิดคำนวณในห้องเรียน ไม่ค่อยมีทักษะในการใช้เครื่องมือช่างอุตสาหกรรมเท่าที่ควร ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลาฝึกฝนสักระยะกว่าจะเข้าที่
ที่ผ่านมา อาจารย์วิรัตน์บอกว่าเด็กที่เก่งคำนวณมักจะไม่ค่อยมีทักษะด้านการปฏิบัติเท่าใดนัก เขายกตัวอย่างลูกศิษย์คนหนึ่งที่เรียนวิศวะ จุฬาฯ ว่า มีพื้นฐานด้านฟิสิกส์และการคำนวณแม่นยำมาก แต่เมื่อให้ต่อแผงวงจรไฟง่ายๆ กลับทำไม่ได้ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นจุดบอดของวงการการศึกษาไทย ที่ไม่เอื้อให้เด็กมีโอกาสได้ฝึกฝน ทดลองปฏิบัติจริงนอกเหนือไปจากเรียนตามตำรา การจัดค่ายวิศวกรรมศาสตร์ในครั้งนี้ จึงน่าจะเป็นการเปิดโอกาสที่ดีในการเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจด้านวิศวกรรมเครื่องบินสู่เยาวชนระดับมัธยมศึกษาได้อย่างกว้างขวาง
สอดคล้องกับความเห็นของ ดร.สวัสดิ์ที่มองว่า ?ในช่วงแรก เนื่องจากเด็กม.ปลายไทยไม่ค่อยมีโอกาสใช้เครื่องมือในการก่อสร้างนัก เด็กจะมีโอกาสสัมผัสก็ต้องไปเรียนช่างกล แม้แต่วิศวะเครื่องกลในมหาวิทยาลัยบางแห่งก็ยังมีโอกาสสัมผัสเครื่องมือน้อย เด็กไทยเราขาดโอกาสทั้งที่น่าจะมี ค่ายนี้เป็นค่ายเบื้องต้น ที่จะกระตุ้นให้เด็กรู้จักการผลิตงานฝีมือซึ่งเป็นภูมิปัญญาไทยและนับวันจะหายไป ขณะที่ในต่างประเทศค่าแรงงานฝีมือพวกนี้จะสูงมาก ตรงข้ามกับเมืองไทยที่นิยมใช้ของสำเร็จรูป? รองผอ. TMC กล่าวเพิ่มเติมว่า ราคาเครื่องบินเครื่องยนต์เดี่ยวชนิด composite 4 ที่นั่งนี้ หากผลิตและประกอบโดยบริษัทต่างประเทศจะมีราคาไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ขณะที่ค่าแบบแปลนและวัสดุที่ใช้ในการประกอบเครื่องบินเองทั้งหมดรวมกันนั้น จะถูกกว่าและประหยัดเงินไปได้มาก
ถึงแม้วันนี้ เครื่องบินฝีมือเด็กไทยจะยังไม่สำเร็จเป็นรูปเป็นร่าง แต่ก็นับเป็นร่างแรกของปีกแห่งความฝัน และเป็นบทแรกของบทพิสูจน์ศักยภาพของเด็กไทยที่พวกเขายืนยันด้วยความมุ่งมั่นว่าไม่แพ้เด็กชาติไหนในโลก
เพิ่มเติมรายละเอียด
จากที่ผมหาข้อมูล ปรากฏว่า Cozy MK IV ออกแบบโดย Nat Puffer ไม่ใช่ Burt Rutan แห่ง Scaled Composites, LLC ตามที่บทความอ้างอิง หรือผมอาจจะหาข้อมูลไม่เจอเอง
ข้อมูลทั่วไปของ Cozy MK IV จาก UNOFFICIAL COZY
Seats: | 4 | Wing Span: | 28.1 ft. |
---|---|---|---|
Nose Gear: | manual retract | Canard Span: | 11.5 ft. |
Gross Weight: | 2050 lbs. | Total Wing Area: | 101.4 sq. ft. |
Empty Weight: | 1050 lbs. | Length: | 17.0 ft. |
Maximum Speed: | 220 mph | Height: | 7.9 ft. |
Minimum Speed: | 64 mph | Cockpit Width (Front): | 42.0 in. |
Range: | 1350 Miles (w/ 1hr. reserve) |
Cockpit Width (Rear): | 38.0 in. |
Engine: | Lycoming O-360 | Airframe Cost: | $14 K - $15 K |
Wing Airfoil: | Modified Eppler | (w/o engine or avionics) | |
Canard Airfoil: | Roncz 1145MS |
อื่น ๆ ดูที่วิกิพีเดียได้ครับ http://en.wikipedia.org/wiki/Cozy_MK_IV