น่าจะมีประโยชน์ไม่มากก็น้อยต่อท่านที่อยากทราบเรื่องนี้น่ะครับว่ากองทัพคิดยังงัยกับเรื่อง ซู30บ้าง
ฮ.หมีขาวเอ็มไอ-17 ทนทานน่าใช้มีไว้น่าคุ้ม
ขณะที่ ซู-30 เอ็มเค ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีการจัดซื้อเมื่อใด แต่เฮลิคอปเตอร์ แบบ เอ็มไอ 17 ของรัสเซียมีความเห็น ไปได้สูงที่ไทยจะต้องมีประจำการ อย่างน้อยๆ เป็นไปตามข้อเสนอ จ่ายหนี้ค่าข้าวเป็นเฮลิคอปเตอร์
"เอ็มไอ 17 จะมีค่าใช้จ่ายต่ำและทนทานมาก ขณะนี้มีหลายประเทศ ซื้อไว้ประจำการในกองทัพกว่า 20 ประเทศ รวมถึง ยังสามารถติดอาวุธโจมตี ส่งกำลังบำรุง และทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์"
ทิศทางกองทัพหลังจากเกิดกรณี ซู-30 เอ็มเค แล้ว ค่อนข้างชัดเจนว่า การจัดซื้ออาวุธของกองทัพต่อไปนี้ จะสอดสัมพันธ์ไปกับการเมืองระหว่างประเทศ และเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ
ไม่ใช่เพียงแค่ ซู-30 เอ็มเค เท่านั้น ที่การตัดสินใจ ซื้อ-ไม่ซื้อขึ้นอยู่กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
กองทัพอากาศ เพียงทำหน้าที่ศึกษา ฝึก และตัดสินใจตามรูปแบบที่ได้จัดวางเอาไว้แล้ว
ตะลุยกองทัพฉบับนี้ ขอนำเสนอคิวของกองทัพบก ที่ต้องศึกษา และน่าจะซื้อเฮลิคอปเตอร์ตามใบสั่ง
เดิมกองทัพบกมีแผนจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์รุ่น "แบล็คฮอว์ค" เพิ่มอีก 5 ลำ โดยสิ้นเดือนมกราคม 2549 จะมีการส่งมอบให้กองทัพบก 2 ลำ
ท่าทีของรัฐบาลต่อ แบล็คฮอว์ค นั้น เป็นไปในทางบวก มองว่า แบล็คฮอว์ค ดีทุกอย่าง บรรทุกของได้เยอะ และที่สำคัญเหมาะสมกับกองทัพบก
แต่หลังจากรัฐบาลวางแผนเปิดตลาดกับรัสเซีย แนวคิดนี้ส่อเค้าว่าได้เปลี่ยนไปแล้ว
หลังเรื่อง ซู-30 เอ็มเค ของกองทัพอากาศถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ ก็มีคำถามว่า ข่าวลือที่ว่ารัฐบาลไทยจะจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์จากรัสเซียนั้น จริงเท็จแค่ไหน
นายทหารระดับสูงของกองทัพบกนายหนึ่ง ยืนยันว่า มีคำสั่งโดยวาจาให้กองทัพบกศึกษาเฮลิคอปเตอร์ เอ็มไอ 17 ของรัสเซีย จริง
ถึงแม้ว่า เอ็มไอ 17 จะมีคุณสมบัติที่ไม่แตกต่างจาก แบล็คฮอว์ค ของมะกัน แต่เป้าหมายในการจัดซื้อไม่ได้มุ่งไปที่อาวุธ หากแต่มุ่งไปที่การค้าที่จะติดตามมา
เพราะดูจากการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. เอ็มไอ 17 ไม่ได้อยู่ในแผนพัฒนากองทัพ 9 ปี แม้แต่นิดเดียว
"กองทัพบกได้เสนอความต้องการเฮลิคอปเตอร์รุ่นต่างๆ ไปในแพ็คเกจ ประกอบด้วย แบล็คฮอว์ค เฮลิคอปเตอร์ติดกันชิพ ที่จะต้องทยอยเข้าเกือบ 10 ลำ และซ่อมเฮลิคอปเตอร์ เบลล์ 212 รวมถึงอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้พร้อมใช้งาน"
อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่า พล.อ.สนธิ ก็เข้าใจดีถึงความจำเป็นที่กองทัพบกต้องมี เอ็มไอ 17
เนื่องเพราะได้มาจากการใช้หนี้ค่าข้าวที่ติดค้างไทยเมื่อหลายปีก่อน
ถือว่าเป็นเฮลิคอปเตอร์รุ่นที่มีประสิทธิภาพ และตรงกับความต้องการของกองทัพบกเหมือนกัน เพราะขณะนี้เรามีเฮลิคอปเตอร์ประจำการอยู่ 100% ใช้ได้แค่ 50% เท่านั้น ถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น และ ทบ.อยากได้พอดี ทั้งนี้ เอ็มไอ 17 ถือเป็นเฮลิคอปเตอร์ที่มีสมรรถนะดี สามารถใช้งานได้ 2 ระบบ ทั้งการลำเลียง และ "ทางยุทธวิธี" ผบ.ทบ.กล่าว
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เอ็มไอ 17 อาจจะเป็นหนึ่งในแพ็คเกจ ที่รัสเซียต้องการจะขายให้กับประเทศที่จะจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ของประเทศรัสเซีย รวมถึงการขายลักษณะนี้จะเป็นที่สนใจของประเทศที่กำลังพัฒนาในหลายประเทศ
เอ็มไอ 17 เป็นเฮลิคอปเตอร์ที่ใช้งานได้หลากหลาย สามารถบรรทุกคนได้เยอะถึง 30 กว่าคน บรรทุกผู้ป่วยได้ประมาณ 20 คน อีกทั้ง เอ็มไอ 17 จะมีค่าใช้จ่ายต่ำและทนทานมาก ขณะนี้มีหลายประเทศซื้อไว้ประจำการในกองทัพกว่า 20 ประเทศ รวมถึงยังสามารถติดอาวุธโจมตี ส่งกำลังบำรุง และทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์
"ไม่รู้ว่าตอนที่มาเลเซียซื้อ ซู-30 จากรัสเซีย ได้ของแถมเป็น เอ็มไอ 17 ด้วยหรือไม่ แต่หากมีการจัดซื้อของรัสเซียจะมีการบริการเรื่องการซ่อมบำรุง หรือการตั้งโรงงานเพื่อซ่อมบำรุงร่วมกัน เอ็มไอ 17 ทนทานพอสมควร มีเครื่องยนต์ 2 ตัว หากเครื่องหนึ่งเสียก็สามารถใช้เครื่องที่เหลือได้เลย"
รศ.ดร.ปณิธาน บอกข้อเสียของ เอ็มไอ 17 ว่า ในแถบตะวันตกอาจจะไม่มีความคุ้นเคย และรูปทรงขนาดใหญ่มาก ซึ่งในบางภารกิจการปฏิบัติงานคงจะลำบาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภูเขา หรือในหมู่บ้าน เพราะเครื่องบินมีความสูงประมาณ 6 เมตร กว้าง 2.5 เมตร รับน้ำหนักได้ประมาณ 13,000 กิโลกรัม ความยาวของปีก 21 เมตร
ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา กว่า 20 ประเทศที่กำลังพัฒนาให้ความสนใจอาวุธของรัสเซียมาก เพราะเมื่อเทียบกับประเทศที่ค้าขายของรัสเซียจะถูกมาก และมีการยืดหยุ่นในการซื้อขาย มีการลด แลก แจก แถม รวมถึงการซื้อขายแบบการค้าต่างตอบแทน ทำให้การค้าอาวุธของรัสเซียมีความคล่องตัวถึง 30-40%
สำหรับประเทศส่วนใหญ่ที่จัดซื้ออาวุธกับรัสเซีย จะเห็นว่าจะซื้อด้วยระบบทางการเมือง และประเทศที่เป็นพันธมิตรกับรัสเซีย ไม่ได้เป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา การจัดซื้ออาวุธต้องการที่จะทำให้มีอาวุธที่หลากหลาย โดยที่ไม่ยึดติดกับสหรัฐ ทั้งนี้ หากเราซื้อของรัสเซีย เราก็จะไม่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐ เหมือนกับเป็นการเปลี่ยนจุดยืนทางการทหารเหมือนกัน
ขณะนี้ยังไม่แน่ชัดว่า นายกรัฐมนตรีมีการเซ็นบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ร่วมกับรัสเซียแล้วหรือยัง และยังไม่ทราบว่ารัฐบาลจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร การประโคมข่าวของรัสเซียอาจจะเป็นการได้ชัยชนะทางด้านยุทธศาสตร์ หากนายกรัฐมนตรีมีการเซ็นเอ็มโอยูจริง ก็เหมือนว่าผลประโยชน์ทางด้านการตอบแทนทางเศรษฐกิจและทางการเมือง จะมีมากกว่าทางการทหาร
คุณสมบัติ เอ็มไอ 17
เฮลิคอปเตอร์ แบบ เอ็มไอ 17 รหัส ฮิป (HIP) ซึ่งบริษัท Kazan ของประเทศรัสเซีย เป็นผู้ออกแบบคิดค้น เป็นเฮลิคอปเตอร์แบบกลาง มีลักษณะ 2 เครื่องยนต์ พัฒนาต่อเนื่องมาจาก เฮลิคอปเตอร์แบบ ไอเอ็ม 8 โดยมีการใช้งานแพร่หลายในหลายประเทศ โดยเฉพาะช่วงสมัยสงครามเย็น
เอ็มไอ 17 มีการขึ้นบินทดสอบเป็นครั้งแรกในปี 1981 จนได้รับความนิยมแพร่หลายจากนานาประเทศ โดยได้รับความสนใจทั้งจากวงการทหาร และพลเรือน ทำให้มีการผลิตออกมาหลายรูปแบบ
เฮลิคอปเตอร์รุ่นนี้ ถือเป็นรุ่นอเนกประสงค์ ที่กล่าวได้ว่าเป็นกระดูกสันหลังของวงการทหารของโลกค่ายคอมมิวนิสต์ ต่อมาได้มอบสิทธิบัตรให้หลายๆ ประเทศที่เป็นพันธมิตรในช่วงก่อนที่สหภาพโซเวียตล่มสลายไปผลิตใช้งานเอง
โดยเฮลิคอปเตอร์ชนิดนี้มีภารกิจที่หลากหลาย ตั้งแต่ขนส่ง ดัดแปลงติดอาวุธ เป็นเฮลิคอปเตอร์โจมตี ดัดแปลงเป็นเฮลิคอปเตอร์วีไอพี และในภารกิจส่งกลับสายการแพทย์ กู้ภัย ดับไฟป่า และอื่นๆ
เอ็มไอ 17 ติดตั้งเครื่องยนต์ Isotov TV3-117MT turboshaft จำนวน 2 เครื่อง ให้กำลัง 1,950 แรงม้า สามารถบินได้ไกล 500 กิโลเมตร และ 1,000 กิโลเมตร เมื่อติดตั้งถังน้ำมันนอกลำตัว ความเร็วเดินทางสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ห้องโดยสารสามารถบรรทุกทหารราบได้สูงสุด 24 นาย
ปัจจุบันมีการผลิตออกมาแล้วมากกว่า 12,000 เครื่อง ประจำการอยู่ในกองทัพอากาศต่างๆ ทั่วโลกกว่า 50 ประเทศ โดยในภูมิภาคเอเชียมีประจำการอยู่ใน มาเลเซีย เวียดนาม เกาหลีใต้ เกาหลีเหนือ ปากีสถาน อินเดีย และพม่า
สำหรับประเทศไทย ที่ผ่านมาเคยมีการเสนอจัดหามาประจำการที่ กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่เรื่องได้เงียบหายไป
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบ เอ็มไอ 17 จะมีสมรรถภาพใช้งานคล้ายกับ ชี-นุก ของ ทบ.
ข้อดี-เสีย ซู-30 เอ็มเค ในสายตาของ ทอ.
ผู้เชี่ยวชาญของกองทัพอากาศ วิเคราะห์เกี่ยวกับเครื่องบินรบ ซู-30 เอ็มเค ของรัสเซีย ที่กองทัพอากาศของไทย ซู-30 เอ็มเค เป็นเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ขนาดใหญ่ ออกแบบโดย บริษัท Skhoi และผลิตโดยบริษัท IRKUT Corporation ประเทศรัสเซีย
เป็นการพัฒนาแบบมาจาก ซู-27 มุ่งหวังให้เทียบได้กับ เอฟ 15 ของสหรัฐ และต้องการให้สามารถปฏิบัติภารกิจได้ไกล การออกแบบจึงมิได้คำนึงถึงการใช้งานในลักษณะที่มีทรัพยากรจำกัด มุ่งแต่ในด้านขีดความสามารถของเครื่องบินเพียงด้านเดียวที่ต้องการให้ไปได้ไกล สามารถบรรทุกอาวุธได้เป็นจำนวนมาก เครื่องบินจึงมีลักษณะเด่นในการบรรทุก
ข้อเด่นที่เห็นได้ชัดและแตกต่างจากเครื่องบินขับไล่แบบอื่นๆ ได้แก่ การที่เครื่องบินมีเครื่องยนต์ที่สามารถควบคุมทิศทางของไอพ่นได้ และด้วยเหตุผลนี้เองทำให้สามารถทำการบินในท่าทางต่างๆ ที่เครื่องบินขับไล่ทั่วไปไม่สามารถทำท่าทางการบินดังที่ ซู-30 เอ็มเค ทำได้
แต่อย่างไรก็ดี ความสามารถในการทำท่าทางการบินดังกล่าว กลับไม่เป็นประโยชน์ในการบินรบในอากาศมากนัก
ระบบอาวุธที่ใช้กับ ซู-30 เอ็มเค โดยเฉพาะอาวุธนำวิถี มีอายุสั้นเพียง 8 ปี ดังนั้นทุกๆ 8 ปี ต้องจัดหาอาวุธกันใหม่ เปรียบเทียบกับที่กองทัพอากาศมีใช้งานอยู่คือ 15 ปีขึ้นไป ทำให้ต้องเสียงบประมาณเป็นจำนวนมาก เพราะหากเครื่องบินรบไม่มีอาวุธก็ไม่สามารถทำการรบได้
ในการทำภารกิจบางอย่างของเครื่องบินรบขนาดใหญ่นั้น มีข้อจำกัด เช่น ในภารกิจการเตรียมพร้อม และภารกิจสนับสนุนทางอากาศโดยใกล้ชิด
ในขณะที่นักบินตั้งคำถามว่า ความต้องการเครื่องบิน ซู-30 เอ็มเค เพื่อทดแทนเครื่องบินขับไล่แบบ เอฟ 5 นั้น ดูจะไม่มีความสมเหตุสมผล เนื่องจากไม่สามารถทำภารกิจทดแทน เอฟ 5 ได้ทั้งหมด โดยเฉพาะที่ไม่สามารถนำอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ ที่มีอยู่มาใช้ได้ ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายรวมเงินลงทุนซื้อเครื่องบินตลอดอายุ 30 ปี ไม่รวมอาวุธที่ต้องจัดหา
ขณะเดียวกัน เรื่องกำลังทางอากาศนั้น ต้องการความต่อเนื่องในการเตรียมกำลัง ไม่ว่าจะเป็นด้านการฝึก การเตรียมบุคลากร นักบินต้องได้ทำการบินอย่างต่อเนื่องเพื่อความชำนาญและปลอดภัย นักบินต้องสามารถตัดสินใจภายในเสี้ยววินาทีเพื่อชัยชนะในการรบและความอยู่รอด
ความสิ้นเปลืองต่อชั่วโมงบิน / Operating & Maintenance Cost (41 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ)
Operating Cost (O Cost) : 2,790 ดอลลาร์ต่อชั่วโมงบิน
Maintenance Cost (M Cost) : 7,200 ดอลลาร์ต่อชั่วโมงบิน
รวมความสิ้นเปลืองต่อชั่วโมงบิน 10,000 ดอลลาร์ต่อชั่วโมงบิน หรือ 410,000 บาทต่อชั่วโมงบิน
เครื่องบิน ซู-30 เอ็มเค จำนวน 18 เครื่อง รวมอะไหล่และระบบ ไอแอลเอส (อินทิเกรท โลจิสติก ซิสเต็ม) ราคารวมประมาณ 1,107,620,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 45,412,420,000 บาท
ค่าใช้จ่ายในวงรอบ 30 ปี จากการคำนวณจากการใช้เครื่องบินจำนวน 18 เครื่อง จะเป็นค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 4,677,000,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 30 ปี หรือประมาณ 191,757,000,000 บาทต่อ 30 ปี !!!
เครื่องบินดีนะครับ แต่มองระยะยาวเรื่องอะไหล่และการซ่อมบำรุงก็คิดหนักทีเดียว
อยากให้ท.อ.มีขีดความสามารถที่จะดูแลรักษาเครื่องบินรบยักษ์นี้ได้ด้วยถ้าจะซื้อจริงๆน่ะครับ
ผมเคยอ่านในแทงค์โก ว่าประเทศเพือนบ้านเราก็มี MI-17 รู้สึกว่าประเทศลวา และสามารถบรรถุกคนได้มากกว่ากันแต่ก็ดีนะครับที่จะจัดหาไว้ ไทยนี้ก็ดีเนอะมีทั้งค่ายรัสเซีย จีน อเมริกา *0*
ผมว่า mi-17 น่าจะจัดหาอย่างยิ่ง เพราะใช้งานได้หลากหลาย และอุดช่องว่างของภาระกิจ ที่ ประทศนี้ขาดอยู่ได้ ดีกว่า ไอ้ฮอว์คๆๆ ไรนั้น นะครับ
ฮอว์ค ก็ดีนะครับแมนก็ยังมีช่องว่างอยู่ ผมคิดว่า อะไหล่ฮ. ที่ ทบ/ทอ มีอยู่ตอนนี้ผมก็ว่า มันก็มากแบบอยู่แล้ว ไม่เสียหายเท่าไหร่หรอกที่จะเพิ่มเข้าไปอีก แถมหยิบยืมแถวๆชายแดนได้ด้วยมั้ง อิอิ
ส่วน su 30 ปลงครับปลง ขอให้มันมาเถอะไรก็ได้ มัวเรื่องมาก นักบินอาจจะบินแห้งกันจนได้ F-35 กันแน่ละถ้าไม่เลือกสักที
เรื่องซู 30 ผมไม่ทราบเรื่อง COST หรอกครับ ว่าสูงเท่าไหร่ ท่านกบเปรียบเทียบใกล้เคียงเรื่องความใจถึง.....งั้นก็จบ
1.อายุการใช้งานอาวุธ นำมาใช้ร่วมไม่ค่อยได้ ดัดแปลงได้ไหม
2.ค่าใช้จ่ายในการฝึกบิน ถ้ามีตังค์จะบินได้ไหม ถ้าบินขึ้นไปแล้วกระทืบใครก็ได้ ทำให้เขาเกรงใจในทางการทูต หรือคำพูดของนายกมีน้ำหนักในเวทีสาธารณะมากขึ้น
3.ระบบตรวจจับเรดาร์ของมันเทียบคุณสมบัติห่วยกว่า เอฟ -16 หรือไม่
4.พิสัยของอาวุธ ใกล้ไกล เมื่ออัดเต็มๆกับ เอฟ-16 แบบไกลๆเกินระดับสายตาใครได้เปรียบ ซึ่งก็เข้าไปอยู่กับหมวดหมู่การดัดแปลงใช้อาวุธร่วมที่อาจขอความช่วยเหลือจากอิสลาเอลได้ไหมครับ
5.ภาระกิจของมันก็ไม่ใช่เครื่องบินสกัดกั้นอยู่แล้ว มันลักษณะเดียวกับ เอฟ-15
6.ซื้อ แจส-39 มาไว้ที่สุราษ สัก 2 ฝูง พอไหม ถ้าไม่มีตังค์ เอาฝูงเดียวก่อนก็ได้
สุดท้ายมันมีไว้เพื่อไปกระทืบคนในที่ไกลกว่าบ้านตัวเองไม่ใช่หรือ ถ้าคิดมากเรื่องต้องการแค่อยากมีเครื่องเชิงรับเท่านั้น แล้วมาเลย์ สิงคโปร์ หรือ พม่าในอนาคต มันมี ซู-30 หรือมาเลย์พ่วง เอฟ -18 เขามีไว้ทำไม ปัจจัยทำไมต้องมีเครื่องบินเชิงรุกด้วย เพื่อคุยอะไรจะได้สะดวกขึ้นใช่ไหม ยังไม่ต้องรอให้เกิดสงครามทางอากาศหรอกพี่ทั้งหลาย.....
สุดท้ายผมไม่ใช่นักบิน แต่เป็นความคิดเห็นส่วนตัวครับ....
เหอะ ๆ ๆๆ ๆ เพื่อบ้านเค้าควบกันมันยกร่องไปแล้ว บ้านเรายังมัวแต่จด ๆ จ้อง ๆ อยู่เลยครับ ....
ปล. คาราวะป๋าครับ
คาราวะด้วย 1 จอก ครับ ท่านแซม...........................