*หมายเหตุ : สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) ได้เผยแพร่ความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่องการใช้ประโยชน์สนามบินดอนเมืองควบคู่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2549 สนามบินสุวรรณภูมิได้เปิดให้บริการเป็นสนามบินหลักแห่งใหม่ของไทยแทนสนามบินดอนเมือง การดำเนินการครั้งนี้มีเหตุการณ์หลายอย่างที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างกว้างขวาง อันเกิดจากความไม่ชัดเจนในนโยบายของรัฐบาลในการใช้สนามบินทั้งสอง ซึ่งอุปกรณ์ต่างๆ ของผู้ประกอบการได้ย้ายมายังสนามบินแห่งใหม่แล้ว
ประกอบกับการมีข่าวในสื่อต่างๆ ที่รัฐบาลและผู้บริหารสนามบินจะเปิดสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อทำการซ่อมแซมเป็นเวลานาน เนื่องจากทางวิ่ง (รันเวย์) และทางขับ (แท็กซี่เวย์) เกิดชำรุดหลังใช้งานได้ไม่นาน ข่าวมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ฟื้นฟูสภาพสนามบินดอนเมืองเป็นสนามบินนานาชาติควบคู่กับสนามบินสุวรรณภูมิอีกแห่ง โดยให้มีการเปิดให้บริการสนามบินดอนเมืองอีกครั้งในวันที่ 25 มีนาคม 2550
การโยกย้ายบางส่วนกลับไปสนามบินเก่าจะทำให้ธุรกิจการบินต้องได้รับผลกระทบอย่างมาก และผลกระทบต่อเป้าหมายการลงทุนในสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อเป็นศูนย์กลางทางการบินของภูมิภาค ซึ่งเป็นนโยบายการลงทุนทางเศรษฐกิจของรัฐขนาดใหญ่
นอกจากนี้ ยังมีความสับสนต่อแผนการใช้สนามบินดอนเมือง เพื่อรองรับธุรกิจการบินแบบภายในประเทศหรือแบบนานาชาติบางรูปแบบหรือครบทุกรูปแบบ อันมีสาเหตุจากการพิจารณาความเหมาะสมของการลงทุนเพิ่มเติมทั้งที่ที่สนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง กับสภาพและการลงทุนที่ผ่านมารวมทั้งคุณค่าทางเศรษฐกิจ (Economic Value) ของพื้นที่ดอนเมืองยังไม่มีความชัดเจน จึงอาจเป็นสาเหตุให้การตัดสินใจในโครงสร้างพื้นฐานแห่งนี้ไม่เหมาะสม
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยคณะทำงานโครงสร้างพื้นฐาน คมนาคมและพลังงาน เห็นเป็นภาระหน้าที่และเป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจของสภาที่ปรึกษาฯ ในการสะท้อนปัญหาและให้ข้อเสนอแนะต่อ ครม.ตามมุมมองที่สภาที่ปรึกษาฯ จึงได้มีข้อเสนอโดย
-รัฐต้องกำหนดนโยบายที่ชัดเจนในการใช้สนามบินดอนเมืองให้เป็นสนามบินรอง (Secondary Airport) เป็นการถาวรควบคู่กับการใช้สนามบินสุวรรรภูมิเป็นสนามบินหลัก (Main Airport) โดยต้องรักษาเป้าหมายการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิให้เป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค
การใช้สนามบินดอนเมืองต้องคำนึงถึงคุณค่าทางเศรษฐกิจ (Economic Value) มากกว่าคุณค่าทางการเงิน (Financial Value) โดยรวมของทั้งสองสนามบินและต้องพิจารณาทบทวนถึงแผนการลงทุนขยายสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 ที่ต้องใช้งบฯลงทุนมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท ทำให้มีเวลาขยายการชำระหนี้ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิค) ในเฟสแรกอยู่ 7 หมื่นล้านบาทออกไปได้ระยะหนึ่ง และเปรียบเทียบกับการใช้งบประมาณเพื่อเตรียมความพร้อมของดอนเมืองและกรณีของสายการบินต้นทุนต่ำ
-สนามบินดอนเมืองควรใช้เป็นสนามบินในกิจกรรมต่อไปนี้คือ
1.เป็นสนามบินฉุกเฉินเสริมกับสนามบินสุวรรณภูมิโดยไม่ต้องใช้สนามบินอู่ตะเภา
2.กิจกรรมการบินเช่าเหมาลำและเครื่องบินของบุคคลสำคัญ เป็นการบินเชิงพาณิชย์แบบไม่ประจำ ทำการบินเพื่อขนส่งผู้โดยสารหรือสินค้าต่างๆ ในรูปแบบการให้บริการที่แตกต่างจากเที่ยวบินประจำ ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มบริษัทต่างๆ หน่วยงานรัฐ
3.กิจกรรมการบินประจำภายในประเทศเฉพาะจุด เป็นอีกกิจกรรมที่มีความสำคัญต่อการขนส่งทางอากาศของประเทศ เนื่องจากปัจจุบันนี้ได้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายการบินต้นทุนต่ำ โดยพบว่า สายการบินภายในประเทศที่ไม่มีการเชื่อมต่อของผู้โดยสารที่เดินทางมาจากต่างประเทศหรือสายการบินที่จัดตั้งขึ้นเพื่อตอบสนองการเดินทางภายในประเทศเป็นหลักนั้น ยังคงสามารถใช้สนามบินดอนเมืองเป็นฐานในการปฏิบัติการบินได้ ซึ่งเน้นการให้ใช้สนามบินระดับรอง ซึ่งค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินต่ำกว่าสนามบินใหญ่
อย่างไรก็ตาม การใช้สนามบินดอนเมืองเป็นฐานในการบินภายในประเทศดังกล่าวจะต้องพัฒนาเส้นทางคมนาคมทางบกที่สะดวก รวดเร็ว สามารถเชื่อมโยงการเจรจาและรองรับความต้องการของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4.กิจกรรมการบินประจำนานาชาติเฉพาะจุด เพื่อเป็นประโยชน์ของสายการบินระหว่างประเทศที่ไม่มีการเชื่อมต่อของผู้โดยสารที่เดินทางมาจากต่างประเทศกับการเดินทางภายในประเทศนั้น สามารถใช้สนามบินดอนเมืองเป็นฐานการปฏิบัติการบินได้
5.กิจกรรมการบินนานาชาติทั่วไปหลังการใช้สนามบินสุวรรณภูมิเต็มศักยภาพ
6.กิจกรรมการขนส่งสินค้าล้วน (Air Cargo Airport) เมื่อการติดต่อทำธุรกรรมต่างๆ สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น การขนส่งสินค้าจะเพิ่มขึ้นมากด้วย ดังนั้นการจัดพื้นที่เพื่อรองรับกิจกรรมการขนถ่าย การจัดเก็บและกระจายสินค้าโดยเฉพาะ ซึ่งสนามบินดอนเมืองได้มีสถานที่และสาธารณูปโภคไว้อย่างครบถ้วนแล้ว การนำมาใช้ประโยชน์ด้านนี้จึงพร้อมรองรับกิจกรรมนี้โดยมิต้องปรับปรุงสิ่งก่อสร้างใดเลย
7.ศูนย์ฝึกอบรมการบินและบุคลากรด้านการบิน
8.กิจกรรมสถานีซ่อมบำรุง (Maintenance Stations) จากการที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ได้กำหนดใช้พื้นที่ด้านเหนือของสนามบินดอนเมืองดำเนินกิจกรรมสถานีซ่อมบำรุงอากาศยาน แต่ขณะนี้เห็นว่ายังสามารถขยายขีดความสามารถในการดำเนินการดังกล่าว โดยพบว่าปัจจุบันนี้อุตสาหกรรมด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานของไทยยังมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยดูจากความต้องการที่เข้ามาซ่อมบำรุงอากาศยานในเอเชียจากภูมิภาคอื่น ซึ่งรัฐบาลควรมีนโยบายส่งเสริมให้เกิดการเติบโตของอุตสาหกรรมในประเทศอย่างจริงจัง เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น
9.กิจกรรมทางพาณิชย์อื่นๆ เช่นกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ศูนย์ธุรกิจและอุตสาหกรรมเคลื่อนย้ายง่ายและระยะสั้นบางประเภทที่ได้รับอนุมัติจากทางการ
10.เครื่องบินทหารและทางราชการ
-กิจกรรมต่างๆ ข้างต้นที่รัฐอาจจัดให้มีในการใช้สนามบินดอนเมือง รัฐต้องทบทวนศึกษาความเป็นไปได้ที่ได้ทำไปแล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงมากกว่าเหตุผลทางการเมืองในอดีต
-เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้สนามบินทั้งสองแห่งและสามารถอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารได้เพียงพอ รัฐต้องพิจารณาเร่งรัดการสร้างระบบคมนาคมขนส่งระหว่างสองสนามบินเป็นการเฉพาะ
ทั้งหมดนี้ คงจะต้องขึ้นอยู่กับทางรัฐบาลว่า จะมีการดำเนินการตามที่ สป.แนะนำมาหรือไม่
ที่มา มติชน
จะอย่างไรก็แล้วแต่นะครับในเมื่อเปิดไปแล้วก็ต้องใช้แล้วมานั่งคำนวนถึงความคุมทุนอีกทีว่า...หายเท่าไร่เอ้ยว่าคุ้มหรือไม่(ส่วนในเรื่อง ด.ร.ที่มายืนจัดคิวแท็กซี่ที่ดอนเมืองค่อยว่ากันอีกที ส่วนตัวผมลากกระเป๋ามาเรียกข้างนอกครับ ไม่เสีย50บาทด้วย หรือหมั่นไส้มากๆ ขึ้น รถเมล์มาต่อรถไฟฟ้าที่จตุจักรครับ)
แต่ที่สำคัญ Airport Link ครับ ไม่เห็นมีที่ท่าว่าจะเปิด เพราะสำคัญมากๆ รถไฟฟ้าความเร็วสูงหรือจะเป็นระบบแม่เหล็กที่จีนใช้อยู่(ใครที่ดูข่าวสมเด็จพระเทพเสด็จเยือนจีนเมื่อคืนคงเห็น) ต้องรีบทำครับ เชื่อมทั้ง 2 สนามบินให้สมบูรณ์ เพราะเมื่อ ตอนต้นเดือนเห็นครอบครัวฝรั่งครอบครัวหนึ่งลงจากเครื่องแล้วต่อตาลีตาเหลือก ลากกระเป๋ากองโต หาแท็กซี่เพื่อจะรีบไปต่อเครื่องที่สุวรรณภูมิ เห็นแล้วอนาถใจครับ ถ้าAirport Linkสมบูรณ์จะไม่อนาถใจครับ
เห็นคนงานแค่คนสองคนเท่านั้นเองครับ >>>>>มี 2 กรณีครับคุณskyman คือถ้าเห็นช่วงนี้แปลว่า
ในความรู้สึกผมค่อนข้างจะเห็นด้วยกับ สป. ครับ ส่วนเรื่อง Airport Link ก็เป็นสิ่งที่ควรจะเร่งรีบให้เสร็จเร็วที่สุด ส่วนรถไฟจีนที่ใช้ระบบแม่เหล็กน่าจะเป็นรถ ทรานสราปิด ที่เป็นการพัฒนาร่วมกับเยอรมัน ซึ่งจัดว่าทำความเร็วได้สูงที่สุดในโลกและจีนเป็นประเทศแรกที่ใช้งาน(ก่อนเยอรมันเจ้าตำหรับซะอีก อาจเป็นเพราะของเดิมที่เยอรมันใช้อยู่ยังมีประสิทธิภาพมากอยู่)
ปล.ถ้าจำไม่ผิดวันนี้ 16 เม.ย. วันเกิดนายไม่ใช่เหรอ นายNok ยังไงก็ขอให้สุขสันติ์วันเกิดนะครับ
airport link ของสุวรรณภูมิยังสร้างอยู่ครับ ตามแผนจะเปิดใช้ได้ปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้าเป็นอย่างช้าครับ เป็นรถไฟฟ้าความเร็วสูง (กว่ามาตรฐานของไทย) ใช้รางเกจมาตรฐาน (standard gauge = กว้าง 1.4 เมตร) มีสองแบบครับ คือแบบธรรมดา หยุดมันทุกป้าย กับแบบด่วนพิเศษ จากมักกะสันไปสุวรรณภูมิแค่ 15 นาที
ปัญหาคือ โครงการ airport link อันนี้เขาออกแบบมาให้ไปหยุดที่พญาไท เชื่อมกับ BTS และรถใต้ดินที่มักกะสัน เพื่อรองรับสนามบินสุวรรณภูมิเท่านั้น (ตอนออกแบบโครงการ รบ.ที่แล้วตั้งเป้าไว้แล้วว่าใช้สนามบินเดียว) แต่ตอนนี้ดันมาเปิดดอนเมืองด้วย ยังไงถึง airport link เส้นนี้เสร็จ ผู้โดยสารก็ต้องลากกระเป๋าปุเลงๆลงรถใต้ดิน ไปขึ้นที่ลาดพร้าว แล้วใช้บริการรถบัสรับส่งของการบินไทยไปดอนเมืองอีกต่อครับ คงจะประทับใจกันน่าดู -___-"
ส่วนไอเดียที่จะต่อขยาย airport link ออกไปถึงดอนเมืองนั้น รู้สึกว่าจะอยู่ในแผนรถไฟฟ้าห้าสายของรัฐบาลขิงแก่นี้ด้วย รู้สึกว่าจะให้ รฟท. เป็นคนดำเนินการต่อขยายจากสถานีพญาไท ไปถึงดอนเมือง แต่เท่าที่ไปอ่านมา รู้สึกมันจะเป็นรถคนละระบบกัน คือเส้นไปดอนเมืองนี้จะกลับไปใช้ระบบรางโบราณของ รฟท. เหมือนเดิม (รางขนาดกว้าง 1 เมตร = รถวิ่งได้ช้ากว่า) แล้วก็ไม่ได้เป็นรถไฟฟ้า แต่เป็นขบวนรถดีเซล ปัจจุบันก็เพิ่งจะอยู่ระหว่างเปิดประมูล ศึกษา โอ้เอ้ ไปเรื่อยๆ คาดว่าชาติหน้า บ่ายๆ เราคงได้ใช้กันครับ
อีกอย่าง ถ้าส่วนขยายนี้มันเป็นแบบนี้จริงๆ มันคงตลกๆดีที่ผู้โดยสารนั่งรถไฟฟ้าความเร็วสูงจากสุวรรณภูมิมา แล้วต้องมาเปลี่ยนระบบ เปลี่ยนขบวนไปขึ้นรถดีเซล เพื่อนั่งไปดอนเมือง แทนที่จะทำให้มันต่อกันไปเลย
ปล. เรื่องส่วนต่อขยายนี้ผมไปอ่านมาจากกระทู้นึงในเว็บ http://www.skyscrapercity.com/archive/index.php/f-326.html นะครับ เขาคุยกันเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างใหญ่ๆใน กทม ผมก็ไปฟังๆเขามา
กรรมเลยครับถ้าเป็นแบบที่คุณTrinity(ตอนอ่านชื่อคุณใหม่ๆผมอ่านแบบผ่านๆนึกว่าชื่อทิฟฟี่ อิอิ) บอก ถ้ารถไฟเป็นคนละ ระบบ คิดเหมือนกันครับว่าชาติหน้าตอนค่ำๆ คงจะได้ใช้
ทำไมคนคิดจะทำไม่คิดให้เป็นระบบเดียวกัน ผู้โดยสารไม่ต้องต่อ (อย่ามาอ้างว่าจำนวนผู้โดยสารที่จะใช้ภายในประเทศจะไปต่อระหว่างประเทศมีน้อยทำแล้วไม่คุ้มทุน อ้างแบบนี้ลาไปเกิดใหม่ได้เลยครับ) แทนที่จะนั่งรถไฟฟ้าแบบสบายใจไม่เกิน 15-30 นาทีจากดอนเมืองไปถึงสุวรรณภูมิ เช็คอินโหลดสัมภาระที่ดอนเมืองเลย ไปถึงที่สุวรรณภูมิรอขึ้นเครื่องอย่างเดียว ถ้าทำได้แบบนี้ ศูนย์กลางทางการบินไม่หนีไปไหน แต่ถ้าทำแบบทุกวันนี้ นักท่องเที่ยวต้องหอบลูกจูงหลานอุ้มเมียน้อยลากเมียหลวงขี่คอแม่ยายจากสนามบินนึงไปอีกสนามบินนึงต้องนั่งรถตู้หรือแท็กซี่ไปชาติหน้าตอนดึกๆนะครับถึงจะเป็น ศูนย์กลางทางการบิน
เศร้า กับสุวรรณภูมิ เรื่องแทกซี่เวย์ รันเวย์โดนยำซะเละทั้งๆที่วัสดุดีกว่ามาตรฐาน เฮ้อ การบินไทยก็ย่ำแย่ครับ ค่าใช้จ่ายเพื่มขึ้นมาก กลุ่มสตาร์ก็ไม่ชอบใจอย่างมากมีผู้โดยสารตกเครื่องเยอะ
เรื่องแอร์พอร์ตลิ้งค์สองสนามบินเลิกหวังเลยครับ สร้างถึงมักกะสันได้ก็บุญแล้ว เจบิคเซย์โนตลอดครับเปิดโพลหอการค้าญี่ปุ่นที่เขาทำเองไม่พึ่งเอแบคโพลให้ดูถึงกับหน้าหงาย หม่อมอุ๋ยเข้าไปสองรอบไม่ไปอีกเลย หลังจากเซ็นเอฟทีเอก็ดูทีท่าไปอีกแต่คงไม่ใช่รัฐบาลนี้แน่
ข่าวความคืบหน้าเรื่อง airport link ที่ไปเจอจากบอร์ดที่ผมว่ามาครับ ตัดมาจาก กรุงเทพธุรกิจอีกทีนึง
------------------------------------
กรุงเทพ ธุรกิจ 2 เมษายน พ.ศ. 2550 19:29:00
?ธีระ? สั่งสนข.ศึกษาโครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 2 สนามบินเพิ่ม จากเดิมที่รัฐบาลจะทำเพียง 5 เส้นทาง เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : พลเรือเอกธีระ ห้าวเจริญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังประชุมรัฐวิสาหกิจในสังกัดว่า ได้เร่งรัดการใช้งบประมาณให้เป็นไปตามเป้า พร้อมกำชับรัฐวิสาหกิจที่มีผลขาดทุนเร่งผลักดันแผนฟื้นฟูกิจการ โดยเฉพาะการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ต้องก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือแอร์พอร์ตลิงค์ และเดินหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน คาดว่าจะเปิดประกวดราคาเดือนมิถุนายน ช้ากว่าแผนเดิมเล็กน้อย เพราะต้องคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาให้ถูกต้องตามขั้นตอน โดยวิธีเปิดประกวดราคาทั่วไปแทนใช้วิธีตกลง
ทั้งนี้เนื่องจากโครงการแอร์พอร์ตลิงค์ยังไม่มีการเชื่อมการเดินทางระหว่างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง ตนจึงมอบให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปศึกษาแนวเส้นทาง เพื่อให้การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเชื่อมต่อท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่ง ซึ่งแนวเส้นทางดังกล่าวจะเป็นแนวทางใหม่นอกจากแผนดำเนินโครงการรถไฟฟ้า 5 เส้นทาง ที่รัฐบาลชุดเก่ากำหนดไว้
?แนวเส้นทางเชื่อมสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองไม่ได้กำหนดไว้ในแผนดำเนินโครงการรถไฟฟ้า แต่ผมต้องการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่ต้องเดินทางระหว่าง 2 สนามบินจึงให้ศึกษาแผนไว้ หากรัฐบาลใหม่เข้ามาจะได้สะดวกและนำไปใช้ได้ทันที? พลเรือเอกธีระ กล่าว
ด้านดร.ไมตรี ศรีนราวัฒน์ ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า แผนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าในภาพรวมได้กำหนดแนวเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมืองแล้ว แต่รัฐบาลจะดำเนินการเส้นทางใดก่อน ซึ่งขณะนี้นโยบายรัฐบาลต้องการให้ผู้โดยสารเดินทางเชื่อมระหว่าง 2 ท่าอากาศยานอย่างสะดวก โดยไม่ต้องเปลี่ยนขบวนรถจากแอร์พอร์ตลิงค์ ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าระบบรางขนาด 1.43 เมตร
ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงอื่นเป็นรถไฟฟ้าที่ใช้รางขนาด 1 เมตร จึงมีแผนให้ สนข.ไปจัดทำแบบรายละเอียดเพิ่มขนาดราง 1.43 เมตร ให้ยาวจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไปถึงท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อผู้โดยสารไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายขบวนรถ โดยสนข. จะตั้งงบปี 2551 เพื่อจัดทำแบบรายละเอียด และศึกษาตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ร่วมทุนว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานและดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535
----------------------------------------
อ่านแล้วยังงงๆ แต่สรุปคร่าวๆว่า airport link ปัจจุบันมาหยุดที่พญาไท จากนั้นในโครงการรถไฟฟ้า 5 สายใหม่ จะเป็น commuter train จากพญาไทออกไปทางดอนเมือง รังสิต ซึ่ง รฟท รับผิดชอบ รางเป็นแบบขนาด 1 เมตรก่อน ซึ่งแปลว่ายังไงก็ต้องเปลี่ยนขบวน แต่ รบ. นี้ออกไอเดียให้สร้างเพิ่มอีกระบบ คือขยาย airport link เดิมที่ใช้ราง 1.4 เมตรออกไปถึงดอนเมืองด้วย ซึ่งตอนนี้เพิ่งจะอนุมัติงบมาให้ศึกษา พอศึกษาแล้วก็ต้องประมูล แล้วก็อนุมัติ แล้วก็สร้าง ฯลฯ กว่าจะได้ใช้ผมคงแก่พอดี
ส่วนตัว commuter train ต่อจากพญาไทไปดอนเมืองในช่วงแรกนั้น ข่าวที่เห็นเมือ่ต้อนปีเห็นว่าจะเป็นรถดีเซลอย่างที่ว่าไป แต่ไม่รู้ว่าตอนนี้เปลี่ยนมาเป็นรถไฟฟ้าหรือยังนะครับ เดี่ยวไว้เจอข้อมูลเพิ่มจะเอามาแปะทีหลัง
ปล. สุขสันต์วันเกิดพี่นก กับพี่เด็กทะเลด้วยครับ :)
ลืมบอกครับ แหะๆ
ไปค้นเจอมาว่า เสปกของ airport link ของเรานั้นเป็นรถไฟฟ้าใช้แขนจับสายไฟเหนือหัว (BTS ใช้รางที่สามข้างๆปล่อยไฟฟ้า) วิ่งได้เร็วสูงสุดที่ 160 km/h เท่านั้นครับ (แต่พอเริ่มใช้งานจริงก็คงเป็นรถไฟที่เร็วสุดในไทยแล้วละ)
ราง standard gauge 1.4 เมตรนั้นสามารถรรองรับรถไฟที่วิ่งได้เร็วถึงระดับ 200 - 300 km/h ในขณะที่รางโบราณแบบ 1 เมตรของ รฟท จะรับรถที่ความเร็วสูงสุดราวๆ 130 km/h เท่านั้น
เรื่องอื่นๆไปตามอ่านได้ที่
http://www.thaitransport-photo.net/index.php
http://www.skyscrapercity.com/forumdisplay.php?f=367
ครับ มีแต่คนมาคุยกันเรื่องขนส่งมวลชน รถไฟฟ้า ทางด่วน การข่นส่งระบบราง ฯลฯ ก็สนุกไปอีกแบบ
ในรูปเป็น Makkasan City-Airport Terminal ครับ หรูหราซะไม่มี
รูปสุดท้ายครับ รู้สึกมันชักจะออกนอกเรื่องของบอร์ดนี้ไปเรื่อยๆแล้วแฮะ
อันนี้รูปตัวอย่างรถไฟฟ้า airport link ครับ
ตอนแรกผมก็คิดแบบคุณน้ำเค็ม นะครับ แต่หลังจากได้อ่านบทความด้านการขนส่งแล้วคิดตาม
ผมพบว่าเราไม่สามารถนำตัวเงินมาเปรียบเทียบกันแบบ หนึ่งต่อหนึ่งได้ครับ
โครงการ Airport Link ที่จะขยายไปดอนเมืองนอกจากจะเอื้อประโยชน์ให้กํบผู้โดยสารเครื่องบินแล้ว ระบบดังกล่าวยังมีระบบรถไฟฟ้าแบบเดียวกับ บีทีเอสวิ่งซ้อนอยู่บนรางเดียวกันกับระบบรถด่วนเชื่อมสนามบิน
และด้วยการจัดการที่ว่า ทำให้ประชาชนตลอดแนวพญาไท ไปจนถึงดอนเมืองได้ใช้ประโยชน์จากรถไฟฟ้าด้วย
เมื่อมีรถไฟฟ้า โครงการบ้านจัดสรร คอนโด และ อื่นๆก็จะตามมา เมื่อมีโครงสร้างพื้นฐานครบครัน คนก็จะจอดรถที่บ้านและใช้รถไฟฟ้าเข้าเมือง
มูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาลที่ตามมานี้แหละครับที่เป็นตัววัดความคุ้มค่าทางเศรฐกิจ ที่มิอาจวัดได้ด้วยตัวเงิน