เขมรมุสลิม"ลง3จว.ใต้ 2ปี..เกือบ20,000ชีวิต!1 เมษายน 2550 13:12 น.0
(IMG:http://www.komchadluek.net/2007/04/mili/images/6835060low.jpg)
"เขมรมุสลิม" แห่ลง 3 จว.ใต้ ยอดรวม 2 ปี พุ่งสูงกว่า 2 หมื่นคน แต่ทิ้งพาสปอร์ต-กลับจริงไม่ถึง 20% พบขนยา เวชภัณฑ์ -"ผงชูรส" ลงใต้ จนท.เชื่ออาจนำไปรักษาคนเจ็บในพื้นที่
ขณะที่สายตาของทุกคนจับจ้องไปยังเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ ณ แนวชายแดนบูรพาทิศ ด้าน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว กลับมี "สัญญาณความผิดปกติ" ซึ่งคล้ายจะมีความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้เกิดขึ้นอย่างเงียบๆ มานานกว่า 2-3 ปีแล้ว
สัญญาณผิดปกติที่ว่า คือ การหลั่งไหลของชาวกัมพูชา ซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม หรือ "เขมรมุสลิม" ไปทำงานยังประเทศมาเลเซีย และไปเรียนศาสนาที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะชาวเขมรมุสลิมจาก จ.กัมปงจาม ประเทศกัมพูชา ซึ่งมีประชากรชาวมุสลิมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
(IMG:http://www.komchadluek.net/2007/04/mili/images/6835059low.jpg)
ที่น่าจับตาก็คือ ระยะหลังจะมีกลุ่มวัยรุ่น หรือชายฉกรรจ์ รวมตัวกันลงไปจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นกลุ่มๆ โดยระบุว่า จะไปเรียนศาสนาบ้าง ไปเยี่ยมญาติบ้าง ซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างผิดสังเกต
นอกจากนี้ ยังมีการลักลอบขนเวชภัณฑ์ ยารักษาโรค และ "ผงชูรส" ลงไปยังพื้นที่ภาคใต้ด้วย ซึ่งฝ่ายความมั่นคงกำลังจับตามองอยู่
โดยเฉพาะผงชูรสนั้น ดูเผินๆ อาจแค่เป็นเครื่องปรุงธรรมดาๆ แต่จริงๆ แล้วสรรพคุณของมันยังสามารถใช้เป็น "ยาห้ามเลือด" ชะงัด จึงเข้าข่าย "ยุทธปัจจัย" ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถตรวจยึดได้อีกด้วย
(IMG:http://www.komchadluek.net/2007/04/mili/images/6799007low.jpg)
ผงชูรสที่เจ้าหน้าที่สามารถตรวจยึดได้นั้น เป็นผงชูรสจากประเทศเวียดนาม ซึ่งมีลักษณะพิเศษ คือ มีเกล็ดใหญ่กว่าผงชูรสของไทย ซึ่งข้อดีประการสำคัญ คือ ละลายช้า จึงสามารถใช้ห้ามเลือดได้นานกว่า
ประเด็นนี้ถ้าตามให้ดีๆ ก็อาจจะช่วยตอบโจทย์ได้ว่า เหตุใดเมื่อฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบถูกยิงแล้วจึงไม่มีใครมารักษาตัวที่โรงพยาบาลเลย
พ.อ.ไชยชัยยันห์ โสธรชัย ผบ.ฉก.กรม.ทพ.ที่ 12 กกล.บูรพา ให้ข้อมูลว่า จากคำรับสารภาพของชาวเขมรมุสลิมที่ลักลอบขนยารักษาโรค และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ไปยังจังหวัดชายแดนภาคใต้ทำให้เชื่อได้ว่ายา และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์เหล่านี้อาจจะนำไปใช้ในพื้นที่ป่าเขา
ส่วนที่อ้างกันว่าจะนำไปใช้เอง หรือนำไปให้ญาติที่มาเลเซียนั้นก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะประเทศมาเลเซียจะห้ามนำเข้าอย่างเด็ดขาด อีกทั้งกฎหมายของมาเลเซียก็เข้มงวดในเรื่องนี้อย่างมากด้วย
พฤติกรรมเหล่านี้อาจจะเป็นปัญหาด้านความมั่นคงจึงจำเป็นต้องดำเนินคดีในข้อหาลักลอบน
ำยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต
ส่วนการเดินทางเข้ามาก็น่าสงสัยไม่แพ้กัน เพราะมักจะมากันเป็นกลุ่มๆ กลุ่มละ 10-12 คน โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น และชายฉกรรจ์
พ.อ.ไชยชัยยันห์ ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ส่วนใหญ่ชาวเขมรมุสลิมมักจะอ้างว่าจะไปหางานทำในมาเลเซีย แต่จากการคำนวณแล้วพวกเขาต้องเสียค่าทำพาสปอร์ตและขอวีซ่าเข้าประเทศไทยตกคนละเกือบ 1 หมื่นบาท ขณะที่วีซ่าก็มีอายุแค่ 1 เดือน จึงไม่คุ้มที่จะไปรับจ้างทำงานตามระยะเวลาที่กำหนด
แต่บางคนก็รับสารภาพว่ามีชาวเขมรมุสลิมมาทำพาสปอร์ตและขอวีซ่าให้ฟรีๆ โดยพวกเขาไม่ต้องไปทำด้วยตนเอง จึงทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเข้มงวดกวดขันมากขึ้น เพราะยังไม่รู้แน่ชัดว่า ต้นตอของเงินที่มาสนับสนุนให้คนเหล่านี้เดินทางลงชายแดนภาคใต้นั้นมาจากแหล่งไหนกันแ
น่
พ.อ.ไชยชัยยันห์ เผยข้อมูลอันน่าวิตกด้วยว่า ในช่วงเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมานี้ มีชาวเขมรมุสลิมเดินทางไปชายแดนภาคใต้แล้วกว่า 2 หมื่นคน แต่พบว่าเดินทางกลับมาแค่ประมาณ 20% เท่านั้น
ทุกวันนี้ชาวเขมรมุสลิมยังคงเดินทางเข้ามาเลเซีย และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกวัน เฉลี่ยวันละประมาณ 20-80 คน โดยจะเช่ารถตู้จากด่านชายแดนอรัญประเทศไปส่งที่ชายแดนด้าน อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เที่ยวละ 12,000-15,000 บาท โดยจะบรรทุกคันละ 10-12 คน ซึ่งบางวันจะมีรถตู้วิ่งไปส่งถึง 6 คัน
ส่วนมาตรการป้องปรามเท่าที่ทำได้นั้น ทางทหารพรานก็จะมีการตรวจค้นสิ่งของสัมภาระอย่างเข้มงวด และทำการถ่ายรูปทำประวัติบุคคลต้องสงสัยไว้แล้วส่งข้อมูลไปยังกองทัพภาคที่ 4
ขณะที่ พ.ต.ท.สุบิน บุญเล็ก รอง ผกก.หน.กสส.ภ.จว.สระแก้ว เผยว่า ตำรวจได้ประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการรถตู้รับจ้างที่นำชาวเขมรมุสลิมเช่าเดินทา
งลงชายแดนภาคใต้ให้นำพาสปอร์ต และวีซ่าถ่ายสำเนามาให้ตำรวจ สภ.ต.คลองลึก เป็นผู้เก็บรวบรวมไว้สำหรับทำการตรวจสอบประวัติ
"คนพวกนี้จะนั่งรถโดยสารในตลาดโรงเกลือเพื่อเข้ากรุงเทพฯ จากนั้นก็จะต่อรถไปลงภาคใต้ ซึ่งวิธีนี้จะสามารถหลบเลี่ยงการถูกตรวจสอบ ดีกว่าการนั่งรถตู้เป็นกลุ่มๆ"
พ.ต.ท.สุบิน ระบุว่า ตามปกติวีซ่าประเภทนี้จะอยู่ในประเทศไทยได้เพียง 1 เดือนเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่กลับเข้ามาอยู่ครั้งละ 6 เดือนถึง 1 ปี หรือมากกว่านั้น โดยเมื่อเดินทางถึงชายแดนภาคใต้ก็จะทิ้งพาสปอร์ต และหลบหนีเข้าไปทำงานแถวๆ ชายแดนภาคใต้ และชายแดนมาเลเซีย
เมื่อต้องการเดินทางกลับประเทศเขาก็จะยอมให้เจ้าหน้าที่จับในข้อหาหลบหนีเข้าเมือง แล้วนำมาผลักดันกลับที่ชายแดนอรัญประเทศ จากนั้นก็จะไปทำพาสปอร์ตใหม่ โดยการเปลี่ยนชื่อ
เพื่อให้เกิดความกระจ่างในประเด็นนี้ ทีมข่าว "คม ชัด ลึก" จึงเดินทางลงพื้นที่ด่าน ตม.อรัญประเทศ เพื่อสังเกตการณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่ และสัมภาษณ์ชาวเขมรมุสลิมที่จะลงไปจังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยขั้นตอนการทำงานของการตรวจสอบนั้น เจ้าหน้าที่ ตม. จะสุ่มเลือกจากบุคคลที่ระบุในพาสปอร์ตว่าจะลงไปทำงานในมาเลเซีย หรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากนั้นจะส่งให้ทหารพรานตรวจค้นสิ่งของสัมภาระและถ่ายรูปทำประวัติบุคคลต้องสงสัยไว้
ให้ทางการตรวจสอบอีกครั้ง
เจ้าหน้าที่ระดับสูงรายหนึ่งใน ตม.บอกว่า เหตุที่ต้องสุ่มเช่นนี้ เพราะระยะหลังชาวเขมรมุสลิมมักจะไม่ระบุศาสนาของตนเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ บางรายถึงขั้นโกหกว่าเป็น "พุทธ"
นายตรี ซโลนอัต วัย 22 ปี จาก จ.ไปร:bepolite: (ติดกับ จ.กัมปงจาม) ประเทศกัมพูชา บอกกับเราผ่านล่ามทหารพรานว่า เขาพร้อมเพื่อนอีก 5 คน ซึ่งมีอายุระหว่าง 22-30 ปี จะลงไป "เที่ยวเล่น" ที่ จ.ปัตตานี โดยตั้งใจจะไปแค่ 2-3 วัน เพราะพี่ชายที่อยู่ จ.ปัตตานี โทรศัพท์มาชวนให้ไปเยี่ยม
ถามว่าไม่กลัวเหตุการณ์ทางโน้นหรือ ตรี ตอบว่า "ไม่กลัว แค่ไปเล่นเฉยๆ คงไม่ตายหรอก"
แต่เมื่อถามว่า เอาเงินติดตัวไปเท่าไร ตรี ก็มีท่าทีอึกอัก แต่ก็ยอมเปิดกระเป๋าสตางค์ให้ดู ซึ่งพบว่ามีเงินอยู่ในกระเป๋าเพียง 100 บาทเท่านั้น สำหรับการ "เที่ยวเล่น" ที่ จ.ปัตตานี 2-3 วัน
เรื่องแปลกๆ ยังไม่จบแค่นั้น เพราะหลังจาก ตรี มีอาการตื่นๆ กับคำถาม นายจัน โซมเมือน วัย 47 ปี ซึ่งเป็นคนพาวัยรุ่นกลุ่มนี้ไปเที่ยว ก็แก้สถานการณ์ให้ด้วยการยื่นแบงก์พันบาทให้ตรี และพรรคพวกที่เหลือทั้งหมดเพื่อยืนยันว่า คนพวกนี้มีเงินพอที่จะลงไปใต้แน่นอน
จัน ยิ้มกว้าง ก่อนจะตอบคำถามเหมือนกับคนอื่นๆ คือ เขาและญาติๆ จะลงไปเที่ยวที่ จ.ปัตตานี โดยตั้งใจจะลงไปแค่ 2-3 วัน เพราะมีญาติทำงานโรงงานปลากระป๋องอยู่ที่นั่น
ทว่า เมื่อถามถึงเส้นทางเงินที่นำมาทำพาสปอร์ต วีซ่า รวมทั้งค่ากินอยู่ และค่าเดินทางในรอบนี้ เขาก็เลี่ยงที่จะตอบคำถาม และบอกแค่ว่าญาติที่ จ.ปัตตานี ส่งเงินมาให้
ส่วนเรื่องที่จะมีชาวเขมรมุสลิมเข้าไปพัวพันกับเหตุการณ์ทางภาคใต้หรือไม่นั้น จัน ก็ตอบว่า ไม่รู้ และคิดว่าคงไม่มีใครทำอะไรแบบนั้น
ตลอดการพูดคุยกับหนุ่มเขมรมุสลิมกลุ่มนี้ สิ่งที่พบก็คือ ลักษณะการตอบคำถามจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันหมด แต่จะไม่ตอบคำถามเกี่ยวกับเส้นทางการเงิน และสถานการณ์ทางภาคใต้อย่างเด็ดขาด
สิ่งที่เป็นจุดร่วมอีกประการก็คือ แต่ละกลุ่มจะมีผู้นำ 1 คน คอยจัดการเรื่องพาสปอร์ต วีซ่า หาเงินทอง และคอยชี้แจงประเด็นข้อซักถามต่างๆ ของเจ้าหน้าที่
ที่น่าสนใจอีกข้อก็คือ บางกลุ่มแม้จะยืนยันว่าตัวเองเป็นพุทธ แต่ในกระเป๋าสัมภาระกลับพก "กะปิเยาะห์" (หมวกของผู้ชายมุสลิม)
ถึงกระนั้น แม้จะพบข้อสงสัยมากมาย แต่เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ และบุคคลที่ถูกตรวจค้นก็ไม่ได้พกพา หรือกระทำสิ่งผิดกฎหมาย
จากข้อมูลของต่างๆ เหล่านี้ จึงประเมินได้เพียงว่า มีชาวเขมรมุสลิมนับหมื่นๆ คนยอมทิ้งพาสปอร์ตกลายเป็น "ประชากรแฝง" ในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบการเคลื่อนไหวได้เลย
น่าสนใจก็ตรงที่ การอพยพเคลื่อนย้ายอันเต็มไปด้วยข้อพิรุธ ภายใต้ข้ออ้างว่า "เยี่ยมญาติ" หรือ "เที่ยวเล่น" เป็นเหตุผลที่ผ่านด่านชายแดน และผ่านด่านความมั่นคง และสาบสูญไปในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างต่อเนื่อง ราวกับว่า นี่เป็นเรื่องปกติ ทั้งที่สถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คุกคามความมั่นคงอย่างรุนแรง
//////////////////////////////// ชัชวาลย์ โสภาพันธ์ ,อาคม ไชรศร