หน้าแรก    ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบคำถาม    เข้าสู่ระบบ      


การปฏิบัติการของทหารไทยในสงครามเวียดนาม

โดยคุณ : omaha เมื่อวันที่ : 19/03/2007 18:46:44

ภูมิหลังของเวียดนาม
            เมื่อประมาณ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว ชาวเวียดนามเคยอาศัยอยู่ในดินแดนแถบตอนใต้ของประเทศจีน ถูกจีนรุกรานจึงถอยร่นลงมาทางใต้ บางครั้งตกเป็นเมืองขึ้นของจีน เวียดนามจึงรับวัฒนธรรมของจีนไว้มาก
            ในปี พ.ศ.๒๔๑๖ เวียดนามตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ฝรั่งเศสได้แบ่งการปกครองเวียดนามออกเป็น ๓ แคว้น คือ แคว้นตังเกี๋ย อยู่ทางตอนเหนือ แคว้นอันนัม อยู่ทางตอนกลาง และแคว้นโคชินไชน่า อยู่ทางตอนใต้  ฝรั่งเศสได้เปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา วัฒนธรรม  ขนบธรรมเนียมประเพณีให้เป็นแบบฝรั่งเศส
            ในปี พ.ศ.๒๔๘๔ ได้เกิดขบวนการเวียดมินห์ขึ้น เพื่อขับไล่ฝรั่งเศส โดยมีผู้ที่มีสมญาว่า โฮจิมินห์ เป็นผู้นำ
            ในปี พ.ศ.๒๔๘๕ ขณะเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ญี่ปุ่นได้เข้ายึดครองภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เวียดนามจึงได้ประกาศตนเป็นอิสระ แต่คงอยู่ในการควบคุมของญี่ปุ่น ขบวนการเวียดมินห์ก็ได้ร่วมมือกับสหรัฐฯ และฝ่ายสัมพันธมิตร ทำการต่อต้านญี่ปุ่น เมี่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม โฮจิมินห์จึงจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๘ และหลังจากที่จักรพรรดิเบาได๋ ได้สละราชสมบัติในปีเดียวกันนั้น โฮจิมินห์ก็ตั้งรัฐบาลขึ้นบริหารประเทศ และเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบสาธารณรัฐ ฝรั่งเศสได้หาทางกลับไปมีอิทธิพลเหนือเวียดนามอีก โดยมีอังกฤษให้ความช่วยเหลือ ขบวนการเวียดมินห์ได้พยายามต่อสู้ เพื่อขับไล่ฝรั่งเศสอยู่ ๙ ปี แต่ไม่สำเร็จ ฝรั่งเศสยึดเมืองต่าง ๆ ไว้ได้
            หลังจากจีนคอมมิวนิสต์ได้ขับไล่จีนคณะชาติไปยังเกาะไต้หวันแล้วก็ได้เข้ามาช่วยขบวนการเวียดมินห์เพื่อขับไล่ฝรั่งเศส ต่อมาเมื่อเวียดมินห์ยึดเดียนเบียนฟูได้ ฝรั่งเศสกับเวียดนามก็ได้ทำสัญญาสงบศึกที่กรุงเจนีวา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๗ เรียกว่า อนุสัญญาเจนีวา มีสาระสำคัญคือ ให้แบ่งเวียดนามออกเป็นสองส่วน คือ เวียดนามเหนือ และเวียดนามใต้ โดยใช้เส้นรุ้งที่ ๑๗ เหนือ ซึ่งผ่านเมืองกวางตรี ตามแนวแม่น้ำเบนไฮ เป็นเส้นแบ่งเขตแดน และให้เวียดนามเหนือ เวียดนามใต้ ลาว และกัมพูชา ซึ่งเคยรวมเป็นอินโดจีนของฝรั่งเศสตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๖๘ แยกออกเป็นรัฐอิสระ พ้นจากการปกครองของฝรั่งเศส พื้นที่บริเวณเส้นรุ้ง ๑๗ องศาเหนือ มีเขตแดนปลอดทหารด้านละไม่เกิน ๕ กิโลเมตร ในการนี้สหรัฐอเมริกา และเวียดนามใต้ไม่ได้ร่วมลงนามด้วย
            เวียดนามเหนือมีนโยบายที่รวม เวียดนามเข้าด้วยกัน และปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ โดยมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๓ โดยไม่มีการเลือกตั้งใด ๆ แต่มีการแต่งตั้งโฮจิมินห์ขึ้นเป็นประธานาธิบดี
            ทางด้านเวียดนามใต้ ยังคงตกอยู่ใต้อิทธิพลของฝรั่งเศส โดยฝรั่งเศสได้เชิญจักรพรรดิเบาได๋ ขึ้นเป็นประมุขปกครองประเทศ ต่อมากลุ่มผู้รักชาติ เวียดนามใต้ได้ขับไล่ฝรั่งเศสออกจากเวียดนาม จักรพรรดิเบาได๋ ได้แต่งตั้งนายโงดินห์เดียม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐ และได้จัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี หลังจากที่จักรพรรดิ์ เบาได๋ สละราชสมบัติอีกครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ.๒๔๙๘ หลังจากนั้นก็มีการวุ่นวายแย่งชิงอำนาจกัน ในปี พ.ศ.๒๕๐๖ ได้มีคณะทหารเข้ายึดอำนาจการปกครอง ได้ประกาศนโยบายที่จะกวาดล้างคอมมิวนิสต์ สหรัฐฯ ให้การรับรอง ต่อมาทางเวียดนามเหนือ ได้เปิดฉากทำสงครามกองโจรกับเวียดนามใต้
เหตุการณ์ในเวียดนามก่อนเกิดสงคราม

            ตามอนุสัญญาเจนีวา พ.ศ.๒๔๙๗ ที่ประชุมใหญ่ระหว่างชาติ มีสหรัฐฯ  อังกฤษ  สหภาพโซเวียต  เวียดนาม  ลาว และกัมพูชา มีสาระสำคัญอยู่ ๕ ประการ ที่สำคัญประการหนึ่งคือ เมื่อครบกำหนด ๒ ปี นับแต่ทำสัญญาสงบศึก ทั้งสองฝ่ายจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในเวียดนาม การเลือกตั้งนี้ให้อยู่ในความควบคุมของคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศ และประชาชนทั้งสองฝ่ายต้องมีสิทธิเลือกถิ่นที่อยู่โดยเสรี แต่ปรากฏว่าไม่ได้มีการปฏิบัติตามข้อตกลง ไม่มีการเลือกตั้ง เวียดนามจึงแบ่งออกเป็น เวียดนามใต้ และเวียดนามเหนือโดยปริยาย
            ในปี พ.ศ.๒๕๐๑ เวียดนามเหนือ หรือเวียดมินห์ ได้เริ่มทำสงครามกองโจรกับเวียดนามใต้ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ โรงเรียน เวียดมินห์จะเกลี้ยกล่อมเด็กอายุระหว่าง ๑๕ - ๑๖ ปี เข้าสมัครพรรคพวกฝึกอาวุธให้ แล้วเข้าแทรกซึมในหมู่บ้านจนประสบผลสำเร็จ สามารถขยายอิทธิพลออกไปอย่างกว้างขวาง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๒ เวียดมินห์เริ่มทำการรุกรานเวียดนามใต้ด้วยอาวุธ และกำลังทหาร และในปี พ.ศ.๒๕๐๓ โฮจิมินห์ได้จัดตั้งกองกำลังเวียดกง แนวร่วมรักชาติเพื่อปลดปล่อยเวียดนามใต้ โดยได้ดำเนินการปลูกฝังแนวความคิด โฆษณาชวนเชื่อ ขู่เข็ญ คุกคาม และจูงใจในทุกวิถีทาง โดยผ่านองค์การบังหน้าต่าง ๆ
            ในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ เวียดนามเหนือได้ทำการรุกรานเวียดนามใต้อย่างรุนแรง จนรัฐบาลเวียดนามใต้ต้องขอความช่วยเหลือจาก มิตรประเทศฝ่ายโลกเสรี ในปี พ.ศ.๒๕๐๘ เวียดนามเหนือได้ขยายกองกำลังเวียดกงขึ้นไปถึงระดับกองทัพ เริ่มเปิดฉากการรุกหนักหลายด้าน จนสามารถยึดพื้นที่ส่วนหนึ่งของภาคกลางของ เวียดนามใต้ได้เป็นจำนวนมาก และได้เข้าโจมตีเรือรบของสหรัฐฯ ทำให้ประธานาธิบดี จอห์นสัน ของสหรัฐฯ ได้ตัดสินใจทำสงครามแบบขยายขอบเขต (Escalation) เข้าไปในเวียดนามเหนือ สงครามโดยเปิดเผยระหว่างสหรัฐฯ และเวียดนามเหนือ จึงเริ่มต้นตั้งแต่กุมภาพันธ์ ๒๕๐๘ เป็นต้นมา
การช่วยเหลือของฝ่ายโลกเสรี

            หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงในปี พ.ศ.๒๔๘๘ โลกได้ถูกแบ่งออกเป็น ๒ ค่าย คือ ค่ายคอมมิวนิสต์ มีสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำ และค่ายเสรีประชาธิปไตย มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ ค่ายคอมมิวนิสต์ มีนโยบายรุกราน และต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ของประเทศต่าง ๆ ในโลก ให้เป็นแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ สหรัฐฯ จึงได้เสนอแผนการมาร์แชล (Marshall Plan) เพื่อบูรณะฟื้นฟูประเทศในยุโรปตะวันตก จากวิกฤตทางเศรษฐกิจ และตั้งองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติคเหนือ (NATO) สำหรับช่วยเหลือในทางทหาร
            ในเอเชียฝ่ายคอมมิวนิสต์ขยายอิทธิพลด้วยการส่งจารชน และผู้ก่อการร้ายเข้าไปบ่อนทำลายบรรดาประเทศในทวีปเอเชีย เช่น อินโดนีเซีย เกาหลี ศรีลังกา พม่า กัมพูชา ลาว และไทย เพื่อเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ และเข้ายึดครองประเทศเหล่านั้นตามอุดมการณ์ครองโลกของคอมมิวนิสต์
            สหรัฐฯ ตระหนักดีว่า หากอินโดจีนแพ้สงคราม และตกเป็นของคอมมิวนิสต์แล้ว จะนำไปสู่การสูญเสียเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด ตามทฤษฎีโดมิโน (Domino Theory) จึงได้ทุ่มเทความช่วยเหลือแก่ เวียดนามใต้ สหรัฐฯจึงเป็นผู้นำในการต่อต้านเวียดนามเหนือ นับตั้งแต่ฝรั่งเศสต่อสู้กับเวียดนามเหนือ เมื่อฝรั่งเศสแพ้ สหรัฐฯ จึงเข้าไปช่วยเหลือเวียดนามใต้
            ในปี พ.ศ.๒๕๐๘ เวียดนามใต้ตกอยู่ในจุดล่อแหลมที่สุด สหรัฐฯ จึงตกลงใจส่งกำลังทหารเข้าไปปฏิบัติการในเวียดนามใต้ พร้อมกับกำลังของฝ่ายโลกเสรีอีก ๗ ประเทศ คือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สเปน ฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และไทย การจัดรูปแบบของการรบเป็นในแบบสงครามจำกัด มุ่งให้เป็นการรบของ เวียดนามทั้งสองฝ่ายเท่านั้น
การช่วยเหลือของฝ่ายคอมมิวนิสต์
            นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๗ เป็นต้นมา สหภาพโซเวียต และสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาอุตสาหกรรมของ เวียดนามเหนือมาโดยตลอด หลังปี พ.ศ.๒๕๐๘ เวียดนามเหนือได้ส่งคณะผู้แทนไปติดต่อประเทศฝ่ายคอมมิวนิสต์กว้างขวางยิ่งขึ้น ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๑๑ - ๒๕๑๓ ได้มีประเทศที่ให้ความช่วยเหลือได้แก่ โปแลนด์ เยอรมนีตะวันออก โรมาเนีย เชคโกสโลวาเกีย บัลกาเรีย แอลบาเนีย แมนจูเรีย มองโกเลีย และเกาหลีเหนือ


การส่งทหารไปร่วมรบในสงครามเวียดนาม

            ในปี พ.ศ.๒๕๐๗ ประธานาธิบดี ตรันวันมินห์ แห่งเวียดนามใต้ได้ขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทย โดยขอให้ฝึกหัดนักบินของกองทัพอากาศเวียดนามใต้ ที่ส่งเข้ามาฝึกในประเทศไทย ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๙ รัฐบาลเวียดนามใต้ได้ขอความช่วยเหลือทางทหารจากไทยเพิ่มเติม โดยขอให้จัดส่งเรือไปช่วยปฏิบัติการลำเลียง และเฝ้าตรวจบริเวณชายฝั่ง ป้องกันการแทรกซึมทางทะเลให้แก่ เวียดนามใต้ และในปีเดียวกัน ก็ได้ขอกำลังจากกองทัพบกไทย เพื่อช่วยยับยั้งการคุกคามของเวียดนามเหนือ นอกจากรัฐบาลไทยแล้วเวียดนามใต้ก็ได้ขอร้องทำนองเดียวกันไปยังประเทศฝ่ายโลกเสรีอื่น ๆ
            รัฐบาลไทยได้พิจารณาเห็นว่า รัฐบาลเวียดนามใต้ ได้รับการยอมรับจากสมัชชา แห่งสหประชาชาติแล้วว่า เป็นรัฐบาลที่ได้จัดตั้งขึ้นอย่างถูกต้อง ประเทศไทยจึงควรให้ความร่วมมือเพื่อป้องกัน และยับยั้งการรุกรานครั้งนี้ เพื่อผดุงและรักษาไว้ซึ่งสันติสุขของประชาชาติผู้รักสงบในภูมิภาคนี้ จึงรับหลักการให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ เวียดนามใต้ โดยให้กระทรวงกลาโหมรับผิดชอบดำเนินการ กระทรวงกลาโหมได้พิจารณาสนับสนุนตามลำดับดังนี้
            ขั้นต้น  ให้กองทัพอากาศทำการฝึกนักบินไอพ่นให้กับทหารอากาศเวียดนามใต้ ซึ่งเข้ามารับการฝึกในประเทศไทย ตั้งแต่กันยายน ๒๕๐๗ - กุมภาพันธ์ ๒๕๐๘ รวม ๗ รุ่น ๆ ละ ๔ คน รวม ๒๘ คน
            ขั้นที่สอง  ให้กองทัพอากาศส่งหน่วยบิน ประกอบด้วยนักบินเครื่องบินลำเลียง ๑๐ คน ช่างอากาศ ๖ คน ไปสนับสนุนกองทัพอากาศ เวียดนามใต้ ทำการบินลำเลียงด้วยเครื่องบินลำเลียงแบบ C - ๔๗ เมื่อกันยายน ๒๕๐๗ เรียกนามรหัสหน่วยนี้ว่า หน่วยบินวิคตอรี (Victory Wing Unit)
            ขั้นที่สาม  จัดตั้งกองบังคับการหน่วยช่วยเหลือทางทหารในสาธารณรัฐเวียดนามขึ้นในกรุงไซ่ง่อน เมื่อพฤศจิกายน ๒๕๐๘ เพื่อควบคุมการปฏิบัติงานของหน่วยบินวิคตอรี ร่วมกับฝูงบินลำเลียงที่ ๔๑๕ เวียดนามใต้
            ในปี พ.ศ.๒๕๐๙ รัฐบาลเวียดนามใต้ขอร้องรัฐบาลไทย ให้ช่วยเหลือทางกำลังทหารเรือ ฝ่ายไทยจึงได้ส่งเรือจากกองทัพเรือไปช่วย โดยได้ส่งเรือหลวงพงัน ซึ่งเป็นเรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ และเรือ ต.๑๒ ซึ่งเป็นเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งไปร่วมปฏิบัติการใน เวียดนามใต้ โดยขึ้นสมทบกับหน่วยบริการทางทะเล ทางทหารสหรัฐฯ ประจำกรุงไซ่ง่อน และกองเรือเฉพาะกิจที่ ๑๑๕ ตามลำดับ เรียกนามรหัสว่า ซีฮอร์ส (Sea Horse Task Element)
            รัฐบาลเวียดนามใต้ได้ขอความช่วยเหลือทางทหารจากไทยเพิ่มเติมอีก ดังนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๑๐ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้กระทรวงกลาโหม จัดกำลังรบภาคพื้นดินในอัตรากรมทหารอาสาสมัคร ไปปฏิบัติการใน เวียดนามใต้ ภายหลังได้รับนามรหัสว่า จงอางศึก (Queen's Cobra Unit) นับเป็นกองกำลังหน่วยแรกของกองทัพบกที่ปฏิบัติการรบในสงครามเวียดนาม ต่อมาเมื่อพฤษภาคม  ๒๕๑๐ ก็ได้เพิ่มกำลังจากขนาดกรมเป็นกองพลในชื่อเดิม คือ กองพลทหารอาสาสมัคร จากนั้นก็ได้ปรับปรุงกองบังคับการหน่วยช่วยเหลือทางทหาร ในสาธารณรัฐเวียดนาม เป็นกองบัญชาการกองกำลังทหารไทย ในสาธารณรัฐ เวียดนาม คำย่อว่า  บก.กกล. ไทย/วน. เป็นหน่วยขึ้นตรงกองบัญชาการทหารสูงสุด
กองบัญชาการกองกำลังทหารไทยในสาธารณรัฐเวียดนาม ผลัดที่ ๑
            จัดตั้งขึ้นเมื่อ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๑๐ โดยมี พลตรี ยศ  เทพหัสดินทร์ ณ อยุธยา เป็นผู้บัญชาการ มีที่ตั้งชั่วคราวอยู่ที่กองบัญชาการทหารสูงสุดส่วนหน้า เชิงสะพานเกษะโกมล ถนนอำนวยสงคราม กรุงเทพ ฯ
            กำลังพลในกองบัญชาการกองกำลังทหารไทย ฯ ผลัดที่ ๑ ออกเดินทางตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ถึงเดือนสิงหาคม ๒๕๑๐ จึงเข้าที่ตั้งเสร็จ ได้ปฏิบัตหน้าที่ตามภารกิจได้ครบถ้วน สมบูรณ์ตามที่ได้รับมอบหมายทุกประการ ตามสายการบังคับบัญชาของชาติ ซึ่งประกอบไปด้วย กองบัญชาการกองกำลังทหารไทย กรมทหารอาสาสมัคร หน่วยเรือซีฮอร์ส และหน่วยบินวิคตอรี
            เมื่อครบกำหนด ๑ ปี และเมื่อกองบัญชาการกองกำลังทหารไทย ฯ ผลัดที่ ๒ เดินทางไปรับหน้าที่ เมื่อ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๑๑ แล้ว ก็เดินทางกลับประเทศไทยเป็นส่วน ๆ โดยเครื่องบินลำเลียงของสหรัฐฯ ดำเนินกรรมวิธีส่งกำลังพลคืนต้นสังกัด จนแล้วเสร็จเมื่อ ๑๕ กันยายน ๒๕๑๑
กองบัญชาการกองกำลังทหารไทยฯ ผลัดที่ ๒ - ๕

            ผลัดที่ ๒  พลโท ฉลาด  หิรัญศิริ  เป็นผู้บัญชาการ แบ่งการเดินทางโดยเครื่องบินลำเลียงของกองทัพอากาศสหรัฐฯ เสร็จสิ้นเมื่อ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๑๑
            นอกจากปฏิบัติการตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายแล้ว ยังได้ทำการช่วยเหลือประชาชน โดยจัดชุดแพทย์ ทันตแพทย์ และเจ้าหน้าที่ผลัดกันออกไปปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลเวียดนามใต้ ณ สถานพยาบาลตูดึ๊ก จังหวัดยาดินห์ เป็นประจำทุกวัน เพื่อให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนอีกด้วย
            เมื่อปฏิบัติหน้าที่ครบ ๑ ปี และผลัดที่ ๓  มารับหน้าที่แล้ว จึงเดินทางกลับโดยแบ่งออกเป็น ๔ ส่วน คือส่วนที่ ๑ จำนวน ๘๙ คน  ส่วนที่ ๒ จำนวน ๖๐ คน  ส่วนที่ ๓ จำนวน ๖๐ คน  ส่วนที่ ๔ จำนวน ๑๘ คน  เดินทางโดยเครื่องบินกลับถึงประเทศไทยเสร็จสิ้นเมื่อ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๑๒
            ผลัดที่ ๓  พลโท เชวง  ยังเจริญ  เป็นผู้บัญชาการ การเดินทางไปแบ่งออกเป็น ๔ ส่วน เดินทางโดยเครื่องบินเสร็จสิ้นเมื่อ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๑๓ การปฏิบัติการตามภารกิจที่ได้รับมอบคงเป็นเช่นเดียวกับผลัดที่ ๒  เมื่อปฏิบัติการครบกำหนด ๑ ปี และผลัดที่ ๔ ไปรับหน้าที่แล้วจึงเดินทางกลับ โดยแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน เดินทางโดยเครื่องบิน เสร็จสิ้นเมื่อ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๑๓
            ผลัดที่ ๔  พลโท เสริม  ณ นคร  เป็นผู้บัญชาการ การเดินทางไปแบ่งเป็น ๔ ส่วน เดินทางโดยเครื่องบิน เสร็จสิ้นเมื่อ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๑๓ การปฏิบัติการตามภารกิจที่ได้รับมอบคงเป็นเช่นเดียวกับผลัดที่ ๓  เมื่อปฏิบัติการครบ ๑ ปี และผลัดที่ ๕ มารับหน้าที่แล้วจึงเดินทางกลับ โดยแบ่งเป็น ๔ ส่วน เดินทางโดยเครื่องบินเสร็จสิ้นเมื่อ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๑๔
            ผลัดที่ ๕  พลตรี ทวิช  บุญญาวัฒน์  เป็นผู้บัญชาการ การเดินทางไปแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน เดินทางโดยเครื่องบินเสร็จสิ้นเมื่อ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๑๔
            ในปลายปี พ.ศ.๒๕๑๓ รัฐบาลไทยเริ่มดำริที่จะถอนกำลังทหารไทย ในเวียดนามใต้กลับประเทศไทย ได้มีการปรึกษาหารือ กับ กองบัญชาการทหารสูงสุดเวียดนามใต้ และรัฐบาลเวียดนามใต้ จนได้ข้อยุติในการถอนกำลังกลับ โดยแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนแรกเริ่มถอนในเดือนกรกฎาคม ๒๕๑๔ ส่วนที่เหลือในเดือนกันยายน ๒๕๑๕ สำหรับหน่วยเรือซีฮอร์ส เรือ ต.๑๒ จะกลับในเดือนพฤษภาคม ๒๕๑๔ เรือหลวงพงันจะกลับในเดือนเมษายน ๒๕๑๕ ส่วนหน่วยบินวิคตอรี จะถอนกำลังกลับหมดในเดือนธันวาคม ๒๕๑๔ กองบัญชาการทหารไทยฯ ผลัดที่ ๕ จะไปปฏิบัติการเพื่อควบคุมการถอนกำลังทหารไทยกลับ อยู่จนถึงเดือนเมษายน ๒๕๑๕ หลังจากนั้นรัฐบาลไทยจะส่งหน่วยขนาดเล็กที่จะเป็นสัญลักษณ์แห่งความร่วมมือกับฝ่ายโลกเสรี ประจำในเวียดนามใต้ต่อไป
            การถอนกำลังกลับประเทศไทย ส่วนใหญ่เดินทางโดยเครื่องบินลำเลียงแบบ C -๑๓๐ ของสหรัฐฯ  ส่วนสิ่งของส่งไปกับเรือหลวงพงัน โดยแบ่งการเดินทางเป็น ๓ ส่วน เสร็จสิ้นเมื่อ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๑๕
สำนักงานผู้แทนทหารไทยในสาธารณรัฐเวียดนาม
            เมื่อกองบัญชาการกองกำลังทหารไทย ฯ และกองกำลังทหารไทยทั้งหมด ต้องถอนกำลังกลับประเทศไทยในกลางเดือนพฤษภาคม ๒๕๑๕ กองบัญชาการทหารสูงสุดส่วนหน้า จึงได้ตั้งสำนักงานผู้แทนทหารไทยในสาธารณรัฐเวียดนาม (สน.ผทท.ไทย วน.) ขึ้น มีกำลังพล ๓๘ คน มีพันเอก ชูวิทย์  ช.สรพงษ์  เป็นหัวหน้าสำนักงาน เดินทางไปปฏิบัติงานเมื่อ ๑ พฤษภาคม ๒๕๑๕ และรับมอบหน้าที่ในการติดต่อประสานงานกับกองกำลังฝ่ายโลกเสรี ที่ยังคงอยู่ในเวียดนามใต้
            เมื่อปฏิบัติได้เกือบครบ ๑ ปี สถานการณ์ในเวียดนามใต้ เข้าสู่สภาพคับขันยิ่งขึ้น กองบัญชาการทหารสูงสุด จึงได้มีคำสั่งให้ปิดสำนักงานนี้ แล้วส่งมอบงานการติดต่อประสานงานต่าง ๆ ให้กับสำนักงานผู้ช่วยทูตทหารไทย ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงไซ่ง่อน และให้กำลังพลเดินทางกลับประเทศไทยเมื่อ ๒ มีนาคม ๒๕๑๖ เป็นการยุติการปฏิบัติการรบของทหารไทยในเวียดนามใต้ตั้งแต่นั้นมา
กรมทหารอาสาสมัคร(กรม อสส.)

           กองทัพบกรับผิดชอบดำเนินการจัดกำลังทางบก ได้ทำการเรียกพลจากผู้ที่มาสมัครและรับสมัครทหารกองหนุน และทหารกองเกิน โดยให้มณฑลทหารบก จังหวัดทหารบก รวมทั้งกรมทหารราบที่๒๑ รักษาพระองค์ เป็นหน่วยรับสมัคร มีผู้มาสมัครเป็นจำนวนมาก
           กองทัพบกได้มีคำสั่งแต่งตั้ง พันเอก สนั่น  ยุทธสารประสิทธิ์  เป็นผู้บังคับการกรมทหารอาสาสมัครและใช้อาคารกองพันทหารปืนใหญ่ ที่ ๒๑ รักษาพระองค์ เป็นที่ตั้งกองบังคับการกรมทหารอาสาสมัครมีกำลังทั้งสิ้น ๒,๒๐๗ คน และกำลังทดแทนร้อยละ ๕ เมื่อได้ทำการฝึกเสร็จในเดือนกรกฎาคม๒๕๑๐ แล้วก็ได้เริ่มออกเดินทางเป็นส่วน ๆ ส่วนล่วงหน้าเดินทางเมื่อ ๑๐ สิงหาคม๒๕๑๐ และส่วนสุดท้ายเดินทางเมื่อ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๑๐ กำลังส่วนใหญ่เดินทางโดยเรือ
           กรมอาสาสมัครได้รับคำสั่งให้เป็นหน่วยขึ้นตรงกองพลทหารราบที่ ๙ สหรัฐฯ ตั้งอยู่ที่ค่ายแบร์แคตอำเภอลองถั่น จังหวัดเบียนหว่า อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ของกรุงไซ่ง่อนห่างออกไปประมาณ ๔๐ กิโลเมตร ได้รับมอบภารกิจในการตั้งรับ แบบยึดพื้นที่ด้านตะวันออกและด้านใต้ของอำเภอโนนทรัค เพื่อเสริมที่มั่นให้แก่พื้นที่ส่วนหนึ่งของพื้นที่สนใจทางยุทธวิธี(Tactical Area of Interest) ของกองพลทหารราบที่ ๙ สหรัฐฯ ด้วยการปฏิบัติการลาดตระเวนพื้นที่และเส้นทางอย่างกว้างขวางการซุ่มโจมตี การทำลายเป้าหมายอย่างฉับพลัน และการยุทธส่งทางอากาศเพื่อทำลายกำลังและที่ตั้งของพวกเวียดกง ช่วยเหลือหน่วยทหารเวียดนามใต้ในการระวังป้องกันพื้นที่ตั้งและเส้นทางคมนาคม ตลอดจนสนับสนุนโครงการพัฒนาพื้นที่ในเขตรับผิดชอบปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชน และปฏิบัติการจิตวิทยา
พื้นที่ปฏิบัติการ(Area of Operation - AO)
           กรมทหารอาสาสมัครได้รับมอบพื้นที่ปฏิบัติการ (Area of operation - AO) ในบริเวณอำเภอโนนทรัคและอำเภอลองถั่น จังหวัดเบียนหว่า บนฝั่งขวาของแม่น้ำดองไน ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นป่าละเมาะและสวนยางพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม มีลำน้ำเล็ก ๆ หลายสายไหลลงสู่แม่น้ำดองไน ผ่านเข้าไปในพื้นที่ปฏิบัติการพื้นที่บริเวณนี้ฝ่ายเวียดกงได้ใช้เป็นเส้นทางลำเลียงอาวุธยุทธภัณฑ์ และเสบียงอาหารจากชายฝั่งทะเลไปยังพื้นที่ปฏิบัติการทางสหรัฐฯเคยส่งกองพันทหารราบ เข้ายึดพื้นที่บริเวณนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง ทหารในกองพันถูกเวียดกงสังหารเสียชีวิตหมดทั้งกองพันจนไม่มีทหารฝ่ายโลกเสรีชาติใดกล้าเข้าไปตั้งอยู่ในพื้นที่แห่งนี้
แผนการยุทธและการปฏิบัติการ

           กรมทหารอาสาสมัครได้เริ่มแผนการยุทธขึ้นใช้ชื่อว่า แผนยุทธการนเรศวรและได้แบ่งออกเป็นแผนย่อยอีก ๑๘ แผน ให้ชื่อต่างๆ ไว้ทุกแผน ได้วางกำลังตามอัตราการจัดส่วนใหญ่ไว้ที่บังคับการกรมในค่ายแบร์แคตเมื่อมีเหตุการณ์รบเกิดขึ้น จึงจัดกำลังใหม่ให้เหมาะสมแก่การตอบโต้กับข้าศึกในแต่ละครั้งแล้วเคลื่อนกำลังไปวางยังจุดที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น
          ระหว่าง ๕ กันยายน - ๙ ตุลาคม ๒๕๑๐ กรมทหารอาสาสมัคร ได้รับมอบภารกิจให้ป้องกันค่ายแบร์แคตจากการถูกเวียดกงโจมตีจึงได้ส่งหน่วยลาดตระเวนออกค้นหาและทำลายเวียดกงในพื้นที่ทางตอนเหนือของค่ายซึ่งเป็นสวนยางอันเวียง กรมอาสาสมัครใช้แผนยุทธการบางแสนโดยตั้งฐานกองร้อยแล้วส่งกำลังขนาดหมวดออกลาดตระเวน และซุ่มโจมตีข้าศึก สามารถค้นหาและทำลายที่กำบังปิด(Bunker) และทุ่นระเบิด ได้เป็นจำนวนมาก
          ๑๐ - ๑๕ ตุลาคม ๒๕๑๐ กรมทหารอาสาสมัคร ได้รับมอบภารกิจในการลาดตระเวนค้นหาและกวาดล้างข้าศึกในพื้นที่บริเวณหมู่บ้านอันเวียงซึ่งเป็นที่ลุ่มมีลำน้ำหลายสายไหลผ่าน เต็มไปด้วยป่าละเมาะรกทึบ พื้นที่บริเวณนี้ทหารไทยเราเรียกกันว่าทุ่งทองกรมทหารอาสาได้กำหนดแผนยุทธการลาดหญ้าสำหรับการเคลื่อนย้ายกำลังทางอากาศเพื่อสนับสนุนกำลังทางพื้นดิน เนื่องจากพื้นที่นั้นอยู่ไกลเกินระยะยิงของปืนใหญ่เบากระสุนวิถีโค้งขนาด ๑๐๕ มิลลิเมตร ของกองร้อยปืนใหญ่สนาม ผลการปฏิบัติทำให้เวียดกงต้องถอนตัวออกไปจากทุ่งทอง
          ๒๐ - ๓๑ ตุลาคม ๒๕๑๐ กรมทหารอาสาสมัคร ได้รับมอบภารกิจให้เสริมสร้างความมั่นคงในเขต อำเภอโนนทรัคซึ่งมีเวียดกงปฏิบัติการกระจายอยู่ทั่วไป จึงกำหนดแผนยุทธการนเรศวรขึ้น จึงวางกำลังกระจายเต็มพื้นที่ซึ่งอยู่ในอิทธิพลของเวียดกง ปฏิบัติการจิตวิทยาพร้อมไปกับการกวาดล้างเวียดกงได้มีการปะทะกับเวียดกงหลายแห่ง และหลายครั้ง ยึดอาวุธกระสุน และทำลายที่กำบังปิดได้หลายแห่ง
          พฤศจิกายน ๒๕๑๐ กรมทหารอาสาสมัคร ได้รับมอบภารกิจให้ขยายพื้นที่ปฏิบัติการออกไปอย่างกว้างขวางการรบทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ฝ่ายเราสามารถทำลายที่ตั้งฐานปฏิบัติการ ที่ซ่อนอาวุธและเสบียงอาหารของเวียดกงได้เป็นจำนวนมาก
          ธันวาคม ๒๕๑๐ การปฏิบัติการคงเป็นไปตามแผนนเรศวร ผลการปฏิบัติปรากฏว่าฝ่ายเวียดกงต้องตกเป็นฝ่ายตั้งรับตลอดเวลาและสูญเสียอิทธิพลที่เคยมีอยู่เหนือประชาชนในพื้นที่
           ฐานปฏิบัติการที่กำลังทหารไทยตั้งอยู่ มีสภาพแวดล้อมที่เกื้อกูล และทั้งไม่เกื้อกูลในบางประการแก่ทั้งสองฝ่ายฝ่ายเวียดกงจะส่งหน่วยทหารช่างสังหาร(Sapper)  ขนาดหมวด เข้าไปก่อวินาศกรรมฐานที่ตั้งของไทยโดยอาศัยความรกทึบของป่าเป็นที่หลบซ่อนกำบังตัว กรมทหารอาสาสมัครจึงเตรียมการป้องกันโดยถากถางป่ารอบๆ ฐานที่ตั้งทุกแห่งไม่ให้เวียดกงใช้ประโยชน์ได้  และเป็นประโยชน์ต่อการตรวจการณ์และพื้นที่การยิงของฝ่ายเรา เป็นการปฏิบัติตามแผนสมเกียรติได้มีการปิดล้อม และตรวจค้น หมู่บ้านฟุกโถ ๑ ครั้ง หมู่บ้านบาบอง ๑ ครั้งเพื่อค้นหา และทำลายกำลังกองโจรและกำลังหลักของเวียดกง โดยมีกำลังตำรวจเวียดนามใต้เข้าร่วมปฏิบัติการด้วย
การปฏิบัติการรบที่ฟุกโถ(๒๐ - ๒๑ ธันวาคม ๒๕๑๐)

           พื้นที่บริเวณบ้านฟุกโถ ส่วนใหญ่เป็นที่ลุ่มน้ำท่วมขัง เมื่อน้ำลดจะกลายเป็นโคลนสภาพทั่วไปเป็นทุ่งนา ป่า สวน แม่น้ำ ลำคลอง มีหญ้าคาขึ้นสูงท่วมศีรษะ ป่าส่วนมากเป็นป่าละเมาะป่าไผ่ ป่าชายเลน สวนยาง และสวนมะม่วงหิมพานต์  ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นคนชราสตรีมีครรภ์ และเด็ก ซึ่งเป็นฝ่ายเวียดนามใต้ แต่ชายฉกรรจ์ทุกคน ถูกเวียดกงบีบบังคับให้เป็นผู้ส่งเสบียงให้เวียดกงซึ่งจำใจต้องทำเพื่อความอยู่รอดของครอบครัว ต้องไปหลบซ่อนตัวอยู่ตามป่าตามเขาไม่ปรากฏตัวออกมาให้เห็น เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวกองร้อยอาวุธเบาของไทยที่อยู่ในพื้นที่ต้องส่งกำลัง๑ หมู่ออกไปช่วยเก็บเกี่ยว และให้ความคุ้มครองชาวบ้านเหล่านี้
           ฐานที่ตั้งกองร้อยอาวุธเบาที่ ๑ คร่อมทับอยู่บนถนนสาย ๓๑๙ ทางทิศใต้ของหมู่บ้านฟุกโถวางแนวที่มั่นตั้งรับเป็นวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓๐๐ เมตร มีคูติดต่อถึงกันรั้วใช้ลวดหนามหีบเพลงเป็นเครื่องกีดขวางตลอดแนวที่มั่น ฝ่ายเราได้ดำรงการเกาะเวียดกงตลอดเวลาทั้งการตรวจการณ์และการลาดตระเวน ด้วยการออกไปลาดตระเวนและซุ่มโจมตี หมุนเวียนกันทั้งกลางวันและกลางคืน ผลัดกลางวันเรียกว่า ชุดซุ่มโจมตี(Ambush) ผลัดกลางคืนเรียกว่า ชุดเฝ้าตรวจ(Watching)
           ในคืนวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๑๐ เวลา ๒๒ .๑๐ น. เวียดกงได้เริ่มระดมยิงฐานกองร้อยด้วยเครื่องยิงลูกระเบิดขนาด ๘๒ มิลลิเมตร อย่างรุนแรง เวียดกงได้ใช้กำลังขนาดใหญ่บุกเข้าโจมตีกองร้อยอาวุธเบาที่๑ ถึงสามด้านพร้อมกัน เวียดกงได้ระดมกันเข้าทำลายรั้วลวดหนามหีบเพลง และสามารถตีเจาะเข้าไปในหมวดปืนเล็กที่๑ ได้เป็นส่วนใหญ่ แต่ถูกยิงตายเป็นจำนวนมากเวียดกงไม่สามารถเจาะเข้าไปถึงที่บังคับการกองร้อยได้ ด้านหมวดปืนเล็กที่๒ เวียดกงได้ส่งกำลังบุกเข้าโจมตีเต็มกว้างด้านหน้าเป็นหลายระลอกระลอกแรกใช้ระเบิดขว้างทำลายลวดหนาม แต่เจาะแนวเข้ามาไม่ได้ มีกำลังบางส่วนบุกเข้าตรงรอยต่อระหว่างหมวดแล้วใช้ทุ่นระเบิดวงเดือนทำลายรั้วลวดหนาม สามารถเจาะผ่านแนวรั้วลวดหนาม และผ่านคูติดต่อเข้าไปจึงเกิดการรบขั้นตะลุมบอน แนวรั้วลวดหนามบางแห่งเวียดกงใช้ไม้กระดานพาดแล้วปีนข้ามไปแต่เนื่องจากพวกเวียดกงไม่คุ้นกับสภาพของฐานที่มั่นของไทย จึงเหยียบถูกลูกระเบิดและสะดุดกับพลุส่องแสงที่วางไว้รอบฐาน ระหว่างนั้นเครื่องบินสปุ๊คกี้(Spooky)ก็ได้ไปทิ้งพลุส่องสว่าง ปืนใหญ่ของกรมทหารอาสาสมัครได้ช่วยยิงกระสุนส่องแสงทำให้บริเวณฐานที่ตั้งสว่างไสวไปทั่ว ฝ่ายเราจึงมองเห็นฝ่ายเวียดกงได้ชัดเจนจึงเป็นฝ่ายได้เปรียบสามารถสังหารเวียดกงได้เป็นจำนวนมาก ข้าศึกส่วนใหญ่ติดอยู่ที่คูติดต่อไม่สามารถเจาะผ่านเข้าไปได้ด้านหมวดปืนเล็กที่ ๓ การต่อสู้เป็นไปอย่างรุนแรงจนเที่ยงคืน ข้าศึกจึงถอยกลับไปแล้วก็กลับรวมกำลังเข้าโจมตีอีก แต่ไม่สามารถผ่านแนวต้านทานเข้าไปได้
           การต่อสู้ดำเนินไปเป็นเวลาเกือบ ๕ ชั่วโมง เมื่อถึงเวลา ๐๓.๐๐ น. ข้าศึกจึงเริ่มถอนตัวออกจากแนวต้านทานของหมวดปืนเล็กต่างๆ ของไทย ต่อมาเมื่อเวลา ๐๔.๐๐ น. เมื่อการยิงของพวกเวียดกงเบาบางลงผู้บังคับกองร้อยจึงส่งกองหนุนบรรทุกรถสายพานลำเลียงพล๒ คัน ออกปฏิบัติทางด้านเข้าตีหลักของเวียดกง และขอให้ปืนใหญ่เลื่อนฉากการยิงออกไปเพื่อทำลายกำลังและสกัดกั้นการถอนตัวของเวียดกง การรบยุติลงเมื่อเวลา ๐๕๓๐น.
           ผลการรบฝ่ายเราเสียชีวิต ๖ คน บาดเจ็บสาหัส ๙ คน ฝ่ายเวียดกงเสียชีวิตนับศพได้๙๕ ศพ เสียชีวิตแต่นำศพกลับไปได้ ๙๐ ศพ (ตามคำให้การของเชลยศึก) บาดเจ็บ ๘๐คน ถูกจับเป็นเชลย ๒ คน ยึดอาวุธฝ่ายเวียดกงได้เป็นจำนวนมาก
           การรบที่ฟุกโถ  นับเป็นการรบที่กรมทหารอาสาสมัครของไทยประสบชัยชนะอย่างเด็ดขาดถือได้ว่าเป็นวันแห่งชัยชนะของไทย ในสมรภูมิต่างแดน และยังผลในการสร้างขวัญกำลังใจแก่ทหารเวียดนามใต้เป็นอันมาก
           กรมทหารอาสาสมัครของไทยได้รับคำชมเชยจากพลเอกเวสท์มอร์แลนด์  ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการช่วยเหลือทางทหารสหรัฐฯประจำเวียดนามใต้ และพลเอกเถาวันเวียน ประธานคณะเสนาธิการผสม กองทัพเวียดนามใต้
คำชมเชยที่ได้รับของกรมทหารอาสาสมัคร
           การปฏิบัติการของกรมทหารอาสาสมัคร ที่รู้จักกันดีในฉายาจงอางศึก ตลอดระยะเวลา๑ ปี ในสมรภูมิเวียดนาม เป็นที่ชื่นชมและได้รับคำยกย่องสรรเสริญจากหน่วยเหนือและบรรดากองกำลังชาติพันธมิตรฝ่ายโลกเสรีเป็นอันมาก  นอกจากนี้กองทัพบกสหรัฐฯยังได้มอบเกียรติบัตรชมเชยการปฏิบัติการเป็นหน่วย (Award of the MeritoriousUnit Commendation) แก่กรมทหารอาสาสมัครเมื่อ วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๑๑


กองพลทหารอาสาสมัคร(พล.อสส.)

           กองทัพบกได้ออกคำสั่งจัดตั้งกองพลทหารอาสาสมัคร เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๑๑จำนวนกำลังพลทั้งสิ้น ๑๑,๓๐๐ คน ที่ตั้งปกติอยู่ที่ค่ายกาญจนบุรีตำบลลาดหญ้า อำเภอเมือง ฯ จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีศูนย์ดำเนินกรรมวิธีทหารไปรบต่างประเทศ(ศกน.) กรมยุทธศึกษาทหารบก เป็นหน่วยให้การสนับสนุนในด้านธุรการ และส่งกำลังบำรุงกับมีเจ้าหน้าที่ประสานงานของสหรัฐฯ (Detachment I) เป็นที่ปรึกษา โดยบรรจุมอบเป็นหน่วยขึ้นตรงกองทัพบกแต่ฝากการบังคับบัญชาไว้กับกรมยุทธศึกษาทหารบก กำลังของกองพลทหารอาสาสมัครแบ่งเป็นผลัดๆ ละ ๑ ปี
กองพลทหารอาสาสมัครผลัดที่ ๑
           จัดตั้งเมื่อ ๒๒ มกราคม ๒๕๑๑ มีพลตรี ทวี ดำรงหัด เป็นผู้บัญชาการกองพล แบ่งออกเป็น๒ ผลัด เคลื่อนย้ายเข้าที่ตั้งปกติ ในค่ายกาญจนบุรีในวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๑
           การฝึก แบ่งออกเป็น ๓ ตอน ใช้เวลา ๒๕ สัปดาห์ เมื่อฝึกเสร็จแล้วทุกฐานกำเนิดส่งกำลังพลเข้ารวมพลที่ค่ายกาญจนบุรีเพื่อรับการฝึกหลักขั้นการฝึกเป็นกองร้อยต่อไป
           การเดินทาง แบ่งออกเป็น ๔ ส่วนคือ ส่วนเตรียมการ ส่วนล่วงหน้าส่วนใหญ่ และส่วนหลัง การเดินทางไปเสร็จสิ้นเมื่อ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๑๑ และเข้าที่ตั้งที่ค่ายมาตินค๊อกซ์(Camp Matincox)  ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่าค่ายแบร์แคต (Camp Bear Cat) ในเขตอำเภอลองถั่น จังหวัดเบียนหว่า ค่ายนี้มีพื้นที่ประมาณ ๙ ตารางกิโลเมตร กองพลทหารอาสาสมัคร ผลัดที่ ๑ ขึ้นอยู่ในบังคับบัญชาของกองกำลังทหารไทย ในสาธารณรัฐเวียดนามและขึ้นในความควบคุมทางยุทธการของกองทัพสนามที่ ๒ สหรัฐฯ (US II Field ForceVietnam)  ซึ่งรับผิดชอบร่วมกับกองทัพน้อยที่ ๓ เวียดนามใต้ ในการป้องกันเขตรับผิดชอบทางยุทธวิธีของกองทัพน้อยที่๓ (III Corps Tactical Zone)
ภารกิจ
           กองทัพสนามที่ ๒ สหรัฐฯ  ได้มอบกิจเฉพาะให้กองพลทหารอาสาสมัคร ผลัดที่๑ เฉพาะที่สำคัญดังนี้
               ๑.  ปฏิบัติการทางยุทธวิธีเพื่อค้นหา ทำลายกำลัง และยุทโธปกรณ์ของเวียดกงกองทัพประจำการของเวียดนามเหนือ และกำลังกองโจรประจำถิ่น ในพื้นที่รับผิดชอบทางยุทธวิธีด้วยการลาดตระเวนระยะไกล และการลาดตระเวนด้วยกำลังมากในพื้นที่รับผิดชอบ การปิดล้อมและตรวจค้นหมู่บ้านการซุ่มโจมตีเป็นตำบลและพื้นที่ กับการรบร่วมกับกองกำลังชาติพันธมิตร
               ๒.  ปฏิบัติการจิตวิทยาเพื่อการสนับสนุนและการปฏิบัติการทาวยุทธวิธีโครงการพัฒนาชนบท และโครงการต้อนรับผู้กลับใจ ปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนการให้การรักษาพยาบาล
               ๓.  ป้องกันและรักษาเส้นทางคมนาคม สะพาน และที่ตั้งสำคัญๆในพื้นที่รับผิดชอบ
               ๔.  สนับสนุนหน่วยทหารและตำรวจแห่งชาติเวียดนามใต้ในการป้องกัน และควบคุมประชาชนตลอดจนทรัพยากร
               ๕.  ป้องกันฐานยิงสนับสนุนในพื้นที่รับผิดชอบ ป้องกันอำเภอลองถั่น และการปฏิบัติการซุ่มโจมตีรวมทั้งการรักษาความปลอดภัยค่ายแบร์แคต
การสนับสนุน
           กองพลทหารอาสาสมัคร  ได้รับการสนับสนุนทางการส่งกำลังบำรุงจากสหรัฐฯตามข้อตกลงโดยกองทัพสหรัฐฯ  ได้จัดหน่วยแยกทางการส่งกำลังบำรุง จากหน่วยสนับสนุนทางการส่งกำลังบำรุงที่๒๙ สหรัฐฯ ไปตั้งประจำอยู่ที่ค่ายแบร์แคต สนับสนุนอุปกรณ์ทุกประเภท เว้นสิ่งอุปกรณ์สายแพทย์ซึ่งหน่วยจะเบิกตรงจากหมวดส่วนหน้าของคลังแพทย์ที่ ๓๒ ซึ่งตั้งอยู่ที่ลองบินห์สิ่งอุปกรณ์ประเภท ๕ เบิกตรงกับคลังกระสุนของกองพันสรรพาวุธที่ ๓ สหรัฐฯ ที่ลองบินห์ การเบิกชิ้นส่วนซ่อม และการซ่อมเครื่องบิน หรือเฮลิคอปเตอร์ ประสานงานโดยตรงกับกองร้อยขนส่ง(สนับสนุนโดยตรง) ที่ ๕๖ สหรัฐฯ การเบิกแผนที่ แผนผัง และวัสดุอื่น ๆ เกี่ยวกับแผนที่ เบิกตรงกับหมวดช่างที่ ๕๔๗ สหรัฐฯ ที่ลองบินห์ สาธารณูปโภคในค่ายแบร์แคตได้รับการสนับสนุนจากหน่วยช่างก่อสร้างภาคพื้นแปซิฟิก
           กองทัพเวียดนามใต้ ให้การสนับสนุนข้าวและเกลือ ส่วนอาหารแห้งและเสบียงพิเศษกองบัญชาการทหารสูงสุดส่วนหน้า สนับสนุนให้
การปฏิบัติการ
           ได้เข้าปฏิบัติการแทนที่กองพลทหารราบที่ ๙ สหรัฐฯ  โดยได้รับมอบพื้นที่รับผิดชอบทางยุทธวิธีเฉพาะอำเภอลองถั่นส่วนพื้นที่สนใจทางยุทธวิธี ได้รับมอบพื้นที่บางส่วนของจังหวัดเบียนหว่า และจังหวัดลองคานห์ซึ่งติดกับพื้นที่รับผิดชอบทางยุทธวิธีของกองพล
           ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไป ของพื้นที่รับผิดชอบเป็นทุ่งนา หนองน้ำ ป่าไม้โกงกางป่าละเมาะ สวนยาง ป่าทึบ ไปจนถึงเนินเขา มีลำน้ำหลายสายไหลผ่าน เกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่เป็นทุ่งนาซึ่งอยู่ตอนกลาง
           การปฏิบัติการนับว่ามีความยากลำบากมาก เนื่องจากไม่สามารถแบ่งแยกฝ่ายข้าศึกได้ชัดเจนการปฏิบัติการหลักประการหนึ่งคือ การปฏิบัติการตามโครงการสันติสุข  ซึ่งมีการปฏิบัติการทั้งทางยุทธวิธีและทางจิตวิทยาควบคู่กันไป ได้จัดตั้งฐานยิงสนับสนุนขึ้น ให้สามารถใช้อำนาจการยิงครอบคลุมเต็มพื้นที่รับผิดชอบทางยุทธวิธี
การรบที่บินห์สัน (Binh Son)

           ครั้งที่  ๑
               ในวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๑๑  เวลาประมาณ ๐๓.๑๕ น. เวียดกงประมาณ ๑ กองพันได้เข้าโจมตีที่ตั้งกองร้อยที่  ๒ และ ๓ ของกองพันทหารราบที่ ๓ ของไทย โดยเข้าตี ๕ ทิศทางเป็น ๒ ระลอก โดยใช้การยิงนำด้วยเครื่องยิงลูกระเบิด แล้วโจมตีด้วยจรวดอาร์พีจี ฝ่ายเราขอกำลังสนับสนุนจากปืนใหญ่กองพล จากฐานยิงสนับสนุน และชุดเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธปืนใหญ่สามารถยิงขัดขวางฝ่ายเวียดกง แนวหน้าที่มั่นฝ่ายเราเพียง ๑๘๐ - ๒๐๐หลา สามารถยังยั้งและสังหารข้าศึกได้เป็นจำนวนมากจนต้องถอยกลับไป
               ผลการรบ ฝ่ายไทยเสียชีวิต ๕ คน บาดเจ็บสาหัส ๑๑ คน บาดเจ็บไม่สาหัส ๑๕ คน ฝ่ายเวียดกงเสียชีวิตนับได้ ๖๕ ศพ คาดว่านำศพกลับไปประมาณ ๓๐ ศพ  ยึดอาวุธได้เป็นจำนวนมาก
           ครั้งที่ ๒
               ในวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๑๒ เวลาประมาณ ๐๑.๓๕ น.  เวียดกงประมาณ ๑ กองพันได้เข้าตีที่ตั้งกองร้อยที่ ๓ กองพันทหารราบที่ ๓ ของไทย เป็น ๒ ทิศทาง ฝ่ายไทยเตรียมวางกำลังต่อสู้ในทางลึก เพื่อให้สามารถทำลายข้าศึกได้ตั้งแต่ระยะไกลได้ใช้ปืนใหญ่กองพลยิงสนับสนุน ขัดขวางการรุกของข้าศึกสมทบ ด้วยการยิงของเครื่องบินสปุ๊กกี้พร้อมกับทิ้งพลุส่องสว่าง ทำให้เวียดกงประสบกับความสูญเสียเป็นจำนวนมาก และยุติการรบลงในเวลาอันสั้นเมื่อเวลา ๐๓.๐๐ น. ผลปรากฏว่าฝ่ายเราเสียชีวิต ๑ คน บาดเจ็บสาหัส ๑ คน บาดเจ็บไม่สาหัส๔ คน ฝ่ายเวียดกงเสียชีวิตนับได้ ๔๑ ศพ ยึดอาวุธได้เป็นจำนวนมาก
           ครั้งที่ ๓
               ในคืนวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๑๒ เวลาประมาณ ๐๐.๒๕ น. เวียดกงได้เข้าโจมตีกองร้อยที่๓ กองพันทหารราบที่ ๓ โดยแบ่งกำลังเข้าตีพร้อมกัน ๓ ทิศทาง
               กรมทหารราบที่ ๓๑ ได้ใช้ปืนใหญ่กองพลและเครื่องบินสปุ๊กกี้สนับสนุนอย่างได้ผลฝ่ายเวียดกงได้รับความเสียหายหนัก จนรุ่งเช้าจึงได้ร่นถอยกลับไป
               ผลการรบ ฝ่ายไทยทุกคนปลอดภัย ฝ่ายเวียดกงเสียชีวิตนับศพได้ ๘๗ ศพ ยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ได้เป็นจำนวนมาก
การรบที่ล็อคอัน (Loc An)
           กรมทหารราบที่ ๑ ได้จัดกำลังไปตั้งฐานปฏิบัติการบริเวณหมู่บ้านล็อคอัน เพื่อสะกัดกั้นกองกำลังเวียดกงหมู่บ้านล็อคอันเป็นหมู่บ้านร้าง อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอลองถันรอบพื้นที่เป็นที่ลุ่มป่าชายเลนและสวนยาง มีลำห้วยหลายสายไหลผ่าน
          ครั้งที่ ๑
               ในวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๑๒ เวลาประมาณ ๐๒.๑๕ น.  เวียดกงประมาณ ๑ กองพันเพิ่มเติมกำลังได้เข้าตีที่ตั้งกองร้อยทหารไทยทั้ง ๒ กองร้อย  โดยเริ่มจากการยิงเตรียมด้วยเครื่องยิงลูกระเบิดและอาร์พีจี แล้วใช้กำลังส่วนใหญ่เข้าโจมตีเป็น ๓ ทิศทาง  ฝ่ายไทยขอรับการสนับสนุนจากปืนใใหญ่กองพลและชุดเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธของกองวทัพสนามที่ ๒ สหรัฐฯ  กองพลทหารอาสาสมัครก็ได้ส่งกำลังมาเสริมเมื่อเวลา๐๔.๓๐ น.  การรบดำเนินไปอย่างรุนแรงจนใกล้รุ่ง  ฝ่ายเวียดกงจึงถอยร่นกลับไป ฝ่ายเราได้ไล่ติดตามไปจนถึงเวลา ๐๗.๐๐ น. จึงเลิกติดตาม
               ผลการรบ ฝ่ายไทยเสียชีวิต ๒ คน บาดเจ็บสาหัส ๑๙ คน บาดเจ็บไม่สาหัส ๘ คน ฝ่ายเวียดกงเสียชีวิตนับศพได้ ๑๑๖ ศพ จับเป็นเชลยได้ ๓ คน ยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ได้เป็นจำนวนมาก
           ครั้งที่ ๒
               กองร้อยที่ ๑ และกองร้อยที่ ๔ กองพันทหารราบที่ ๒ กรมทหารราบที่ ๑ ได้รับคำสั่งให้ไปตั้งฐานปฏิบัติการที่บริเวณหมู่บ้านล็อคอันเมื่อ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๑๒ เวลาประมาณ ๐๐.๔๕ น. เวียดกง ๑ กรมหย่อนกำลัง ได้เข้าตีฐานปฏิบัติการของทหารไทยเริ่มด้วยการยิงเตรียมด้วยเครื่องยิงลูกระเบิด และอาร์พีจีอย่างหนัก แล้วส่งกำลังเข้าตี๓ ทิศทาง  ฝ่ายเราได้ขอรับการสนับสนุนจากปืนใหญ่กองพล ๖ กองร้อย และเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธกับเครื่องบินสปุ๊กกี้จากกองทัพสนามที่ ๒ สหรัฐฯ และการยิงสนับสนุนทางอากาศอย่างใกล้ชิดเวียดกงได้เข้าตีถึง ๓ ครั้ง แต่ไม่สำเร็จ และถอนตัวกลับไปเมื่อเวลาประมาณ๐๕.๐๐ น. ฝ่ายเราออกติดตามกวาดล้างจนถึงเวลา ๐๘.๐๐ น.
               ผลการรบ ฝ่ายไทยเสียชีวิต ๒ ศพ บาดเจ็บสาหัส  ๙ คน บาดเจ็บไม่สาหัส ๒๕คน  ฝ่ายเวียดกงเสียชีวิตนับศพได้ ๒๑๕ ศพ คาดว่าเสียชีวิตแล้วนำศพกลับไป๔๐ ศพ จับเป็นเชลยได้ ๒ คน ยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ได้เป็นจำนวนมาก
สรุปผลการปฏิบัติการ
               การปฏิบัติการระหว่างวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๑๑ ถึงวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๑๒ สรุปผลได้ดังนี้
          การปฏิบัติการรบ
               ปะทะกับเวียดกง ๓๒๘ ครั้ง สังหารเวียดกงเสียชีวิต ๙๔๔ คน  คาดว่าเวียดกงเสียชีวิต๔๐๒ คน จับเชลยศึกได้ ๑๗ คน จับผู้ต้องสงสัยได้ ๓๓๕ คน ผู้เข้ามอบตัว ๓ คน
               ยึดอาวุธประจำการได้ ๒๔๕ กระบอก อาวุธประจำหน่วย ๑๒ กระบอก กระสุน ๕๗,๐๐๐นัด ทุ่นระเบิด ๒๐๒ ลูก ทุ่นระเบิดแสวงเครื่อง ๑๘๐ ทุ่น ลูกระเบิดขว้าง ๑,๔๙๒ลูก เครื่องยิงอาร์พีจี ๕๔ ชุด จรวดอาร์พีจี ๕๔๕ ลูก
               ยึดข้าวสารได้ ๑๓,๙๐๐ กิโลกรัม ทำลายที่กำบัง ๑,๙๓๗ แห่ง เรือสำปั้น ๔๒ ลำอุโมงค์ ๑๖๕ แห่ง และยึดเอกสารต่าง ๆ ได้ ๔,๔๒๔ ฉบับ
               การสูญเสียของฝ่ายไทยจากการปฏิบัติการรบ ๕ ครั้ง มีผู้เสียชีวิต ๑๔ คน บาดเจ็บสาหัส๔๖ คน บาดเจ็บไม่สาหัส ๕๒ คน
การช่วยเหลือประชาชน
           ได้ดำเนินการช่วยเหลือประชาชนชาวเวียดนามใต้ในการก่อสร้างสาธารณูปโภค จัดชุดแพทย์และทันตแพทย์เคลื่อนที่ไปรักษาพยาบาลประชาชน  พอประมวลได้รายการที่สำคัญดังนี้
           ตัดถนนยาว ๗,๓๐๐ เมตร  ถากถางพื้นที่และปรับพื้นที่ ๑๐๖,๗๐๐ เมตร รักษาพยาบาลผู้ป่วยเจ็บ ๓๐,๙๖๔ ราย จัดชุดปฏิบัติการจิตวิทยา ๓๑๙ ครั้ง
การผลัดเปลี่ยนและการเดินทางกลับ
           กองพลทหารอาสาสมัคร ผลัดที่ ๑ ส่วนที่ ๑ ปฏิบัติการอยู่ในเวียดนามใต้ ได้๖ เดือน ผลัดที่ ๑ ส่วนที่ ๒ จึงเดินทางไปสมทบในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๑๒ และปฏิบัติการร่วมกันเป็นเวลา๖ เดือน  จากนั้นผลัดที่ ๒ ส่วนที่ ๑ จึงได้เดินทางไปสับเปลี่ยนกับกำลังของผลัดที่๑ ส่วนที่ ๑ เป็นส่วน ๆ ตามลำดับ  เสร็จแล้วจึงทยอยเดินทางกลับโดยเครื่องบินลำเลียงของสหรัฐฯ
คำชมเชยจากต่างประเทศ

           รัฐบาลเวียดนามใต้และกองทัพสหรัฐฯ ได้สดุดีเกียรติประวัติของกองพลทหารอาสาสมัครผลัดที่ ๑ ส่วนที่ ๑ว่า ได้ปฏิบัติการรบอย่างกล้าหาญยิ่งยวด ทำให้เวียดกงประสบความสูญเสียอย่างหนัก กองกำลังทหารบกไทย ได้คุ้มครองป้องกันประชาชนชาวเวียดนามใต้ในพื้นที่รับผิดชอบไม่ให้ฝ่ายเวียดกงทำอันตรายได้ควบคู่ไปกับการปฏิบัติการทางทหาร  ได้ช่วยเหลือในด้านการรักษาพยาบาลและช่วยเหลือให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น และได้ปฏิบัติต่อชาวเวียดนามฉันญาติพี่น้อง
           ดังนั้นรัฐบาลเวียดนามใต้ถึงได้มอบแพรแถบเชิดชูเกียรติคุณหน่วยประดับธงชัยเฉลิมพลของกองพลทหารอาสาสมัครรวม ๒ แถบ และรัฐบาลสหรัฐฯ ได้มอบเกียรติบัตรชมเชยดังนี้

เวียดนามใต้
TheUnit Citation Streamer Colkor of Gallantry Cross with Palm
แพรแถบเชิดชูเกียรติคุณหน่วยกางเขนแห่งความกล้าหาญประดับใบปาล์ม
TheUnit Citation Streamer Color of the Civic Action Medal with Oakleaf
แพรแถบเชิดชูเกียรติคุณหน่วยเหรียญกิจการพลเรือนประดับใบโอ๊ค
สหรัฐอเมริกา
TheUS Meritorious Unit Commendation
เกียรติบัตรชมเชยการปฏิบัติงานดีเด่น
 

กองพลทหารอาสาสมัคร ผลัดที่ ๑ ส่วนที่ ๒

            กองพลทหารอาสาสมัคร ผลัดที่ ๑ ส่วนที่ ๒ มีกำลังพล ๕,๗๐๔ คน  ได้เดินทางไปยังเวียดนาม โดยแบ่งกำลังออกเป็น ๓ ส่วนคือ ส่วนหน้า ส่วนใหญ่ และส่วนหลัง  การเดินทางเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๒ ได้ไปสมทบและปฏิบัติการร่วมกับส่วนที่ ๑ เป็นเวลา  ๖ เดือน  เมื่อผลัดที่ ๑ ส่วนที่ ๑ เดินทางกลับประเทศไทยแล้ว  ผลัดที่ ๑ ส่วนที่ ๒ ได้เปลี่ยนการบังคับบัญชาไปขึ้นกับ ผู้บัญชาการกองพลทหารอาสาสมัคร ผลัดที่ ๒ และได้รับมอบให้ปฏิบัติการในพื้นที่สนใจทางยุทธวิธี ทางทิศเหนือของกองพล ในเขตติดต่อระหว่างอำเภอตูดิ๊ก กับอำเภอลองถั่น จังหวัดเบียนหว่า  อันเป็นด่านสำคัญในการป้องกันค่ายลองบินห์  ซึ่งเป็นที่ตั้งกองบัญชาการกองทัพบกสหรัฐฯ ในเวียดนามใต้ และกองบัญชาการกองทัพสนามที่ ๒ สหรัฐฯ โดยได้รับมอบภารกิจเฉพาะ ให้ร่วมกันสกัดกั้นการรุกใหญ่ ครั้งที่ ๔ ของเวียดกง
            กองพลทหารอาสาสมัคร ผลัดที่ ๑ ส่วนที่ ๒  ได้ปฏิบัติการเชิงรุกอย่างกว้างขวาง ร่วมกับผลัดที่ ๑ ระหว่างเดือนมกราคม - มิถุนายน ๒๕๑๒  หลังจากนั้นก็ได้ปฏิบัติการร่วมกับกองพลทหารอาสาสมัคร ผลัดที่ ๒ ส่วนที่ ๑ ระหว่างเดือนกรกฎาคม - ธันวาคม ๒๕๑๒  มีการรบที่สำคัญดังนี้
การรบที่เฟือกกาง  (Phuoc Cang)

            กรมทหารราบที่ ๒ ได้รับคำสั่งให้ไปตั้งฐานปฏิบัติการอยู่บนเนิน ๓๘ ใกล้หมู่บ้านเฟือกกาง  เพื่อสกัดกั้นเวียดกง  ซึ่งวางกำลังอยู่ในพื้นที่ปฏิบัติการวังผา  ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตั้งแต่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๒
            ภูมิประเทศในพื้นที่ปฏิบัติการเป็นทุ่งนา ป่าไม้รกทึบและสวนยาง  กรมทหารราบที่ ๒ จึงให้กองพันทหารราบที่ ๓ จัดกองร้อยที่ ๓ เพิ่มเติมกำลัง ๑ หมวด จากกองพันทหารม้ายานเกราะ ไปสกัดกั้นเวียดกง และรักษาพื้นที่ปฏิบัติการ
            วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๒ หน่วยลาดตระเวนกองร้อยอาวุธเบาที่ ๓ ได้ปะทะกับเวียดกงจำนวนหนึ่งอันเป็นสิ่งบอกเหตุว่าเวียดกง จะเข้าโจมตีในไม่ช้านี้
            ในคืนวันวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๒ เวลา ๐๒.๒๐ น. กองพันที่ ๓ กรมที่ ๒๗๔ เวียดกงได้เข้าโจมตีฐานปฏิบัติการกองร้อยอาวุธเบาที่ ๓ ของไทยอย่างรุนแรง โดยได้ยิงเตรียมด้วยเครื่องยิงลูกระเบิด และจรวดอาร์พีจี ไปยังค่ายแบร์แคต และฐานยิงสนับสนุนพร้อมกัน หลังจากนั้นได้ใช้กำลังทหารราบเข้ารบประชิด รอบที่ตั้งฐานปฏิบัติการ ฯ ใน ๓ ทิศทาง เนื่องจากการรบติดพันในระยะต้นไม่อาจใช้ปืนใหญ่ และเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธได้เต็มขีดความสามารถ จนถึงเวลา ๐๖.๐๐ น. เวียดกงเริ่มถอนตัวจากการรบ กองพลทหารอาสาสมัครได้ใช้ปืนใหญ่ของกองพล ๕ กองร้อย  กับกำลังทางอากาศระดมยิงอย่างหนัก เพื่อสกัดกั้น และทำลายการถอนตัวของข้าศึก และได้ส่งกำลังหมวดทหารม้ายานเกราะออกกวาดล้างข้าศึก จนถึง เวลา ๑๐.๔๕ น. จึงเสร็จสิ้น
            ผลการรบ ฝ่ายไทยเสียชีวิต ๑ คน บาดเจ็บสาหัส ๕ คน ฝ่ายเวียดกงเสียชีวิตนับศพได้ ๕๗ ศพ ถูกจับเป็นเชลย ๑๐ คน ยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ได้เป็นอันมาก
ยุทธการอัศวิน
            กองพลทหารอาสาสมัคร ได้รับมอบภารกิจในการลาดตระเวนค้นหา และทำลายเวียดกงเพื่อให้การระวังป้องกัน การปฏิบัติการถางป่า และทำลายต้นไม้ในพื้นที่รับผิดชอบของกองพลทางทิศใต้ และทิศตะวันออกของสวนยางบินห์สัน ในเขตอำเภอลองถั่น ตั้งแต่วันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๑๒ เพื่อขัดขวางกำลังเวียดกง ที่อาศัยป่าแถบนั้นเป็นแหล่งกำบัง และซ่อนพรางกำลังในฐานปฏิบัติการ เพื่อเตรียมการโจมตีกำลังทหารไทย และชาติพันธมิตรฝ่ายโลกเสรี
            พื้นที่ปฏิบัติการดังกล่าว มีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นป่า และสวนยางสลับกัน ยากลำบากต่อการเคลื่อนที่ด้วยเท้า และจำกัดต่อการตรวจการณ์ด้วยสายตาทั้งทางพื้นดิน และทางอากาศ ง่ายต่อการถูกโจมตีจากฝ่ายข้าศึก ทางด้านทิศตะวันตกเป็นที่ลุ่ม มีลำน้ำหลายสายที่เวียดกงใช้เป็นเส้นทางส่งกำลังบำรุง กลางสวนยางเป็นที่ตั้งของสนามบินขนาดใหญ่ของเวียดนามใต้ คือสนามบินบินห์สัน
            กองพลทหารอาสาสมัครได้กำหนดแผนยุทธการใช้ชื่อว่าแผนอัศวิน เป็นแผนการลาดตระเวนค้นหาและทำลายข้าศึก และจัดกำลังเป็นหน่วยรบเฉพาะกิจ เรียกว่า หน่วยรบเฉพาะกิจอัศวิน มีผู้บังคับกองพันทหารม้ายานเกราะ เป็นผู้บังคับหน่วย ประกอบด้วย กองพันทหารม้ายานเกราะหย่อน ๑ กองร้อย  กองร้อยอาวุธเบา  กองร้อยทหารปืนใหญ่ (ช่วยโดยตรง) หมวดทหารช่างสนาม
            ยุทธการอัศวินเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่ ๑๑ กัยยายน ๒๕๑๒ ถึง ๓๐ ตุลาคม ๒๕๑๒ ได้ปะทะกับเวียดกง ๓ ครั้ง ฝ่ายเราเสียชีวิต ๖ คน ไม่ทราบการสูญเสียของเวียดกง ผลการปฏิบัติการครั้งนี้ทำให้การถากถางป่าบรรลุผล ถางป่าได้ ๙,๔๐๐ ไร่ ฝ่ายเวียดกงไม่สามารถใช้พื้นที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติการได้ และเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายเราในการกวาดล้างข้าศึก
ยุทธการวูล์ฟแพค ๑,๒  (Woltpack I,II)
            ยุทธการนี้เป็นการปฏิบัติการผสมของกองกำลังฝ่ายโลกเสรี ระหว่างวันที่ ๒๐ - ๒๓ ตุลาคม ๒๕๑๒ และ ๑๔ - ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๑๒ โดยมีกองพันรบ เฉพาะกิจของไทย เวียดนามใต้ ออสเตรเลีย และหมวดเรือเฉพาะกิจสหรัฐฯ  กำลังเฉพาะกิจของ ๔ หน่วยดังกล่าวปฏิบัติการเป็นอิสระแก่กัน โดยมีการประสานกันอย่างใกล้ชิด
            การปฏิบัติการครั้งนี้กองกำลังของฝ่ายไทยได้ปะทะกับเวียดกงหลายครั้ง ฝ่ายเราเสียชีวิต ๒ คน บาดเจ็บสาหัส ๑ คน เวียดกงเสียชีวิต ๓๓ คน ทำลายที่มั่นปิด ๓๕ แห่ง คูติดต่อ ยาว ๓๐๐  เมตร หลุมบุคคล ๓๑ หลุม อาวุธยุทโธปกรณ์และเอกสารสำคัญจำนวนมาก
ยุทธการเบ็นแคม  (Ben Cam)
            หมู่บ้านเบ็นแคม อยู่ในเขตอำเภอโนนทรัค ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ลุ่มน้ำขัง ป่าไม้ สวนยาง และทุ่งนา พื้นที่ป่าบริเวณใต้หมู่บ้าน  เป็นแหล่งที่หลบซ่อนกำลัง และสะสมเสบียงอาหารของฝ่ายเวียดกง
            ภารกิจของกองพลทหารอาสาสมัครครั้งนี้ ถือการปิดล้อมเวียดกงที่หลบซ่อนอยู่ เพื่อทำลายกำลังและแหล่งเสบียงอาหารของเวียดกง จึงกำหนดแผนที่จะใช้เส้นทางรอบหมู่บ้านเบ็นแคมในการเคลื่อนย้ายกำลังเข้าจู่โจมปิดล้อม แล้วกระชับวงเข้าไปสังหาร และจับเป็นเชลยศึก โดยใช้กำลัง ๖ กองร้อยอาวุธเบา และกำลังกึ่งทหารของกองทัพเวียดนามใต้ ๒ กองร้อยกับกำลังตำรวจเวียดนามใต้อีกจำนวนหนึ่ง
            การปฏิบัติการเริ่มตั้งแต่ วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ถึง ๔ ธันวาคม ๒๕๑๒ โดยได้จู่โจมเข้าปิดล้อมป่าไว้โดยรอบ ในวันรุ่งขึ้นเวียดกง ๑ หมู่ พยายามตีฝ่าวงล้อมแต่ไม่สำเร็จ ในวันที่ ๓ เมื่อกระชับวงปิดล้อมเข้าไปตามลำดับ ก็ได้ค้นพบอุโมงค์ขนาดใหญ่จุคนประมาณ ๑๐๐ คน ฝ่ายเวียดกงเพิ่งเคลื่อนย้ายออกไป รอบอุโมงค์มีที่กำบังอยู่ถึง ๓๐ แห่ง ฝ่ายไทยยึดอุปกรณ์สายแพทย์ได้เป็นอันมาก ในวันต่อมาเวียดกง ๑ หมู่ พยายามตีฝ่าวงล้อมออกไปอีกแต่ ไม่เป็นผล วันต่อมาได้มีการปะทะกับเวียดกงอีกหลายครั้ง
            เมื่อปฏิบัติการได้ ๑๑ วัน ฝ่ายไทยเสียชีวิต ๓ คน บาดเจ็บสาหัส ๓ คน บาดเจ็บไม่สาหัส ๓ คน ฝ่ายเวียดกงเสียชีวิต ๑๐ คน เข้ามอบตัว ๑๗ คน ทำลายที่กำบัง ๑๕๐ แห่ง ยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ได้เป็นจำนวนมาก
ยุทธการเฟือกเหงียน  (Phuac Nguyen)
            หมู่บ้านเฟือกเหงียนอยู่ในเขตอำเภอลองถั่น ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ลุ่มมีลำน้ำหลายสาย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทุ่งนา และมีป่ารกทึบรอบบริเวณ มีสวนยางสลับป่า หมู่บ้านนี้สืบทราบมาว่าเป็นแหล่งหลบซ่อนกำลัง และสะสมเสบียงอาหารของกรมที่ ๒๗๔ เวียดกงและกองโจรประจำถิ่นเวียดกง
            กองพลทหารอาสาสมัคร ได้รับมอบภารกิจให้ปฏิบัติการยุทธผสมร่วมกับกองกำลังกึ่งทหาร กำลังตำรวจ และกำลังเจ้าหน้าที่อำเภอลองถั่น เข้าทำการปิดล้อมและตรวจค้นหมู่บ้าน เพื่อทำลายข้าศึก และแยกประชาชนออกจากกองโจร ประจำถิ่นของเวียดกง กองพลทหารอาสาสมัครได้จัดกำลังกองร้อยอาวุธเบา วางกำลังไว้วงนอก ส่วนกำลังกึ่งทหาร ๒ กองร้อยของกองทัพเวียดนามใต้ และกำลังตำรวจเวียดนามใต้อีกจำนวนหนึ่งวางกำลังไว้วงในทำการปิดล้อม และตรวจค้นหมู่บ้านแห่งนี้ โดยปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ ๔ ถึง ๑๒ ธันวาคม ๒๕๑๒ มีการปะทะกับเวียดกง ๒ ครั้ง
            ผลการรบ ฝ่ายไทยไม่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ฝ่ายเวียดกงเสียชีวิต ๔ คน จับผู้ต้องสงสัยได้ ๒๐ คน ยึดได้อุปกรณ์ และเอกสารได้เป็นจำนวนมาก
สรุปผลการปฏิบัติการ
            ผลการปฏิบัติการของกองพลทหารอาสาสมัคร ผลัดที่ ๒ ระหว่างวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๒ - ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ สรุปได้ดังนี้
            ปะทะกับเวียดกง ๒๑๒ ครั้ง สังหารเวียดกงนับศพได้ ๓๔๓ ศพ คาดว่าเวียดกงเสียชีวิต ๑๒๙ คน จับเชลยศึกได้ ๑๑ คน จับผู้ต้องสงสัยได้ ๑๘๓ คน มีผู้เข้ามอบตัว ๔๙ คน
            ยึดอาวุธประจำกายได้ ๙๙ กระบอก อาวุธประจำหน่วย ๗ กระบอก กระสุน ๑๕,๔๐๐ นัด ทุ่นระเบิด ๕๓ ทุ่น ทุ่นระเบิดแสวงเครื่อง ๑๒๙ ทุ่น ลูกระเบิดขว้าง ๒๔๒ ลูก เครื่องยิงจรวดอาร์พีจี ๑๖ เครื่อง จรวดอาร์พีจี ๓๑ ลูก