หน้าแรก    ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบคำถาม    เข้าสู่ระบบ      


ความคืบหน้า และแผนการลงทุนของ TAI (ล่าสุดเท่าที่หาได้)

โดยคุณ : Trinity เมื่อวันที่ : 24/02/2007 20:38:24

ผมไปเจอข่าวนี้ในเวบบอร์ดอีกแห่งนึงครับ เห็นว่าเกี่ยวกับ TAI และอุตสาหกรรมซ่อมอากาศยาน ก็เลยเอามาให้อ่านกัน

ข่าวนี้ตั้งแต่ 25 Jan นะครับ เก่าไปเดือนนึง ปัจจุบันไม่รู้ว่าการที่เปิดดอนเมืองกลับมารับเที่ยวบินพานิชย์อีกจะมีผลต่อการขอใช้พื้นที่ของ TAI ไหม

อยากให้ TAI เป็นบริษัทซ่อมและโมดิฟายด์อากาศยานชั้นนำของเอเชียครับ ทั้งเครื่องพานิชย์ และทางทหาร หวังว่าคนที่มีอำนาจอยู่ตอนนี้ และในอนาคตจะมองเห็นความสำคัญนะ ประเทศเราจะได้เริ่มมีงาน มีโอกาสหารายได้จากงานทางเทคโนโลยีชั้นสูงเพิ่มขึ้นอีกเรื่องนึง คนเรียนจบวิศวกรรมอากาศยานมาจากเกษตรจะได้มีงานทำ มีงานวิจัย เป็นฐานความรู้เสริมๆกันไปเรื่อยๆ เผื่อในอนาคต ความฝันที่เราจะมีเครื่องบินขับไล่ "บริพัตร์ 2" ทำเองในประเทศอาจจะเป็นจริงก่อนผมตายเสียทีนึง

----------------------------------

TAI ชูธงอาณาจักร'ดอนเมือง' มุ่งสู่นิคมอุตสาหกรรมซ่อมอากาศยาน

ฐานเศรษฐกิจ 25 Jan 2007

แม้จะดำเนินธุรกิจมากว่า 3 ปีแล้วก็ตาม แต่ไม่แปลกที่ชื่อของบริษัทอุตสาหกรรมการบินจำกัด หรือ TAI ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจจะไม่คุ้นหู หนึ่งอาจเป็นเพราะเป็นรูปแบบการทำธุรกิจจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่ม เริ่มต้นด้วยการซ่อมเครื่องบินของกองทัพอากาศเป็นหลัก แถมยังถูกมองในแง่ลบ เพราะเป็นโครงการที่เกิดขึ้นในยุครัฐบาลทักษิณ คนก็เลยมองว่าเป็นโครงการการเมือง อาศัยมติครม.จัดตั้งบริษัทขึ้นมาเมื่อวันที่ 16 ธ.ค.46 มีสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือสสว.ถือหุ้น 70 % และบริษัทไทยแอโร่สเปซ แมนเนจเม้นท์ จำกัด(บริษัทที่กองทัพอากาศจัดตั้งขึ้นมาด้วยการนำเงินของกองทุนสวัสดิการทหารอากาศมาใช้ในการลงทุน30% )


TAI มีแผนให้สสว.ถอนหุ้นออกไปและนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุนกว่า 3-5 พันล้านบาท นำมาใช้ในการขยายธุรกิจ ซึ่งจุดนี้จึงถูกมองว่าเป็นการปูทางของฝ่ายการเมืองที่จะเข้ามาหาประโยชน์จากการขายหุ้น แต่ยุคปฏิรูปการเมือง นี้ทิศทางของTAI จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร อ่านได้จากสัมภาษณ์ พล.อ.ท.วิโรจน์ ระภาพันธ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทอุตสาหกรรมการบิน จำกัด หรือTAI

++TAI ยังมีแผนจะนำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯอยู่หรือไม่


เรื่องนี้ยังไม่ได้พูดถึงเลย แต่จะมองกันที่การทำงานเพื่อทำให้TAI ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ เพราะแม้บริษัทนี้จะจัดตั้งมากว่า 3 ปีก็จริง แต่แนวคิดนี้กองทัพอากาศหรือทอ.มีมานานมากแล้ว เนื่องจากทอ.มีขีดความสามารถในการซ่อมบำรุงสูงมาก แต่ที่ผ่านมาติดปัญหาระบบราชการ ทำให้การจัดหาการซ่อมบำรุงล่าช้า จะสั่งซื้อทีต้องสต็อกอะไหล่ไว้มากๆ ทำให้ไม่คล่องตัว ประกอบกับที่ผ่านมาโครงสร้างของทอ.ก็เป็นเหมือนสามเหลี่ยม คนยิ่งโตขึ้นจะเป็นส่วนเกิน แต่เป็นพวกมีประสบการณ์สูง ทอ.ก็ต้องจ่ายสวัสดิการให้แต่เขาทำประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ ดังนั้นการดึงบุคลากรเหล่านี้มาทำงาน ก็จะช่วยลดความอุ้ยอ้ายของทอ. และตั้งบริษัทขึ้นมาทำหน้าที่ซ่อมบำรุงโดยเฉพาะก็จะเกิดความคล่องตัว รวมทั้งยังเป็นการประหยัดงบให้แก่ประเทศชาติด้วย เพราะที่ผ่านมากว่า 70% จะต้องนำเครื่องบินไปซ่อมต่างประเทศ ทำให้เงินไหลออกไปนับหมื่นล้านบาท ซึ่งเครื่องบินไม่เสียก็ต้องซ่อมบำรุง เพราะจะมีกำหนดการซ่อมบำรุงต่อเนื่องตลอดเวลา


ส่วนการที่คนยังไม่รู้จักTAI เท่าที่ควร อาจเป็นเพราะเป็นช่วงเริ่มต้น เพราะพอจัดตั้งบริษัทเมื่อ 31 ต.ค.46 ทอ.ก็ถือหุ้นเพิ่มขึ้น 49% และสสว.ถืออยู่51% ก่อนจะเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 1 ม.ค.47 ซึ่งตลอด 3 ปีที่ผ่านมา นอกจากการซ่อมเครื่องบินทหารแล้ว (ตารางประกอบ) บริษัทยังต้องพัฒนาทักษะบุคลากร ที่ต้องสร้างให้เกิดไลเซนท์ในการซ่อมเครื่องบินได้หลากหลายแบบ

++ขีดความสามารถการซ่อมบำรุงของบริษัททำได้แค่ไหนแล้ว


การซ่อมบำรุงอากาศยานจำเป็นต้องทำตามคู่มือและคำแนะนำจากบริษัทผู้ผลิตหรือบริษัทที่ได้รับการรับรองจากบริษัทผู้ผลิตเพื่อให้การซ่อมเป็นไปอย่างถูกต้องปลอดภัย ดังนั้นการซ่อมอากาศยานแบบใดที่ยังไม่เคยดำเนินมาก่อน จำเป็นต้องร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตหรือบริษัทที่ได้รับการรับรองจากบริษัทผู้ผลิตให้การแนะนำทางด้านเทคนิคในระยะแรกจนกว่าช่างบริษัทจะมีความชำนาญจึงจะดำเนินการซ่อมเองทั้งหมด เช่นบริษัทฯ ได้ร่วมมือกับบริษัท Aliniera a branch of Finmecanica. S.p.a. ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องบิน G -222 ในการซ่อมใหญ่เครื่องบิน G-222 ให้กับกองทัพอากาศ รวมทั้งบริษัท ได้ดำเนินการจัดทำข้อตกลง Technical Assistance Agreement (TAA) ซึ่งเป็นข้อตกลงที่บริษัทผู้ผลิตจะให้การสนับสนุนทางวิศวกรรม เครื่องมือ ชิ้นส่วนอะไหล่ การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ช่างเทคนิคและจัดเจ้าหน้าที่จากบริษัทผู้ผลิตมากำกับดูแลในการซ่อม ปัจจุบันบริษัทฯ ได้จัดทำข้อตกลง TAA กับบริษัท Pratt & Whitney ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องยนต์ของเครื่องบิน F-16 โดยจะซ่อมเครื่องยนต์เองในประเทศทั้งยังได้จัดทำสัญญา กับบริษัท Lockheed Martin ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องบิน F-16 ในการร่วมกันซ่อมโครงสร้างเครื่องบิน F -16 ตามโครงการ FALCONUP ของกองทัพอากาศ


การทำข้อตกลงทั่วไป กับบริษัท SUPPLIER ทั้งที่เป็นผู้ผลิตหรือผู้แทนจำหน่ายในต่างประเทศเพื่อให้สามารถซื้อขายอะไหล่ได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องเสียเวลาเจรจาเงื่อนไขในการซื้อแต่ละครั้ง และทำข้อตกลงกับบริษัท Indonesian Aerospace (IAe) ให้ความร่วมมือในการซ่อมเครื่องบิน Casa CN 235 และCN 212 ที่บริษัท IAe เป็นผู้ผลิต เป็นต้น


++มีแผนขยายธุรกิจอย่างไรหลังทอ.ยื่นขอใช้ประโยชน์ดอนเมือง


ปัจจุบันTAI เช่าศูนย์ซ่อมอากาศยานของทอ.ทั้งหมด 3 แห่ง (ตารางประกอบ) คือ กองซ่อมอากาศยาน 1 กองบิน 4 อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ,ส่วนซ่อมอากาศยาน โรงเรียนการบิน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม และส่วนซ่อมอากาศยานขนาดเล็ก ฝูงบิน604 กองบัญชาการยุทธทางอากาศ ดอนเมือง แค่ซ่อมเครื่องหน่วยงานรัฐก็ใช้งานจนเต็มแล้ว การที่ทอ.เสนอขอใช้ประโยชน์ด้านอาคารในประเทศและคลังสินค้าของสนามบินดอนเมือง ก็จะทำให้TAI สามารถพัฒนาเป็นศูนย์ซ่อม รองรับการขยายงานของบริษัท และทำเป็นนิคมอุตสาหกรรมการซ่อมบำรุงอากาศยานได้


นอกจากนี้บริษัทมีแผนจะร่วมทุนกับบริษัทแอร์ฟรานซ์ เทคนิค จำกัดของประเทศฝรั่งเศสเป็นสิ่งที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้หารือร่วมกันอยู่ขณะนี้ หลังจากเคยทำงานใกล้ชิดร่วมกันมาในระดับหนึ่งแล้วโดยแอร์ฟรานซ์ฯเช่าช่างของTAI ในการซ่อมเครื่องบินโบอิ้ง 737-300 หากเครื่องรุ่นดังกล่าวมีปัญหาในไทยหรือประเทศใกล้เคียง ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของการหารือถึงการร่วมลงทุน ซึ่งTAI มีสถานที่ มีช่าง ส่วนแอร์ฟรานซ์ฯ มีโนฮาว เทคนิค และอุปกรณ์ ซึ่งสามารถร่วมกันทำงานได้ แต่ในขณะนี้ยังต้องรอในเรื่องของการขอพื้นที่ส่วนหนึ่งในสนามบินดอนเมืองคืนมาก่อน เพื่อสร้างความมั่นใจกับทั้งสองฝ่ายว่าTAI จะมีสถานที่สำหรับทำโรงเก็บและโรงซ่อมอากาศยานสำหรับรองรับการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการร่วมลงทุนกับแอร์ฟรานซ์ฯจึงเป็นส่วนสำคัญต่อการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์นิคมซ่อมอากาศยาน แต่ต้องมีคำตอบที่ชัดเจนในเรื่องของพื้นที่ก่อน ซึ่งหากติดปัญหานี้และไม่สามารถร่วมลงทุนกันได้ เชื่อว่าทางแอร์ฟรานซ์ฯก็คงจะไปลงทุนที่เวียดนามแทน


++บริษัทมีแผนลงทุนอะไรบ้างในปีนี้


แผนลงทุนในปีนี้มีอีกกว่า 125 ล้านบาท ในการดำเนินงาน 14 โครงการ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของบริษัท รองรับการขยายธุรกิจในอนาคต อาทิ โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการซ่อมบำรุง ที่จะผลักดันให้พนักงานสามารถซ่อมบำรุงเครื่องบินได้หลากหลายแบบขึ้น เช่น CARAVAN โครงการพัฒนาระบบการจัดหาอะไหล่และการเรียกเก็บเงินจากลูกค้า โครงการฝึกอบรมเพิ่มขีดความสามารถตามมาตรฐานบริษัทผู้ผลิตตามทิศทางการตลาด


ส่วนแผนงานด้านการตลาดได้มีการจัดทำโครงการFalcon Star ซึ่งเป็นการซ่อมเครื่องของทอ.ในระยะที่สองจะดำเนินการแล้วเสร็จในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยปีนี้ตั้งเป้าว่าจะได้รับงานซ่อมเครื่องบินมูลค่ารวมกว่า 1,500-2,000 ล้านบาท หลังจาก 3 ปีที่ผ่านมารับงานซ่อมเครื่องบินมูลค่ารวมกว่า 7,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทจะมีรายได้จากการบวกค่าซ่อมบำรุงกับลูกค้าอยู่ที่ 17% แยกเป็นค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% และอีก10% เป็นค่าดำเนินการ ค่าประกัน กำไรจะอยู่ที่ 3% ซึ่งถือว่าต่ำกว่าอัตราการซ่อมของเอกชนอย่างการบินไทย ที่จะบวก 18% และยังถือว่าประหยัดงบประมาณกว่าการนำเครื่องไปซ่อมยังต่างประเทศเช่นในอดีต


เป้าหมายต่อไปคือการจัดตั้งศูนย์ซ่อมเฮลิคอปเตอร์ โดยต้องการขยายขีดความสามารถในการซ่อมเฮลิคอปเตอร์ เนื่องจากส่วนราชการมีเฮลิคอปเตอร์ใช้งานเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะตระกูล BELL SERIES มีมากกว่า 300 เครื่อง กองทัพอากาศเป็นหน่วยงานเดียวที่สามารถซ่อมเฮลิคอปเตอร์ได้ถึงระดับโรงงานที่ศูนย์ซ่อมเฮลิคอปเตอร์ กองบิน 2 ลพบุรี การจัดตั้งศูนย์ซ่อมบริภัณฑ์ เพื่อรับงานซ่อมอุปกรณ์ของระบบต่างๆ ในอากาศยาน เช่น ใบพัด เครื่องวัด STARTER GENERATOR เป็นต้น


++วางเป้าหมายการดำเนินธุรกิจไว้อย่างไร


ต้องการขยายขีดความสามารถในการซ่อมอากาศยานของส่วนราชการให้ได้มากแบบที่สุดเพื่อลดกำลังพลด้านการซ่อมบำรุงของส่วนราชการและลดการพึ่งพาจากต่างประเทศให้มากที่สุด การให้บริการซ่อมอากาศยานของเอกชนและภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เช่นสายการบินขนาดเล็กและสายการบินราคาประหยัด เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจอยู่ได้โดยไม่ขาดทุน ทั้งยังจะขยายขีดความสามารรถในการซ่อมอากาศยานของประเทศในภูมิภาคทั้งอากาศยานทางทหารและภาคธุรกิจ โดยจะต้องให้ได้การรับรองจากหน่วยงานควบคุมการบินระดับสากลเช่น FAA รวมทั้งอาจจะร่วมมือเป็นพันธมิตรด้านการค้ากับบริษัทซ่อมอากาศยานที่มีชื่อเสียงระดับมาตรฐานสากลเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือจูงใจให้ต่างประเทศส่งอากาศยานมาซ่อมกับบริษัทต่อไป




ความคิดเห็นที่ 1


โครงการนี้เคยมีข่าวออกมาว่าต้องพับโครงการฝังใต้ดิน เหมือนกับโครงการอื่นๆที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศที่ต้องโดนยกเลิกไปแล้วก็หายไปตลอดการเนื่องมาจากปัญหาต่างๆมากมายที่ส่งผลกระทบ และอีกอย่างเคยมีการวิจารณ์กันว่าโครงการนี้ซ่อมได้เฉพาะอากาศยานของกองทัพเท่านั้น เพราะสายการบินพาณิชย์เขาจะมีโรงซ่อมที่เป็นของตนเองอยู่แล้ว ก็อาจทำให้ไม่ตรงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ก็เป็นไปได้นะครับ แต่อย่างไรถ้าโครงการนี้เกิดขึ้นก็ดีประเทศจะได้มีเงินไปพัฒนาประเทศต่อไป

โดยคุณ lifebad เมื่อวันที่ 24/02/2007 20:50:55


ความคิดเห็นที่ 2


ขอฝากคำพูดสั้น ๆ ให้กับผู้มีอำนาจครับว่า

 

อย่าป็อด แล้วชาติจะเจริญ

โดยคุณ Skyman เมื่อวันที่ 25/02/2007 00:52:41


ความคิดเห็นที่ 3


รู้สึกว่า TAI จะเป็นบริษัทซ่อมอากาศยานไทยใช่เปล่าคะ

โดยคุณ เบส งุงิ เมื่อวันที่ 25/02/2007 11:12:50


ความคิดเห็นที่ 4


ใช้คับ จะเป็นสถานที่สำหรับซ่อมอากาศยานทุกประเภทที่ประจำการอยู่ในประเทศคับ ซ่อมตั้งแต่เครื่องบินพาณิชย์ยันเครื่องบินรบนั้นและคับ
โดยคุณ lifebad เมื่อวันที่ 25/02/2007 14:03:03