อีกครั้งกับ THEOS ดาวเทียมดวงแรกโดยคนไทย(มีส่วนร่วม)
ดาวเทียม"ธีออส"
ดาวเทียม หรือ แซทเทิลไลท์ (Satellite) คือ วัตถุที่เกิดจากการประดิษฐ์คิดค้นของมนุษย์ สามารถลอยอยู่ในอวกาศ และโคจรรอบโลก หรือเคลื่อนไปยังจุดหมายปลายทางที่ต้องการได้ โดยอาศัยกฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ เช่น แรงดึงดูดของโลก ซึ่งทำให้ดาวเทียมสามารถโคจรรอบโลกได้ในลักษณะเดียวกันกับที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลก และโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์
ดาวเทียมสร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในทางการทหาร การสื่อสาร การรายงานสภาพอากาศ การสำรวจและการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เช่น การสำรวจทางธรณีวิทยา สังเกตการณ์สภาพของอวกาศ โลก ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ฯลฯ
สำหรับธีออสเป็นดาวเทียมขนาดเล็ก มีน้ำหนัก 750 กิโลกรัม มีระยะห่างจากโลกเมื่อส่งขึ้นไปโคจรที่ระดับ 822 กิโลเมตร โคจรรอบโลกทั้งสิ้น 369 วงโคจร ระยะทางระหว่างวงโคจรแต่ละวงเท่ากับ 105 กิโลเมตร โดยจะโคจรมาที่จุดเดิมทุกๆ 26 วัน และสามารถถ่ายภาพได้ครอบคลุมทั่วโลก
บันทึกภาพด้วยระบบเดียวกับกล้อง (Optical System) ความละเอียดของภาพขาวดำ 2 เมตร สามารถเห็นวัตถุขนาด 2X2 เมตร ในที่แจ้งได้ชัดเจน ความละเอียดภาพสี 15 เมตร ความกว้างของแนวถ่ายภาพ 90 กิโลเมตร มีอายุการใช้งานประมาณ 5 ปี
การสั่งสร้างธีออส ทางฝรั่งเศสได้มอบทุนการศึกษาระดับปริญญาโท และเอก ทางด้านเทคโนโลยีอวกาศให้กับเจ้าหน้าที่ไทยจำนวน 24 ทุน พร้อมทั้งสิทธิการใช้ข้อมูลดาวเทียมสปอต 2,4 และ 5 เป็นเวลา 5 ปีโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
หน้า 33
http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01pra03250150&day=2007/01/25
การเตรียมพร้อมรับสัญญาณ ดาวเทียม ธีออส
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) ได้ดำเนินการจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานภาคพื้นดิน เพื่อรองรับการติดตั้งระบบควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียม ทั้งที่ศูนย์ดาวเทียมภาคพื้นดิน เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร และ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
โดยที่ลาดกระบังจะเป็นที่ตั้งระบบ IGS ส่วนที่ อำเภอศรีราชาเป็นที่ตั้งระบบ CGS และ S-band station ทั้งนี้ กำหนดเริ่มติดตั้งระบบภาคพื้นดินไปแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2549 ที่ผ่านมา
การสร้างสถานีควบคุมดาวเทียม ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ก็เพื่อหลีกเลี่ยงการรบกวนสัญญาณควบคุมของสนามบินสุวรรณภูมิ
สำหรับการสร้างสถานีควบคุมดาวเทียมธีออส แบ่งเป็น 2 ระยะ ปัจจุบันอยู่ในระยะแรกที่กำลังสร้างตัวควบคุมคำสั่งไปยังดาวเทียม โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จทันการส่งธีออสขึ้นไปโคจร
ส่วนระยะต่อไปจะสร้างอาคารรับสัญญาณธีออส แต่เริ่มแรกจะใช้ศูนย์ดาวเทียมที่ลาดกระบังรับสัญญาณไปก่อน
หน้า 33
http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01pra02250150&day=2007/01/25
เตรียมรับขวัญ"ธีออส" ดาวเทียมดวงแรกของไทย
ไม่ใช่แค่ความฝันหรืออยู่ในจินตนาการอีกต่อไป สำหรับประเทศไทยที่จะได้เป็นเจ้าของ "ดาวเทียม" แบบจริงแท้แน่นอน ไม่ใช่เช่าเขามา หรือบริษัทเอกชนสั่งซื้อมาแล้วบอกว่าเป็นของคนไทย
เพราะดาวเทียมดวงนี้ ได้รับการประกันเซ็นสัญญาว่าเป็น *ดาวเทียมดวงแรกของประเทศไทย* อย่างแท้จริง
โดยดาวเทียมดวงนี้มีชื่อว่า "ธีออส" ย่อมาจาก "Thailand Earth Observation System"
*เป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของไทย*
ซึ่งเวลานี้สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว รอเวลาจะยิงขึ้นไปในอวกาศ ที่ฐานปล่อยดาวเทียมในประเทศคาซักสถาน ในเดือนตุลาคม 2550 นี้ และจะมีการถ่ายทอดสดกลับมายังประเทศไทยด้วย
*ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นผู้เปิดเผยและชี้แจงรายละเอียดเรื่องนี้อย่างมีความสุขกับความสำเร็จของประเทศไทย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีบอกว่า การมีดาวเทียมของตัวเองดวงแรก นับเป็นความก้าวหน้าของระบบเทคโนโลยีด้านอวกาศของไทย ซึ่งหากนับตั้งแต่แรกเริ่มที่ได้ศึกษามาจนถึงเวลานี้เรียกว่าประเทศไทยก้าวขึ้นมาอยู่ระดับแนวหน้าของอาเซียนก็ว่าได้
*โดยดาวเทียม "ธีออส" เป็นความร่วมมือภายใต้ความตกลงด้านเทคโนโลยีอวกาศระหว่างรัฐบาลไทย และรัฐบาลฝรั่งเศส*
มีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีอวกาศและการประยุกต์ใช้ข้อมูลดาวเทียม รวมทั้งการพัฒนาดาวเทียมเพื่อใช้ประโยชน์ในการสำรวจทรัพยากรของประเทศ
"เรื่องนี้เกิดขึ้นมานานหลายปีแล้วตั้งแต่ปี 2546 และวันที่ 2 มีนาคม 2547 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) เป็นหน่วยงานกลางในการรับผิดชอบดำเนินโครงการพัฒนาดาวเทียม ธีออส ร่วมกับบริษัท เอียดส์ แอสเทรียม (EADS Astrium) เมืองตูลูส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเราว่าจ้างเขาสร้างในลักษณะการค้าต่างตอบแทนร้อยเปอร์เซ็นต์ และได้มีการลงนามในสัญญาเพื่อการพัฒนาดาวเทียมและระบบภาคพื้นดินที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2549ที่ผ่านมา"
(บน) ภาพจำลองบริเวณเขาพนมรุ้ง (ล่าง) เกาะเสม็ด |
รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ดร.ยงยุทธบอกว่า การว่าจ้างสร้างดาวเทียมดวงนี้ ไม่ใช่แค่ว่าจ้างสร้างเฉยๆ
*แต่ทางประเทศไทยได้ส่งเจ้าหน้าที่คนไทยที่เป็นวิศวกรไปเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านนี้กลับมาด้วย ซึ่งจำนวนวิศวกรที่ส่งไปเรียนมีร่วมๆ 30 คน*
"เรียกว่าตอนนี้ นอกจากไทยเราจะมีดาวเทียมของตัวเองดวงแรกแล้ว เรายังจะสร้างดาวเทียมได้เองในอนาคต เพราะวิศวกรที่เราส่งไปเรียนนั้นได้ส่งไปอย่างต่อเนื่อง และเวลานี้กำลังเรียนเรื่องการสร้างดาวเทียม ซึ่งหลังจากกลับมาเมืองไทยแล้ว คนเหล่านี้นอกจากจะใช้ดาวเทียมเป็นแล้ว ยังสามารถออกแบบและสร้างดาวเทียมได้เองด้วย
*และเรามีนโยบายที่ชัดว่าประเทศไทยจะมีดาวเทียมที่สร้างด้วยตัวเองภายใน 5 ปี"*
สำหรับดาวเทียม ธีออส เป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากร ไม่ใช่ดาวเทียมคมนาคม
ซึ่งเมื่อยิงขึ้นไปในอวกาศแล้ว ดาวเทียม ธีออส จะเป็นศูนย์กลางข้อมูล ศูนย์วิจัยพัฒนา ศูนย์ความรู้ทางวิชาการ และศูนย์บริการข้อมูลออนไลน์ ผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์อย่างรวดเร็วไปสู่ท้องถิ่นในระดับภูมิภาค และในระดับสากล
รวมทั้งการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนากิจกรรมการประยุกต์ใช้ประโยชน์แบบ Near Real-time Data Application เพื่อให้เกิดการประยุกต์ใช้ประโยชน์เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของประเทศ ให้บังเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
"ที่สำคัญเมื่อมีดาวเทียมของเราเอง เราจะเน้นเทคโนโลยีของการศึกษา คือเทคโนโลยีของการเอาข้อมูลจากดาวเทียมมาใช้ประโยชน์ อย่างเช่นเอาข้อมูลมาใช้ในการวางแผนเรื่องการเกษตร วางแผนเรื่องน้ำ ไม่ว่าน้ำท่วม ภัยแล้ง เราสามารถมองเห็นได้หมด ก็จะได้ข้อมูลจากดาวเทียมมาเปรียบเทียบกับข้อมูลภาคพื้นดืนเพื่อวางแผนนโยบายการทำงาน หรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น"
ดร.ยงยุทธยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ เช่น ใช้ดูพื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทย ว่ามีเท่าไหร่ เหลือเท่าไหร่ และหากจะฟื้นฟูสภาพป่าของประเทศก็สามารถใช้ข้อมูลจากดาวเทียมดวงนี้ดูได้
"แม้แต่เรื่องสมัยใหม่อย่างการทำนากุ้ง ดูว่านากุ้งยังทำอยู่หรือถูกทิ้งร้างไปแล้ว มีพื้นที่เท่าไหร่ หรือนากุ้งไปแย่งที่ของป่าชายเลนไปมากน้อยเท่าไหร่ ดูนาข้าว หรือดูการทำไร่อ้อย ทำไร่ต่างๆ สามารถใช้ดาวเทียมส่องดูได้ละเอียดมาก หรืออย่างป่าภาคใต้ก็สามารถดูได้ แต่ป่าภาคใต้มีปัญหาเรื่องสำคัญ คือเรื่องหมอกควันที่มาจากป่าพรุของประเทศอินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังมีข้อดีในเชิงยุทธศาสตร์ เพราะเราจะรู้หมดว่าอะไรเกิดขึ้นที่ไหน"
หรือเรื่องเส้นทางการค้ายาเสพติด การปลูกพืชต้องห้ามในพื้นที่ต่างๆ ดูเรือที่ผิดกฎหมายเอามาลากอวนหาปลาในแหล่งต้องห้าม เรื่องการทำแผนที่สามารถดูได้หมด เหมือนมี "ตาทิพย์"
"เรียกว่าต่อไปนี้ประเทศไทยจะเนื้อหอมมาก ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย ที่เขาไม่มีดาวเทียมอย่างเราก็พยายามมาขอข้อมูล ซึ่งอันนี่เราจะขายข้อมูลให้กับประเทศเหล่านั้น แต่ถ้าอย่าง ลาว เขมร อันนี้อาจจะเป็นการขอความร่วมมือกันได้"
เรียกว่าแทบไม่เชื่อหูว่าออกจากปากรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ "ขายข้อมูล" ต้องถามย้ำว่าประเทศไทยจะขายข้อมูล?
"ครับ ขาย" เสียงตอบรับหนักแน่น พร้อมอธิบายอีกว่า แต่ก่อนไทยต้องไปซื้อข้อมูลจากประเทศอื่นที่มีดาวเทียม แต่ต่อไปนี้ไทยจะเริ่มขายข้อมูลบ้างแล้ว
"ธีออส 1 ราคา 6,400 ล้านบาท ดวงแรกนี้มีระดับความชัด 2 เมตร ไม่ถึงกับชัดแจ๋ว แต่จะเห็นหมด รถ เรือ จากนั้นดาวเทียมดวงต่อๆ ไปของไทยจะมีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จะเริ่มมีระดับความชัด ระดับ 1 เมตร หรือน้อยกว่านั้น ซึ่งในอนาคตแน่นอนว่าเราจะทำเอง ดีไซน์เอง ราคามันก็อาจจะถูกลง"
ดังนั้น แม้จะยังไม่มีในแผนงานระดับชาติว่าจะมี ธีออส 2 หรือ 3 หรือ 4 ตามมาหรือไม่ แต่เพื่อความต่อเนื่องของการถ่ายทอดและเรียนรู้เทคโนโลยี และความคุ้มแสนคุ้มจากที่ไทยได้จากธีออส 1 กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เริ่มคิดแล้วว่า น่าจะมีธีออสตามมาอีกหลายดวง
"6,400 ล้านนี่เรียกว่าคุ้มแสนคุ้ม เพราะการตัดไม้ทำลายป่า ปีหนึ่งๆ เราเสียเงินคงเป็นระดับเป็นหมื่นล้าน แต่ถ้ามีดาวเทียมมาส่องดูเราจะรู้หมดว่าตรงไหนเป็นอย่างไร หรืออย่างแต่ก่อนจำได้ไหม ปัญหาเรื่องบ้านสามหลัง ไม่รู้ว่าแผนที่อันไหนกันแน่ที่ถูกต้อง แต่ต่อไปนี้ปัญหาเช่นนี้จะไม่มีแล้ว พอใช้ดาวเทียมไม่ต้องเถียงกันแล้ว มันชัดเจนมาก มิหนำซ้ำดูได้ 3 มิติ สามารถบอกระดับความสูงต่างๆ ได้เลย และต่อไปไม่ต้องดูแผนที่เป็นแผ่นกระดาษแล้ว แต่ดูในจอคอมพิวเตอร์แทน"
ธีออส 1 เรียกว่าได้เสร็จสมบูรณ์แบบแล้ว พร้อมทั้งผ่านการทดสอบขั้นสุดท้ายเรียบร้อย รอเวลาที่จะปล่อยขึ้นในวงโคจรในอวกาศเท่านั้น
*เดือนตุลาคม 2550 จะเป็นศักราชใหม่ของระบบเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทย*
สกุณา ประยูรศุข
หน้า 33
http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01pra01250150&day=2007/01/25