วีรชนเรือหลวงธนบุรี แห่งยุทธนาวีเกาะช้าง เมื่อ 66 ปีก่อนบอกเล่าวีรกรรมอันห้าวหาญของเหล่าราชนาวีไทย แม้จะแขนขาขาด หรือต้องตายคาสนามรบ แต่อะไรก็ไม่สำคัญไปกว่าชาติบ้านเมือง
เช้าวันที่ 17 มกราคม 2550 ณ อนุสรณ์เรือหลวงธนบุรี โรงเรียนนายเรือ ก็เป็นเฉกเช่นวันนี้ของปีที่แล้วๆ มา ภายในงาน "สดุดีวีรชนกองทัพเรือ" คลาคล่ำไปด้วยญาติวีรชน รวมทั้งเหล่าราชนาวีไทยทั้งในอดีตและปัจจุบันที่ต่างมุ่งสู่อนุสรณ์แห่งความทรงจำด้วยจิตกตัญญู และน้อมคารวะ
พล.ร.อ.วิชัย ยุวนางกูร รองผู้บัญชาการทหารเรือ (รอง ผบ.ทร.) เป็นตัวแทน พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) กล่าวสดุดีดวงวิญญาณวีรชน ทหารกองเกียรติยศในชุดเครื่องแบบเต็มยศสีขาว ขับเน้นให้บรรยากาศเข้มขลัง ชวนให้รำลึกถึงวีรกรรมอันห้าวหาญของผู้วายชนม์
คำสดุดีตอนหนึ่ง กล่าวถึงวีรกรรมของราชนาวีไทย ซึ่งกระทำ "ยุทธนาวี" กับกองเรือฝรั่งเศสอันเกรียงไกร เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ.2484 ณ บริเวณเกาะช้าง จ.ตราด ในกรณีพิพาทอินโดจีน
กองเรือฝรั่งเศสแล่นรุกล้ำอธิปไตยของไทยเข้ามาถึง 7 ลำ แต่ทัพเรือไทย ซึ่งมีเพียง 3 ลำ ซ้ำระวางขับน้ำของทั้ง 3 ลำยังไม่เทียบเท่ากับเรือกลไฟของฝรั่งเศสเพียงลำเดียวกลับสวมหัวใจสิงห์เข้าสกัดกั้นอย่างไม่คิดชีวิต กระทั่งต้องสูญเสียกำลังพลไปถึง 36 นาย และเรือรบทั้ง 3 ลำ !!
แต่นั่นก็เพียงพอที่จะทำให้กองเรือฝรั่งเศสล่าถอยไปได้ เพราะเรือลาดตระเวนยักษ์ "ลาม็อตต์ปิเกต์" ถูกเรือของราชนาวีไทยยิงถล่มจนยับเยิน และเชื่อกันว่าฝ่ายฝรั่งเศสก็ต้องสูญเสียกำลังพลไปไม่น้อยเช่นกัน
ประวัติศาสตร์ยุทธนาวีในครั้งนั้นได้รับการกล่าวขวัญถึงมาจนทุกวันนี้ กองทัพเรือจึงกำหนดให้วันที่ 17 มกราคม ของทุกปีเป็นวันสดุดีวีรชน เพื่อให้ทหารเรือทุกคนได้แสดงความเคารพและระลึกถึงวีรกรรมของทหารเรือที่ทำการรบอย่างกล้าหาญ และยอมพลีชีพเพื่อปกปักรักษาผืนแผ่นดิน
พ.จ.อ.แก้ว เจริญสุข วัย 89 ปี ผู้รอดชีวิตจากยุทธนาวีที่เกาะช้าง เหม่อมองพวงหรีดสักการะดวงวิญญาณทหารกล้าบนอนุสรณ์เรือหลวงธนบุรี ด้วยความรู้สึกยากบรรยาย เพราะบนซากเรือรบประวัติศาสตร์ลำนี้เคยเป็นทั้งบ้านและสุสานฝังร่างของ "เพื่อนร่วมรบ" ในคราวนั้นถึง 24 ศพ
แม้เหตุการณ์ในวันนั้นจะล่วงมาแล้วถึง 66 ปี แต่ พ.จ.อ.แก้ว กลับจำรายละเอียดของเหตุการณ์ได้อย่างแม่นยำราวกับมันเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันวาน
16 มกราคม พ.ศ. 2484 ขณะที่เขาและลูกเรือคนอื่นๆ กำลังซ้อมรบอยู่บนเรือหลวงธนบุรีตามปกติ พลันก็มีข่าวที่ทำให้พวกเขาใจเต้นไม่เป็นส่ำว่า กองเรือฝรั่งเศสกำลังแล่นเข้ามาเพื่อรุกล้ำอธิปไตยของไทย
พวกเขาไม่มีเวลาแม้แต่จะคิด เรือหลวงธนบุรี พร้อมเรือหลวงอีก 2 ลำ คือ เรือหลวงชลบุรี และ เรือหลวงสงขลา แล่นฝ่าคลื่นออกจากท่าสามเสนอย่างรีบเร่ง
จุดหมายคือ สกัดกั้นศัตรูผู้รุกรานไม่ให้กระทำย่ำยีต่อแผ่นดินแม่ได้แม้แต่ตารางนิ้วเดียว!!
พ.จ.อ.แก้ว ถูกมอบหมายให้ประจำป้อมท้ายเรือ เมื่อไปถึงเกาะช้างก็พบความผิดปกติ คือ มีเครื่องบินรบของฝรั่งเศสบินวนสังเกตการณ์ในเพดานบินที่สูงเกินกว่าระยะปืนของเรือไทยจะยิงถึง
เช้ามืดของวันที่ 17 มกราคม ยุทธนาวีครั้งสำคัญจึงเปิดฉากขึ้นเมื่อยามสะพานเรือแจ้งว่า มีข้าศึกแล่นรุกล้ำน่านน้ำเข้ามาเรือหลวงทั้ง 3 ลำ จึงเตรียมการเข้ารบอย่างเต็มที่ โดย พ.จ.อ.แก้ว มีหน้าที่บรรจุกระสุน
"ก็ไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นอะไรมาก เพราะสมัยก่อนฝึกกันหนักมาก ทำกันเหมือนจริงทุกอย่างจึงไม่ค่อยรู้สึกอะไร คิดว่ามันเป็นหน้าที่ที่ต้องทำเท่านั้น" พ.จ.อ.แก้ว กล่าวถึงความรู้สึกในวันนั้น
เรือรบทั้ง 3 ลำของไทยรีบตั้งขบวนเรือเพื่อเตรียมรับข้าศึกเต็มที่ แต่ก็ช้ากว่าเรือไฟของฝรั่งเศส ซึ่งเปิดฉากระดมยิงเข้าใส่ทันที เพราะวัดระยะไว้แล้วและรู้ดีว่าปืนของเรือไทยถึงจะใหญ่ก็จริง แต่กลับยิงได้ช้ากว่า
"เรือลาม็อตต์ปิเกต์ยิงรัวออกมาถึง 3 ตับ แต่กว่าจะถูกเรือเราก็เป็นตับที่ 4 แล้ว กระสุนมาตกลงตรงสะพานเดินเรือของเรือหลวงธนบุรีพอดี จึงทำให้เกิดการสูญเสียจำนวนมาก บ้างก็ถูกไฟคลอกตาย บ้างก็แขนขาด ขาขาด เป็นที่น่าสยดสยอง" พ.จ.อ.แก้ว บรรยายความสูญเสียของฝ่ายไทย
ภาพของเพื่อนร่วมรบ ซึ่งต้องดับดิ้นลงไปต่อหน้าแม้จะทำให้ทหารไทยเจ็บแค้นแค่ไหน แต่พวกเขาก็จำต้องสะกดกลั้นไว้และต้องกัดฟันต่อสู้อย่างสุดความสามารถ
พวกเขาอาจจะตายได้...แต่ราชนาวีไทยพ่ายแพ้ไม่ได้ เพราะมันหมายถึงความสูญเสียของทั้งชีวิตร่วมชาติและเอกราชชาติไทย
การปะทะกันอย่างดุเดือดดำเนินไปราวๆ ครึ่งชั่วโมง แต่กองเรือฝรั่งเศสซึ่งมีทั้งปริมาณ และประสิทธิภาพของอาวุธเหนือกว่ากลับไม่สามารถทำลายกองเรือของฝ่ายไทยได้
ข่าวกรองของข้าศึกทราบมาว่าฝ่ายไทยกำลังส่งทหารนาวิกโยธินมาสนับสนุน พร้อมเครื่องบินรบจำนวนหนึ่ง กองเรือฝรั่งเศสซึ่งกำลังบอบช้ำและขวัญเสียอย่างหนัก จึงรีบล่าถอยจากน่านน้ำไทยไปทันที
"พอเรือรบฝรั่งเศสล่าถอยออกไป ผมรีบวิ่งไปหาเพื่อนบนเรือที่ได้รับบาดเจ็บ ส่วนใหญ่จะถูกระเบิดจนแขนขาขาด หรือถูกไฟคลอกจนเนื้อตัวไหม้ไปหมด ผมช่วยอะไรเพื่อนไม่ได้ จึงได้แต่กอดร่างเพื่อนและร้องไห้อยู่อย่างนั้น" พ.จ.อ.แก้ว บรรยายฉากการสูญเสียอันน่ารันทด
วีรกรรมอันห้าวหาญในครั้งนั้นทำให้ พ.จ.อ.แก้ว ได้รับ "เหรียญชัยสมรภูมิ" เช่นเดียวลูกประดู่บนเรือทั้งหมด
จากนั้น พ.จ.อ.แก้ว ได้กลับมารับราชการทหารเรือต่อ ณ กองต่อสู้อากาศยาน และมีส่วนสำคัญในการต่อสู้ปกป้องอธิปไตยไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกหลายครั้ง กระทั่งเกษียณอายุราชการอย่างสมภาคภูมิ
งานรำลึกสดุดีวีรชนของกองทัพเรือ ถ้าไม่เจ็บไข้ได้ป่วยจนมาไม่ได้จริงๆ พ.จ.อ.แก้ว จะไม่เคยพลาดแม้แต่ครั้งเดียวและรู้สึกภาคภูมิใจทุกครั้ง เพราะกองทัพเรือจะต้อนรับอย่างอบอุ่นอยู่เสมอ
ส่วนสมรภูมิเกาะช้างนั้น พ.จ.อ.แก้ว ก็มีโอกาสกลับไปเยือนหลายครั้ง ส่วนใหญ่จะไปในฐานะวิทยาการ หรือ "ตำนานที่มีชีวิต" เพื่อบอกเล่าให้คนรุ่นหลังทราบว่าบรรพบุรุษของเราเสียสละเช่นไรบ้าง
ความภาคภูมิใจอีกอย่างก็คือ บุตรชายทั้ง 2 คนของท่านได้เลือกที่จะเจริญตามรอยพ่อด้วยการเข้ารับราชการทหารเรือ บุตรคนโต คือ น.ท.สมชาย เจริญสุข (เกษียณอายุราชการไปแล้ว) ส่วนคนรอง คือ น.อ.ปรีชา เจริญสุข (59 ปี) ขณะนี้ประจำการอยู่ ณ ป้อมพระจุลจอมเกล้า
ความสุขในวันนี้ของ พ.จ.อ.แก้ว จึงอยู่ที่การเฝ้าดูการเติบโตของบุตรหลานด้วยความชื่นชม และหวังว่าทุกคนจะกตัญญูกตเวทีต่อผืนแผ่นดินเกิดเช่นเดียวกับบรรพบุรุษไทยในอดีต
วันเวลาที่ล่วงไป ทำให้วันนี้ตำนานที่มีชีวิตบนเรือหลวงธนบุรี เหลือเพียง 4 คน แต่ปีนี้อีก 3 คนที่เหลือไม่สามารถเดินทางมาร่วมงานได้ เพราะติดปัญหาด้านสุขภาพ
ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่า งานสดุดีวีรชนปีหน้าจะหลงเหลือตำนานที่มีชีวิตอีกกี่ท่าน แต่ตำนานวีรกรรมอันเสียสละและห้าวหาญของท่านจะติดตรึงอยู่ในใจของเยาวชนคนรุ่นหลังสืบไปอีกนานเท่านาน...
*******************************************
(ล้อมกรอบ)
ผบ.ร.ร.นายเรือ สืบปณิธานบรรพชน
ร.ล.ธนบุรี อนุสรณ์เตือนใจคนรุ่นหลัง
"เรือหลวงธนบุรีเป็นอนุสรณ์แด่ชนรุ่นหลังเพื่อให้รู้ว่า บรรพบุรุษของเรายอมสละแม้ชีวิตเพื่อปกป้องอธิปไตย เราจึงอยากให้เขายึดถือเอาเป็นแบบอย่างเพื่อให้เขาปกปักรักษาชาติไว้สืบไป"
พล.ร.ท.อภิชาติ เพ็งศรีทอง ผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรือ (ผบ.ร.ร.นายเรือ) กล่าวถึงความมุ่งหมายอันสำคัญของสถาบันแห่งนี้ได้อย่างกินใจ
พล.ร.ท.อภิชาติ ย้ำว่า โรงเรียนนายเรือซึ่งเป็นสถาบันผลิตนักเรียนนายเรือ ซึ่งถือเป็น "รากแก้ว" ของกองทัพเรือ เพราะพวกเขาจะเติบโตเป็นผู้นำกองทัพในอนาคต และนอกจากจะมุ่งปลูกฝังความรู้ทางวิชาการอย่างเข้มข้นทั้งในระดับ ป.ตรี-โท-เอก แล้ว โรงเรียนนายเรือยังมุ่งมั่นที่จะปลูกฝังความเป็นทหารเพิ่มเข้าไปด้วย
"เราจะสร้างเหล็กเข้าไปในตัวคนให้แข็งแกร่งกว่าเหล็กในเรือ" ผบ.ร.ร.นายเรือ ย้ำถึงปณิธานสูงสุดของสถาบันแห่งนี้
ทว่าในกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งโลกกำลังหมุนไปอย่างรวดเร็ว ลำพังจิตวิญญาณอันห้าวหาญคงไม่เพียงพอต่อการรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่
แต่เขาก็มั่นใจว่า เรื่องคุณภาพการเรียนการสอนไม่ต้องเป็นห่วง เพราะสถาบันส่งนักเรียนและคณาจารย์ออกไปหาความรู้เพิ่มเติมเสมอในสาขาวิชาการต่างๆ เช่น วิศกรรมไฟฟ้า อุทกศาสตร์ บริหารศาสตร์ ฯลฯ จึงอุ่นใจได้ว่า เราพร้อมที่จะรับความเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี
อาคม ไชยศร |