โครงการ JSF หลังจากลุ้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด ถึงวันนี้ โครงการได้ผ่าน milestone สำคัญไปแล้ว นั้นคือการขึ้นบินเที่ยวแรกของ F-35 AA-1 ซึ่ง F-35 จะเป็นกำลังหลักของกองทัพสหรัฐและชาติพันธมิตรทั่วโลก
สำหรับไทยเอง ซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดของสหรัฐ ก็มีความต้องการ F-35 ในอนาคต บทความนี้จะพูดถึงความเป็นไปได้และแนวทางในการเข้าประจำการของ F-35 ในกองทัพอากาศและกองทัพเรือไทยครับ
เชิญทุกท่านติดตามครับ
รู้จักกับโครงการ JSF
โครงการ JSF (Joint Strike Fighter) เป็นโครงการผลิตเครื่องบินรบร่วมของสามเหล่าทัพของสหรัฐคือ กองทัพอากาศ (USAF), กองทัพเรือ (USN) และนาวิกโยธิน (USMC) ซึ่งโครงการมุ่งหวังที่จะสร้างเครื่องบินแบบเดียวที่ผลิตตอบสนองกับความต้องการของทั้งสามเหล่าทัพและชาติพันธมิตรได้ โดยได้เชิญชาติพันธมิตรอื่น ๆ เข้าร่วมลงขันทางการเงินและการพัฒนา ตลอดจนการผลิตด้วย โดยตัวเครื่องบินจะมีทั้งหมด 3 รุ่นคือ F-35A สำหรับกองทัพอากาศ, F-35B รุ่นขึ้นลงทางดิ่งสำหรับนาวิกโยธิน, และ F-35C รุ่นใช้ทางบนเรือบรรทุกเครื่องบินสำหรับกองทัพเรือ
ซึ่งในอนาคตข้างหน้า F-35 Lightening II จะเป็นกำลังหลักของสหรัฐและชาติพันธมิตรไปอีกอย่างน้อย 40 ปี
ใครจะมีสิทธิ์ซื้อ F-35 บ้าง
ในเบื้องต้น คำสั่งซื้อของ F-35 จะสงวนไว้เฉพาะกลุ่มประเทศที่เข้าร่วมโครงการ นั่นคือสหรัฐ สหราชอาณาจักร เนเธอแลนด์ แคนนาดา เดนมาร์ก ตุรกี ออสเตรเลีย นอร์เวย์ และผู้ที่จ่ายเงินเพื่อเข้าร่วมสังเกตุการคือ อิสราเอลและสิงคโปร์ โดยกะประมาณการคร่าว ๆ จากความเห็นผมว่ากลุ่มประเทศเหล่านี้มีความต้องการเครื่องรวมกันทั้งหมดประมาณ 1,500 - 2,000 ลำ ในกรณีที่ทุกประเทศที่เข้าร่วมโครงการตัดสินใจซื้อ F-35 เข้าประจำการ
[เกร็ด: ออสเตรเลียเคยส่งตัวแทนมาที่กองทัพอากาศไทยเพื่อขอเชิญเข้าร่วมโครงการ JSF ด้วย แต่ไทยไม่ได้เข้าร่วมด้วยเหตุผลด้านงบประมาณที่ต้องใช้ค่อนข้างสูง]
ทำไมต้องจำกัดการขาย?
ตัวผมลองคิด ๆ ดูถึงสาเหตุของการจำกัดการขายไว้ดังนี้ (ความเห็นส่วนตัว)
1. JSF เป็นโครงการใหญ่ที่มีประเทศเข้าร่วมมาก ดังนั้นสหรัฐน่าจะจำกัดการขายให้กับประเทศที่สหรัฐ "ไว้ใจได้" โดยวัดกันที่การเข้าร่วมโครงการ (ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าประเทศอื่น ๆ ไว้ใจไม่ได้) ซึ่งประเทศเหล่านี้สหรัฐก็คงคิดแล้วว่าสามารถรับเทคโนโลยีของตนเอาไว้ได้โดยไม่ตกไปอยู่กับมือคู่แข่ง และมีความสามารถในการใช้งานสูง
2. สหรัฐ น่าจะต้องการจัดลำดับความสำคัญของประเทศที่มีสิทธิได้รับ F-35 นั้นคือ กลุ่มประเทศที่ลงขันกับโครงการก็ควรมีลำดับความสำคัญมากกว่ากลุ่มประเทศที่ไม่ได้ร่วมลงขัน ทำให้ในระยะแรกต้องขายให้ประเทศที่เข้าร่วมโครงการเท่านั้น เพื่อให้แน่ใจว่าเงินที่จ่ายไปจะออกมาเป็นเครื่องบินได้โดยที่ไม่ต้องรอนาน
แล้วประเทศอื่นล่ะ?
ตัวผม (ให้ตาย) ก็ไม่เชื่อว่าสหรัฐจะจำกัดการขายอยู่แค่ในประเทศข้างต้น เพราะ อาวุธสมัยนี้มันเหมือนสินค้าชนิดหนึ่ง ที่ต้องมีการทำตลาด และมีการแย่งตลาด ถ้าสหรัฐมามัวแต่เล่นตัว ยุโรป รัสเซีย และจีนก็คงคว้าส่วนแบ่งทางการตลาดไป อีกประการหนึ่งก็คือ ยิ่งมีผู้ซื้อมาก ราคายิ่งถูกลง (แบบ F-22 ที่ต้องหาผู้ซื้อรายอื่นเพื่อลดราคาค่าตัวลง) ฉะนั้นผมคิดว่าเราแน่ใจได้เลยว่ากองทัพอากาศอื่น ๆ จะได้รับเครื่องแน่นอน แต่คงต้องช้าหน่อยเท่านั้น
แต่ทั้งนี้ ผู้ซื้ออื่น ๆ ที่ไม่ใช่สหรัฐ คงจะไม่สามารถซื้อเครื่องที่มีความสามารถเท่ากับที่ประจำการอยู่ในสหรัฐได้ ซึ่งในปัจจุบันทางสหรัฐกำลังพูดถึง F-35 Export Version กันอยู่ ซึ่งมองจากคำพูดของเจ้าหน้าที่ที่ให้สัมภาษณ์สื่อโดยหลัก ๆ แล้ว Export Version จะมีรูปร่างหน้าตาเหมือนกับรุ่นที่ใช้ในสหรัฐ (Airframe เหมือนกัน) แต่สิ่งที่จะลดลงมานั่นก็คือ "คุณสมบัติ Stealth" ซึ่งน่าจะเป็นที่แน่นอนแล้วว่า Export Version นั้นจะมีคุณสมบัติ Stealth น้อยกว่ารุ่นที่ประจำการในสหรัฐ เนื่องจากเทคโนโลยี Stealth นั้นถือเป็นความลับขั้นสูงสุดของสหรัฐเอง และการขายเครื่องบินที่มีเทคโนโลยี Stealth แบบเต็มขั้นนั้นก็มีความเสี่ยงที่ตัวเทคโนโลยีอาจจะตกไปในมือของต่างชาติหรือศัตรูของสหรัฐ (เช่น อิสราเอลอาจจะแกะเทคโนโลยีนี้และขายให้กับจีน)
ยังมีความสงสัยอยู่ว่า F-35 Export Version นั้นจะขายให้กับเฉพาะประเทศนอกโครงการ หรือว่าไม่ว่าจะเป็นประเทศไหน ก็ต้องซื้อ Export Version แม้แต่กลุ่มประเทศที่เข้าร่วมโครงการก็ตาม
กองทัพอากาศไทยและกองทัพเรือไทย
การผลิต F-35 แบบเต็มขั้นน่าจะเริ่มได้ประมาณปี 2009 - 2010 โดยมีกำหนดการการเข้าประจำการคือประมาณปี 2011
ซึ่งหมายความว่าคิวการผลิตทั้ง order จากสหรัฐและ order จากต่างประเทศที่เข้าร่วมโครงการน่าจะทำให้ต้องผลิตต่อเนื่องยาวไปจนถึงปี 2015 - 2020 กว่าที่กองทัพอื่นๆ จะสามารถสั่งซื้อได้ (ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าสหรัฐจะอนุญาตให้ประเทศนอกโครงการซื้อในปีใดด้วย)
ในเมื่อเป็นอย่างนี้ กองทัพอากาศไทยซึ่งประกาศไว้อย่างชัดเจนแล้วว่าต้องการซื้อ F-35 เป็นบข. 2x แน่นอน คงต้องรอกันยาว ซึ่งเครื่องที่หลงเหลือไปจนถึงวันนั้นก็คงมีไม่มากแน่นอน ทำให้จำเป้นต้องมีการเตรียมการเพื่อที่จะไปให้ถึงวันนัน....
คราวนี้ เราจะสมมุติว่า ในวันหนึ่งในปี 2020 กองทัพอากาศไทยมีเงินเพียงพอและสั่งซื้อ F-35 ได้ ผมจะลองมองกว้าง ๆ ว่าเราจำเป็นต้องเตรียมการอะไรเอาไว้บ้างเพื่อรอ F-35 อย่างคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ยังคงความพร้อมรบเอาไว้อยู่ครับ
การเตรียมการไปสู่ F-35
เราจะว่ากันเฉพาะเครื่องบินขับไล่ ซึ่งกว่าจะถึงวันนั้น F-5 ทั้งหมดเราจะหาชมได้ในพิพิธภัณฑ์ของทอ.เท่านั้น วันนั้นเราจะเหลือ F-16 ทั้ง 3 ฝูง และบ.ข. 20 (เครื่องบินขับไล่ฝูงใหม่ในสามแบบนี้ Su-30, Gripen, F-16 C/D) ที่จะซื้อใหม่ 1 ฝูง
มาดุเฉพาะ F-16 ปัจจุบันทอ.ส่ง F-16 ทั้งหมดเข้ารับการปรับปรุงในโครงการ Falcon Up และ (อาจจะ) Falcon Star ซึ่งเป็นการปรับปรุงเฉพาะโครงสร้างให้มีอายุยืนนานต่อไปได้อีกประมาณ 15 - 20 ปี
แต่ทั้งนี้ การปรับปรุงแค่นี้ไม่น่าจะเพียงพอ เนื่องด้วยนับวันเทคโนโลยียิ่งจะทิ้งห่าง F-16A/B ของเราไปทุกที ๆ ....
ทำให้ผมคิดว่าทอ.น่าจะต้องส่ง F-16 อย่างน้อย 1 ฝูง เข้าโครงการ MLU (Mid-Life Upgrade) ซึ่งเป็นการปรับปรุงระบบ Avionic และระบบอาวุธต่าง ๆ ของ F-16 รุ่นเก่าให้สามารถรองรับภัยคุกคามสมัยใหม่ ๆ ได้ โดยฝูงที่น่าจะปรับปรุงก็คือฝูง 403 นั้นเอง
หันมาดู F-5 ที่ (สมมุติว่า) ปลดไปแล้วบ้างครับ เนื่องด้วยทอ.จำเป็นต้องมีเครื่องบินขับไล่ขั้นต่ำจำนวน 5 ฝูง แต่ F-5 ถูกปลดไป 2 ฝูง (ในอนาคต) จะทำให้กำลังรบหายไปเกือบครึ่ง ทอ.จำเป็นต้องมองหาเครื่องบินรบแบบใหม่มาอุดช่องว่างก่อนที่จะได้รับ F-35 ซึ่งก็คือโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่แบบที่ 20 (บ.ข.20) ที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบันนี้แหละครับ ไม่ว่าจะเป็น Su-30, Gripen, หรือ F-16 C/D อย่างน้อยที่สุด 1 ฝูงเพื่อแทน F-5 จำนวน 2 ฝูง
ทำให้กำลังรบก่อนที่จะได้รับ F-35 น่าจะประกอบไปด้วย F-16 ADF 1 ฝูง F-16 MLU 1 หรือ 2 ฝูง บ.ข.20 1 ฝูง รวม 4 ฝูง
ปล. L-39 กับ Alphajet ก็คงบ๊าย ๆ ไปด้วยแล้ว และคงถูกแทนด้วยเครื่องขับไล่ฝึกแบบใหม่ล่ะครับ
สรุป
จะได้ F-35 หรือไม่ ก็ต้องขึ่นอยู่กับหลายๆ เงื่อนไข ทั้งเงินและการเมือง (เช่นถ้าตอนนั้นมีรัฐประหารก็เซ็งไปเลย)
รอแล้วกันครับ ผมก็หวังว่าวันหนึ่งในปี 2565 จะได้มีโอกาสจูงลูก (อุ๊ย แฟนยังไม่มีเลย กรรม) ไปชม F-35 ในวันเด็กที่ดอนเมืองบ้าง เหอ ๆ
สหรับวันนี้ คิดที่จะเขียนไม่ออกแล้วครับ ขอจบเพียงเท่านี้ครับ