หน้าแรก    ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบคำถาม    เข้าสู่ระบบ      


........เวียดนามฉลุย WTO เข้าเกียร์แซงหน้าไทย!?......

โดยคุณ : Terminator เมื่อวันที่ : 12/01/2007 00:13:28

เวียดนามฉลุย WTO เข้าเกียร์แซงหน้าไทย!?

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 11 มกราคม 2550 21:33 น.

เวียดนามได้เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) อย่างสมบูรณ์แล้วในวันพฤหัสบดี (11 ม.ค.) หลังจากใช้ความพยายามมานานกว่า 11 ปี

แน่นอนการได้เป็นประเทศสมาชิกอันดับที่ 150 ของประชาคมการค้าโลก ย่อมมีความหมายสำคัญสำหรับประเทศนี้ และ ก็มีคำถามดังๆ ขึ้นมาว่า เวียดนามกำลังจะก้าวล้ำหน้าแซงประเทศไทยในทางเศรษฐกิจใช่หรือไม่?

** เวียดนามกำลังจะเจริญกว่าประเทศไทยใช่ไหม? **

ไม่ว่าคำตอบจะเป็นอย่างไร ความสำเร็จที่โดดเด่นประการหนึ่งก็คือ การที่คอมมิวนิสต์เวียดนามสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้อย่างมากมาย และ เรากำลังเผชิญกับความจริงที่ว่าวันนี้มีต่างชาติเข้าไปลงทุนในเวียดนามมากกว่าเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

แน่นอนสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นการสูญเสียของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ การเสียโอกาส

ในปี 2549 ที่ผ่านมาเรียกได้ว่าเวียดนาม "เฮงแล้วเฮงอีก" เฮงแบบ 3-4 เด้ง

ตัวเฮงที่สำคัญมากก็คือ การที่ยังสามารถรักษาตำแหน่ง ประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตสูงเป็นอันดับ 2 ในทวีปเอเชียเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น เวียดนามเป็นรองแค่ประเทศจีนเท่านั้น

หลายปีมานี้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตเฉลี่ยปีละ 7.5% ปีที่แล้วตัวเลขเป็น 8.1% ต่ำกว่าเป้าเล็กน้อยเพราะความผันผวนด้านในเรื่องราคาน้ำมันดิบโลก และ ยังถูกไต้ฝุ่นเล่นงานหนักๆ ถึง 3 ลูก

ส่วนปี 2550 นี้ เวียดนามวางเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจเอาไว้ที่ 8.2-8.5%

ลองมาดูความเฮงอันเป็นภาพรวมที่สำคัญกันบ้าง :

1. การลงทุนของต่างชาติในปี 2549 ทะลุ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไม่คาดไม่ฝัน ทั้งๆ ที่ตั้งเป้าเอาไว้เพียง 6,500 ล้านดอลลาร์ สูงกว่าปี 2548 ที่ทำได้เพียง 6,200 ล้านดอลลาร์

ในปี 2547 ตัวเลขการลงทุนของต่างชาติคิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในปี 2548-2549 สัดส่วนเงินลงทุนของต่างชาติในจีดีพีของเวียดนามย่อมจะสูงกว่านั้นอย่างมากมาย

2. การส่งออกดีวันดีคืน ประเทศนี้ส่งออกน้ำมันดิบมากเป็นอันดับ 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซียและมาเลเซียโดยแซงหน้าประเทศบรูไนมาหลายปีแล้ว

การส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมันดิบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าการเกษตรก็สูงขึ้นทุกตัว ยกเว้นข้าวที่ส่งออกได้น้อยลงในปีที่ผ่านมา เพราะความต้องการใช้บริโภคในประเทศสูงขึ้น อันเนื่องมาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ถึงกระนั้นเวียดนามก็ยังเป็นรองแชมป์ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก คือเป็นรองจากประเทศไทยเท่านั้น

เวียดนามยังได้กลายเป็นประเทศส่งออกกาแฟรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศบราซิล และ เมื่อปีที่แล้วก็เป็นปีแรกที่มูลค่าส่งสินค้ารายการนี้พุ่งทะลุ 1,000 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป เช่นเดียวกันกับการส่งออกยางพาราที่มีมูลค่าถึง 1,300 ล้านดอลลาร์

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งเสื้อผ้าสำเร็จรูปกับเครื่องนุ่งห่ม ต้องเรียกว่าไปโลด อีกเช่นกัน โดยมีตลาดใหญ่ที่สหรัฐฯ กับสหภาพยุโรป

การส่งออกรองเท้าปีที่แล้วเจออุปสรรคใหญ่ เวียดนามถูกอีซีกล่าวหาว่าทุ่มตลาดและโดนมาตรการตอบโต้ แต่ตัวเลขส่งออกสินค้าหมวดนี้ก็ยังเพิ่มขึ้น

3. เมื่อปีที่แล้วตลาดทุนเวียดนามเติบโตรวดเร็วมาก ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์นครโฮจิมินห์ซึ่งเป็น "ตลาดหุ้น" แห่งแรกของประเทศ ขยายตัวกว่า 160% ตอนสิ้นปี เทียบกับตอนเริ่มปีใหม่

ต้นปี 2549 ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์โฮจิมินห์ มีบริษัทจดทะเบียนเพียง 43 แห่ง ถึงสิ้นปีได้เพิ่มขึ้นเป็น 70 แห่ง มูลค่ารวมของตลาดเพิ่มขึ้นแบบทุบทุกสถิติ ที่ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ฮานอยก็ไม่ได้แตกต่างกัน

ดัชนีหุ้นเวียดนาม (VN Index) ได้พุ่งขึ้นทำสถิติใหม่ๆ เกือบจะทุกวันนับตั้งแต่เปิดทำการวันแรกในปีนี้ ดัชนีปิดลงที่ 865 จุดเมื่อวันพุธ (10 ม.ค.) เทียบกับ 809 จุด ที่ทำเอาไว้ก่อนสิ้นปี 2549

รัฐบาลได้ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วจะนำธนาคารของรัฐ 4 แห่งเข้าจดทะเบียนในตลาดตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปจนถึงปี 2553 รวมทั้งธนาคารเวียดนามคอม (Vietcombank) หรือ Bank of Indochina แห่งอดีต ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ

ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐวิสาหกิจกับบริษัทของรัฐรวม 71 แห่งที่จะเข้าจดทะเบียนในช่างปีเดียวกันนี้ ในนั้นมีบริษัทสายการบยินแห่งชาติ คือ เวียดนามแอร์ไลนส์รวมอยู่ด้วย

ตลาดทุนเวียดนามก็จึงมีแต่ข่าวดีตลอด ดัชนีตลาดก็จึงทะยานตลอดเหมือนกระทิงบ้า

** เวียดนามกำลังจะแซงหน้าประเทศไทยแล้วหรือ? **

หลายคนเชื่อว่าไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น อย่างน้อยก็ยังจะไม่ใช่ในอีก 3-5 ปีข้างหน้านี้ เมื่อวัดกันด้วยปัจจัยและปรากฏการณ์ด้านเศรษฐกิจที่ว่ามาแล้วทั้งหมด ด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น

1. แม้ว่าในวันนี้มูลค่าการลงทุนของต่างชาติในไทยจะเบาบางลง แต่การลงทุนที่นี่ก็เป็นแบบลงหลักปักฐานแน่นหนาแล้ว มีการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ผลผลิตออกมาก็ดีกว่าทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ

ส่วนบริษัทต่างชาติในเวียดนามจะต้องใช้เวลาอีกนานหลายปี กว่าจะถึงจุดที่ประเทศไทยได้มาถึงแล้ว ณ วันนี้

2. จีดีพีของเวียดนามอาจจะขยายตัวในอัตราสูงมากก็จริง แต่มูลค่ารวม หรือที่เรียกกันว่า "ขนาดของเศรษฐกิจ" (Economics Size) ยังน้อยนิดเมื่อเทียบกับประเทศไทย

. การส่งออกของเวียดนามเติบโตในอัตราสูงมากคือ ปีละกว่า 20% (ปีที่แล้ว 22%) แต่มูลค่าการส่งออกรวมก็ยังเทียบกับของไทยไม่ได้ สินค้าออกเกือบจะทุกรายการมูลค่ายังห่างกันแบบคนละชั้น หากเวียดนามส่งออกได้สักพันล้าน ไทยก็จะส่งออกได้ถึงห้าหรือหกพันล้าน หรือ หมื่นล้าน เป็นต้น

ทั้งนี้ยกเว้นน้ำมันดิบที่เป็นตัวชูโรงในรายการสินค้าส่งออกของเวียดนาม ซึ่งประเทศไทยไม่มี ปีที่แล้วมูลค่าส่งออกน้ำมันดิบของเวียดนามสูงกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์ เพราะราคาตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นแม้ว่าจะลดปริมาณการส่งออกก็ตาม

4. ตลาดหุ้นโฮจิมินห์เพิ่งตั้งมา 6 ปี แม้จะได้ทำสถิติเป็นตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก แต่ยังไม่มีอะไรเทียบเคียงกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่พัฒนามาก่อนถึง 30 ปีได้ ทั้งในด้านบริษัทจดทะเบียน มูลค่ารวมของตลาด และ คุณภาพของการลงทุน

การพัฒนาตลาดทุนในประเทศต่างๆ จะต้องใช้เวลานานหลายสิบปี ต้องผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านทั้งวิกฤตและโอกาสมากมายพอสมควร จึงจะเข้าที่เข้าทาง นี่ก็เป็นความจริงที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้ว

ความสำเร็จทางเศรษฐกิจของไทยใช้เวลาสั่งสมมานาน 30-40 ปี แต่เวียดนามเพิ่งจะ "เปิดประเทศ" เมื่อปี 2529 เปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมรัฐอุปถัมภ์ ไปเป็นเศรษฐกิจแบบตลาด (Market Economy) แต่กว่าจะตั้งลำได้ก็ในอีก 10 ปีต่อมา จึงยังเทียบไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม เวียดนามโตเร็ว ไปเร็วและแรงมาก อย่างที่หลายๆ คนกล่าว

สิ่งหนึ่งที่มีความโดดเด่นมากก็คือ รัฐบาลกับพรรคคอมมิวนิสต์ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศให้ไปสู่ความทันสมัย มีนโยบาย มีเป้าหมาย และ ระยะเวลาที่ชัดเจนในเรื่องนี้ ดังจะเห็นได้จาการทุ่มทุน ยอมกู้หนี้ยืมสินเป็นเงินมหาศาล และระดมความช่วยเหลือจากทุกทิศทุกทาง เข้าสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ

เวียดนามเริ่มปรับทิศปรับทางการลงทุนของต่างชาติ จากที่เคยส่งเสริมให้เข้าลงทุนผลิตสินค้าเพื่อส่งออกอย่างเดียว ทางการยังได้หันไปส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างต่างๆ ภายในประเทศด้วย

จากที่เคยส่งเสริมการลงทุนแบบเหวี่ยงแห ก็เริ่มมีเป้าหมายเด่นชัดมากขึ้น มีการจัดลำดับความสำคัญของแขนงการลงทุน แยกแยะอุตสาหกรรมทั่วไป กับอุตสาหกรรมที่ประเทศต้องการอย่างเร่งด่วน ซึ่งนักลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์แตกต่างกันไป

จากที่เคยผลิตอาหาร เสื้อผ้า รองเท้า หรือ ผลิตสินค้าที่ใช้แรงงานมาก เวียดนามได้หันมาส่งเสริมการผลิตสินค้าเทคโนโลยีมี่ใช้ความรู้และภูมิปัญญาต่างๆ มากขึ้น เพื่อป้อนตลาดต่างประเทศ

เวียดนามประสบความสำเร็จมากทีเดียว ดังจะเห็นได้จากสามารถเอาชนะใจอินเทลคอร์ปอเรชัน (Intel Corp) ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลกได้

อินเทลประกาศในเดือน ก.พ. ปีที่แล้วเกี่ยวกับแผนการลงทุน 605 ล้านดอลลาร์ เพื่อก่อสร้างโรงงานออกแบบ ผลิตและทดสอบชิปแบบครบวงจรในนครโฮจิมินห์ พอถึงเดือน พ.ย.ก็ได้ประกาศขยายการลงทุนเป็นประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์

ผู้ผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องใช้อิเลกทรอนิกส์จากญี่ปุ่นจะเริ่มเข้าลงทุนในเวียดนามอย่างเป็นขบวนการในปีนี้ หลังจากมีการโหมโรงและบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งได้เข้าไปนำร่องเอาไว้เมื่อปีที่แล้ว

นักลงทุนชาวญี่ปุ่นได้เลือกเวียดนามเป็นปลายทางลงทุนแห่งที่ 2 ภายใต้แนวคิด ?จีน+หนึ่ง? (China plus One) ซึ่งหมายความว่า บริษัทใดจะขยายการลงทุนจากจีน เพื่อลดต้นทุน หรือ เฉลี่ยความเสี่ยงอะไรก็แล้วแต่ เป้าหมายก็จะเป็นเวียดนาม ไม่ใช่ที่อื่น

ส่วนอีกทางหนึ่งเวียดนามมีประชากรกว่า 63 ล้านคน ชาวเวียดนามโดยพื้นฐานได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่ขยันในการทำมาหากิน หนักเอาเบาสู้

พรรคคอมมิวนิสต์เอาใจใส่การพัฒนาการศึกษาของผู้คน สถิติผู้อ่านออกเขียนได้ในเวียดนามจึงสูงมากสูงเกือบจะ 100% สูงกว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วหลายแห่ง ที่มีอัตราการรู้หนังสือของประชากร 50-70% เท่านั้น

ประชากรเวียดนามกว่าครึ่งหนึ่งเป็นกลุ่มที่มีอายุ 20-40 ปี ที่นั่นจึงเป็นทั้งตลาดแรงงานสำคัญ และเป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ในขณะเดียวกัน

** ที่นั่นทำอะไรกันบ้าง? แซงหน้าประเทศไทยไปหรือยัง? **

กล่าวโดยสรุป เวียดนามกำลังเร่งพัฒนาทุกอย่างที่ประเทศไทยเริ่มมาตั้งแต่ 10-30 ปีก่อน บางอย่างในไทยดำเนินไปช้ามาก แต่ในเวียดนามไปได้เร็วมาก

กว่าจะเป็นสนามบินสุวรรณภูมิในวันนี้ต้องใช้เวลานานกว่า 30 ปี แต่เวียดนามใช้เวลาเพียง 1 ปีในการศึกษาโครงการสนามบินลองแท็ง (Long Thanh) ใน จ.ด่งนาย (Dong Nai)

เวียดนามได้ประกาศจะสร้างลองแท็งขึ้นมาแข่งกับปลายทางต่างๆ ในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นสุวรรณภูมิ ชางงีในสิงคโปร์ หรือ สนามบินกรุงกัวลาลัมเปอร์ เพื่อชิงความเป็นศูนย์กลางการบินพาณิชย์ โดยเป้าหมายจะรับผู้โดยสารได้ปีละประมาณ 100 ล้านคน ใหญ่โตกว่าสุวรรณภูมิเกือบเท่าตัวเลยทีเดียว

การเคลียร์พื้นที่ก่อสร้างสนามบินลองแท็งจะเริ่มลงมือในกลางปีนี้ ไม่ยากนักเนื่องจากที่แห่งนั้นมีสภาพคล้ายๆ กับสนามบินอูตะเภา คือเป็นฐานทัพอากาศเก่าของสหรัฐฯ ในเวียดนามภาคใต้ ที่ทำเอาไว้อย่างแน่นหนา

แต่คงจะใช้เวลาประมาณ 5 ปี จึงจะเปิดให้บริการเฟสที่ 1 ได้

อีกเรื่องหนึ่ง ประเทศไทยพูดถึงรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ หรือ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา มานานกว่า 10 ปี แต่เวียดนามกำลังจะก่อสร้างระบบรถไฟความเร็วสูงฮานอย-โฮจิมินห์ ความยาวกว่า 2,000 กิโลเมตร ในปีนี้

การก่อสร้างจะเริ่มขึ้นก่อนในช่วงฮานอย-เหงะอาน (Hanoi-Nghe An) คือ ระหว่างภาคเหนือกับภาคกลางตอนบน กับ ช่วงด่าหนัง-โฮจิมินห์ (Danang-Ho Chi Minh) ระหว่างภาคกลางตอนล่างกับภาคใต้ รวมความยาวทั้ง 2 ช่วง เกือบ 1,000 กิโลเมตร ช่วงอื่นๆ รวมทั้งส่วนต่อขยายต่างๆ จะดำเนินไปตลอด 5-10 ปีข้างหน้า

ในบ้านเรากำลังพูดถึงการประมูลการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ในเมืองหลวงอีก 5 โครงการ เพื่อจะเริ่มลงมือกันเสียที ในเวียดนามก็กำลังศึกษาโครงการขนส่งมวลชนระบบรางและระบบล้ออีกนับ 10 โครงการ

ในนั้นมี 2 โครงการเริ่มลงมือก่อสร้างแล้ว อีกจำนวนหนึ่งอยู่ระหว่างการเชิญชวนผู้ลงทุน

ในกรุงฮานอยเพิ่งมีการวางศิลาฤกษ์รถรางไฟฟ้าขนส่งมวลชน (Tramway) สายแรก ที่นั่นยังจะมีรถไฟฟ้าชุมชนรอบนอกอีก 1 โครงการ กับรถไฟลอยฟ้าขนส่งมวลชนอีก 1 โครงการจากใจกลางเมืองหลวง

ส่วนในนครโฮจิมินห์ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภาคใต้ของประเทศเต็มไปด้วยโครงการพัฒนาต่างๆ รวมทั้งการขยายตัวเมืองออกสู่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำไซ่ง่อน จึงต้องมีการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่รองรับ

นครโฮจิมินห์เพิ่งประกาศเชิญชวนนักลงทุน เข้าร่วมโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเดี่ยวความเร็วสูง (Hi-Speed Monorail) สายแรกจากทั้งหมด 3 สาย

การก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินเฟสแรกจำนวน 2 สายจากทั้งหมด 6 สายก็จะเริ่มขึ้นในปีนี้เช่นเดียวกัน

ในกรุงเทพฯ กำลังจะมีรถบัสโดยสารขนส่งมวลชน ที่เรียกว่า BRT (Bus Rapid Transit) สายแรก ในนครโฮจิมินห์ก็มีกำหนดลงมือสร้าง BRT สายแรกในปีนี้เช่นเดียวกัน

นักวิเคราะห์ทุกค่ายมองตรงกันว่า เหตุผลที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติแห่งเข้าสู่เวียดนามนั้นมีอยู่เพียงแค่ 2-3 ประการ สูงสุดในนั้นคือ เวียดนามมีความมั่นคงทางการเมืองสูงมาก และ ทางการมีนโยบายการลงทุนที่ชัดเจน หนักแน่นและมั่นคง

นอกจากนั้นรัฐบาลยังเอาใจใส่และมีมาตรการเฉียบขาดในการปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวง ที่เคยเป็นปัจจัยเพิ่มต้นทุน และ เตะหน่วงการลงทุนของต่างชาติ

ปัจจัยสำคัญต่อมาก็คือ เวียดนามมีตลาดแรงงานที่ใหญ่โตมาก ค่าแรงยังไม่สูงมาก และที่นั่นก็เป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่อย่างที่กล่าวมาแล้ว

การเข้าเป็นสมาชิก WTO ในวันที่ 11 ม.ค. นี้ เป็นการเปิดศักราชใหม่สำหรับเวียดนามในการเข้าร่วมกับประชาคมการค้าโลก ในนั้นมีทั้งโอกาสและอุปสรรค ซึ่งอันหลังมักจะเรียกกันอย่างสวยหรูว่า "ความท้าทาย"

เวียดนามกำลังจะมีตลาดส่งออกสินค้าที่ใหญ่โตและกว้างไกลกว่าเก่าอีกหลายเท่าตัว ไม่มีโควตา ไม่มีขีดจำกัด แต่ที่สำคัญก็คือจะต้องไปให้ถึง

ขณะเดียวกันภายใต้พันธสัญญาที่ให้ไว้ เวียดนามจะต้องเปิดตลาด เปิดแขนงเศรษฐกิจสำคัญต่างๆ ที่เคยปิดตายมาตลอด เพื่อให้ต่างชาติสามารถเข้าไปแข่งขันได้

สำหรับประเทศสมารชิกใหม่ การแข่งขันที่รุนแรงอาจจะเริ่มต้นใน 3-5 ปีข้างหน้าโน้น แต่ที่สำคัญก็คือ เวียดนามจะต้องแข่งขันให้ได้ เช่นที่ประเทศไทยกำลังพยายามอยู่กระทั่งทุกวันนี้

เวียดนามจะแซงหน้าประเทศไทยหรือไม่? คนไทยทุกคนจะต้องช่วยกันตอบคำถามนี้.