หน้าแรก    ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบคำถาม    เข้าสู่ระบบ      


เสียเงินไปเท่าไหร่ - ผลเป็นอย่างไร? ป.ป.ช.ขอคำตอบจากเก้าอี้ดีด ALPHA JET

โดยคุณ : Hisky เมื่อวันที่ : 05/01/2007 22:14:33

เรียนท่านสมาชิกผมนำมาเสนอเพื่อรับทราบข้อมูล มิได้เจตนากล่าว หา หรือพาดพิงทางการเมือง

ที่มา:http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9500000000799

เสียเงินไปเท่าไหร่ - ผลเป็นอย่างไร? ป.ป.ช.ขอคำตอบจากเก้าอี้ดีด ALPHA JET
โดย สปาย หมายเลขหก 4 มกราคม 2550 17:15 น.
       ในความเป็นมาของการตกเบ็ดกุ้งได้กุ้ง และกุ้งมันใช้ก้ามหนีบปลาติดมาได้อีกตัวหนึ่งนั้น เป็นรายละเอียดของ คตส.กับ ป.ป.ช.ที่จะไม่นำมากล่าวซ้ำอีก แต่สิ่งที่ได้รายงานไปแล้วนั้น โดยเฉพาะในฉบับวันศุกร์ที่ 29 ธันวาคม ของปีที่แล้ว มีประเด็นที่ต้องตามให้ติดเกี่ยวกับเรื่องของเก้าอี้ดีดของนักบินในเครื่องบินอัลฟ่า เจ็ต (ALPHA JET) หรือ บ.จ. 7 ซึ่งประจำการอยู่กองบิน 23 จังหวัดอุดรธานี ซึ่งจะต้องเข้าถึงความลึก-ความลับให้มากกว่านั้น เพราะเป็นงานที่เป็นของทหารเกี่ยวกับยุทโธปกรณ์ ที่นานๆ จึงจะมีเรื่องอย่างนี้เข้าสู่ ป.ป.ช.สักเรื่องหนึ่ง
       
        การสอบในท่วงทำนองอย่างนี้ เป็นเรื่องยากลำบากกว่าการสอบด้านอื่นๆ เพราะหนึ่ง-เป็นเรื่องของทหาร, สอง-เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความลับที่เกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งมีอยู่หลายระดับ, สาม-ถ้าหากว่าไม่สามารถจะหาข้อยุติได้ว่าเป็นความลับในระดับใด ก็ได้ย้อนกลับไปพิจารณาข้อที่หนึ่ง
       
        มีเสียงสะท้อนเข้ามาทาง นสพ.ผู้จัดการรายวัน ว่า ที่ ?ขึ้นหัวเรื่อง? ว่า ?ฝูงบินอิติปิโสภควา? นั้น นอกจากจะทำให้ฮา เรื่องเครียดๆ ที่แข็ง-ลึกและลับ พอจะคลายลงได้บ้างเพราะให้เกิดความลึกซึ้งในความหมายของอิติปิโสภควานั้น ว่านักบินอัลฟ่า เจ็ต ต้องสรรเสริญพระพุทธคุณเอามาเป็นเครื่องคุ้มครองตัวก่อนจะขึ้นบินในสภาพที่อุปกรณ์สำหรับการบิน การช่วยชีวิตไม่มั่นใจเต็ม 100% คือต้องสวดมนต์ที่สามารถสวดได้ด้วยตัวเองจะดีกว่า-ดีกว่า มีพระมาสวดให้!
       
        การดีดตัวออกจากเครื่องบินรบที่ประสบอันตราย นักบินต้องสละเครื่องให้โหม่งโลกแต่ตัวเองออกมาจากเครื่องได้ก่อน พร้อมกับเก้าอี้ดีดนั้น คือ อีเจ็คชั่น (EJECTION) เมื่อเก้าอี้ดีดออกมาจากเครื่องบินพร้อมกับตัวนักบิน แล้วร่มชูชีพจะทำงานพาลอยลงพื้นได้อย่างปลอดภัย แต่ในการอีเจ็คชั่นออกมาจากเครื่องบิน จะต้องมีลำดับการปฏิบัติ หนึ่ง-สอง-สาม-สี่ และท่าทางของการนั่ง ลักษณะท่าทางของเครื่องบิน ความเร็ว ความสูง แรงลม ซึ่งก็เป็นอันตรายทั้งสิ้น แต่อันตรายอย่างที่สุด คือโอกาสของทางรอดสุดท้าย คือให้อีเจ็คชั่นออกมาจากเครื่องบินได้ก่อน คือจะต้องดีดแล้วออกพ้นจากฝาครอบเครื่อง เพราะถ้าดีดไม่ออก ก็แล้วแต่ กุสรา ธัมมา
       
        มีความเป็นจริง และยังเป็นอยู่ในเก้าอี้ดีดของเครื่องบินอัลฟ่า เจ็ต คือ รุ่น SIIIS 3AJ สร้างโดย บริษัท STENCEL-UPCO ที่มีการเปลี่ยนมือเจ้าของไปแล้ว 3 ครั้ง และเวลานี้มาเป็นของ บริษัท GOOD RICH บริษัทผู้สร้างเครื่องบินอัลฟ่า เจ็ต ได้เลือกเก้าอี้ดีดรุ่นนี้ เฉพาะในส่วนของกองทัพอากาศเยอรมนีเท่านั้น ส่วนที่ผลิตให้กองทัพอากาศประเทศอื่นๆ เช่น เบลเยียม ฝรั่งเศส อียิปต์ เขาเลือกให้ใช้เก้าอี้ยี่ห้ออื่น แต่ในสหรัฐอเมริกาก็มีเก้าอี้ดีด SIIIS 3AJ นี้ ใช้กับเครื่องบินของกองบินนาวิกโยธิน คือเครื่องบินขึ้นลงทางดิ่ง ?แฮริเออร์? รุ่น AV-8 B บริษัทผู้ผลิตเก้าอี้ดีดได้พบว่า มีข้อที่ควรระมัดระวังในการใช้ คือ เรื่องของความเร็วและความสูง ขณะที่จะต้อง EJECTION คือหากผิดขั้นตอน ไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติ การดีดออกไปด้วยความเร็วสูง มีแรงมหาศาลจะทำให้นักบินตายเพราะการดีดตัวออก จากกระดูกต้นคอ หรือกระดูกสันหลังหัก แทนที่จะรอดกลับตาย และอีกอย่างหนึ่งที่มีอยู่ในคำเตือน คือ น้ำหนักตัวของนักบิน และยังมีเอกสารเฉพาะสำหรับกองทัพสหรัฐอเมริกา คือ TACHNICAL MANUAL : A1-AVBBB-NEM-000 อยู่ในหน้าที่ V-17-2 ย่อหน้า 4
       
        เก้าอี้ดีดรุ่น SIIIS 3AJ นี้ออกแบบสำหรับนักบินชายอเมริกัน ที่มีน้ำหนักตัวเปล่า (NUDS WEIGHT) ระหว่าง 136-213 ปอนด์ (ประมาณ 61.71 ถึง 96.62 กิโลกรัม) ซึ่งเป็นน้ำหนักที่เหมาะสมสำหรับแรงจรวดขับดัน (ROCKET) ซึ่งติดอยู่ใต้ที่นั่ง, คือถ้าหากว่าน้ำหนักตัวนักบินไม่อยู่ในเกณฑ์นี้ จะเป็นการดีดออกมาแบบ ?ปลิว? และเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อร่างกายของนักบิน
       
        กองทัพอากาศไทยก็รู้อยู่ว่านี่เป็นจุดอันตรายต่อนักบินของเรา จึงมีการสำรวจน้ำหนักตัวเปล่าของนักบินไทย พบว่าเฉพาะที่บินกับอัลฟ่า เจ็ต อยู่ และที่จะจบจากโรงเรียนการบินแล้วมาบินกับเครื่องบินแบบนี้ และใช้เก้าอี้ดีดแบบนี้มีอยู่ประมาณ 30 คน จากการพิจารณาเรื่องน้ำหนักตัวเช่นนี้ ทำให้ผู้สำเร็จจากโรงเรียนนายเรืออากาศ แล้วเข้าโรงเรียนการบิน มีฝีมือการบินดีสำหรับการบินเครื่องบินรบ และเข้าประจำการเป็นนักบินของกองบิน 23 อุดรธานีได้ เพื่อเป็นนักบินอัลฟ่า เจ็ต ต้องถูกกำหนดให้ไปบินกับเครื่องบินแบบอื่น แม้ว่าจะเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ แต่ก็ไม่มีทางอื่นที่จะแก้ไข เพื่อความปลอดภัยของชีวิตนักบินได้ เพราะนโยบายของกองทัพอากาศได้เปลี่ยนนมาเป็นการซ่อมเก้าอี้ดีดรุ่นนี้ แทนที่จะเปลี่ยนเป็นเก้าอี้ดีดแบบอื่น ซึ่งไม่มีข้อจำกัดเรื่องน้ำหนักตัวนักบิน คือจะยังทู่ซี้ใช้กันต่อไป ให้นักบินต้องภาวนาอิติปิโสภควาเอาเอง
       
        เป็นที่น่าแปลกใจว่า ข้อบกพร่องอย่างชัดเจนเช่นนี้ เหตุใดไม่มีน้ำหนักพอสำหรับเป็นเหตุผล และจูงใจให้การตัดสินใจของผู้บังคับบัญชาได้เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น โดยที่สมัย พล.อ.อ.ปอง มณีศิลป์ เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศได้ตัดสินใจทำในสิ่งที่เรียกว่า ?ดีแล้ว? ที่ทำตามความเห็นของคณะกรรมการที่มี พล.อ.อ.อนุพันธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เป็นประธานกรรมการ ด้วยการเปลี่ยนเก้าอี้ดีดเป็นแบบใหม่ แต่พอเปลี่ยนผู้บัญชาการทหารอากาศเป็น พล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา กลับล้มโครงการนั้น และมาใช้วิธีการซ่อม ที่เสียงบประมาณเท่ากับการซื้อของใหม่
       
        ข้อมูลทุกอย่างทุกด้านมีอยู่แล้วสำหรับการเป็นข้อพิจารณาของคนเป็นผู้บังคับบัญชา
       
        เป็นข้อมูลที่มีรายละเอียด มีความสมบูรณ์ดังที่ได้ยกตัวอย่างมาให้เห็นนี้ ซึ่งเป็นเพียงการให้เห็นตัวอย่างเท่านั้น โดยข้อมูลที่มีอยู่จริงอย่างเป็นทางการนั้น มีมากกว่านี้ที่เกิดขึ้นในช่วง ?ระบอบทักษิณ?

       
        เมื่อมีการละเลยมองข้ามความสำคัญ และปัญหาหลักไป โดยเฉพาะเรื่องน้ำหนักตัวของนักบินที่ขาดความสัมพันธ์กับระบบหรือการออกแบบเก้าอี้ดีด เท่ากับว่า เก้าอี้ดีดแทนที่จะเป็นเก้าอี้ช่วยชีวิต กลับจะเป็นเก้าอี้ประหาร เมื่อถึงเวลาที่นักบินจะต้องใช้มัน เพื่อเอาชีวิตรอดกลับไปเป็นผู้รับใช้ประเทศชาติและกองทัพ กลับไปหาพ่อแม่ลูกเมียและครอบครัว ผลเสียหายโดยรวมก็อยู่ที่กองทัพ อันจัดได้เป็นการทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ซึ่งจะคิดเป็นตัวเงินไม่ได้-นี่เป็นหลักของความเสียหายกับประเทศชาติอย่างหนึ่ง นอกเหนือไปจากเรื่องผลประโยชน์และตัวเงินที่ ป.ป.ช.จะต้องสอบสวนกันต่อไปว่า มีปะปนแอบแฝง หรือว่ามองเห็นเจตนาอย่างโจ่งแจ้ง ก็แล้วแต่ผลจะออกมาในอนาคต ซึ่งจะขอมองข้ามประเด็นที่ยังไม่เห็นอย่างชัดเจนนี้ไปก่อน โดยรายงานลึก-หกสิบ, ลับ-สี่สิบ นี้ จะไม่ถือว่าเป็นประเด็นต้องล้วงลึกหรือปิดลับอะไร เอาแต่เพียงว่านโยบายและการตัดสินใจเช่นนี้ ทำให้เกิดความเสียหายหรือไม่?
       
        เพราะมีข้อมูลทางเทคนิคและหลักฐานจากบริษัทผู้สร้างเก้าอี้ดีดรุ่น SIIIS 3AJ เองว่าอายุการใช้งานหมดแล้ว หากนับถึง วันที่ 1 มกราคม 2550 ที่ผ่านมานี้ ก็เป็นเวลา 3 ปี, การซ่อมราคาแพงกับการซื้อของใหม่ที่มีราคาพอๆ กันนั้น จึงน่าจะเป็นที่มาของคำถามที่ว่า เป็นเพราะการซื้อใหม่นั้น เรื่องมันยาวผ่านหลายขั้นตอน คือไม่ได้ยาวในเรื่องระยะเวลา แต่ยาวโดยกระบวนการพิจารณาที่จะต้องมีความเกี่ยวข้องกับส่วนอื่นๆ เช่น สำนักงบประมาณ กองบัญชาการทหารสูงสุด กระทรวงกลาโหม แต่ถ้าหากเป็นการซ่อมแล้ว...การอนุมัติซื้อพัสดุหรืออะไหล่สำหรับการซ่อมที่อยู่ในวงเงินการอนุมัติแต่ละคราวไม่เกิน 100 ล้านบาท ทางกองทัพอากาศสามารถอนุมัติใช้เงินของตัวเอง (ซึ่งก็มาจากงบประมาณแผ่นดิน) ได้ด้วยตัวเองเป็นการภายใน โดยไม่ต้องปรึกษาหารือกับใคร ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าจะต้อง ?ตั้งข้อสงสัย? หรือข้อสังเกตได้
       
        มี ?ประเด็นแวดล้อม? เกี่ยวกับข้อมูลอันนำไปสู่การตัดสินใจของผู้บังคับบัญชา ในการแก้ปัญหาเรื่องเก้าอี้ดีดของเครื่องบินอัลฟ่า เจ็ต (บ.จ. 7) นี้ ซึ่งได้เคยเปิดเผยเป็นรายงานไปแล้วว่า กรมข่าวทหารอากาศ กองทัพอากาศไทยได้สอบถามเรื่องการเปลี่ยนเก้าอี้ดีดในเครื่องบินแบบเดียวกันไปทาง กองทัพอากาศอังกฤษ (ผ่านผู้ช่วยทูตทหารอากาศ ประจำประเทศไทย สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ) และทางอังกฤษได้ให้ความร่วมมือ โดยให้บริษัท QINETIQ ผู้ดำเนินการเป็นผู้ให้คำตอบไปตามคำถามรวม 6 ข้อนั้น เพื่อให้มีความกระจ่างชัดเจนยิ่งขึ้น จึงได้ไหว้วานให้ผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับการบิน จัดทำคำแปลเป็นไทย โดยเฉพาะคำตอบที่มาจาก QINETIQ เพื่อประกอบความเข้าใจและให้รายงานชุดนี้ มีความสมบูรณ์ครบถ้วนยิ่งขึ้น เป็นข้อๆ ดังต่อไปนี้
       
       เอกสารผนวก
       Qinetiq/AT&E/BD/9/21
       วันที่ 23 กรกฎาคม 2001
       คำตอบ

       
        ต่อไปนี้คือคำตอบข้อซักถามต่างๆ ของกองทัพอากาศไทย ซึ่งแสดงออกถึงความร่วมมืออันดียิ่ง แต่ไม่มีนัยแห่งพันธกรณีหรือเป็นการรับประกันของบริษัท Qinetiq ทั้งนี้ บริษัทจักไม่ยอมรับต่อการรับผิดหรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นอันเป็นผลที่ตามมาจากการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งทางตรงหรือทางอ้อมอันเนื่องมาจากข้อมูลที่ให้นี้
       
       1. เหตุผลที่ต้องเปลี่ยนเก้าอี้ดีดตัวนักบินของเครื่องบินอัลฟ่า เจ็ต DERA เป็นเก้าอี้ดีดตัว Mk10L ของบริษัท Martin-Baker (GB10-LN)
       
        เหตุผลหลักที่ใช้เก้าอี้ดีดตัวของบริษัท Martin Baker คือบริษัท Qinetiq ไม่มั่นใจต่อความสามารถในการจัดหาอะไหล่หรือมาตรฐานเรื่องราคาของอะไหล่เก้าอี้ดีดตัว SIIIS ที่ต้องนำมาใช้เพื่อเปลี่ยนตามกำหนดเวลา หรือที่เปลี่ยนตามวาระตลอดอายุการใช้งานของเครื่องบิน การขาดความมั่นใจในเรื่องนี้ได้มาจากประสบการณ์การติดต่อประสานงานกับบริษัทผู้ผลิตเก้าอี้ดีดตัว
       
       2. สำหรับขั้นตอนการติดตั้งสำหรับการติดตั้งเก้าอี้ดีดตัว Mk10L (GB10-LN) เข้ากับเครื่องบินนั้น ต้องดัดแปลงชิ้นส่วนใดของเครื่องบิน และดัดแปลงอย่างไร
       
        เดิมทีเครื่องบินอัลฟ่า เจ็ต ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้กับเก้าอี้ดีดตัวของบริษัท Martin-Baker การตัดสินใจของรัฐบาลเยอรมนีเพื่อประกอบเก้าอี้ Upco SIIIS เข้ากับเครื่องบินจำเป็นต้องออกแบบและติดตั้งชุดเชื่อมประสาน (Interface Kit) เข้ากับเครื่องบิน ในกรณีของการประกอบเก้าอี้ดีดตัว MK10L นั้น จำเป็นต้องถอดชุดเชื่อมประสานนี้ออก ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก เราอาจต้องดัดแปลงเครื่องบินอีกเล็กน้อยสำหรับส่วนแยกเก็บเก้าอี้-หมุดยึด
       
       3. เปลี่ยนเก้าอี้ดีดตัวได้เมื่อใด จำเป็นต้องเปลี่ยนหรือดัดแปลง PE ของนักบินที่ยังใช้กับเก้าอี้ดีดตัว SIIIS-3AJ ที่ติดตั้งไว้เดิมหรือไม่ และทำได้อย่างไร
       
        นักบินของบริษัท Qinetiq สามารถใช้ PE เดิมเมื่อเครื่องบินอัลฟ่า เจ็ต เหมือนกับที่ใช้ในเครื่องบินกองทัพลำอื่นๆ ของสหราชอาณาจักร ด้วยเหตุผลนี้ ทำให้ต้องเปลี่ยนระบบข้อต่อของ PE บนเก้าอี้ และในเครื่องบินพร้อมๆ กับส่วนประกอบอื่นๆ ของระบบสื่อสารและระบบออกซิเจน เพื่อให้สามารถใช้ Harrier T Mk4 PE เราไม่ทราบว่า กองทัพอากาศไทยต้องการสิ่งนี้หรือไม่ อย่างไรก็ดี เราเชื่อว่าบริษัท Martin-Baker มีประสบการณ์ในเรื่องการจัดพื้นที่สำหรับชุดเชื่อมประสานลูกเรือ และแม้จำเป็นต้องออกแบบใหม่ แต่ก็ไม่เป็นเรื่องที่น่าวิตก
       
       4. คุณลักษณะพิเศษและสมรรถนะของเก้าอี้ดีดตัว Mk10L ของบริษัท Martin-Baker (GB-10LN) เมื่อติดตั้งในเครื่องบินอัลฟ่า เจ็ต โดยเฉพาะผลกระทบที่มีต่อระบบ CG มีอะไรบ้าง
       
        เก้าอี้ดีดตัว Mk10L มีซองหลบหนีนิรภัยตั้งแต่ความเร็วที่เป็นศูนย์ ระดับความสูงเป็นศูนย์ จนถึงความเร็วลบสูงสุดที่ 600 น็อต ในระดับความสูงที่ 50,000 ฟุต ทั้งหมดนี้คือระบบความปลอดภัยที่อยู่ภายในซองของการบินของเครื่องบิน ในกรณีที่เครื่องบินได้รับการออกแบบมาสำหรับเก้าอี้ดีดตัวของ Martin-Baker ย่อมทำให้ระบบการทำงานไม่ลดลงเมื่อพิจารณาจากเรื่องจุดศูนย์ถ่วงของเครื่องบิน
       
       5. ระบบการทะลุทะลวงของเก้าอี้ดีดตัวใดที่พิจารณาว่ามีความปลอดภัยสูงสุดสำหรับ Canopy Breaker Canopy Jettison หรือระบบ Fragilisation
       
        เครื่องบินอัลฟ่า เจ็ต ไม่ได้ติดตั้งด้วยระบบ Canopy Jettison ดังนั้น บริษัท Qinetiq จึงได้เลือกเก็บตัวเลือกระบบ Fragilisation ปัจจุบันเอาไว้ เก้าอี้ดีดตัว Mk10L ถูกประกอบเข้ากับ Canopy Breakers หรือ ?through canopy? นั้น ถูกมองว่าเป็นโหมดหลบหนีลำดับที่สองที่เหมาะสมในกรณีที่ลูกเรือทำให้ PE ชำรุดเสียหาย
       
       6. ข้อมูลทางด้านเทคนิคและคู่มือฉบับปรับปรุง ทั้งที่เกี่ยวกับการดำเนินการบินและการซ่อมบำรุง
       
        บริษัท Martin-Baker ได้มอบชุดคู่มือ GB-10LN ทั้งชุด (ตีพิมพ์ครั้งแรก) ไว้ให้กับบริษัท Qinetiq แล้ว และขณะนี้ได้ดำเนินการจัดทำคู่มือสำหรับการซ่อมบำรุง (ตีพิมพ์ครั้งที่สอง)
       
        ขอขอบคุณอีกครั้งหนึ่งสำหรับคำแปลที่เกี่ยวข้องกับศัพท์ทางเทคนิคการบินล้วนๆ คำตอบทั้ง 6 ข้อนี้ เห็นว่ามีความตรงไปตรงมา เป็นการให้ความร่วมมือที่ดีระหว่างกองทัพอากาศอังกฤษกับกองทัพอากาศไทย อะไรที่มีปัญหาก็บอกว่ามีปัญหาและแก้ไขอย่างไรให้ปัญหาหมดไปก็บอกมาหมด ดังเช่นคำตอบในข้อ 2 และข้อ 3
       
        สำหรับเอกสารชุดนี้เป็นเอกสารที่แสดงด้วยตัวเองอย่างชัดเจนว่า เป็นเอกสารที่อยู่ในแฟ้มหรืออยู่ในครอบครองดูแลของทางการอังกฤษ รวมทั้ง บริษัท Qinetiq ซึ่งเป็นบริษัทมหาชนในอังกฤษ โดยรัฐบาลสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด ถือเป็นเอกสารทางธุรกิจ/เชิงพาณิชย์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความลับทางราชการทหารของอังกฤษ และไม่เป็นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับความลับทางทหารของไทยด้วย ไม่ว่าจะเป็นทาง กองทัพอากาศ หรือทาง สำนักงาน ป.ป.ช. จึงต้องทำความเข้าใจว่าที่มาของเอกสารเป็นเช่นนี้ เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดและผลที่อาจจะตามมา
       
        การเปิดเผยเอกสารในประเด็นนี้ น่าจะเป็นสิ่งที่ดีในภาพรวมว่า การตั้ง ?โครงการ? ขึ้นมาของทหาร เพื่อการจัดซื้อจัดหานั้น เป็นไปด้วยระเบียบหลักการความรอบคอบ รักษาผลประโยชน์ของชาติในการใช้เงินงบประมาณอย่างคุ้มค่า มีการศึกษาและพิจารณาอย่างรอบด้าน ช่วยกันสร้างประโยชน์ที่สุด เช่น การข่าวทหารอากาศ ซึ่งมีหน้าที่ในการติดต่อประสานกับทหารต่างประเทศ ก็ช่วยหาข่าวข้อมูลมาประกอบการพิจารณา
       
        แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าสิ่งที่ทำมานั้น ไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ หรือมองว่าไม่เป็นประโยชน์เสียเลย หากว่าเป็นแนวทางขัดแย้งกับนโยบายความต้องการ, และในอนาคตหลักฐานข้อมูลเช่นนี้ทาง ป.ป.ช.ก็น่าจะหยิบมาเป็นข้อสังเกต หรือเป็นหลักฐานในเรื่องที่สอบหาความจริงอยู่ว่า เกิดความเสียหายไปแล้วเท่าใด ใช้เงินโดยวิธีนั้น มีความคุ้มค่าบรรลุผลแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ได้ รัฐเสียหายไปอย่างไร และใครเป็น ?ตัวการ? ในเรื่องนี้ ถ้าหากว่าวิธีการซ่อมใช้เงินน้อยกว่าซื้อของใหม่ และได้ผลเท่ากับของใหม่ จึงจะถือว่า ?คุ้มค่า? และ ?สุจริต?