หน้าแรก    ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบคำถาม    เข้าสู่ระบบ      


งบลับ

โดยคุณ : mossad เมื่อวันที่ : 05/01/2007 15:08:00

ต้องเคลียร์...งบลับรัฐประหาร

งบลับรัฐประหาร 19 กันยายน ประธาน คมช. ต้องตอบให้หายสงสัย หลังพบเบิกจ่ายเฉียด 1,200 ล้าน แต่คำตอบยังคลุมเครือ ทั้งที่ระเบียบสำนักนายกฯ ระบุให้ทำบัญชีรับ-จ่ายอย่างชัดเจน

 ระหว่างการแถลงผลงานครบ 3 เดือนของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ที่ผ่านมา จู่ๆ "บิ๊กบัง" พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธาน คมช. ก็ออกอาการ "อารมณ์บ่จอย" ขึ้นมาตะหงิดๆ เมื่อเจอคำถามจี้ใจดำของนักข่าว ซึ่งถามถึง "งบลับ" ในการทำรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน ซึ่งสร้างความน่าสนใจใคร่รู้ว่า เงินก้อนโตกว่า 1,200 ล้านบาทถูกใช้ไปเพื่อการใดบ้าง

 ประเด็นที่สร้างความคันปากอยากรู้กันมากนี้ เนื่องเพราะงบลับสำหรับการปฏิวัติ-รัฐประหารในอดีต มักตกหล่นอยู่ในกระเป๋าของ "บิ๊กสีเขียว" กันแค่ไม่กี่คน

 แม้บิ๊กๆ ใน พ.ศ.นี้ จะดูจริงใจ ใสซื่อ...แต่เพื่อความโปร่งใสก็จำต้องชี้แจงแถลงไขให้หายคาใจกันเสียที

 แต่พอนักข่าวถามมา พล.อ.สนธิ ก็ตีหน้าเครียดตอบกลับทันที

 "คนของเราแต่ละคนที่ออกมาทำงาน ถามว่าเพื่อตัวเองหรือเปล่าคงไม่ใช่ การที่ผมตัดสินใจลงมาทำงาน ถามว่าเอาอะไรมาแลกกับชีวิตของผม ผมทำเพื่อประชาชนใช่หรือไม่ ทุกคนคงตอบคำถามแทนผมได้ในตรงนี้ เราออกมาเพื่อที่จะทำให้ทุกอย่างสงบ โดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อและชีวิต นั่นคือสิ่งที่เราเจตนาอย่างยิ่ง คนเราออกมาจะต้องกินต้องอยู่ ซึ่งตรงนี้คงไม่ใช่ประเด็นที่เราจะนำเงินต่างๆ ไปใช้ประโยชน์โดยมิชอบ ขอให้มองในเชิงที่ดีดีกว่า เราทำเพื่อภาพรวมของประเทศ เราคงไม่ชี้แจงว่าเราเอาเงินไปทำอะไร แต่เอาคนมาอยู่คนหนึ่งก็เป็นเงิน เพราะต้องกินต้องอยู่ ซึ่งคงไม่ต้องตอบคำถามทุกคน อยากให้ไปศึกษากันดู"

 คำตอบของ พล.อ.สนธิ เป็นไปตามสไตล์ทหารแท้ทุกกระเบียดนิ้ว คือ ดุดัน โผงผาง และใช้เกียรติของทหารผู้รักชาติเป็นเครื่องการันตี แต่นั่นมันคงไม่เพียงพอสำหรับประเทศชาติในยุคนี้ ซึ่งอะไรก็แล้วแต่จะต้องว่ากันตาม "ข้อมูล" ที่มีลายลักษณ์อักษร และตัวเลขยืนยันที่ชัดเจน

 เมื่อสังคมไม่อาจหาความกระจ่างจากแกนนำ คมช.ได้ ทีมข่าว "คม ชัด ลึก" จึงตามแกะรอยเส้นทางของงบลับก้อนดังกล่าวเพื่อไขข้อข้องใจว่า เหตุใดบิ๊กๆ คมช. จึงไม่สบอารมณ์ถึงเพียงนั้น...

 ที่สำคัญ ยัง "ตอบไม่ตรงคำถาม" อีกด้วย !!!

 แหล่งข่าวระดับสูงในกองทัพ จึงไขข้อข้องใจเกี่ยวกับงบลับนี้ว่า เดิมมีการตั้งงบประมาณเบิกจ่ายไว้ถึง 3,000 ล้านบาท แต่พอถึงเวลาจริงๆ กลับมีการเบิกจริงเฉียดๆ 1,200 ล้านบาท เมื่อวันที่ 19 กันยายน

 เงินก้อนนี้ถูกเบิกใช้ไป 3 งวด โดยงวดแรกถูกเบิกไปเมื่อวันที่ 19 กันยายน ส่วนอีกสองงวดที่เหลือถูกเบิกจ่ายไปในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าถกเบิกไปเมื่อวันใดกันแน่

 งวดแรก ถูกเบิกไป 280 ล้านบาท เงินส่วนใหญ่ (ราว 200 ล้านบาท) ถูกแบ่งให้กองทัพบก (ทบ.)

 ส่วนเหล่าทัพอื่นๆ ได้แก่ กองทัพอากาศ (ทอ.) กองทัพเรือ (ทร.) กองบัญชาการทหารสูงสุด (บก.สส.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้ไปเหล่าทัพละ 20 ล้านบาท

 งวดที่สอง ถูกเบิกไปใช้อีก 800 ล้านบาท โดยแบ่งให้ ทบ.500 ล้านบาท ส่วน ทร. ทอ. และ สตช.ไปหน่วยละ 100 ล้านบาท

 งวดที่สาม ถูกเบิกไป 100 ล้านบาท ให้ บก.สส. และสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ไปหน่วยละ 20 ล้านบาท

 ส่วนเงินก้อนที่เหลืออีก 60 ล้านบาท ยังไม่รู้แน่ชัดว่าถูกเบิกไปให้ใคร หรือหน่วยงานใด ???

 น่าแปลกมากอีกประการ คือ หน่วยงานอย่าง สตช. และ บก.สส. ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมยึดอำนาจมาตั้งแต่ต้นกลับได้รับการจัดสรรงบประมาณกับเขาด้วย

 แหล่งข่าวคนเดิม ระบุว่า กรมบัญชีกลาง เป็นหน่วยงานที่อนุมัติงบลับก้อนนี้ผ่านมาทางธนาคารทหารไทย โดยก่อนการยึดอำนาจมีหน่วยงานรัฐที่ร่วมรับรู้ด้วย จำนวน 5 หน่วยงาน คือ

 -สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน

 -ธนาคารแห่งประเทศไทย

 -กระทรวงการคลัง

 -ธนาคารทหารไทย

 -คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) (ภายหลังแปรสภาพ เป็น คมช.)

 เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้การชี้แจงรายละเอียดการใช้จ่ายงบราชการลับของ คมช. จะยังคลุมเครืออยู่ แต่อย่างน้อยก็ยังมีหน่วยงานรัฐที่ร่วมรับรู้ด้วยถึง 5 หน่วยงาน

 นั่นหมายความว่า เงินก้อนนี้ย่อมชี้แจงที่มาที่ไปได้ หากบรรดาบิ๊ก คมช.จะใจเย็นลงสักหน่อย และทำการบ้านเพื่อออกมาตอบคำถามประชาชนเจ้าของประเทศกันมามากกว่านี้

 ข้อนี้จึงแตกต่างจากคณะผู้ยึดอำนาจในอดีต ซึ่งส่วนใหญ่จะได้งบลับมาจาก "นักธุรกิจฝ่ายตรงข้ามอำนาจรัฐ" ที่แอบเทกระเป๋ามาช่วยแบบลับๆ

 เส้นทางของงบลับในอดีตส่วนใหญ่จึงมักจะไหลเข้ากระเป๋าบิ๊กๆ ผู้มีอำนาจ และส่วนที่เหลือจะถูกเจียดเป็นค่า "เบี้ยเลี้ยง" ให้แก่กำลังพลที่ได้รับคำสั่งให้นำปืน และรถถังออกจากกรมกอง

 แม้เงินก้อนโตจะน่าพิสมัยเพียงใด แต่อย่าลืมว่า หากพลาดท่าย่อมเจอข้อหา "กบฏ" มีโทษอยู่ 2 สถาน คือ ถ้าไม่ตายก็ถึงขั้นไร้แผ่นดินอยู่

 ฉะนั้น "เงินก้นถุง" แม้จะตุงกระเป๋ากันไปบ้าง แต่ก็สมน้ำสมเนื้อกันดีเมื่อเทียบกับการเสี่ยงเอาชีวิตราชการ หรือแม้กระทั่งชีวิตตัวเองเป็นเดิมพัน

 กลับมาที่ฉากรัฐประหารในปัจจุบัน หากจะลองให้ความเป็นธรรมกันบ้างก็คงจริงอย่างที่ พล.อ.สนธิ ว่าไว้ เพราะการยึดอำนาจครั้งหนึ่งมันไม่ใช่ของง่าย ไหนจะต้องเจอกับค่าใช้จ่ายสารพัด ทั้งน้ำมันรถถัง ค่าซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์ทางทหาร ค่าเบี้ยเลี้ยงกำลังพล ค่าอาหาร ฯลฯ

 รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ไม่สามารถจะชี้แจงลงในบัญชีรายจ่ายได้...เอาเฉพาะแค่การเคลื่อนย้ายกำลังพลจากพื้นที่ภาคเหนือ-กลาง-อีสาน ก็ต้องใช้กำลังมากถึง 43 กองพัน

 แหล่งข่าวคนเดิม บอกว่า ในอดีตนั้นงบก้อนใหญ่ ซึ่งไม่สามารถชี้แจงได้จำนวนหนึ่งจะถูกแบ่งให้นายทหารระดับสูงที่เข้าร่วมยึดอำนาจ อาทิ ผู้บังคับการกรม และ ผู้บังคับกองพัน

 ส่วนในวันนี้จะไหลไปเข้ากระเป๋าใครบ้างนั้น ย่อมต้องชี้แจงให้ทราบโดยทั่วกัน เพราะอย่าลืมว่า นักการเมืองผู้ช่ำชองสามารถนำไปขยายผล ดึงมวลชนมา "เขย่าศูนย์อำนาจ" ของรัฐบาลได้ทุกเมื่อ

 การตอบคำถามนี้จึงเป็นหน้าที่โดยตรงของ คมช. ซึ่งถือเป็นผู้พิทักษ์อำนาจรัฐ และตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2547 โดยเฉพาะความตอนหนึ่งในข้อ 6. ก็ระบุไว้ชัดเจนว่า...การสั่งจ่ายงบประมาณเงินราชการลับให้มีคณะกรรมการ คือ ข้าราชการในส่วนราชการนั้นอย่างน้อย 4 คน

 โดยหัวหน้าส่วนราชการเป็นประธานรับผิดชอบการใช้จ่ายงบประมาณเงินราชการลับให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติงาน โดยให้มีการจัดทำบัญชีการรับ-จ่ายเงิน และหลักฐานการจ่ายไว้ตรวจสอบด้วยเพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเงินราชการลับมีผลสัมฤทธิ์จะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ราชการ

 พล.อ.สนธิ ในฐานะ "หัวหน้าส่วนราชการ" จึงมีหน้าที่ชี้แจงข้อเท็จจริงในส่วนนี้

 เพราะนี่คือ การทำหน้าที่ด้วยเกียรติของชายชาติทหาร

 จาก นสพ. คม ชัด ลึก