แผนปั้น TAI เป็นฮับซ่อมอากาศยานของเอเชียล่ม 2 ผู้ถือหุ้นทอ.และสสว.รับสภาพความจริง รื้อแผนธุรกิจใหม่ เลิกเพ้อเจ้อตามนโยบาย"ทักษิณ"สั่งล้มโครงการขายหุ้นระดมทุน 3-5 พันล้านขยายธุรกิจ หวั่นถูกแอนตี้เหมือนกฟผ. มองเฉพาะการลงทุนที่ใช้งบไม่สูงและมีลูกค้าระยะยาว ปรับมาใช้วิธีเปิดประมูลให้เอกชนดำเนินการโดยกินหัวคิวกำไรไม่เกิน 3%
แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัทอุตสาหกรรมการบิน จำกัด หรือ TAI เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่าการดำเนินธุรกิจของTAI ในปัจจุบันได้ปรับแผนการทำงานใหม่ทั้งหมด ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของธุรกิจ เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการศึกษารายละเอียดและจากประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานมาจนจะเข้าสู่ปีที่ 3 พบว่า ในทางปฏิบัติไม่สามารถดำเนินการได้ทุกอย่างตามแผนธุรกิจที่วางไว้ เมื่อครั้งครม.เคยมีมติเมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2546 ที่ให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือสสว.ถือหุ้น 70% และบริษัทไทยแอโร่สเปซ แมนเนจเม้นท์ จำกัด (บริษัทที่กองทัพอากาศ(ทอ.)จัดตั้งขึ้นมาด้วยการนำเงินของกองทุนสวัสดิการทหารมาใช้ในการลงทุน )ถือหุ้น 30% ตั้งบริษัทอุตสาหกรรมการบินขึ้นมาด้วยทุนจดทะเบียนเบื้องต้น 100 ล้านบาท
ทั้งนี้ เนื่องจากแผนธุรกิจที่ทำมาตั้งแต่ต้นไม่ได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงลึกถึงศักยภาพที่แท้จริงในการทำงาน เป็นการทำแผนตามแนวทางของพ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ต้องผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางซ่อมบำรุงและการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานที่ได้มาตราฐานสากลในภูมิภาคเอเชียและการซ่อมบำรุงแบบครบวงจรซึ่งต้องใช้เงินลงที่สูงมาก ประกอบกับลึกๆแล้วเป็นแผนที่ทำขึ้นมา เพื่อสนองความต้องการของฝ่ายการเมืองที่ลึกๆต้องการผลักดันให้มีการจัดตั้งบริษัทขึ้นมา เพื่อต้องการดึงต่างประเทศเข้ามาถือหุ้น
ที่ชัดเจนตั้งแต่มีการชงแผนธุรกิจไว้ก่อนนำเรื่องเสนอเข้าครม.อนุมัติว่าภายในปี 3 ปีนับจากจัดตั้งบริษัทก็จะให้ทางสสว.ถอนหุ้นออกไปและจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุนกว่า 3-5 พันล้านบาทเพื่อนำมาใช้ในการขยายธุรกิจที่ส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนซื้อเครื่องมือในการซ่อมบำรุงมาใช้ให้มีระดับเทียบเท่าศูนย์ซ่อมชั้นนำของโลก แต่มีการเบรกในครม.โดยดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รักษาการณ์รองนายกรัฐมนตรี ที่ให้ขยายเวลาการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ออกไปเป็น 5 ปี โดยกำหนดเป็นปี 2551 แทน
ที่ผิดพลาดอยู่มาก คือเรื่องการมองตลาด ที่เดิมมองว่าTAI จะสามารถขยายฐานลูกค้าตลาดในประเทศได้ครอบคลุมเครื่องบินที่มีอยู่ทั้งหมด 1,160 ลำ และจะสามารถดึงต่างชาติให้มาซ่อมเครื่องบินในไทยได้ แต่ในทางปฏิบัติทำได้ยาก เพราะเครื่องบินต่างๆของต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินทางทหารหรือเครื่องบินของเอกชน ส่วนใหญ่ประเทศต่างๆก็จะมีศูนย์ซ่อมหรือหน่วยงานทางทหารที่สามารถซ่อมเครื่องบินของตัวเองได้อยู่แล้ว ขณะที่เครื่องบินในประเทศที่มีอยู่กว่า 1,160 ลำ ก็เป็นเครื่องบินที่ใช้ของหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจต่างๆจำนวน 900 ลำ ที่เหลือเป็นเครื่องบินของเอกชน ที่ก็มีศูนย์ซ่อมของตัวเองอยู่แล้ว อย่างการบินไทย บางกอกแอร์เวย์ส
ทำให้TAI จะมีลูกค้าเฉพาะเครื่องบินของหน่วยงานรัฐเท่านั้นที่จะมาใช้บริการ และการจะมาใช้บริการของTAI ก็ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของหน่วยงานนั้นๆ ทำให้ลูกค้าหลักของTAI หลักๆเป็นเครื่องบินของกองทัพอากาศเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นหากTAI จะเดินหน้าลงทุนเต็มที่ตามแผนการเป็นศูนย์ซ่อมแบบครบวงจร ซึ่งเป็นการผลักดันของพล.ท.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในสมัยนั้น ก็จำเป็นที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก ถ้าทำแบบนั้นก็เชื่อว่าบริษัทคงต้องล้มอย่างแน่นอน ทางฝ่ายบริหารของบริษัทจึงต้องปรับแผนธุรกิจใหม่ ซึ่งผ่านการเห็นชอบจากสสว.และไทยแอโร่สเปซแล้ว
โดยจะมองถึงการทำงานที่จะสร้างความมั่นคงให้บริษัทอยู่รอดในระยะยาวและมีกำไรต่อเนื่องจากการดำเนินธุรกิจ มากกว่าแผนการลงทุนใหญ่โตอย่างการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพราะหวั่นว่าจะเกิดการต่อต้านเหมือนกรณีการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยหรือ
กฝผ. ประกอบกับทางทหารอากาศก็ไม่ต้องการให้มีการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว เนื่องจากการซ่อมบำรุงของไทย ก็จะใช้ศูนย์ซ่อมที่อยู่ในเครือข่ายของกองทัพอากาศ ซึ่งเป็นของรัฐ ไม่ว่าจะเป็น ศูนญ์ซ่อมที่อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ สำหรับการซ่อมเครื่องบินC-130 เครื่องบินเอฟ16 ศูนย์ซ่อมอากาศยานขนาดเบา อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม เป็นต้น
"การลงทุนซื้ออุปกรณ์เครื่องมือ TAI จะต้องมองความคุ้มค่าในการลงทุนเป็นหลัก โดยจะต้องลงทุนไม่สูงนัก แต่สามารถมีลูกค้าระยะยาวได้ เพราะการขยายการลงทุนของบริษัทคงต้องมาจากการกู้เงินจากสถาบันการเงินเป็นหลัก การทำงานก็ต้องทำแบบค่อยๆขยายตัวอย่างมั่นคง หากงานใดศูนย์ซ่อมของเอกชนไทยทำได้ ก็จะไม่เข้าไปแข่ง แต่จะเป็นการช่วยกันทำงานมากกว่า ซึ่งในขณะนี้ศักยภาพของTAI จะสามารถซ่อมโครงเครื่องบินได้ทุกรุ่น แต่การซ่อมเครื่องยนต์ ขณะนี้ซ่อมได้บางระบบเท่านั้น เช่น เอฟ-16 เพราะต้องใช้เม็ดเงินลงทุนในสั่งซื้อเครื่องมือที่สูงมาก ทำให้ต้องมาไล่ดูว่าเครื่องมือแบบไหนที่ลงทุนแล้วจะคุ้ม เนื่องจากTAI ไม่จำเป็นต้องลงทุน ก็สามารถเปิดประมูลคัดเลือกเอกชนเข้ามารับช่วงงานซ่อมเครื่องยนต์ได้ เช่นที่กำลังเปิดประมูลอยู่ก็เป็นการเชิญบริษัทที่ได้รับใบรับรองจากผู้ผลิตเครื่องยนต์มาเสนอราคาได้ซ่อมเครื่องยนต์C ?130 ของทอ. ที่ส่วนใหญ่ก็เป็นบริษัทในต่างประเทศ"
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ทั้งนี้งานที่จะเปิดประมูลให้เอกชนมารับช่วงนั้น จะต้องเป็นงานในส่วนของการซ่อมที่TAI เห็นว่าไม่คุ้มค่าที่จะลงทุนเอง อย่างเครื่องC ?130 ทอ.มีอยู่ 12 ลำ TAI จะซ่อมลำตัวเครื่องบินทั้งหมด แต่การซ่อมเครื่องยนต์จะไม่ทำ เพราะการจะซ่อมเครื่องยนต์รุ่นนี้ได้ต้องลงทุนหลักหลายร้อยล้านบาทในการซื้อเครื่องมือมาใช้ซึ่งไม่คุ้มกับการลงทุน จึงเปิดให้เอกชนมาดำเนินการ โดยTAI จะบวกกำไรจากบริษัทนั้นๆ3% และค่าดำเนินการอีกราว 5-6% หรือรวมแล้วเบ็ดเสร็จจะอยู่ที่ 8 % เนื่องจากTAI จะต้องรับผิดชอบทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นค่าขนส่งนำเครื่องไปซ่อม การประกัน และการทดสอบระบบเมื่อนำเครื่องยนต์มาติดตั้งในเครื่องบิน เพราะTAI เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานเจ้าของเครื่องบิน ซึ่งงานต่างๆTAIก็ไม่สามารถชาร์ตได้มากนักเนื่องจากเป็นการรับงานของรัฐ ซึ่งจะมีกำไรและค่าดำเนินการไม่เกิน 10% เท่านั้น
ทั้งนี้ปัจจุบันTAI มีรายได้จากการดำเนินธุรกิจอยู่ราว1,000ล้านบาท มีกำไรอยู่ที่ 25 ล้านบาทในปีแรกของการจัดตั้งบริษัท และมีกำไร 100 ล้านบาทในปีที่ 2 ของการจัดตั้ง เนื่องจากลูกค้าของบริษัทส่วนใหญ่จะเป็นทอ. เช่นการซ่อมเครื่องแบบC-130 มีระยะเวลาซ่อม 4 เครื่องต่อปี เครื่องเอฟ-16 เป็นต้น
|