เมื่อวันที่ 23 พ.ย. พล.ท.จักรกฤษณ์ อินทรทัต โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงผลประชุมสภากลาโหมว่า ที่ประชุมมีมติให้เสนอเรื่องการขอยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการค้าแบบแลกเปลี่ยน (บาร์เตอร์ เทรด) พ.ศ. 2549 ที่ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค. 2549 ทั้งนี้ เนื่องจากกระทรวงกลาโหมได้ศึกษาทบทวนผลกระทบและปัญหาข้อขัดข้องในการปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวแล้ว พบว่ามีดังนี้ 1.วิธีการและขั้นตอนการปฏิบัติมีความซับซ้อน ต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการนาน ทำให้การจัดหายุทโธปกรณ์ล่าช้า ส่งผลกระทบต่อการพัฒนากองทัพในภาพรวม 2.การจัดหายุทโธปกรณ์หลักตามความต้องการของกองทัพ จำเป็นต้องจัดหาจากต่างประเทศตามแบบและคุณลักษณะของยุทโธปกรณ์ที่ได้ผ่านการพิจารครากลั่นกรองแล้ว หากประเทศผู้ผลิตไม่ยอมรับหลักการค้าแบบแลกเปลี่ยนแล้ว เหล่าทัพจะไม่ได้รับอาวุธยุทโธปกรณ์ตามความต้องการ
โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวต่อว่า 3. การจัดหายุทโธปกรณ์บางประเภทมีความจำเป็นต้องจัดหาตามโครงการช่วยเหลือทางทหาร หรือจัดหาในลักษณะรัฐต่อรัฐ และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ประเทศนั้น ๆ กำหนด จึงไม่สามารถปฏิบัติตามระเบียบนี้ได้ ที่ประชุมสภากลาโหมจึงมีมติให้เสนอปัญหาข้อขัดข้องดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีพิจารณายกเลิก ชะลอ หรือยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับดังกล่าว
ด้าน พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.และประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เปิดเผยว่า ตนไปประเทศปากีสถานได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมการจัดแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งผลิตขึ้นโดยชาติตะวันออกกลาง มีคุณภาพดี และราคาถูกมาก เป็นการผลิตเพื่อให้ประเทศที่กำลังพัฒนาได้มาดูงานและอาจจะจัดซื้อจัดหาไว้ใช้
?มีหลายอย่างที่เราสนใจและเชื่อว่าหากกองทัพไทยจะซื้ออาวุธจากปากีสถาน ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ที่เคยซื้ออาวุธจากสหรัฐ เพราะหากจะมีการซื้อจริง ก็ไม่ใช่อาวุธหลัก การที่ประเทศเราไม่ใช่ประเทศที่มีเงินทองมากมาย เราก็ต้องเลือกที่ถูกและดี? ผบ.ทบ. กล่าว