มติชน วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10483
31 ปี วีรกรรมดอนแตง งานรำลึก "พล.ร.อ.สงัด"
น.อ.วิพันธุ์ ชมะโชติ
เรือพีบีอาร์ ขณะแล่นทดสอบในทะเล
|
พลบค่ำของวันจันทร์ ที่ 17 พฤศจิกายน 2518 ลำน้ำโขง ซึ่งกั้นเขตแดนไทย-ลาว อันเป็นเสมือน "บ้านพี่เมืองน้อง" ยังคงไหลเอื่อยเหมือนเช่นทุกคืนที่ผ่านมา
บรรยากาศยังคงสงบเงียบภายใต้แสงจันทร์สลัวจากท้องฟ้าเบื้องบน ขณะที่เรือเร็วตรวจการณ์ลำน้ำหรือเรือพีบีอาร์ หมายเลข 123 ของหน่วยปฏิบัติการตามลำน้ำโขงกองทัพเรือ กำลังแล่นลาดตระเวนในเขตพื้นที่รับผิดชอบ
มันเป็นการปฏิบัติภารกิจตามปกติซึ่งลูกประดู่จากสถานีเรืออำเภอ "ศรีเชียงใหม่" กระทำมาโดยตลอดนับตั้งแต่วันแรกที่สถานีเรือแห่งนี้จัดตั้งขึ้น
บนเรือพีบีอาร์ หมายเลข 123 มี *พันจ่าตรีปรัศน์ พงศ์สุวรรณ* ทำหน้าที่ผู้การเรือและเป็นผู้จับพังงาถือท้ายเพื่อบังคับเรือด้วยตนเอง โดยมีลูกทีมอีกสองนายทำหน้าที่พลปืนประจำเรือและช่างเครื่อง
แม้จะเป็นการปฏิบัติภารกิจเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา แต่ในคืนวันนั้นพันจ่าตรีปรัศน์ซึ่งถือเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของเรือพีบีอาร์ หมายเลข 123 ก็ต้องได้เพิ่มความระมัดระวังและสังเกตการณ์เป็นพิเศษ
*เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เนื่องจากหัวหน้าสถานีเรือซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของเขาแจ้งว่าหน่วยข่าวสืบทราบพบว่าฝ่ายตรงข้ามจะลักลอบนำ "อาวุธสงคราม" ข้ามจากฝั่งลาวมายังฝั่งไทยและพื้นที่ปฏิบัติการของฝ่ายตรงข้ามอยู่ในเขตรับผิดชอบของสถานีเรือนี้*
ก่อนเวลาประมาณ 19 นาฬิกา 30 นาทีเล็กน้อย เรือพีบีอาร์หมายเลข 123 ได้แล่นผ่าน บ้านพูนสา อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ห่างจากฝั่งไทยประมาณ 100 เมตร ห่างจากฝั่งลาวประมาณ 400 เมตร
*ทันใดนั้นสิ่งที่พันจ่าตรีปรัศน์และลูกเรือไม่คาดฝันก็บังเกิดขึ้น*
จู่ๆ เสียงแผดคำรามจากอาวุธสงครามนานาชนิด ทั้งอาวุธประจำกายและอาวุธหนักก็ระเบิดรัวขึ้นชนิดสนั่นหวั่นไหว พร้อมๆ กับประกายไฟสว่างโร่พุ่งวาบข้ามฝั่งลาวตรงมายังเรือพีบีอาร์ของไทยซึ่งกำลังแล่นลาดตระเวนอยู่
มันเป็นการยิงจากทหารลาวซึ่งวางกำลังและฐานที่ตั้งไว้ 5 แห่ง ในลักษณะที่เตรียมการล่วงหน้า โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะทำลายเรือของหน่วยปฏิบัติการตามลำน้ำโขงให้ย่อยยับ
ทันทีที่ถูกโจมตี พันจ่าตรีปรัศน์ร้องบอกลูกเรือให้ทำการยิงโต้ตอบและพยายามบังคับเรือแล่นซิกแซ็กเพื่อหลบออกจากวิถีกระสุนของข้าศึกตามที่เคยได้รับการฝึกมาก่อนหน้านี้แล้วหลายครั้ง
พร้อมกันนั้น พันจ่าตรีหนุ่มก็หันไปคว้าไมค์วิทยุขึ้นมาเพื่อที่จะแจ้งสถานการณ์ฉุกเฉินและขอความช่วยเหลือไปยังสถานีเรือของหน่วยปฏิบัติการตามลำน้ำโขงหรือ นปข. ให้ส่งกำลังมาสนับสนุน
*แต่แล้วในวินาทีอันต่อเนื่อง กระสุนของทหารลาวนัดหนึ่งได้พุ่งเข้ามาที่กลางแสกหน้าของพันจ่าตรีปรัศน์อย่างเหมาะเหม็ง*
ร่างของลูกประดู่จากอำเภอพระประแดงสะดุ้งสุดตัวหงายผงะหล่นลงจากที่นั่งเสียชีวิตทันที พร้อมๆ กับที่พีบีอาร์ซึ่งปราศจากผู้บังคับกลายเป็นเรือไร้หางเสือพุ่งหัวขึ้นเกยตื้นบริเวณ "ดอนแตง" ซึ่งเป็นเนินทรายกลางแม่น้ำโขง ก่อนที่เครื่องยนต์จะดับลงในทันที
แม้ผู้บังคับการเรือจะถูกกระสุนข้าศึกเสียชีวิตไปแล้ว แต่พลประจำเรือที่เหลืออยู่ของพีบีอาร์ 123 ก็ยังทำการต่อสู้ด้วยสัญชาตญาณของลูกนาวีไทย
พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ผบ.ทร. ในขณะนั้นส่องกล้องดูความเคลื่อนไหวบนดอนแตง
|
กระสุนปืนกลขนาด .50 แคลิเบอร์ แท่นคู่ทางด้านหัวเรือและปืนกล ขนาดเดียวกันทางด้านท้ายเรือยังคงสาดกระสุนข้ามกลับไปยังฝั่งลาวอย่างห้าวหาญ แม้ว่าในช่วงเวลานั้น เรือจะเกยหัวขึ้นไปอยู่บนสันดอนและกลายเป็น "เป้านิ่ง" ให้ข้าศึกซัลโวเข้าใส่อย่างได้เปรียบก็ตาม
*ทุกวินาทีที่ผ่านไป สถานการณ์ของฝ่ายเราตกอยู่ในภาวะคับขัน แต่เรือพีบีอาร์หมายเลข 123 ยังคงยิงสู้ข้าศึกจนกระสุนหมด*
ในเวลาต่อมา หน่วยปฏิบัติการตามลำน้ำโขงก็ได้ส่งเรือพีบีอาร์ หมายเลข 125 และหมายเลข 128 เข้ามาสมทบเพื่อทำการช่วยเหลือพร้อมด้วยกำลังทหารนาวิกโยธิน ซึ่งเคลื่อนเข้ามาตั้งมั่นอยู่บนฝั่งไทย
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายข้าศึกได้ส่งเรือเข้ามายิงกดดันต่อเป้าหมายบริเวณดอนแตง รวมทั้งได้ใช้ "รถถัง" ยิงอาวุธข้ามมาจากฝั่งลาวอย่างรุนแรง เพื่อที่จะขัดขวางการช่วยเหลือทำลายเรือ 123 ให้พินาศ
ปฏิบัติการของเรือ 125 และเรือ 128 จึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะบริเวณดอนแตงกลายเป็นเป้าหมายที่ทหารลาวยิงถล่มเข้าใส่ราวกับห่าฝน
ฝ่ายเราจึงช่วยเหลือได้เฉพาะพลประจำเรือ 123 ซึ่งได้รับบาดเจ็บออกมาจากเรือเท่านั้น โดยเรือ 128 ทำการยิงคุ้มกันและให้เรือ 125 แล่นเข้าไปใกล้ดอนแตง เพื่อให้ผู้บาดเจ็บที่ยังสามารถช่วยตัวเองได้สละเรือ 123 ออกมาขึ้นเรือ 125
*ส่วนศพของพันจ่าตรีปรัศน์จำเป็นต้องทิ้งไว้บนเรือก่อน มิเช่นนั้นจะเกิดความสูญเสียเพิ่มมากขึ้นไปอีก*
หลังถอนตัวออกมาได้แล้ว หน่วย นปข. ได้รายงานมายังศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือในพระราชวังเดิมแจ้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้กำลังพลประจำเรือพีบีอาร์ หมายเลข 123 เสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บ 1 นาย ส่วนเรือพีบีอาร์ หมายเลข 128 ซึ่งเข้าไปช่วยมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 นาย ไม่มีผู้เสียชีวิต
แต่ภารกิจของทหารเรือไทยยังไม่สิ้นสุดลงเพียงแค่นั้น เพราะพลเรือเอก "สงัด ชลออยู่" ผู้บัญชาการทหารเรือและผู้บัญชาการทหารสูงสุด สั่งการอย่างเด็ดขาดว่า "ให้นำศพผู้เสียชีวิตกลับออกมาจากเรือให้ได้"
รุ่งเช้าของวันอังคารที่ 18 พฤศจิกายน กองทัพเรือได้ส่งชุดปฏิบัติการนาวิกโยธินข้ามไปยังดอนแตง เพื่อปฏิบัติการกู้ศพผู้เสียชีวิตออกมาจากเรือ พร้อมทั้งร้องขอการสนับสนุนเครื่องบินใบพัดแบบ ที-28 ของกองทัพอากาศ จำนวน 2 เครื่อง ทำหน้าที่คุ้มกันเหนือบริเวณเป้าหมาย
*เมื่อฝ่ายลาวเห็นทหารเรือไทยข้ามไปยังดอนแตง การโจมตีขัดขวางก็เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง*
เรือตรวจการณ์ลำน้ำฝ่ายลาวได้แล่นรุกล้ำเข้ามายังดอนแตง ซึ่งเป็นเขตไทยและใช้ปืนเรือยิงสกัดกั้นการเคลื่อนที่ของทหารนาวิกโยธินซึ่งพยายามรุกคืบไปยังเรือ 123
เครื่องบิน ที-28 ของกองทัพอากาศจึงทำการโจมตีตอบโต้ โดยใช้ปืนกลอากาศยิงข่มเพื่อกดดันให้เรือของฝ่ายลาวถอยกลับไปและออกห่างจากบริเวณที่เรือ 123 ของฝ่ายไทยเกยตื้นอยู่
ถึงแม้เรือของฝ่ายลาวจะแล่นกลับไปโดยไม่สามารถส่งทหารเข้ามาขึ้นฝั่งที่ดอนแตงได้ แต่เครื่องบินของฝ่ายไทยก็ถูกยิงตอบโต้ด้วยปืนต่อสู้อากาศยานเช่นกัน และบริเวณดอนแตงในตำแหน่งที่เรือเกยตื้นก็เป็นจุดที่ฝ่ายลาวระดมยิงอาวุธหนักเข้าใส่เพื่อกดดันไม่ให้นาวิกโยธินของไทยเข้าประชิดเรือได้
เรือพีบีอาร์ ลำล่าสุดที่กรมอู่ทหารเรือสร้างเสร็จเมื่อเดือนกันยายน 2549
|
ในที่สุด ผู้บังคับบัญชาในพื้นที่ของฝ่ายไทยจึงต้องสั่งถอนกำลังกลับโดยที่ไม่สามารถนำศพพันจ่าตรีปรัศน์ออกมาจากเรือได้ เหตุการณ์จึงทวีความตึงเครียดมากขึ้นไปอีก
เมื่อถึงตอนนั้น *พลเรือเอกสงัด ชลออยู่* ผู้บัญชาการทหารเรือและผู้บัญชาการทหารสูงสุด จึงได้สั่งการอีกครั้งและกลายเป็นประโยคประวัติศาสตร์สำหรับทหารเรือไทยมาจนทุกวันนี้ว่า
*"ถ้าไม่ได้ศพคืนก็ต้องเพิ่มศพเข้าไป"*
ถ้อยคำนี้แสดงถึงความเข้มแข็งเฉียบขาดของผู้นำกองทัพของไทยในยุคนั้น และทำให้ทุกหน่วยที่มีส่วนเกี่ยวข้องมีขวัญและกำลังใจเต็มเปี่ยม มุ่งมั่นที่จะปฏิบัติภารกิจที่พวกเขามอบหมายให้สำเร็จลุล่วงให้จงได้
ในคืนวันนั้นเอง ปฏิบัติการกู้เรือและชิงศพก็เริ่มขึ้นเป็นครั้งที่สองโดยในเวลาประมาณ 20 นาฬิกา 15 นาที นักทำลายใต้น้ำจู่โจมหรือ "มนุษย์กบ" จากเกาะพระของกองทัพเรือซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหน่วยรบพิเศษที่มีขีดความสามารถมากที่สุด สามารถปฏิบัติการได้ทั้งสามมิติก็บินไปถึงจังหวัดหนองคายและถูกส่งเข้าพื้นที่ปฏิบัติการ
ผู้นำทีมมนุษย์กบในขณะนั้นคือเรือเอก "อนุวัฒน์ บุญธรรม" พร้อมด้วยมนุษย์กบอีก 5 นาย ได้แทรกซึมข้ามลำน้ำเข้าไปยังพื้นที่อันตรายโดยอาศัยจังหวะที่มีเมฆบดบังดวงจันทร์ ทำให้ดอนแตงตกอยู่ในความมืดสลัว
ทีมมนุษย์กบของไทยเคลื่อนตัวจากบ้านท่ามะเฟือง อำเภอท่าบ่อมุ่งสู่ดอนแตง บริเวณที่เรือ พีบีอาร์ 123 เกยตื้นอยู่ ห่างจากฝั่งไทยประมาณ 2 กิโลเมตร
มันเป็นการเคลื่อนที่อย่างเงียบเชียบและระมัดระวัง โดยที่ทหารลาวซึ่งคุมเชิงอยู่ไม่มีโอกาสสังเกตเห็นเลย
ประมาณครึ่งชั่วโมงต่อมา ทีมมนุษย์กบซึ่งออกจากฝั่งไทยพร้อมด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์สำคัญก็ไปถึงที่หมายและลงมือทำงานทันที
จนกระทั่งเวลาตีหนึ่ง ปฏิบัติการจึงสำเร็จเรียบร้อย ฝ่ายเราสามารถนำศพของพันจ่าตรีปรัศน์ พงษ์สุวรรณ กลับมาได้
ไม่เพียงแต่จะกู้ศพกลับมาเท่านั้น ทีมมนุษย์กบของกองทัพเรือยังได้ถอดปืนเรือและเครื่องมือสื่อสารตลอดจนอุปกรณ์สำคัญทุกชิ้นจากเรือและนำกลับมายังฝั่งไทย ก่อนที่จะ "วางระเบิด" ไว้ที่จุดสำคัญของเรือต่อสายชนวนลากกลับมาด้วย
อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดแล้วเมื่อเห็นฝ่ายไทยระดมกำลังจังก้าเรียงรายกันริมฝั่งแม่น้ำโขงหันปากกระบอกเข้าสู่ฝั่งลาว
ทหารลาวที่คุมเชิงอยู่บริเวณดอนแตงจึงถอนตัวกลับออกไป เปิดโอกาสให้ฝ่ายไทยเข้ากู้เรือและลากเรือ 123 กลับคืนมาได้ในวันต่อมาโดยไม่มีการปะทะเกิดขึ้นอีก
สองวันหลังเกิดเหตุ เป็นวันที่ 20 พฤศจิกายน ตรงกับวันกองทัพเรือ พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้เดินทางไปเยี่ยมกำลังพลที่ได้รับบาดเจ็บ พร้อมกับกล่าวชมเชยความสำเร็จของทีมช่วยเหลือและกู้เรือ นับเป็นความสำเร็จที่ไม่ต่างอะไรกับการมอบของขวัญอันล้ำค่าให้กับทหารเรือไทยเนื่องในวันกองทัพเรือ
จากวันนั้นถึงวันนี้ "วีรกรรมที่ดอนแตง" ได้กลายเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่น่าจดจำและรำลึกถึงวีรกรรมของทหารเรือไทยและหน่วย นปข.
แม้วันเวลาได้ผ่านล่วงเลยมา 31 ปีแล้ว และ นปข.ก็เปลี่ยนนามเรียกขานเป็น *หน่วยรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง* (นรข.) แล้วก็ตาม
แต่เรือเร็วตรวจการณ์ลำน้ำ (รตล.) หรือเรือพีบีอาร์ (PBR ชื่อเต็ม RIVER PATORL BOAT) ก็ยังคงปฏิบัติภารกิจที่สำคัญมาอย่างต่อเนื่อง และอยู่คู่กับความสงบเรียบร้อยของลำน้ำโขงมาจนถึงปัจจุบัน
เรือเร็วตรวจการณ์ลำน้ำหรือเรือพีบีอาร์ เป็นเรือที่ใช้ในการปฏิบัติภารกิจตามลำน้ำที่มีประสิทธิภาพ มีต้นแบบมาจากกองทัพเรือสหรัฐซึ่งนำมาใช้อย่างแพร่หลายในช่วงสงครามเวียดนาม
ส่วนในประเทศไทยกองเรือลำน้ำกองเรือยุทธการได้ใช้เรือประเภทดังกล่าวในการลาดตระเวน ในพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง เพื่อปฏิบัติภารกิจด้านการรักษาความมั่นคงของประเทศและการป้องกันการกระทำผิดกฎหมายในพื้นที่ดังกล่าว
ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบลำเลียงยาเสพติด การลักลอบนำแรงงานเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย รวมทั้งสินค้าหนีภาษี เป็นต้น
ด้วยสภาพภูมิประเทศตามลำน้ำโขง มีลักษณะเป็นเกาะแก่งและสันดอนอยู่มาก โดยเฉพาะในหน้าแล้งลำน้ำโขงจะตื้นเขินกว่าปกติ
ดังนั้นเรือที่ใช้ในการปฏิบัติภารกิจจึงต้องเป็นเรือที่มีขนาดเล็กและกินน้ำไม่ลึกมากนัก รวมทั้งจะต้องมีความเร็วสูง เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการแล่นเข้าออกพื้นที่ปฏิบัติการ
การสร้างเรือตรวจการณ์ลำน้ำหรือเรือพีบีอาร์ ซึ่งมีประวัติการใช้งานมาอย่างยาวนาน โดยฝีมือของบุคลากรในกรมอู่ทหารเรือ ไม่เพียงแต่จะเป็นการสืบทอดภารกิจตามลำน้ำเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
หากแต่ยังแสดงให้เห็นถึงความสามารถของทหารเรือไทย โดยเฉพาะ "ทหารช่าง" ของกองทัพเรือ ซึ่งมีการพัฒนาองค์ความรู้ในด้านวิศวกรรมเรือมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีกรมอู่ทหารเรือเป็นหน่วยหลักที่ทำให้นโยบายในการ "พึ่งพาตนเอง" ของกองทัพไทยเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง
จนถึงวันนี้ *พลเรือเอกสงัด ชลออยู่* อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด และหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครอง พ.ศ.2519 หัวหน้าคณะปฏิวัติ พ.ศ.2520 ถึงแก่อนิจกรรมไปแล้ว 26 ปี
แต่คณะกรรมการมูลนิธิ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ และผู้ที่เคยเป็นลูกศิษย์ ตลอดจนผู้ที่ให้ความเคารพนับถือ ยังคงระลึกนึกถึงอดีตลูกประดู่ผู้เข้มแข็งท่านนี้อยู่เสมอ
และในวันอาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายนนี้ จะมีพิธีทำบุญครบรอบอนิจกรรมให้แก่ พล.ร.อ.สงัด ณ สุสานวังหิน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง โดยกองทัพเรือจัดรถบัสปรับอากาศให้การสนับสนุนการเดินทางออกจากสนามกอล์ฟราชนาวีบางนา เวลา 7 โมงครึ่ง
จึงขอเชิญผู้ที่ยังไม่ลืมอดีตแม่ทัพเรือ ซึ่งมีบทบาทสำคัญมากมาย ไปร่วมงานโดยพร้อมเพรียงกัน