หน้าแรก    ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบคำถาม    เข้าสู่ระบบ      


วิศวฯ มก. เตรียมส่งต้นแบบหุ่นยนต์กู้ระเบิดลงชายแดนภาคใต้

โดยคุณ : Skyman เมื่อวันที่ : 21/11/2006 19:08:07

วิศวฯ มก. เตรียมส่งต้นแบบหุ่นยนต์กู้ระเบิดลงชายแดนภาคใต้

คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรฯ สร้าง ?ต้นแบบหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด? เตรียมส่งปฏิบัติงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีสมรรถภาพเก็บกู้วัตถุต้องสงสัย มีแบบใช้ล้อและตีนตะขาบสำหรับใช้กับพื้นที่แตกต่าง เตรียมพัฒนาต่อให้มีความอัจฉริยะมากขึ้น ชี้สามารถดัดแปลงให้วิ่งตรวจสอบระเบิดใต้ท้องรถ ตรวจหาทุ่นระเบิดที่ฝังอยู่ใต้ดิน รวมทั้งเป็นหุ่นยนต์พ่นยาฆ่าแมลงได้ด้วย

รศ.ดร.ณัฏฐกา หอมทรัพย์ จากหน่วยปฏิบัติการวิจัยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าประยุกต์ (RECAPE) ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนา ?ต้นแบบหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด (Research and Development for Bomb Disposal Robot)? เปิดเผยว่า ได้ประสบความสำเร็จในการสร้างหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด ซึ่งจะนำไปใช้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หุ่นยนต์ดังกล่าวแบ่งรายละเอียดงานเป็น 2 ส่วน คือ การออกแบบและสร้างตัวต้นแบบหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด และการเขียนโปรแกรมโดยใช้ไมโครคอนโทรลเลอร์ หรือโปรแกรมสมองกลฝังลงในตัวหุ่นยนต์ ทั้งนี้ หุ่นยนต์มีน้ำหนักประมาณ 50 กิโลกรัม และขนาดประมาณ 60x110x100 ซม. ซึ่งถือว่ากะทัดรัด สามารถปฏิบัติงานในที่แคบและเคลื่อนย้ายง่าย ตัวหนึ่งใช้ล้อสำหรับพื้นที่ขรุขระและพื้นที่ราบ และอีกตัวหนึ่งใช้ตีนตะขาบสำหรับพื้นที่ที่ต้องใช้การปีนป่ายหรือลาดเอียง ทั้งสองแบบใช้ชุดควบคุมมอเตอร์ที่ทนกระแสไฟฟ้าได้ 30 แอมแปร์ ควบคุมได้จากระยะไกลทั้งแบบมีสายและไร้สาย รัศมีไม่น้อยกว่า 300 เมตร สามารถติดตั้งอุปกรณ์เพิ่ม เช่น แขนกลยกน้ำหนักได้ประมาณ 5 กิโลกรัม ปืนฉีดน้ำความดันสูงสำหรับยิงทำลายวัตถุต้องสงสัย มีกล้องวิดีโอส่งภาพมายังชุดควบคุมทันทีที่ระดับ 30 ภาพต่อวินาที นอกจากนี้ แผงวงจรหลักระบบฝังตัวที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นพื้นฐาน มีระบบติดต่อแบบไร้สายที่เป็นระบบเดียวกับระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะเพิ่มความสะดวกในการส่งภาพและควบคุม

รศ.ดร.ณัฏฐกา กล่าวอีกว่า ในปี 2550 คณะวิจัยฯ จะเริ่มพัฒนาตัวหุ่นยนต์ให้มีความอัจฉริยะมากขึ้น เช่น สามารถควบคุมเส้นทางแบบอัตโนมัติและมีโปรแกรมเก็บและแสดงข้อมูลท่าทางการเคลื่อนที่ของแขนกล การบีบจับใช้อุปกรณ์วัดแรงป้อนกลับ และภาพที่ส่งกลับจะพัฒนาให้สามารถสร้างเป็นภาพ 3 มิติ เพื่อความสะดวกและชัดเจนในการจับเป้าหมาย ทั้งนี้ เพื่อให้หุ่นยนต์สามารถปฏิบัติหน้าที่แทนคน โดยเฉพาะทหารที่ต้องสูญเสียจากเหตุเก็บกู้ระเบิดซึ่งมีบ่อยครั้ง นอกจากนี้ หุ่นดังกล่าวยังสามารถดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ในทางอื่นได้ เช่น หุ่นวิ่งใต้ท้องรถเพื่อตรวจสอบหาวัตถุระเบิด ติดตั้งตัวตรวจจับโลหะเพื่อตรวจหาทุ่นระเบิดที่ฝังอยู่ในดิน หรือใช้เป็นหุ่นยนต์พ่นยาฆ่าแมลงในด้านการเกษตรได้

สำหรับโครงการวิจัยและพัฒนา ?ต้นแบบหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด? นี้ มีนายถิระภัทธ จิระนรวิชย์ นายเมธา ผลภาษี และนายพิระณัฐ วิรุณหะ เป็นทีมนักวิจัยหลัก โดยความร่วมมือจากกองวิชาวิศวกรรมศาสตร์ โรงเรียนนายเรืออากาศ และทุนสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่ชาติ (วช.).-สำนักข่าวไทย



ส่งเมื่อ : 21 พ.ย. 49 / 16:34:47 น.
โดย : MCOT News Editor