...............เอเชียนวอลสตรีท- กองทัพเรือสหรัฐฯ และจีนปฏิบัติการทางทหารร่วมกันเป็นครั้งแรก ในวันอาทิตย์นี้ ในภารกิจ ?ค้นหาและกู้ภัย? ที่ฐานทัพเรือจั้นเจียง ในมณฑลกว่างตง ขณะที่สหรัฐฯ กำลังวิตกว่า อาจต้องเผชิญกับการสูญเสียเก้าอี้มหาอำนาจทางการทหารให้แก่จีน
ท่ามกลางความตรึงเครียดในช่วงเดือนที่ผ่านมา ล่าสุดความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างมหาอำนาจทั้งสองดูเหมือนจะค่อยๆ ผ่อนคลายลง เมื่อกองทัพเรือสหรัฐฯ ร่วมกับกองทัพเรือจีน วางแผนฝึกซ้อมภารกิจ ?ค้นหาและกู้ภัย? ร่วมกัน ในวันอาทิตย์นี้ (19 พ.ย.) โดยเรือขนส่ง ยูเอสเอส จูโน ซึ่งบรรทุก นาวิกโยธินสหรัฐฯ กว่า 400 ชีวิต ภายใต้การบัญชาการของ พลเรือเอก แกรี รุกเฮด ผู้บัญชาการกองเรือแปซิฟิก ได้เทียบท่าที่ท่าเรือจั้นเจียง มณฑลกว่างตง ทางตอนใต้ของจีน เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (12 พ.ย.) เพื่อเตรียมการฝึกซ้อมภารกิจดังกล่าว ซึ่งเป็นการปฏิบัติการทางทหารร่วมกันระหว่างจีน-สหรัฐฯ ครั้งแรก
......ยุทธศาสตร์ปฏิรูปทัพเรือของรัฐบาลปักกิ่ง ได้เสริมสร้างสมรรถภาพนาวีจีนจนเป็นที่หวั่นเกรงของมหาอำนาจโลกอย่างอเมริกา กระทั่งอดีตรัฐมนตรีกลาโหม สหรัฐฯ โดนัลด์ รัมส์เฟล และบรรดานักยุทธศาสตร์ในเพนตากอนต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า สหรัฐฯ เผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ คือ การเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจทางการทหารในเอเชีย ซึ่งมีเหตุจากการปฏิรูปทัพเรือของจีน
ความวิตกกังวลดังกล่าวทำให้ สหรัฐฯ วางแผนที่จะเพิ่มจำนวนเรือบรรทุกเครื่องบินในมหาสมุทรแปซิฟิก ภายใน 2 ปีข้างหน้าเพื่อคานอำนาจจีน
อาการวิตกจริตของเหล่าบรรดาผู้นำในวอชิงตัน ดูเหมือนจะยิ่งทรุดหนักมากขึ้น เมื่อเรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส คิตตี้ฮอว์ค ของสหรัฐฯ ตรวจพบเรือดำน้ำของกองทัพปลดปล่อยประชาชนกำลังปฏิบัติการอยู่ใกล้กับ ยูเอสเอส คิตตี้ฮอว์ค ขณะลาดตระเวนในมหาสมุทรแปซิฟิก
......พลเรือเอก วิลเลียม แฟลลอน ผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐฯประจำภาคพื้นแปซิฟิก แสดงความเห็นถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ขณะร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่กลาโหมจาก 23 ประเทศในมาเลเซียเมื่อวันพุธ (15 พ.ย.) ว่า ?เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงอุบัติเหตุที่เกิดจากความบังเอิญ เนื่องจากทั้งสองประเทศมีหน่วยปฏิบัติการในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกัน ฉะนั้น แม้เรามิอยากให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ทว่าหากคำนึงถึงความเป็นไปได้ เหตุการณ์ดังกล่าวก็ถือเป็นเรื่องปกติ?
แม้พลเรือเอก แฟลลอน จะมองโลกในแง่ดี ทว่าบรรดาผู้มีอำนาจในวอชิงตันซึ่งเชื่อในทฤษฎีภัยคุกคามจากจีน กลับแถลงว่า ?เหตุการณ์ดังกล่าวมิใช่อุบัติเหตุ? ก่อนหน้าที่เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้น เหตุการณ์ซึ่งมีลักษณะคล้ายกันนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว ประมาณปี 2003 เรือดำน้ำจีนได้ล่วงล้ำเขตน่านน้ำญี่ปุ่น จนก่อให้เกิดปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด เมื่อทางการญี่ปุ่นออกไล่ล่าเรือดำน้ำดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม พลเรือเอก แฟลลอน ได้แสดงทัศนะว่า จีนยังต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะขึ้นชั้นเป็นภัยคุกคามสหรัฐฯ ทว่าสหรัฐฯ ก็ควรตัดไฟเสียแต่ต้นลม ด้วยการดึงจีนเป็นพันธมิตรประสานความร่วมมือกับจีนเสียตอนนี้ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นเครื่องสะท้อนถึงความจำเป็นว่า เราควรเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางทหารกับจีน พลเรือเอก แฟลลอน กล่าว
......ที่มา
โดย ผู้จัดการออนไลน์ | 19 พฤศจิกายน 2549 11:12 น. |