อนาคตค่าไฟฟ้าต้องแพงขึ้น ถ้าประเทศไทยยังใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า แม้จะมีก๊าซธรรมชาติเป็นของตัวเอง...แต่ก็น้อยนิด อีกไม่กี่ปี ก็หมดไป...
ตอนนี้ก๊าซไม่หมด ยังต้องยืมจมูกพม่าหายใจ นำเข้ามาจากพม่าเกือบ 30%
และอีก 4 ปีข้างหน้าก๊าซในอ่าวไทยจะอยู่ในขั้นร่อยหรอ จน ปตท.มีแผนต้องนำเข้า ก๊าซธรรมชาติเหลว ที่เรียกกันว่า LNG (Liquid Natural Gas) จากต่างประเทศเข้ามาใช้แทน
นี่คือสัญญาณเตือนภัยที่บอกให้เราได้รู้ว่า ค่าไฟฟ้า ค่าเอฟที จะต้องแพงขึ้นแน่
ดร.สีหศักดิ์ อารีราชการัณย์ ผอ.ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัทผู้ผลิตและนำเข้าพลังงาน บมจ.ลานนา รีซอร์ส ชี้ว่า...ราคา LNG ที่ซื้อขายในตลาดโลกจะผูกติดอยู่กับราคาน้ำมันดีเซล อยู่ที่ประมาณ 80% ของราคาน้ำมันดีเซล
คิดดูก็แล้วกัน...เอามาปั่นผลิตไฟฟ้า ค่าไฟจะแพงขึ้นแค่ไหน
?ทางเลือกและทางรอดของประเทศไทยในขณะนี้ มีอยู่ 2 แนวทางที่จำเป็นต้องรีบคิดรีบ ทำเสียแต่วันนี้ นั่นก็คือ หันมาผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินให้มากขึ้น เพราะเป็นโรงงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ในราคาที่ถูก
กับอีกแนวทางหนึ่ง ต้องกล้าตัดสินใจที่จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เพราะเป็นโรงงานไฟฟ้าอีกแบบที่ผลิตไฟฟ้าได้ในราคาถูก ใกล้เคียงกับถ่านหิน?
ดร.สีหศักดิ์ ย้ำว่า รัฐบาลต้องกล้าคิดกล้าทำกล้าตัดสินใจเสียแต่วันนี้ เพราะการสร้างโรงไฟฟ้าแต่ละโรงต้องใช้หลายปี โรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างน้อยก็ 3 ปี โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ใช้เวลา 10 ปี เป็นอย่างต่ำ
ต้องรีบคิดรีบทำ จะมาเอ้อระเหยลอยชาย ลอยตัวทำเป็นทองไม่รู้ร้อนเหมือนที่ผ่านมาไม่ได้แล้ว
?โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศไทย ในอนาคตระยะสั้นต้องเร่งสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นมาใช้ก่อน เพราะสร้างได้เร็วกว่า สามารถรับมือได้ทันต่อวิกฤติราคาก๊าซธรรมชาติที่แพงขึ้นในอนาคตอันใกล้
แต่ในระยะยาว เราจำเป็นต้องพึ่งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ไม่เช่นนั้นเราจะประสบ ปัญหาถูกกีดกันทางการค้า อันเป็นผลมาจากปฏิญญาเกียวโตได้ ที่ต้องการให้ทุกประเทศลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งทำให้โลกร้อน?
นายเจน นำชัยศิริ รองประธานคณะกรรมการบริหาร สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นข้ามช็อตมองไกลไปถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก
หลายคนอาจจะสงสัยการไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะทำให้เราถูกกีดกันทางการค้าได้อย่างไร... โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกี่ยวอะไรกับภาวะโลกร้อน และเกี่ยวอะไรกับปฏิญญาเกียวโต
คำตอบก็คือ...ภาวะโลกร้อน เกิดจากมนุษย์บนโลกใบนี้ ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ออกมาจากปล่องควันโรงงานอุตสาหกรรม เป็นหนึ่งในก๊าซที่ทำให้โลกร้อนขึ้น
โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทุกชนิด ไม่ว่าจะใช้น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ล้วนแต่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศทั้งสิ้น นานาชาติจึงได้มีการเจรจา และ ลงนามในพิธีสารเกียวโต... โดยขั้นแรกจะบังคับให้ชาติอุตสาหกรรม 35 ประเทศ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ปี 2533 ก๊าซเรือนกระจกมีเท่าไร...ปี 2555 ต้องลดให้ได้ 5.2%
ส่วนมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขั้นที่ 2 ซึ่งจะมีขึ้นในปี 2556-2560 ยังอยู่ในขั้นเจรจารอบใหม่ว่าจะเอากันยังไง จะบังคับลุกลามมาถึงประเทศกำลังพัฒนาอย่างเราหรือไม่...ยังไม่รู้
?ตอนนี้ประเทศไทยยังไม่ถูกบังคับให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ต่อไปเราอาจจะโดนบังคับก็ได้ เพราะภาวะโลกร้อนเป็นปัญหา ของโลกที่ทุกประเทศต้องช่วยกัน นานาชาติอาจจะออกมาตรการกีดกันทางการค้า กับประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น เก็บภาษีสินค้าที่มาจากประเทศปล่อย ก๊าซเรือนกระจกมากในอัตราแพง เป็นต้น
ไฟฟ้าจากถ่านหินถึงจะมีราคาถูก แต่ก็มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมามาก ไม่เหมือนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกแทบไม่มีเลย เพราะไม่มีการเอาเชื้อเพลิงมาจุดไฟเผาเหมือนโรงไฟฟ้าแบบอื่น?
นี่คือเหตุผลที่สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มองว่า ในที่สุดแล้วโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จะเป็นคำตอบสุดท้าย ที่คนไทยจะต้องพึ่งเป็นทางรอดของประเทศ
เพราะได้ทั้งไฟฟ้าในราคาถูก และทำมาค้าขายแข่งกับประเทศอื่นได้ โดยไม่ถูกมาตรการกีดกันทางการค้าเล่นงาน
เนื่องจากเทคโนโลยีในปัจจุบัน ยังไม่มีโรงไฟฟ้าแบบไหนที่สามารถผลิตไฟฟ้า ได้ราคาถูกเท่านิวเคลียร์ โดยไม่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ไฟฟ้าพลังลม มีต้นทุนหน่วยละ 3.4 บาท, พลังน้ำ 5.4 บาท, เซลล์ แสงอาทิตย์ 38.7 บาท
โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ หน่วยละ 1.72 บาท
เป็นตัวเลขต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยเฉลี่ย จากการศึกษาขององค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ของกลุ่มประเทศร่ำรวย 30 ประเทศ ที่นำค่าเชื้อเพลิง ค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆทั่วโลก มาคำนวณหาต้นทุนค่าไฟฟ้าต่อหน่วย
ด้วยปัญหาโลกร้อนและวิกฤติน้ำมันที่เกิดขึ้น ดร.มนูญ อร่ามรัตน์ อดีตเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ให้ข้อมูลว่า ทำให้ปัจจุบันมีหลายประเทศหันกลับมาสนใจที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มขึ้น
หลังราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งไปเกินระดับ 60 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล มีการเร่งสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มขึ้นมา 25 โรงใน 10 ประเทศ
แม้แต่ประเทศที่เป็นเจ้าของบ่อก๊าซธรรมชาติยักษ์ใหญ่ของโลก อย่าง อิหร่าน ก็ยังสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ขึ้นมา 2 โรง, อินเดีย เดิมมีอยู่ 14 โรง สร้างเพิ่ม 9 โรง, ญี่ปุ่น เดิมมี 54 โรง สร้างเพิ่มอีก 2 โรง รัสเซีย เดิมมี 31 โรง สร้างใหม่อีก 2 โรง, จีน เดิมมี 9 โรง สร้างเพิ่มอีก 2 โรง, ไต้หวัน เดิมมี 6 โรง สร้างเพิ่มอีก 2
ไม่เว้นแม้แต่ประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อนบ้านของไทย ตอนนี้เวียดนามมีโครงการสร้างแล้ว จะเปิดเดินเครื่องได้ในปี 2560, อินโดนีเซียมีทั้งก๊าซทั้งน้ำมันและถ่านหิน ก็กำลังลงมือสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
มาเลเซียมีทั้งน้ำมันและก๊าซ แม้ตอนนี้จะไม่มีแผน แต่ตั้งเป้าไว้ว่าราคาน้ำมันดิบทะลุ 100 เหรียญสหรัฐฯเมื่อไร จะเดินหน้าเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ประเทศเล็กๆ อย่างพม่า ที่มีทรัพยากรมากมายและไทยต้องพึ่งก๊าซธรรมชาติ เดิมมีโครงการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ตอนนี้ต้องระงับโครงการไว้ชั่วคราว เพราะเงินหมด เนื่องจากไปซื้อเครื่องบินรบ และเรือรบจากจีนมากมายเป็นประวัติการณ์ จนฝ่ายความมั่นคงไทยยังผวา...กองทัพไทยจะสู้พม่าไหวหรือเปล่า
ส่วนประเทศไทยนั้นมีแผนมาตั้งแต่ปี 2509 คิดทำมารุ่นเดียวกับสนามบินหนองงูเห่า
มีการจัดเตรียมพื้นที่ไว้เรียบร้อย จะสร้างที่อ่าวไผ่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี มีการเซ็นสัญญาจ่ายเงินมัดจำค่าเชื้อเพลิงจากสหรัฐฯแล้ว... แต่เมื่อมีการสำรวจพบก๊าซในอ่าวไทย ก็มีเหตุต้องเลื่อนโครงการ และก็เลื่อนมาโดยตลอด
จนต้องขายใบจองค่าเชื้อเพลิงให้ประเทศอื่นไป
ถึงวันนี้ก๊าซ...ใกล้จะหมด ก็ยังไม่กล้าฟันธงคิดสร้าง ทั้งที่เราคิดมาก่อนจีน คิดมารุ่นราวคราวเดียวกับเกาหลีใต้...วันนี้เกาหลีใต้ มีแล้ว 19 โรง กำลังสร้างเพิ่มอีก 1 โรง
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์อันตรายแค่ไหน...ที่เกาหลีใต้ มีใครเป็นอะไรจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บ้างหรือเปล่า...ยังไม่เคยเป็นข่าวให้ได้เห็น ส่วนไทยนั้นยังงมโข่ง ซอยเท้าอยู่กับที่ เหมือนเมื่อ 50 ปีก่อน
เราไม่กล้าสร้าง จะด้วยกลัวมันระเบิด...หรือเพราะเกรงใจนายทุนค้าน้ำมัน ค้าก๊าซ ค้าถ่านหิน หากมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ น้ำมัน-ก๊าซ-ถ่านหิน ยอดขายลด กำไรหด...เลยต้องค้านไว้ก่อน.
|