เล็งยุบโครงการแพ็คเกจซื้ออาวุธ 5 แสนล้านบาทของรัฐบาลชุดก่อน ปลัดกลาโหม ชี้โครงการสินค้าเกษตรแลกอาวุธสะดุด ต่างชาติเมิน ซ้ำงบประมาณร่อยหรอ เน้นซ่อมบำรุงไปก่อน
ภายหลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ภารกิจสำคัญประการหนึ่งนอกจากจะต้องเร่งวางรากฐานอำนาจใหม่แล้ว คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. ก็จำต้องเร่ง "ปฏิรูปประเทศ" ครั้งใหญ่ด้วยการตรวจสอบการทุจริตอย่างมโหฬารในรัฐบาลชุดที่แล้ว รวมทั้งต้องพิจารณาทบทวนโครงการ "เมกะโปรเจคท์" ต่างๆ ซึ่งถือเป็น "ขุมทรัพย์" ของบรรดานักการเมือง
หนึ่งในโครงบการเมกะโปรเจคท์ที่เพิ่งถูกหยิบยกขึ้นมาทบทวน และมีแนวโน้มว่าจะถูก "ยกเลิก" คือ โครงการจัดซื้ออาวุธภายใต้งบผูกพัน 9 ปี รวมมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท!!!
พล.อ.วินัย ภัททิยกุล เลขาธิการ คมช. บอกเสียงดังฟังชัดเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ที่ผ่านมาว่า คงจะต้องมีการนำโครงการที่ว่ามาทบทวนใหม่ทั้งหมด เพราะต้องดูว่าจะหาเงินจำนวนมากขนาดนั้นได้จากไหน
ปัญหาประการสำคัญของโครงการนี้ คือ เงื่อนไข "บาร์เตอร์เทรด" หรือแนวคิดที่จะนำ "สินค้าเกษตร" ไปแลกกับ "อาวุธ" ซึ่งที่ผ่านมามีทั้งการเสนอแลกทั้ง ไก่สด ยางพารา และ ลำไย แต่ก็ถูกบริษัทคู่ค้าส่ายหน้า เซย์โน กลับมาทั้งสิ้น เพราะมีความยุ่งยากในการจัดการแปรให้เป็นตัวเงิน
ฉะนั้น นับตั้งแต่เริ่มเดินหน้าโครงการมาตั้งแต่ปี 2548 แต่จนบัดนี้การจัดซื้ออาวุธก็ยังคาราคาซัง เพราะนอกจากเรื่องที่ว่า เกิดปัญหาทางการเมือง และงบประมาณติดขัดจนไม่สามารถจัดซื้อได้จนบัดนี้!
เรื่องที่วางแผนกันมาเป็ฯปีก็เลยดูเหมือนจะกลายเป็น "ฝันกลางวัน"
โครงการนี้เกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2548 เมื่อกระทรวงกลาโหม ภายใต้การกำกับของ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รมว.กลาโหม ได้จัดทำโครงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพในรูปแบบแพ็คเกจ 9 ปี ใช้งบผูกพันตั้งแต่ปี 2549-2559 แบ่งเป็น 3 ช่วง ช่วงละ 3 ปี วงเงิน 567,000 ล้านบาท เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ
เค้กกว่า 5 แสนล้านบาท ถูกจัดสรรให้แก่เหล่าทัพ ตามสัดส่วน
- สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 2,300 ล้านบาท
- กองบัญชาการทหารสูงสุด 24,000 ล้านบาท
- กองทัพบก 206,000 ล้านบาท
-กองทัพเรือ 215,000 ล้านบาท
-กองทัพอากาศ 120,000 ล้านบาท
ส่วนเงื่อนไขสำคัญในการจัดซื้ออาวุธตามโครงการดังกล่าวมีอยู่ 4 ปัจจัย คือ
1.ต้องเป็นความต้องการของเหล่าทัพ
2.ควรเป็น "การค้าต่างตอบแทน" ทางเศรษฐกิจหรือ "บาร์เตอร์เทรด"
3.มีการส่งกำลังบำรุงระยะยาว
4.ต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี
รัฐบาลชุดที่แล้วยกเหตุผลสำคัญในการจัดซื้ออาวุธลอตใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปีว่า ที่ผ่านมาประเทศยังไม่จัดสรรงบประมาณด้านความมั่นคงเท่าที่ควร โดยมุ่งสร้างงานด้านสาธารณสุข การศึกษา และเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ได้ละเลยการเสริมเขี้ยวเล็บของกองทัพจนล้าหลังกว่าประเทศเพื่อนบ้านไปมาก
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว กองทัพก็มีความจำเป็นที่จะต้องมียุทโธปกรณ์เพิ่มเติมเป็นการด่วนจริงๆ โดยดูจากเหตุผลใหญ่ๆ 2 ประการ
1.หากเกิดสงครามขึ้น กระสุนคงคลังสามารถมีใช้ได้เพียง 10 วัน...จากเกณฑ์ปกติที่ต้องมีกระสุนคงคลังใช้ได้อย่างน้อย 45 วัน
2.อากาศยานประเภทเฮลิคอปเตอร์ที่มีอยู่สามารถใช้ได้จริงเพียง 30% จากปกติต้องบินได้ 70-80%
เรื่องนี้ทุกคนต่างก็รับรู้ โดยเฉพาะบรรดา ผบ.เหล่าทัพ ที่ต่างก็รู้อีกเช่นกันว่า งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรมาแต่ละปีนั้นน้อยนิดติดต่อกันมาหลายปีแล้ว
พล.อ.ธรรมรักษ์ เคยระบุว่า งบประมาณการป้องกันประเทศที่เคยได้รับจัดสรรมา 1.4% ของจีดีพีมาติดต่อกัน 6 ปี แต่ความจริงแล้ว น่าจะได้รับ 2% ของจีดีพี เพราะบรรดาเพื่อนบ้านต่างก็ได้กันอยู่ประมาณนี้
ตรงนี้นี่เองที่ทำให้ พล.อ.ธรรมรักษ์ เชียร์ระบบบาร์เตอร์เทรดแบบสุดลิ่มทิ่มประตู
แต่เรื่องที่ "บิ๊กแอ๊ด" โอเค กลับไม่ใช่เรื่องที่แทนที่บริษัทเอกชนจากต่างประเทศจะเออออห่อหมกด้วย
นายคาร์เทน เน็ลเซ็น ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายการจราจรทางอากาศบริษัท เทอร์มา ประเทศเดนมาร์ก กล่าวว่า จะลองเสนอโครงการไปก่อน แต่การบาร์เตอร์เทรดคงทำได้ยาก สำหรับบริษัทเอกชนที่จะมาแลกเปลี่ยนสินค้ากับรัฐบาลไทย ถึงแม้ว่าจะใช้บาร์เตอร์เทรดไม่ถึง 100%
ความคาดหวังของฝรั่งเป็นสิ่งที่ดับฝันกองทัพไทย เพราะถึงแม้จะไม่ใช้บาร์เตอร์เทรด 100% ฝรั่งกลับบอกว่า อยากให้บาร์เตอร์เทรดเพียงแค่ 2% อีก 98% จ่ายเงินสด !
ต่อให้แลกเปลี่ยนแบบ 50:50 ก็ไปได้ยาก เพราะเอกชนจะต้องคิดว่าเขาจะได้อะไรจากการแลกเปลี่ยน ถ้ายิ่งเป็นการแลกเปลี่ยนสินค้าประเภทไก่ ยิ่งไม่มีทาง และก็ยังคิดไม่ออกว่าการบาร์เตอร์เทรดกับสินค้าแล้วจะมีประโยชน์อะไร
นายคาร์เทน ยังได้ยกตัวอย่างประสบการณ์การมาทำธุรกิจที่เมืองไทย ซึ่งทำให้บรรดาเสนาบดี และขุนทหารน้อยใหญ่ในวันนั้น "หน้าชา" ไปตามๆ กัน
"ดีใจที่ได้รับคำยืนยันจากนายกฯ ว่าการประมูลงานในครั้งนี้จะโปร่งใส เพราะครั้งหนึ่งผมเคยมาประมูลงานกับสนามบินในประเทศไทยแห่งหนึ่ง แต่รู้สึกว่าไม่โปร่งใส เพราะคนที่ชนะการประมูล ไม่ใช่คนที่ดีที่สุด" นายคาร์เทน ทิ่มใส่ตรงๆ
นับตั้งแต่นั้นมา โครงการบาร์เตอร์เทรดเพื่อจัดซื้ออาวุธก็ค่อยๆ เงียบหายไปกับสายลม เพราะไม่มีบริษัทใดสนใจที่จะเล่นด้วย อีกทั้งรัฐบาลก็เผชิญมรสุมทางการเมืองอย่างหนักหน่วงต่อเนื่องจากปลายปี 2548-2549 จนไม่สามารถนำเรื่องส่งให้ ครม.อนุมัติในหลักการได้ทันวันที่ 28 เมษายน 2549
ระหว่างนั้นก็มีประเด็นฉาวๆ เป็นระยะๆ ทั้งเรื่องการ "ล็อกสเปค" เพื่อฟันค่าหัวคิวการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่แบบ ซู-30 โครงการนำลำไยไปแลกรถหุ้มเกราะล้อยางจากจีน 120 คัน ซึ่งโชยกลิ่นทุจริตอย่างรุนแรง!!!
ด้วยเหตุนี้รัฐบาลชุดที่แล้ว จึงไม่กล้าขยับตัวอะไรมากนัก ไม่ใช่เพราะกลัวถูกกระแสการตรวจสอบแต่เหตุที่แท้จริงคือฝรั่งไม่ยอมรับเงื่อนไข กระทั่งมีการประกาศยุบสภาของ พ.ต.ท.ทักษิณ และยึดอำนาจโดย คปค.
โครงการเมกะโปรเจคท์กว่า 5 แสนล้านบาท จึงส่อแวว "แท้ง" ตั้งแต่เริ่มต้น
************************************
ปลัด กห. ชี้ความมั่นคงถูกละเลย
ติดเขี้ยวเล็บ ต้องเพิ่มงบเป็น 2%
พล.อ.วินัย ภัททิยกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม และเลขาธิการ คมช. กล่าวถึงเหตุผลในการทบทวนโครงการดังกล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลไม่มีเงินที่จะมารองรับแพ็คเกจนั้นอยู่แล้ว จึงต้องรื้อโครงการเก่าๆ ที่มีอยู่มาดู โครงการใดสามารถดำเนินการได้ก็ต้องทำ อะไรที่ต้องปรับปรุงพัฒนาก็ต้องทำ และต้องดูว่านายกฯ จะจัดสรรงบประมาณในการป้องกันประเทศในปีนี้เท่าไรด้วย
พล.อ.วินัย ยอมรับว่า โครงการจัดซื้ออาวุธโดยใช้การแลกเปลี่ยนกับสินค้าเกษตร หรือบาร์เตอร์เทรด นั้นมีปัญหาอยู่บางส่วน เพราะการนำผลิตภัณฑ์เกษตรเข้าไปผูกโยงกับการจัดหา มันส่งผลกระทบทางเทคนิคพอสมควร อีกทั้ง กว่าจะดำเนินการได้ ก็ทำให้หลายโครงการต่างๆ ไม่สามารถเดินหน้าไปได้ เพราะข้อจำกัดในการให้คู่สัญญา และ คู่ค้า มาดูแลผลิตผลเกษตรก็ติดขัดไปหมด เช่นเรื่องโครงการแลกลำใย ก็มีปัญหา ส่งผลกระทบในการจัดหายุทโธปกรณ์ไม่เป็นไปตามเป้า มิหนำซ้ำงบประมาณก็ค่อนข้างน้อย
สำหรับภารกิจการปฏิรูปกองทัพในอนาคตจะต้องมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาขีดความสามารถ และการป้องกันประเทศว่า จะวางตัวเองไว้ตรงไหนใน 5 ปีข้างหน้า เพราะเข้าใจว่า พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี คงจะหันมาดูการจัดสรรงบประมาณในการป้องกันประเทศ และกระทรวงกลาโหมให้มากขึ้น
พล.อ.วินัย ย้ำถึงความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณในด้านความมั่นคงว่า "ที่ผ่านมาขีดความสามารถในการป้องกันประเทศของเราค่อนข้างจะอยู่ในระดับน่าเป็นห่วง จากจัดสรรงบประมาณในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับต่ำมาก ในขณะนี้เรียกได้ว่าต่ำที่สุดในภูมิภาคนี้"
พล.อ.วินัย ชี้ให้เห็นอีกว่า ที่ผ่านมารัฐบาลชุดก่อนๆ ให้ความสำคัญกับงบประมาณของกระทรวงกลาโหมน้อยมาก โดยในปี 2540 แม้จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลยุคนั้นยังจัดสรรงบประมาณให้ถึง 2.2% ของจีดีพี หรือประมาณ 16% ของงบประมาณประเทศทั้งหมด (4.4 แสนล้านบาท)
ในขณะที่ปี 2549 งบประมาณของประเทศอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท แต่กระทรวงกลโหมกลับได้งบประมาณเพียง 1.09% ของจีดีพี อยู่ที่ 6% ของงบประมาณ ซึ่งถือว่าน้อยกว่าปี 2540 ด้วยซ้ำ
"ผมเป็น เลขาฯ สมช.มา 4 ปีเห็นว่า รัฐบาลให้ความเร่งด่วนของ security (ความมั่นคงของประเทศ) ต่ำมาก แม้กระทั่งแผนบริหารราชการแผ่นดินในต้นปี 2548 ไม่รู้ว่าการเรียงลำดับยุทธศาสตร์ของประเทศจะสื่อหรือสะท้อนให้เห็นอะไร เพราะยุทธศาตร์ด้านความมั่นคงอยู่ในลำดับที่ 8 จากทั้งหมด 8 ลำดับ" พล.อ.วินัย ฉะรัฐบาลชุดก่อนๆ อย่างไม่ไว้หน้า
การเห็นความสำคัญของงานด้านความมั่นคงเป็นเรื่องท้ายๆ เช่นนี้ พล.อ.วินัย มองว่า น่าจะมาจากกระแสความ "ไม่ไว้ใจทหาร" ซึ่งก่อตัวมาตั้งแต่รัฐบาลชวน-รัฐบาลทักษิณ โดยทั้งสองรัฐบาลมีนโยบายสอดคล้องกัน ทั้งการมุ่งลดขนาดกองทัพ และตัดงบประมาณอย่างขนานใหญ่
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาศักยภาพกองทัพต้องไปด้วยกันทั้ง 2 ส่วน คือ งบประมาณ กับ กำลังพล หากตัดไปทั้งสองส่วนก็ถือว่าเป็น "ง่อย" เพราะไม่มีฤทธิ์มีเดชอะไร
ปลัดกระทรวงกลาโหม ยังกล่าวปิดท้ายด้วยการให้ข้อมูลที่บ่งชี้ให้เห็นว่า ณ ขณะนี้ศักยภาพของกองทัพไทยอยู่ในระดับไหนเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
"ถ้าเราเทียบการใช้จ่ายในด้านกระทรวงกลาโหมในทุกประเทศในภูมิภาค และในโลก ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ต่ำที่สุดแล้ว คือ อยู่ที่ 1.09% ของจีดีพี อย่างประเทศสิงคโปร์ จะกำหนดเป็นกฎหมาย คือ จะต้องจัดสรรงบประมาณ 4% ของจีดีพี
แม้แต่ในประเทศลาว เขมร ก็ยังได้รับจัดสรร 2% แต่ที่ผ่านมาเป็นเรื่องยากที่สภากลาโหมจะอธิบาย เพราะสภากลาโหมไม่สามารถจะไปชี้นำอะไรได้ในเรื่องของงบประมาณ" |