วันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม 2019 มีพิธีปล่อยเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ลงน้ำ เรือลำนี้เราสร้างขึ้นมาเองภายในประเทศ เป็นเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำใหม่ล่าสุด ลำที่สองของโครงการแต่เป็นลำแรกที่ติดอาวุธนำวิถี วิธีการสร้างจะแบ่งออกเป็นหลายบล็อก แบ่งให้กับหลายฝ่ายที่มีส่วนร่วมในโครงการ ก่อนประกอบเป็นเรือที่อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช
ในภาพคือแปลนเรือตรวจการณ์จากอังกฤษ ปรับปรุงเพิ่มเติมตามความต้องการราชนาวีไทย ผู้เขียนนำมาจากคลิปวีดีโอกองทัพเรือ น่าจะเป็นภาพจากโปรเจคเตอร์ส่องไปยังผนังห้อง บังเอิญว่าอยากได้ปกบทความอารมณ์พิมพ์เขียว จึงนำมาดัดแปลงเล็กน้อยแต่ดันน่าชังมากมาย ศิลปินกับคนบ้าอยู่ห่างกันแค่มือเอื้อมถึง
มีเอกชนเข้าร่วมโครงการนี้จำนวนมาก อาทิเช่นบริษัท ช.ทวี การช่าง สร้างเสากระโดงเรือที่โรงงานจังหวัดขอนแก่น ก่อนส่งมาประกอบหลังตัวเรือเสร็จเรียบร้อย ออกแบบโดยใช้3D-Tribon M2 Software สุดทันสมัย การสร้างชิ้นส่วนเรือจึงมีข้อผิดพลาดค่อนข้างน้อย นอกจากค่าใช้จ่ายของตัวเรือ ระบบเรดาร์ และระบบอาวุธแล้ว ยังได้จัดสรรงบประมาณอีก 828ล้านบาท เพื่อจัดหาจรวดต่อสู้เรือรบ Harpoon Block II จำนวน 5 นัดกับจรวดลูกฝึกอีก 1 นัด (ลดจากความต้องการเดิม 2 นัดเพราะจรวดราคาแพงขึ้น) เรียกได้ว่ามากันครบพร้อมใช้งานทันที
ภาพถัดไปมาจากกองทัพเรือเช่นเคย รายละเอียดโครงการเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำที่ 2 คลิกที่ภาพแล้วอ่านข้อมูลได้เลยครับ มีทุกอย่างในนี้ไม่จำเป็นต้องอธิบายเพิ่ม แต่ก่อนหน้านี้ประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนเคยเขียนบทความของเรือหลวงกระบี่ ซึ่งใช้แบบเรือจากอังกฤษเหมือนกันและเข้าประจำการแล้ว รวมทั้งเขียนถึงข้อแตกต่างกับเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งในตอนนั้นยังคงใช้ชื่อว่าเรือหลวงตรัง ผู้อ่านท่านใดอยากทบทวนความเข้าใจเชิญได้เลยครับ
เรือทั้ง 2 ลำของเราใช้แบบเรือตรวจการณ์ชั้น River ของอังกฤษ ซึ่งได้รับความนิยมค่อนข้างสูงมาก โดยมีรุ่น 80 เมตรหรือ Batch I จำนวน 4 ลำของอังกฤษทั้งหมด และรุ่น 90เมตรหรือ Batch II ซึ่งสร้างแน่นอนแล้วอีก 10 ลำ ของอังกฤษ 5 ลำ บราซิล 3 ลำ และไทยแลนด์ 2 ลำ รวมเท่ากับ 14 ลำเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ ในยุคที่การแข่งขันค่อนข้างดุเดือดเลือดสาด
เรือในภาพชื่อ Apa P121 ของบราซิล ต้นแบบแท้ๆ เรือตรวจการณ์ชั้น River Batch II รูปร่างโดยรวมเหมือนเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ ท้ายเรือมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ยาวเท่ากัน (เรือหลวงตรัง Superstructure ท้ายเรือยาวขึ้น 3 เมตร ลานจอดเฮลิคอปเตอร์จึงหายไป 3 เมตร) ออกแบบให้ติดปืนกล 30 มม.จำนวน 3 กระบอก กับปืนกล 12.7 มม.อีก 2 กระบอก ตามหลักนิยมอังกฤษและอีกหลายสิบประเทศ ที่มักติดอาวุธเรือตรวจการณ์พอป้องกันตัว มีเครนขนาด 16 ตันสำหรับยกตู้คอนเทนเนอร์ ISO หรือ Mission Module และมีเรือยาง RHIB ลำที่ 3เพิ่มเติมที่กราบซ้ายเรือ
อันที่จริงเรือทั้ง 3 ลำของบราซิลไม่ใช่เรือของบราซิล แต่สร้างขึ้นมาเพื่อตรินิแดดและโตเบโก บังเอิญคนซื้อขอยกเลิกสัญญาเมื่อเรือสร้างเสร็จ 2 ลำ ส่งทหารมาฝึกอบรมที่อังกฤษแล้วด้วยซ้ำ บริษัทผู้สร้างเรือจำเป็นต้องหาลูกค้ารายใหม่ หาไปหามาจนกระทั่งปลายปี 2011 บราซิลจึงสอยมาได้ในราคา 3 ลำเพียง 133 ล้านปอนด์
เรามาชมนางเอกของบทความกันบ้าง ภาพเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์วันทำพิธีปล่อยลงน้ำ ช้ากว่าเรือหลวงกระบี่ซึ่งเข้าประจำการก่อนถึง 6 ปีกับอีก 2 วัน มีการปรับปรุงเพิ่มเติมดูแตกต่างเรือต้นแบบ เรียกว่าเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งอาวุธนำวิถีก็ยังไหว บังเอิญผู้เขียนตาไม่ดีมองไม่เห็นอุปกรณ์สำคัญบางชิ้น ถ้าผู้อ่านมองเห็นทักท้วงได้ทันทีเลยนะครับ
ที่ยังไม่เห็นก็คือระบบตรวจจับสัญญาณเรดาร์ Thales VIGILE R-ESM บนเสากระโดง พอดีท่าน akekolos ทักท้วงมาว่าติดตั้ง ESM แล้ว ลองเช็คดูแล้วปรากฏว่าใช่เป็นอันผู้เขียนรอดตัวไป ต่อมาคือกล้องตรวจการณ์ Ebit D ComPASS ซึ่งอาจจะติดด้านหน้าเรดาร์หลัก รวมทั้งอุปกรณ์ส่งเสียงรบกวนระยะไกล หรือ Long Range Acoustic Device หรือ LRAD ซึ่งอาจมีแล้วแต่เก็บไว้ในเรือก็เป็นไปได้ จรวดต่อสู้เรือรบ RGM-84L Harpoon Block II ที่เราสั่งซื้อไปน่าจะมาแล้ว เก็บอยู่ในคลังแสงถึงเวลาใช้งานจริงค่อยนำมาติด ตามปรกติของทุกกองทัพเรือนั่นแหละครับ
อุปกรณ์ยังไม่มาครบไม่เป็นไรครับ ธรรมดาของเรือใหม่สร้างเองของทุกประเทศ ล่าช้าไปสักสามสี่เดือนเรื่องนี้ว่ากันไม่ได้ นอกเหนือจากนี้ยังมีอุปกรณ์เพิ่มเติมเข้ามา สิ่งนั้นก็คือเรดาร์เดินเรือตัวที่ 3 ของ Furuno เป็นจานกลมๆ สีขาวยื่นออกมาใต้เรดาร์ควบคุมการยิง ระยะทำการสั้นๆ น่าจะเอาไว้เสริมเรดาร์เดินเรือ X-Band ตัวหลัก รวมทั้งมีจานดาวเทียมหรือ SATCOM ใบน้อยเพิ่มมาอีก 1 ใบ
นี่คือภาพวาดเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ ใส่จรวดต่อสู้เรือรบ Harpoon จำนวน 4 นัดตามมาตรฐาน หน้าที่สำคัญของเรือก็คือตรวจการณ์ จำเป็นต้องส่งเรือเล็กไปตรวจค้นเรือประมงเอย เรือน้ำมันเอย เรือสินค้าเอย รวมทั้งเรือที่แอบบุกรุกเข้ามาในน่านน้ำ เรือหลวงประจวบคีรีขันธ์บรรทุกเรือยาง RHIB ได้ 2 ลำ ตรงตามมาตรฐานไม่ใช่จุดเด่นและไม่ใช่จุดด้อย ขึ้นและลงโดยใช้เครนที่อยู่สองกราบเรือ แต่ยาวกี่เมตรบรรทุกได้กี่คนผู้เขียนไม่ทราบ
จุดเด่นจริงๆ ก็คือลานจอดเฮลิคอปเตอร์ยาว 20 เมตร รองรับเฮลิคอปเตอร์ทุกชนิดของกองทัพเรือ รวมทั้งอากาศยานไร้คนขับในอนาคต เพื่อความประหยัดจึงไม่มีโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ มีห้องควบคุมอากาศยานพร้อมอุปกรณ์ช่วยในการลงจอด หลังปล่องระบายความร้อนเป็นแท่นยิงจรวดต่อสู้เรือรบ เป็นสิ่งโดดเด่นสำคัญที่สุดเพราะทั้ง 14 ลำมีแค่ลำเดียว
จุดเด่นอีกหนึ่งของเรือตรวจการณ์ชั้น River ก็คือ สามารถวางตู้คอนเทนเนอร์ ISO หรือ Mission Module ขนาด 20 ฟุตหรือ 6 เมตรได้ถึง 6 ตู้ บริเวณลานจอดเฮลิคอปเตอร์จำนวน4 ตู้ และสองกราบเรือหลังปล่องระบายความร้อนอีก 2 ตู้ ข้อมูลนี้มาจากบริษัท BAE Systems เจ้าของแบบเรือ สาเหตุนี้เองตั้งแต่กลางเรือจึงค่อนข้างโล่งแจ้ง
มาดูภาพจริงกันสักนิดหนึ่ง เรือลำนี้ชื่อ HMS Medway ของอังกฤษ ราคา 116 ล้านปอนด์หรือ 4,352 ล้านบาท กราบขวาเรือจะเห็นกล่องขนาดไม่ใหญ่ตั้งอยู่ น่าจะไว้ใส่อุปกรณ์หรืออากาศยานไร้คนขับ จุดนี้เองวาง Mission Module ขนาด 20 ฟุตได้อย่างพอดี เรืออังกฤษถ้าจะวางจริงๆ ไม่น่ามีปัญหา ส่วนเรือเราอาจวางได้แบบมีปัญหาเล็กน้อย ปัญหาก็คือกราบขวาเรือมีสะพานขึ้นลงเรือหรือ Gangway อาจมีปัญหาเรื่องการขึ้นลงไม่ค่อยสะดวกนัก ส่วนกราบซ้ายมือไม่มีสะพานขึ้นลงน่าจะวางไอ้อย่างสบาย ทว่ายังมีปัญหาสำคัญอีกหนึ่งเรื่องโปรดรอสักครู่
Mission Module ก็คือห้องทำงานเคลื่อนที่นั่นเอง อย่างที่เคยเห็นตามสถานที่ก่อสร้างทั่วไป รวมทั้งใช้เก็บอุปกรณ์ในการทำงานต่างๆ อาทิเช่นภารกิจไล่ล่าทุ่นระเบิด ห้องผ่าตัดเคลื่อนที่ ห้องวิจัยเคลื่อนที่ ห้องพักเจ้าหน้าที่หน่วยพิเศษ รวมทั้งงานช้างงานใหญ่อย่างไล่ล่าเรือดำน้ำ เมื่อเรือติดตั้งตู้ Mission Module แล้วจะเป็นอย่างไร? น่าจะประมาณนี้ครับ
ผู้เขียนวางตู้ Mission Module ทั้งสองกราบเรือและบนลานจอดเฮลิคอปเตอร์ มีพื้นที่ใช้งานมากกว่าเดิมอย่างชัดเจน สองตู้หลังสำหรับภารกิจต่อต้านทุ่นระเบิด ยังเหลือลานจอดให้เฮลิคอปเตอร์ขนาดเล็ก ลงมารับเจ้าหน้าที่จัดเก็บทุ่นระเบิดใต้น้ำได้พอดี ตู้กราบซ้ายเรือเป็นห้องทำงานดอกเตอร์สก๊อต ส่วนตู้กราบขวาเป็นห้องทดลองวัคซีนกับสัตว์และมนุษย์ ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะมีโอกาสได้เห็นหรือไม่ ตู้ Mission Module บนเรือเรานะครับไม่ใช่วัคซีนคุณหมอ
มีคำถามจากทางบ้านถามมาว่า ถ้าเรือเราติดอาวุธครบถ้วนจะมีหน้าตาประมาณไหน ไม่ยากครับ…จุดสำคัญอยู่ที่จรวดต่อสู้เรือรบ Harpoon Block II ซึ่งติดได้ถึง 8 ท่อยิงแต่ปรกติติดแค่ 4 ท่อยิง ฉะนั้นแค่เพิ่มท่อยิงเข้ามาเท่านั้น ติดกล้องตรวจการณ์ Ebit D ComPASS สุดท้ายติดอุปกรณ์ส่งเสียงรบกวนระยะไกลหรือ LRAD
ท่อยิง Harpoon ค่อนข้างสูงเป็นทุนรอน นำมาซ้อนสองชั้นยิ่งสูงมากกว่าเดิม จุดที่ติดตั้งอยู่กลางเรือจึงไม่ใช่จุดดีที่สุด เพราะไอพ่นอาจเผาตู้ Mission Module กราบขวา หรือลูกเรือที่บังเอิญเดินผ่านโดยไม่ตั้งใจ (แม้แทบเป็นไปไม่ได้เลย แต่ก็ไม่ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์) โชคร้ายไม่มีจุดอื่นจำเป็นต้องเอาตามนี้ การปรับปรุงเรือตรวจการณ์ให้ติดจรวดต่อสู้เรือรบย่อมมีอุปสรรค ยกเว้นเรือชั้นเรือหลวงปัตตานีที่มีจุดติดจรวดไว้แล้ว ท่อยิงตั้งอยู่สองกราบเรือฉะนั้นไอพ่นจะพ่นออกทะเล เป็นป้องกันการเกิดอุบัติเหตุโดยไม่ตั้งใจ แต่กองทัพเรือไม่คิดติดตั้งไม่อย่างนั้นคงติดไปแล้ว
ผู้อ่านหลายคนอยากให้ติดจรวดต่อสู้อากาศยาน อย่างน้อยระยะใกล้นำวิถีอินฟาเรดก็ยังดี บางคนอยากให้ติดโซนาร์พร้อมตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ เรื่องแบบนี้ประเทศอื่นๆ ก็เป็นเหมือนกับเรา เรืออังกฤษติดปืนกล 30 มม.ที่หัวเรือกรบอกเดียว มีปืนรองขนาด 7.62 มม.แบบหกลำกล้องรวบอีก 2 กระบอก คนอังกฤษอยากติดปืนใหญ่ 57 มม.ที่หัวเรือบ้าง ปืนกล 30มม.เป็นปืนรองบ้าง ระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx แทนเครนขนาด 16 ตันบ้าง บางคนอยากได้โซนาร์ลากท้ายทั้งที่ท้ายเรือเตี้ยมากไม่มีช่องใส่ แต่กองทัพเรืออังกฤษไม่ได้ว่าตามกันก็เลยอดไป
แล้วเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งติดอาวุธนำวิถีมีหรือไม่ คำตอบก็คือมีครับ…เรือของบรูไนจำนวน 3 จาก 4 ลำติดจรวด Exocet และนอกจากนี้ยังเคยเกือบจะมีมาก่อนแล้ว
ปี 199x ออสเตรเลียมีโครง Offshore Combat Vessel เรือตรวจการณ์ติดอาวุธทันสมัยล้นลำ ผู้เขียนอยากแนะนำสักหนึ่งแบบเรือ ไม่ซ้ำของเดิมที่เคยเขียนถึงในบทความก่อน เป็นแบบเรือของบริษัท Transfield เช่นเคย เรือตรวจการณ์ความยาว 75 เมตร มีอาวุธและเรดาร์ใกล้เคียงเรือตรวจการณ์ลำใหม่ของเรา แต่เรือเขามีจรวดต่อสู้อากาศยานระยะใกล้ รวมทั้งโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์แบบถาวรด้วย ทว่าเรือลำนี้ไม่ได้เข้ารอบชิงแต่อย่างใด เพราะบริษัทส่งแบบเรือยาว 81 เมตรเข้าไปแทน โดยได้รับการคัดเลือกอย่างไม่เป็นทางการ แต่ไม่มีการสั่งซื้อสักลำเนื่องจากสู้ราคาไม่ไหว
กลับมาที่เรือหลวงประจวบคีรีขันธ์อีกครั้ง เรือมีจุดติดตั้งอาวุธหลักๆ แค่เพียง 3 จุด ถ้าจะติดระบบ Simbad RC ซึ่งใส่จรวดต่อสู้อากาศยาน Mistral ได้เพียง 2 นัด ต้องถอดปืนรองขนาด 30 มม.ออกไปก่อน ไม่มีกองทัพเรือชาติไหนทำตามแน่นอน เพราะการป้องกันตัวเองจะลดต่ำอย่างชัดเจน แต่ผู้เขียนยังพอมีทางออก…อาจไม่ดีที่สุดแต่เหมาะสมที่สุด
วันที่ 16 กรกฎาคม 2019 ที่ผ่านมา อังกฤษทดสอบยิงจรวด Martlet รุ่นใช้งานบนเรือ จากเรือฟริเกต Type 23 ชื่อHMS Sutherland เข้าสู่เป้าหมายเรือผิวน้ำได้อย่างแม่นยำ ย้อนกลับไปวันที่ 4 กรกฎาคม 2019 อังกฤษทดสอบยิงจรวด Martlet รุ่นประทับบ่ายิงกับรุ่นแท่นยิงแฝดสาม เข้าสู่เป้าหมายอากาศยานไร้คนขับได้อย่างแม่นยำ
จรวด Martlet รุ่น ในอดีตเคยชื่อว่า Lightweight Multirole Missile หรือ LMM เป็นจรวดอเนกประสงค์นำวิถีเลเซอร์บวกอินฟาเรด ระยะยิงไกลสุดถึง 8 กิโลเมตร ใช้ยิงเรือลำเล็กลำน้อย เรือยางพลีชีพ ยานผิวน้ำไร้คนขับ อากาศยานไร้คนขับ เฮลิคอปเตอร์ รวมทั้งเครื่องบินตรวจการณ์ได้อย่างสบาย ส่วนเครื่องบินรบอาจจะสอยยากสักหน่อย เนื่องจากจรวดมีความเร็วเพียง 1.5 มัค แต่ถ้าเป็นจรวดต่อสู้เรือรบขอแนะนำว่า ยิง Martlet ให้หมดทุกนัดดีกว่านอนจมอยู่ใต้มหาสมุทร
จรวด Martlet รุ่นใช้งานทางทะเลน่าสนใจมาก เพราะติดอยู่บนป้อมปืน DS-3OMR ฝั่งขวามือ เข้ามาเติมเต็มและอุดช่องว่างเรือของเราได้ จรวดฝั่งละ 5 นัดระยะยิง 8 กิโลเมตรและยิงได้ทุกเป้าหมาย ทำให้เรือมีประสิทธิภาพสูงมากกว่าเดิม แต่การติดจรวดต้องแลกด้วยอะไรบางอย่าง เรื่องแรกกล่องกระสุนปืนหายไปทันทีหนึ่งกล่อง จำนวนกระสุนเหลือแค่เพียงครึ่งเดียว เรื่องที่สองไม่สามารถสลับหัวกระสุนได้เหมือนเดิม ต้องวัดใจผู้การว่าจะให้ใส่กระสุนชนิดไหน
เรื่องที่สามภาพมันฟ้องอย่างชัดเจนว่า ปืนกล 30 มม.ก็ดี จรวดอีก 5 นัดก็ดี ล้วนติดตั้งด้านนอกแบบไม่มีอะไรป้องกัน จึงอาจเสียหายจากน้ำทะเล ลมทะเล และความเค็ม ไม่มากก็จริงแต่อาจชำรุดในช่วงเวลาสุดวิกฤต ถ้านำมาติดตั้งบนดาดฟ้าชั้นสองหรือชั้นสาม โดยมีอะไรช่วยกันลมจากบางมุมเสียบ้าง อาวุธจะมีอายุการใช้งานตามที่มันควรเป็น แต่ถ้านำมาติดหัวเรือตรวจการณ์ลำน้อยอย่างเรือ ต.994 ถูกน้ำทะเลซัดใส่ทุกวันโอกาสเสียหายย่อมมีมากขึ้น
และนี่ก็คือภาพวาดเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ติดจรวด Martlet วิธีการที่ง่ายที่สุดและได้ผลดีที่สุดในเวลานี้ โดยจะได้ได้จรวดเพิ่มเข้ามา 10 นัด แต่กล่องกระสุนปืนกล 30 มม.หายไป 2 กล่อง ส่วนตัวคิดว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดแล้ว เพียงแต่เราจะได้ใช้งานจรวดก่อนปลดประจำการหรือเปล่า ยังเป็นปริศนาคาใจที่หาคำตอบไม่ได้เสียที
ภารกิจถัดไปที่เรือสามารถทำได้และทำได้ดีมาก คือการนำนักเรียนรายเรือทั้งที่ยังศึกษาอยู่ และหรือสำเร็จการศึกษาประดับยศเรือตรีแล้ว แล่นเรือไปยังประเทศต่างๆ เพื่อการฝึกฝนการเดินเรือ ปรกติเราจะทำเป็นประจำการเพื่อให้นักเรียนได้รับประสบการณ์จริง เรือชั้น River ถูกออกแบบให้ใช้ในทะเลลึกได้ดีมาก ราชนาวีอังกฤษส่งไปประจำการหมู่เกาะฟอร์กแลนด์ ซึ่งมีคลื่นลมแรงมากจนเรือเล็กสู้ไม่ไหว ฉะนั้นแล้วการฝึกเดินเรือจึงง่ายกว่าเรือชั้นเรือหลวงปัตตานี
นี่คือภาพเส้นทางเรือของหน่อยฝึก (โรงเรียนนายเรือ) ในปี 2013 เรือหลวงกระบี่เดินทางจากกรุงเทพไปสิ้นสุดที่ภาคใต้ออสเตรเลีย ก่อนวนกลับมาโดยมีการแวะเยี่ยมเยี่ยมตามรายทาง นักเรียนนายเรือรุ่นที่ 107 ออกฝึกในทะเลถึง 74 วัน เป็นประสบการณ์ที่ดีก่อนเข้ารับราชการ ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ได้กลายมาเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ สำหรับการออกกำลังกายของนักเรียนและกำลังพล เหมือนๆ กับที่เราออกไปวิ่งบ้าง เดินบ้าง ส่องสาวบ้าง ทุกเมื่อเชื่อเย็นแถวบ้านนั่นแหละครับ งานนี้ไม่ได้แบกจรวดต่อสู้เรือรบไปด้วย ต้องการลดน้ำหนักเพราะมีคนเพิ่มจนกลายเป็น 170-180 นาย
ชมภาพจริงกันเลยดีกว่า เวลาว่างกำลังพลจะมาออกกำลังกายตามอัธยาศัย ที่เห็นล้อมเป็นวงกลมคือเล่นลิงชิงบอล โดยมีบางคนวิ่งออกกำลังเรียกเหงื่อรอบลานจอด รวมทั้งมีบางคนชมปลาชมฟ้าไปเรื่อยเปื่อย ผู้เขียนมีความสงสัยมานานแล้วว่า ทำไมลูกประดู่ต้องขาวทั้งชุด? เวลาซักทำความสะอาดมันไม่ง่ายเลย ไม่กลัวคุณภรรเมียที่บ้านว่าเอาหรือ?
จากภาพถ่ายมีเรื่องราวน่าสนใจอีกแล้ว ถ้าลองส่องให้ดีๆ ผู้อ่านจะเห็นว่า ลานจอดเฮลิคอปเตอร์มีมุมแหว่งทั้งสองกราบเรือ ยาวประมาณ 5 เมตรกว่า กว้างประมาณ 1 เมตร และลึกลงไปประมาณ 1 เมตร ตรงนี้เป็นตำแหน่งผูกเชือกเรือกับบนฝั่ง มีทั้งรูร้อยเชือกกับเสาผูกเรือตั้งอยู่ใกล้กัน เรือรบทุกลำต้องมีการผูกเรือกับท่าเรือ และเรือรบทุกลำต้องมีรูร้อยเชือกกับเสาผูกเรือ นี่คือเรื่องที่น่าสนุกที่สุดที่ผู้เขียนชอบมาก
น่าสนุกตรงไหน? แค่รูกับเสาไม่ใช่จรวด VL-ASROC เสียหน่อย สนุกสิครับ…ขอเพียงผู้อ่านรักเรือเหมือนที่ผู้เขียนรักเท่านั้นเอง ที่ว่าน่าสนุกมาจากการออกแบบตำแหน่งดังกล่าว อย่างที่รู้ว่าท้ายเรือจะเป็นลานจอดเฮลิคอปเตอร์ เรือรบสมัยก่อนดาดฟ้าชั้นล่างจะถูกเปิดโล่งเพื่อผูกเรือ แต่เรือบางลำดาดฟ้าลานจอดค่อนช้างเตี้ย (อาทิเช่นเรือลำนี้) และเรือที่ลดการตรวจจับคลื่นเรดาร์จะปิดสนิททั้งหมด มีเพียงหน้าต่างกับรูไว้ร้อยเชือกอย่างยากลำบาก แต่ไม่ใช่ว่าเรือทุกลำจะออกแบบเช่นนี้
หลายประเทศมีการออกแบบเป็นเอกลักษณ์ เรือฟริเกต Type 26 ของอังกฤษ ระวางขับน้ำ 8,800 ตันก็ยังออกแบบที่ผูกเรือเหมือนกับเรือเรา ส่วนเรือญี่ปุ่นจะต่อความยาวจากลานจอดออกไป 5-8 เมตร และเตี้ยกว่ากันประมาณ 20 เซนติเมตรใช้สำหรับผูกเรือ ขณะที่เรือเกาหลีใช้พื้นที่ทั้งหมดสำหรับลานจอด แล้วเอารูร้อยเชือกกับเสาผูกเรือมาติดข้างลานจอดอีกที (เหมือนกับเรือรบอเมริกายุค 196x ถึง 197x โน่น) แค่ 3 ประเทศก็มีการออกแบบไม่เหมือนกันแล้ว
ทั้งข้อมูลและภาพถ่ายบนเรือหลวงกระบี่ ได้มาจากคุณ ‘iamjasonbrown’ ตามไปดูต้นฉบับได้เลยครับ
พูดลอย ลอย บนเรือหลวงกระบี่ที่ Great Barrier
ผลสืบเนื่องจากการที่เรือค่อนข้างทนทะเล สามารถออกงานระดับโลกได้ดีกว่าเรือชั้นเรือหลวงปัตตานี ติ๊งต่างว่ายูเอ็นร้องขอให้ไทยส่งเรือเข้าร่วมปฏิบัติการ ‘ปราบปรามโจรสลัดที่หมู่เกาะเคย์แมน’ แต่ให้บังเอิญทัพเรือส่งเรือฟริเกตออกไปไม่ได้ บทบาทนี้จึงมาตกกับเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ ภาพจำลองหมวดเรือที่ 1 กองเรือเฉพาะกิจเป็นดังนี้
เรือตรวจการณ์ลำใหม่ของไทยเป็นจ่าฝูง ทำหน้าที่บัญชาการและตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง เรือตรวจการณ์ลำใหม่ของออสเตรเลียเป็นม้าเร็ว เพราะสามารถปล่อยเรือยาง Interceptorความยาว 11 เมตรได้ในเวลาเพียง 2 นาที (เรือเขามี Mission Deck ขนาดเบ้อเริ่มเทิ่ม จำเป็นต้องยอมเพราะเรือเราไม่มี) รวมทั้งทำหน้าที่กวาดทุ่นระเบิดได้อีกหนึ่งภารกิจ มีเรือคอร์เวตของเวียดนามเป็นผู้คุ้มกันอีกที ด้วยจรวดต่อสู้เรือรบที่แบกมาด้วยเสียจนหลังแอ่น ให้เฮลิคอปเตอร์ลำใหม่ของฟิลิปปินส์ช่วยตรวจตราบนท้องฟ้า โดยใช้เรือเราเป็นจุดจอดสำหรับพักผ่อนหรือเติมน้ำมัน
จากภาพเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ลานจอดเฮลิคอปเตอร์เรือเราค่อนข้างเตี้ย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเรือตรวจการณ์ของออสเตรเลีย เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่อยากใส่โซนาร์ลากท้าย ต้องเอามากองแหมะบนลานจอดสถานเดียว การวิเคราะห์ว่าเรือลำไหนสามารถติดอาวุธอะไรได้บ้าง กายวิภาคช่วยตอบคำถามให้คุณได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ อีก 20 เปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องทิฐิและความอยากมีอยากได้ ส่วนติดตั้งแล้วใช้งานได้ดีมากน้อยแค่ไหนไม่เกี่ยวกัน
เรื่องต่อไปคือคุณสมบัติพิเศษ เรือลำใหม่มีการติดตั้งระบบ Link-RTN ซึ่งเป็นระบบ Tactical Data Link ซึ่งพัฒนาขึ้นมาเองโดยกองทัพเรือกับเอกชน สามารถรับ-ส่งข้อมูลกับเรือที่ติดระบบเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว เรือที่ติดตั้งแล้วน่าจะประกอบไปด้วย เรือหลวงจักรีนฤเบศร เรือหลวงนเรศวร เรือตากสิน และเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช รวมทั้งเรือลำอื่นที่จะติดตั้งในอนาคต
นอกจากนี้เรือยังติดตั้งระบบ Link Y Mk2 ของ Thales เข้ามาด้วย สามารถรับส่งข้อมูลกับเรือที่ใช้งานระบบเดียวกัน เรือหลวงรัตนโกสินทร์กับเรือหลวงสุโขทัยของเราติดตั้งระบบLink Y Mk1 ถ้าปรับปรุงเพิ่มเติมให้สามารถรองรับระบบใหม่ได้ (หรือติด Link-RTN ก็ได้) ก็จะสามารถรับ-ส่งข้อมูลกับเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ได้ ตอนนี้เรามีเรือตรวจการณ์ที่ติดระบบData Link ทันสมัยเรียบร้อยแล้วครับ ในอนาคตจะมีเพิ่มเติมอีกเรื่อยๆ อย่างแน่นอน
เขียนกันแต่เรื่องสัพเพเหระ ผู้อ่านเริ่มบ่นว่าทำไมไม่เขียนถึงอาวุธ นี่คือเรือรบเพราะฉะนั้นจะต้องฆ่า! ฆ่า! แล้วก็ฆ่า! คนใจง่ายอย่างผู้อ่านจึงไม่รีรอที่จะว่าตามกัน โดยการนำเสนอวิธีการฆ่าที่แตกต่างกันถึง 3 รูปแบบ
วิธีแรกสุดเรียกว่า ‘Soft Kill’ หรือการฆ่าโดยไม่จำเป็นต้องฆ่า ถ้าเป็นคนรักกันก็ประมาณว่า ทำตัวเหินห่างออกไป แอบมีภาพถ่ายคู่กับผู้ชายอื่น หรือส่งเพื่อนมากระซิบให้เราตัดใจ เรื่องนี้ผู้เขียนจำมาจากนิยายไม่ใช่เรื่องจริง (จริงๆ นะ)
เหตุการณ์สมมุติที่หนึ่ง มีจรวดต่อสู้เรือรบมุ่งตรงมาที่เรือ ระบบตรวจจับสัญญาณเรดาร์ Thales VIGILE R-ESM (สี่เหลี่ยมสีชมพู) ด้านหน้าและหลังเรดาร์หลัก (ซึ่งจะตรวจจับครบทั้ง 360 องศา) จับการแพร่คลื่นเรดาร์ของจรวดได้อย่างชัดเจน จึงส่งข้อมูลไปตรวจสอบกับฐานข้อมูล ก่อนแจ้งมายังเจ้าหน้าที่ว่าเป็นจรวดรุ่นปันปันสกี้ เพื่อให้เรือทำการป้องกันตัวเองต่อไป
ให้บังเอิญว่าเรือไม่สามารถจัดการเป้าหมายได้ กระทั่งจรวดวิ่งเข้าสู่ระยะอันตราย ระบบ ESM จะสั่งยิงเป้าลวง Terma DL-12T รุ่น 12 ท่อยิงซึ่งมีอยู่ 2 แท่นโดยอัตโนมัติ (สี่เหลี่ยมสี่เหลือง) จรวดได้ถูกล่อลวงจึงเบนเป้าหมายไปยังที่อื่น (สี่เหลี่ยมสีเขียว) เป็นหนึ่งในวิธีการป้องกันตัวเองที่หวาดเสียวเล็กน้อย เรือลำนี้คือเรือตรวจการณ์ลำแรกสุดของไทย ที่ติดตั้งทั้งระบบESM กับระบบเป้าลวงรุ่นมาตรฐาน สร้างความมั่นใจให้กับลูกเรือมากขึ้นกว่าเดิม
วิธีที่สองเรียกว่า ‘Hard Kill’ หรือการฆ่าโดยการฆ่าให้ตาย ถ้าเป็นคนรักกันก็ประมาณว่า ‘เธอดีเกินไปเราเลิกกันเถอะ’ ‘จะได้คบกันจนแก่เฒ่าไม่ดีเหรอ’ ‘เงิน 5 แสนที่ยืมไปเราไม่คืนนะ’ เรื่องนี้ผู้เขียนจำมาจากนิยายอีกแล้ว (จริงๆ นะ)
เหตุการณ์สมมุติที่สอง มีจรวดต่อสู้เรือรบมุ่งตรงมาที่เรือ เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ Thales Variant (สี่เหลี่ยมสีล้ม) บนเสากระโดงเรือ (ซึ่งจะตรวจจับครบทั้ง 360 องศา) จับเป้าหมายได้แล้วแจ้งเตือนว่าเป็นจรวดรุ่นปันปันสกี้ เรดาร์และควบคุมการยิง Thales STIR 1.2 EO Mk2 (สี่เหลี่ยมสีแดง) จะทำการตรวจจับ ติดตาม และล๊อกเป้าหมายอย่างรวดเร็ว
เมื่อเป้าหมายวิ่งเข้ามาสู่ระยะยิง ปืนใหญ่ปืนใหญ่ Oto 76/62 มม. รุ่น Super Rapid (สี่เหลี่ยมสีเหลือง) เริ่มกระหน่ำยิงจนหูดับตับไหม้ ด้วยอัตรายิงสูงสุด 120 นัด/นาที โดยใช้หัวกระสุนชนิดแตกอากาศ สามารถกำจัดเป้าหมายได้อย่างเด็ดขาด เรือลำนี้คือเรือตรวจการณ์ลำแรกสุดของไทย ที่ติดตั้ง Oto 76/62 มม. รุ่น Super Rapid รูปทรงลดการตรวจจับด้วยคลื่นเรดาร์ โดยในอนาคตอาจได้ใช้งานกระสุนต่อระยะ สำหรับถล่มเป้าหมายบนฝั่งได้อย่างแม่นยำอีกต่างหาก
และแล้วก็มาถึงวิธีการฆ่าแบบสุดท้าย ซึ่งแตกต่างจากสองแบบแรกโดยสิ้นเชิง เหตุการณ์สมมุติที่สาม บริเวณกลางทะเลอันดามันอันแสนอ้างว้าง กัปตันเรือผู้อาภัพมองนกนางนวลแล้วถอนหายใจ คิดถึงแต่น้องจอยอดีตคนรักที่เพิ่งแต่งงานกับไอ้ปื๊ดเพื่อนรักตนเอง ระหว่างที่เขากำลังดื่มยาธาตุน้ำแดงอยู่นั้น จุ่มโพประจำเรือวิ่งเข้ามาขัดจังหวะเสียก่อน
เรือตรวจการณ์ของประเทศเพื่อนบ้านเกิดไฟไหม้ จากปืนกลสมัยสงครามโลกหน้าสะพานเดินเรือ กัปตันเรือส่องกล้องเห็นเข้าหายเมาทันที เขาสิ่งให้เรือเดินหน้ากำลัง…พร้อมกับทำอันดามันดริฟท์ เพื่อใช้ปืนฉีดยิงนำแรงดันสูงทั้ง 2 กระบอกท้ายเรือ (สี่เหลี่ยมสีเหลือง) ฉีดสกัดไฟไหม้ด้วยจิตใจมุ่งมั่นและแน่วแน่ กระทั่งดับไฟสำเร็จมีความเสียหายเพียงเล็กน้อย
วิธีสุดท้ายเรียกว่า ‘Kill This Love’ ผู้ที่โดนฆ่ามักพากันตัดผมม้าแบบน้องลิซ่า ส่วนจะใช้เครือข่ายเอไอเอสหรือเปล่าขึ้นอยู่กับโปรโมชั่นย้ายค่าย จะเห็นได้ว่าเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำใหม่ของเรา มีการติดตั้งอุปกรณ์เยอะแยะมากมาย ในการทำภารกิจมากมายหลายแบบ คุ้มค่ากับงบประมาณในการสร้างเรือ และจะเข้าประจำการรับใช้ชาติไปอีกหลายสิบปี
บทความนี้ใช้เวลารอคอยถึง 2 ปีเต็ม หลังเขียนบทความเรือหลวงกระบี่พบประชาชน หวังใจว่าเรือตรวจการณ์ลำที่ 5 ของราชนาวีไทย คงไม่ต้องรอจนลูกชายผู้เขียนอายุถึงบวชเรียน พบกันใหม่บทความหน้าสวัสดีครับ ;)
-------------------------------------------------------
อ้างอิงจาก
กองทัพเรือไทย
โรงเรียนนายเรือ
https://thaimilitary.blogspot.com/2017/08/htms-krabi-meet-press.html
https://www.savetheroyalnavy.org/how-opvs-could-be-important-to-the-future-of-the-rn-part-1/
https://www.lumixgexperience.panasonic.co.uk/gallery/fraggle/hms-forth/#.XTurpVQzbIU
https://en.wikipedia.org/wiki/Lightweight_Multirole_Missile
https://ukdefenceforum.net/viewtopic.php?f=41&t=29&sid=925b616ee8cd260686df59d54c85ed3a&start=2750
https://en.wikipedia.org/wiki/River-class_patrol_vessel
http://thaidefense-news.blogspot.com/2019/07/blog-post_20.html
นี่หรือเปล่าครับ R ESM ?
ภาพไม่ขึ้น หมายถึง ที่อยู่ข้างหน้าและหลัง Mast platform น่ะครับ น่าจะเป็น ESM หรือเปล่า?
ผมเข้าใจที่ท่าน akekolos พยายามบอกนะครับ ขอบคุณมากๆ ตอนนี้แก้ไขบทความกับภาพประกอบเรียบร้อยแล้ว ก็ว่าอยู่เหมือนกันว่ามันคืออะไรหนอ? ลืมคิดถึง ESM เฉยเลยทั้งที่หน้าตาเหมือนกันเป๊ะ
จากที่ได้สนทนากับแหล่งข่าว ระบบอาวุธน่าจะไม่มีอะไรเพิ่มเติมจากที่เห็นแล้ว ระยะประชิดแค่ DS-30 เท่านั้นครับ เพราะภายในขยับขยายลำบากแล้วครับเพราะด้วยฮาร์พูนและปืนหลักที่มีระบบเลือกกระสุนทำให้ใช้พื้นที่ค่อนข้างเยอะครับ
เห็นด้วยครับที่ว่าจุดติดตั้งจรวดฮาพูนมันอันตรายกับลูกเรือแถวนั้นมากเวลายิง ก็อยากให้แก้ไขในลำต่อไป เช่น ขยายความกว้าง superstructure ให้กว้างสุดความกว้างเรือไปเลยซึ่งผลคือสามารถขยับจุดติดตั้งจรวดฮาพูนให้ปลอดภัยได้. ส่วนใต้ superstructure ก็ใช้งานแบบอเนกประสงค์แล้วแต่ภาระกิจ. ส่วน mission module ก็ไม่ต้องใช่เพราะไม่มีพื้นที่แล้ว. หรือขยายแบบเรืออีกครั้งให้ยาวขึ้น ตรงกลางเรือใช้ติดฮาพูน. ส่วนตรงด้านบน superstructure อาจทำเป็นยกเป็น 2ระดับ ชั้นบนอยู่ด้านติดกับปล่องควันติดจรวด Mistral 1 ชุด หรือ ฟาลังค์ก็ได้ ครับ ส่วนปืน MS30 ติดจรวด Martlet ก็ดีครับถ้าแก้ไขให้ติดซ้ายขวาของปืนด้านล่ะ 2 ลูก โดนทำคานเป็นแบบปีกเหมือนคานติดอาวุธของ ฮ. จะยังติดปัญหาเรื่องที่ใส่ซองกระสุนไหมครับ
ถ้าอย่างนั้นขอเสนอ ciw goalkeeper ขนาด 30 มม. รุ่นปรับปรุง 1 ระบบ ติดตั้งบน sperstructure อยู่ตรงระหว่างจรวดฮาพูนกับลานจอด ฮ. อาจยกฐานสูงขึ้นอีกหน่อยเพื่อเพิ่มมุมยิง. อ่านจาก wiki บอกว่าสามารถยิงได้ทั้ง speed boat , เครื่องบิน รวมถึง missile ที่มีความเร็วได้ถึง 2 มัค. แค่นี้ก็น่าจะพอสำหรับการป้องกันตนเองของเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งครับ
สำหรับเรือหลวงประจวบฯ ด้วยระบบอาวุธที่ติดตั้งมาตอนนี้ผมค่อนข้างพอใจมากแล้ว ส่ิงเดียวที่คาดหวังกับ ทร. ในตอนนี้คือเรือฟรีเกตสมรรถนะ(เกือบ)สูงลำที่สอง ซึ่งก็รอมาเนิ่นนานมากแล้ว จนลำแรกมาอยู่ไทยจะครบปีแล้ว แต่กลับไม่มีข่าวใดๆเลยเกี่ยวกับลำที่สอง
ครับ ถ้าดูความเหมาะสมสุดคงต้องเป็นปืนฟาลังค์ ปืนยอดนิยมครับ จะติงนิดเดียวที่ระยะยิงใกล้ไปนิดนึงครับ. หรือจะถอดมาจากเรือหลวงพุทธฯ มาปรับปรุงใหม่จะพอไหวไหมครับ
เห็นด้วยครับ. เรือจักรี ควรมีฟาลังค์เสริมครับ น่าจะ 3 ระบบให้ครอบคลุมรอบเรือ
ผมเป็นแผนกตามอ่าน
แล้วท่านนริสจะไปตรวจเรือวันไหนดีครับ ฝากดูกล้องตรวจการณ์ให้ผมด้วย
บทความไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ไว้เลยนำมาเสริม สิ่งนั้นก็คือ Non Lethal Weapon อาวุธที่ไม่ทำอันตรายจนถึงชีวิต ใช้เพื่อควบคุมหรือผลักดันฝ่ายตรงข้ามให้ถอยห่าง นอกจากปืนฉีดน้ำความดันสูงจำนวน 2 กระบอกท้ายเรือแล้ว ยังมี Long Range Acoustic Device หรือ LRAD หรือ แอลแรด หรืออุปกรณ์สงเสียงรบกวนระยะไกล
ในภาพเล็กเป็น LRAD 1000X ของสิงคโปร์ ซึ่งคาดว่าเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์จะใช้รุ่นเดียวกัน เหตุการณ์สมมุติที่ชายฝั่งเกาะภูเก็ต ชาวชุดเขียวองค์กรเอ็นจีโอต้องการประท้วงในเชิงสัญลักษณ์ จึงพากันลงเรือเล็กจะมาชูป้ายข้างเรือรบราชนาวีไทย กัปตันนีโมตัดสินใช้ LRAD 1000 ซึ่งจะส่งคลื่นเสียงที่มีความถี่ระดับสูงไปยังผู้บุกรุก ส่วนใหญ่แล้วมนุษย์จะทนได้ไม่เกิน 10 วินาที ถ้ายังฝืนฟังจะเริ่มมีอาการหน้ามืด วิงเวียน อาเจียน ไปจนถึงปวดแสบปวดร้อนผิวหนัง สุดท้ายแล้วต้องยอมถอยหลังกลับเข้าฝั่งในที่สุด
นี่คือ Non Lethal Weapon ที่ได้รับความนิยมมาหลายปีพอสมควร และจะได้รับความนิยมไปอีกแสนนาน เหมาะสมกับการติดตั้งบนเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งครับผม
ถ้าผมจะโชคดีได้รับความกรุณาจาก ท.ร. ชวนไปชมเรือ ก็ต้องหลังขึ้นระวางประจำการไปแล้วนู่นแหละครับ