ต้นฉบับตรงนี้ครับ ;) ----> รถถังยานเกราะไทยในเหตุการณ์กบฎบวรเดช
-------------------------------------------------------------------------------------------------------
กบฏบวรเดช (Bavoradej rebellion) เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2476 ถือเป็นการกบฏครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 สาเหตุเนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างระบอบเก่าและระบอบใหม่ จากข้อโต้แย้งเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจที่เสนอโดยนายปรีดี พนมยงค์ ที่ได้ถูกกล่าวหาว่าเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ และชนวนสำคัญที่สุดก็คือ ข้อโต้แย้งในเรื่องพระเกียรติยศและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบใหม่ จนนำไปสู่การใช้กำลังทหารก่อกบฏโดยพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช
เหตุการณ์ในครั้งนี้กินระยะเวลารวม15 วัน เป็นการสู้รบกันระหว่างทหารหัวเมืองจากนครราชสีมา สระบุรี และอยุธยา โดยเรียกชื่อตัวเองว่าคณะกู้บ้านกู้เมือง กับทหารฝ่ายรัฐบาลในกรุงเทพที่มีอาวุธประสิทธิภาพสุง ผลการสู้รบทหารฝ่ายรัฐบาลเสียชีวิตรวม 17 นาย ฝ่ายกบฏเสียชีวิตพอๆกันแต่ไม่ทราบจำนวนที่ชัดเจน ท้ายที่สุดฝ่ายรัฐบาลสามารถเอาชนะและจับกุมตัวฝ่ายกบฎส่วนใหญ่ได้ ต่อมาภายหลังได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ปราบกบฏหรืออนุสาวรีย์หลักสี่ในปัจจุบัน เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนี้
กบฏบวรเดชมีเรื่องราวมากมายที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ไปว่าจะเป็นมูลเหตุที่มาที่ไป รายละเอียดและแผนการสู้รบของทั้งสองฝ่าย บทสรุปของเหตุการณ์และผลกระทบที่ตามมา รวมถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังที่เชื่อมโยงกันอย่างมีนัยยะ ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงรายละเอียดแค่ที่จำเป็น แต่จะเทน้ำหนักไปยังรถถัง ยานเกราะ และอาวุธสำคัญๆทั้งหลายแทน ทั้งนี้เป็นเพราะอาวุธดังกล่าวมีรายละเอียดและความน่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และมีนัยยะสำคัญเชื่อมโยงไปสู่เหตุการณ์อื่นๆในภายหลังด้วย ภาพและข้อมูลส่วนใหญ่ผู้เขียนอ้างอิงจากที่นี่ครับ
-------> http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5194.0
อากาศยาน
เริ่มต้นกันที่อากาศยานสำคัญๆในเหตุการณ์นี้ก่อนเลยครับ ในช่วงเวลาดังกล่าวกองทัพอากาศเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกองทัพบก โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากกองบินทหารบกในปี 2456 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นกรมอากาศยานทหารบกในวันที่ 19 มีนาคม 2461 และได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็นกรมอากาศยานในวันที่ 1 ธันวาคม 2464 กระทั่งวันที่ 9 เมษายน 2480 จึงได้ถูกยกฐานะเป็นกองทัพอากาศในที่สุด และมีการจัดงานวันกองทัพอากาศทุกปีในวันนี้
วันที่ 9 ตุลาคม 2476 นักบินผู้หนึ่งชื่อเรืออากาศโทขุนไสวมัณยากาศ ได้บังคับเครื่องบินลงจอดที่สนามมณฑลทหารราชบุรี และได้ยื่นจดหมายฉบับหนึ่งให้แก่พลตรีพระยาสุรพันธเสนี สมุหเทศาภิบาลมณฑล ก่อนแจ้งว่าเป็นสาสน์จากพระองค์เจ้าบวรเดช พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีได้เห็นเหตุการณ์ดังกล่าวกับตาตัวเอง จึงรีบเดินทางกรุงเทพเพื่อเตรียมตัวรับมือโดยเร่งด่วน พูดว่านักบินผู้นี้ทำแผนแตกหรือดวงซวยมากก็คงไม่ผิด แต่อันที่จริงแล้วฝ่ายรัฐบาลรู้ระแคะระคายเรื่องการก่อกบฎมานานพอสมควร ได้มีการเตรียมรับมือและตัดทอนอาวุธของทหารหัวเมืองไว้ก่อนหน้านี้ เพียงแต่ยังไม่รู้ว่าใครเป็นใครและจะลงมือกันวันไหนที่ไหนกันแน่
คืนวันที่ 11 ตุลาคม 2476 คณะกู้บ้านกู้เมืองได้เคลื่อนพลจากนครราชสีมาเข้ายืดสถานีรถไฟดอนเมือง หลักสี่ บางเขน และพื้นที่ใกล้เคียงรวมทั้งสนามบินดอนเมืองด้วย ในเวลานั้นเองนักบินจากฐานบินอื่นๆได้รับคำสั่งลวงให้มาแข่งเทนนิสที่ดอนเมือง โดยให้นำเครื่องบินรบประจำตัวมาด้วย เมื่อรู้ความจริงเข้าพวกเขาจึงประกาศวางตนเป็นกลางไม่เข้ากับฝ่ายใด 3 วันต่อมามีนักบิน 2 นายลักลอบนำเครื่องบินนิเออร์ปอร์ต เดอลาจ หลบหนีออกมาได้สำเร็จ เครื่องบินลำแรกลงจอดฉุกเฉินในสนามหลวงสำเร็จ แต่อีกลำตกในเขตพระราชฐานชั้นในนักบินเสียชีวิตในเวลาต่อมา เมื่อทหารฝ่ายรัฐบาลยืดดอนเมืองคืนจากอีกฝ่ายได้แล้ว จึงได้สั่งให้นักบินจำนวนหนึ่งนำเครื่องบินไล่ตามคณะกู้บ้านกู้เมืองไป จนกระทั่งได้มาเจอกองกำลังส่วนใหญ่ที่แถวๆปากช่อง เหล่านักบินดวงตกทำหน้าที่ตัวเองโดยทิ้งระเบิดใส่ทุ่งนาแล้วกลับมารายงานผล ฝ่ายรัฐบาลจึงรู้ที่ตั้งอย่างชัดเจนแม้จะไม่ค่อยปลื้มผลงานนัก
เครื่องบินขับไล่ 2 ที่นั่งแบบ ข.2 นิเออร์ปอร์ต เดอลาจ หรือ Nieuport-Delage NiD 29 เป็นเครื่องบินที่ซื้อมาจากฝรั่งเศสทำความเร็วได้สุงสุด 235 กม./ชม. มีระยะทำการ 580 กม. ติดอาวุธปืนกลขนาด 7.7 มมจำนวน 2 กระบอก กองบินทหารบกนำเข้าประจำการในปี 2462 จำนวน 4 ลำ นอกจากนี้ยังได้ให้กรมช่างอากาศสร้างเพิ่มในปี 2467 อีกจำนวนหนึ่งด้วย ผลงานในการรบไม่ปรากฎแน่ชัดแต่มีบางเหตุการณ์ที่สำคัญๆคือ
วันที่ 19 กรกฎาคม 2469 นายเรือโททองพูล ชื่นสุวรรณ กับนายสิบตรีทองเจือ อ่างแก้ว ศิษย์การบินชั้นมัธยมได้นำเครื่องบินนิเออปอรต์เดอลาจจำนวน 2 ลำทำการฝึกบินที่สนามบินโคกกระเทียม ที่ระดับความสูงประมาณ 800 เมตรเครื่องบินทั้งสองลำได้ชนกันกลางอากาศ เครื่องบินของนายร้อยโท ทองพล ชื่นสุวรรณตกลงกระแทกพื้นนักบินเสียชีวิตทันที ส่วนเครื่องบินของนายสิบตรี ทองเจือ อ่างแก้วควงสว่านลงปะทะยอดไม้ นักบินกระโดดออกจากเครื่องบินทันแต่ได้รับบาดเจ็บพอสมควร นับเป็นการชนกันทางอากาศครั้งแรกในประเทศไทย
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2472 นายร้อยโทนาม พันธุ์นักรบผู้ช่วยผู้บังคับฝูงบินที่ 4 ตำบลโคกกะเทียม จังหวัดลพบุรี ได้นำเครื่องบินนิเออปอรต์เดอลาจทำการบินผาดแผลงในระยะสูงประมาณ 1,000 เมตร ทว่าเครื่องบินได้เกิดไฟไหม้โดยไม่ทราบสาเหตุ นักบินถูกไฟลวกและไม่สามารถบังคับเครื่องบินได้แล้ว จึงตัดสินใจโดดร่มชูชีพออกจากเครื่องโดยปลอดภัย นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีนักบินโดดร่มออกจากเครื่องบิน
จากนั้น ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2473 กรมอากาศยานจึงออกคำสั่งให้กองบินต่าง ๆ จัดการแก้ไขที่นั่งเครื่องบินทุกแบบทุกชนิด ให้ใช้ร่มชูชีพได้ทุกเครื่อง เว้นไว้แต่เครื่องบินนิเออปอรต์ 23 ตารางเมตร
อากาศยานลำสุดท้ายก็คือเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบท.1 เบรเกต์ ( BREGUET 14B) วันที่ 24 ตุลาคม 2476 พระองค์เจ้าบวรเดชและพระชายา ได้เสด็จโดยเครื่องบินออกจากสนามบินทหารนครราชสีมามุ่งไปยังปลายทางที่พนมเปญ ร้อยเอกหลวงเวหนเหินเห็จคนสนิทเป็นนักบินนำเครื่องไปสู่จุดหมายโดยสวัสดิภาพ กรมอากาศยานมีประจำการเครื่องบินรุ่นนี้อยู่ 2 หน่วยคือ กองบินใหญ่ที่ 2 (ลาดตระเวน) ดอนเมือง และกองบินใหญ่ที่ 3 (ทิ้งระเบิด) นครราชสีมา นอกจากใช้ในภารกิจทิ้งระเบิดในการศึกสงครามแล้ว เครื่องบินยังมีหน้าที่ตรวจการณ์บินธุรการหรือเป็นเครื่องบินเมล์ และได้มีการดัดแปลงเป็นเครื่องบินพยาบาลเพิ่มเติมอีกด้วย
เรือหลวงสุโขทัยลำที่ 1
เมื่อพื้นที่แถวดอนเมืองโดนกองกำลังฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองยึดสำเร็จ แผนการตอบโต้จากฝ่ายรัฐบาลในช่วงแรกๆสุดก็คือ ให้กองทัพเรือนำเรือหลวงสุโขทัยล่องไปยังแถวสะพานพระรามหก จากนั้นในตอนเช้าตรู่จึงเริ่มยิงถล่มไปยังที่มั่นของอีกฝ่าย ซึ่งอยู่ห่างออกไปจากสะพานประมาณ 13 กิโลเมตร ทันทีที่ทราบเรื่องผู้บัญชาการทหารเรือก็รีบปฎิเสธ เพราะปืนใหญ่ของเรือมีอำนาจทำลายล้างสุงมาก เมื่อวังปารุสก์ยืนยันจะให้ยิงให้จงได้ทหารเรือจึงได้ประกาศตัวเป็นกลาง จากนั้นก็เอาเรือไปจอดทอดสมอที่กรมสรรพาวุธบางนาเพื่อเติมน้ำมันและเสบียง ผู้บัญชาการทหารเรือตัดสินใจนำเรือหลวงสุโขทัยกับเรือหลวงเจ้าพระยาไปถวายอารักขาพระเจ้าอยู่หัวต่อไป
เรือหลวงสุโขทัยสร้างโดยอู่อาร์มสตรอง วิทเวิร์ธ ประเทศอังกฤษ เป็นแบบเรือเดียวกันกับเรือหลวงรัตนโกสินทร์ที่เคยซื้อมาก่อนหน้านี้ กองทัพเรือไทยจัดหาเข้าประจำการในวันที่ 6 มิถุนายน 2473 ในราคา 20,300 ปอนด์ จัดอยู่ในประเภทเรือปืนเบา(รักษาชายฝั่ง) ระวางขับน้ำปกติ 886 ตัน เต็มที่ 1,000 ตัน ความยาวตลอดลำ 52.47 เมตร กว้างสุด 11.85 เมตร กินน้ำลึก 4.80 เมตร ติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด152/50 มม.จำนวน 2 กระบอก และปืนใหญ่ขนาด 76/45 มม.อีก 4 กระบอกในเวลานั้น ปลดประจำการในวันที่ 15 ธันวาคม 2513 หลังรับใช้ชาติ 40 ปีเต็ม ภาระกิจแรกสุดหลังเข้าประจำการได้เพียง 4 เดือน เกือบจะเป็นการยิงทหารไทยด้วยกันเองเสียแล้ว
ปืนใหญ่ภูเขาแบบ 63
ปืนใหญ่ภูเขาขนาดกระทัดรัดผลิตจากประเทศญี่ปุ่น เข้าประจำการกองทัพบกไทยในปี 2463 ปากลำกล้องปืนมีขนาดกว้าง 75 มม. ภายในบรรจุด้วยเกลียวทั้งหมด 32 เกลียว มีระยะยิงไกลสุดถึง 6 กิโลเมตร ใช้พลยิงรวมกันทั้งหมด 5 คน ทำหน้าที่ยิงลั่นไก ป้อนกระสุน รับส่งวิทยุ และหาตำแหน่งข้าศึก จัดเป็นอาวุธประจำกองพันทหารปืนใหญ่ทั่วประเทศ ใช้เทียมลากด้วยม้าได้จึงมีความคล่องตัวสุง
ช่วงแรกๆของเหตุการณ์ปืนใหญ่รุ่นนี้มีบทบาทพอสมควร คณะกู้บ้านกู้เมืองเคลื่อนขบวนทัพเข้าพระนคร โดยมีกองระวังหน้า 2 หมวดใช้รถไฟขบวนเล็กวิ่งล่วงหน้าไปก่อน ตามติดด้วยขบวนหลักใช้รถข.ต.(ข้างต่ำ)บรรทุกปืนใหญ่ภูเขาไว้ด้านหน้า 2 กระบอกและด้านหลังอีก3กระบอก ตรงกลางเป็นตู้โดยสารบรรทุกทหารราบ ทหารม้าและทหารปืนใหญ่ 5 กองพัน รวมทั้งรถกองบัญชาการของแม่ทัพกับฝ่ายเสนาธิการด้วย คณะกู้บ้านกู้เมืองได้ใช้สถานีรถไฟดอนเมืองเป็นฐานทัพหลัก โดยมีทัพหน้าสุดอยู่ที่สถานีบางเขนเรียงรายยาวมาจนถึงสถานีหลักสี่
ทหารฝ่ายรัฐบาลได้เคลื่อนขบวนทัพจากลานพระบรมรูปทรงม้า ไปยังลานสินค้าของบริษัทปูนซีเมนต์สยามที่สถานีรถไฟบางซื่อ ซึ่งอยู่ห่างจากสถานีรถไฟบางเขนประมาณ 5 กิโลเมตรเศษๆ จากนั้นจึงเอาปืนใหญ่ภูเขาแบบ 63 มาตั้งเรียงแถวบนถนนประดิพัทธิ์ ก่อนจะเริ่มระดมยิงใส่ทหารฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองประมาณ 40 นัดเห็นจะได้ กระสุนทั้งหมดลอยข้ามทหารหัวเมืองไปตกท้องนาท้องไร่แถวนั้น โดยที่ทหารปืนใหญ่ของอีกฝ่ายไม่ได้ยิงโต้ตอบเลย เนื่องจากพวกเขามีแต่กระสุนซ้อมยิงหล่อซีเมนต์ที่ใช้ได้ผลในระยะใกล้ๆ ก่อนหน้านี้ไม่นานรัฐบาลได้เรียกเก็บกระสุนจริงจากทั่วประเทศ นัยว่าเพื่อเป็นการป้องกันการก่อกบฎที่เคยได้ข่าวมา
ปืนใหญ่ภูเขาแบบ 63 ยังมีบทบาทในฐานะหัวหมู่ทะลวงฟันของกองกำลังฝ่ายรัฐบาล โดยได้นำปืนใหญ่ขึ้นใส่รถข.ต.พร้อมรถถังและหรืออาวุธลับใหม่เอี่ยมอ่อง จากนั้นจึงใช้หัวรถจักรไอน้ำดันท้ายรถข.ต.แล่นเข้าไปยิงต่อสู้กับทหารฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมือง บริเวณสนามรบเริ่มต้นจากสถานีรถไฟบางเขน หลักสี่ ไปจนถึงดอนเมืองที่มั่นท้ายสุด ทว่าหลังจากฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองล่าถอยกำลังไปตั้งมั่นอยู่แถวปากช่อง ยุทธวิธีการรบแม้จะยังอยู่บนรางรถไฟก็ตาม แต่ก็เปลี่ยนไปเป็นการปะทะกันด้วยทหารราบในพื้นที่แคบๆแทน ปืนใหญ่ภูเขาแบบ 63 ที่ทหารฝ่ายรัฐบาลขนไปด้วยจึงแทบไม่ได้ใช้งาน ได้ปรากฎโฉมต่อสาธารณะชนอีกทีก็ตอนสวนสนามฉลองชัยโน่น
ปืนใหญ่ภูเขาแบบ 63 ยังมีบทบาทในการศึกครั้งสำคัญมากในเวลาต่อมา วันที่ 8 ธันวาคม 2484 ซึ่งถือเป็นวันเริ่มต้นสงครามมหาเอเชียบูรพา ญี่ปุ่นได้ส่งกองทัพเข้าประเทศไทยจำนวน 8 แห่งด้วยกัน คือทางบกที่อรัญประเทศ ส่วนทางทะเลได้ยกพลขึ้นบกที่ บางปู สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และ ปัตตานี การยกพลขึ้นบกที่สงขลามีลักษณะแตกต่างกว่าที่อื่น เป็นจุดที่ญี่ปุ่นส่งกำลังมากเป็นพิเศษเพราะสามารถขึ้นบกได้สะดวก มีหาดทรายกว้างและยาวมากกว่า 9 กิโลเมตร สามารถเดินทางไปสู่รัฐไทรบุรีและปีนังของมาเลเซียได้ใกล้ที่สุด ทหารญี่ปุ่นสามารถขึ้นบกได้อย่างง่ายดาย ทว่ากองทหารไทยก็โชคดีที่ทราบข่าวเร็วและมีเวลาเตรียมตัว จึงสามารถวางกำลังตามแนวรบได้ใกล้เคียงกับแแผนที่วางไว้ ปืนใหญ่ภูเขาแบบ 63 จากกองร้อยที่ 3 ได้เข้าพื้นที่ตั้งยิงบริเวณเขารูปช้าง เพื่อช่วยคุ้มกันทหารราบโดยตรงและทำหน้าที่ต่อสู้รถถังข้าศึกไปด้วย การปะทะกันกินเวลาถึง 7 ชั่วโมงเต็มก่อนมีคำสั่งทางโทรเลขจากผู้บังคับบัญชามณฑล 6 ค่ายนครศรีธรรมราช ให้ทำการหยุดยิงและหลีกทางให้ทหารญี่ปุ่นผ่านไปตามคำสั่งรัฐบาล ผลจากการรบทหารไทยเสียชีวิต 7 นายบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง ขณะที่ทหารญี่ปุ่นเสียชีวิตประมาณ 200 นายบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก
ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานแบบ 76
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 กระทรวงกลาโหมได้พิจารณาสั่งซื้อปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานขนาดปากลำกล้อง 40 มม.แบบอัตโนมัติ ติดตั้งบนรถสายพานหลังคาเปิดมีเกราะเหล็กรอบด้านขนาด 6 ตันจากบริษัท วิคเกอร์อาร์มสตรองประเทศอังกฤษ โดยได้สั่งซื้อผ่านบริษัทบาโรบราวน์ ประเทศไทยรวมทั้งสิ้นจำนวน 10 คัน อาวุธใหม่เอี่ยมอ่องได้เดินทางมาถึงไทยในเดือนสิงหาคม 2476 และขึ้นทะเบียนเป็นอาวุธประจำการชื่อว่า ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานแบบ 76 เป็นปืนต่อสู้อากาศยานเคลื่อนที่ด้วยตนเองแบบแรกสุดของประเทศ
วันที่ 14 ตุลาคม 2476 ทหารฝ่ายรัฐบาลได้เคลื่อนทัพเข้าปะทะทหารฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองที่ยึดสถานนีรถไฟบางเขนเอาไว้ โดยใช้หัวรถจักรหุ้มเกราะดันหลังรถข.ต.บรรทุกรถถังเคลื่อนที่เข้าหาพร้อมกันทั้ง 2 ราง นอกจากนี้แล้วยังมีเหล่าทหารราบอยู่ในรถพ่วงคันหลังอีกจำนวนหนึ่ง ผลจากการปะทะในช่วงเช้าส่งผลให้ฝ่ายรัฐบาลสูญเสียผู้บังคับกองพันไป ผู้บัญชาการกองกำลังผสมฝ่ายรัฐบาลจึงรีบแก้เกมส์ทันที โดยการส่งให้นำปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานแบบ 76 ที่เพิ่งผ่านการตรวจรับสดๆร้อนๆมาแล้ว 2 คันมาออกสนามรบจริงทันที
ผบ.หน่วยกรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานได้นำรถขึ้นบรรทุกบนรถข.ต.แล้วใช้หัวรถจักรดันท้ายเหมือนเช่นเคย กระทั่งพบเป้าหมายจึงเปิดฉากยิงชุดแรกด้วยตัวเองจำนวน 4 นัด ไปยังรังปืนกลของทหารฝ่ายตรงข้ามที่หน้าต่างโบสถ์วัดเทวสุนทร อำนาจการยิงของปืนกลขนาด 40 มม.เป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก กระสุนปืนสร้างความเสียหายได้อย่างมากและปืนก็ยิงได้เร็วและรุนแรงติดต่อกัน ทหารหัวเมืองทั้งหมดไม่เคยเห็นอาวุธสุดทันสมัยแบบนี้มาก่อน จึงพากันหนีตายทิ้งที่มั่นหลบหนีเอาตัวรอดกลับไปยังฐานทัพหลักที่ดอนเมือง ทหารราบจากฝ่ายรัฐบาลสามารถเข้ายืดพื้นที่ท้องทุ่งบางเขนไว้ได้โดยละม่อม กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานเป็นพระเอกในวันนี้ และเป็นไม้เด็ดในการปราบกบฎที่ได้ผลดีเกินคาด ทว่าวันรุ่งขึ้นอาวุธลับใหม่เอี่ยมอ่องจากอังกฤษของฝ่ายรัฐบาล ก็โดนไอเท็มลับเมดอินเยอรมันของอีกฝ่ายเล่นงานเข้าให้ ผู้เขียนจะย้อนกลับมาเล่าเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่งครับ
ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานแบบ 76 ถูกลำเลียงขึ้นรถไฟไปปราบกองกำลังคณะกู้บ้านกู้เมืองที่ปากช่องด้วย แต่แทบไม่ได้งานจริงเลยนอกจากเข้าพิธีสวนสนามฉลองชัยชนะ รถสายพานขนาด 6 ตันติดปืนกลมีผลงานอีกครั้งเมื่อกลับสู่พระนคร ทางรัฐบาลได้มีการจัดรัฐพิธีอย่างยิ่งใหญ่ให้แก่ผู้เสียชีวิตทั้ง 17 คน โดยได้จัดสร้างเมรุชั่วคราวขึ้นที่ทุ่งพระเมรุหรือสนามหลวง รถสายพานที่เหลือทั้ง 9 คันทำหน้าที่ลำเลียงหีบศพทหารกล้า จากลานพระบรมรูปทรงม้าไปยังเมรุชั่วคราว และเมื่อสิ้นสุดงานยังได้นำอัฐิของผู้เสียชีวิตไปบรรจุไว้ในสถูปชั่วคราวอีกที
ปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 40 มม.มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Ordnance QF 2-pounder พัฒนาต่อมาจากปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 37 มม. Ordnance QF 1-pounder ซึ่งอังกฤษเริ่มนำเข้าประจำการตั้งแต่ปี 1890 โน่น ทว่าคนส่วนใหญ่จะรู้จักกันในชื่อ ปอมปอม (pom-pom) เสียมากกว่า เป็นปืนกลขนาดลำกล้องกว้าง 40/39 มม.ระบายความร้อนด้วยน้ำ มีอัตรายิงสุงสุดถึง 115 นัด/นาทีที่เป้าหมายไกลสุด 6,220 เมตร ปอมปอมยังมีรุ่นใช้งานบนเรือรบอีกด้วยและได้รับความนิยมสุงมากในเวลานั้น มีทั้งรุ่นลำกล้องเดี่ยว สี่ลำกล้อง และแปดลำกล้อง ปืนได้รับความนิยมสุงใช้งานอย่างแพร่หลายในราชนาวีหลายประเทศรวมทั้งญี่ปุ่น และชาติท้ายสุดที่นำไปติดคืออเมริกาช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เฉพาะปอมปอมรุ่นท้ายๆได้รับการปรับปรุงให้มีอัตรายิงสุงสุดถึง 200 นัด/นาที ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้นเอง กองทัพบกอังกฤษมีปืนติดรถถังและอาวุธปืนต่อสู้รถถังชื่อเดียวกันคือ QF 2-pounder มีขนาดลำกล้อง 40มม.เท่ากัน แต่มีความยาวลำกล้องต่างกันและมีอัตรายิงสุงสุดเพียง 20 นัด/นาที
ปอมปอมผ่านสมรภูมิใหญ่มาทั้งสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและครั้งที่สอง นับเป็นปืนต่อสู้อากาศยานอังกฤษรุ่นที่ดีที่สุด ได้รับความนิยมมากที่สุดคือผลิตออกมาประมาณ 7,000กระบอก และเป็นปืนอังกฤษแท้ๆรุ่นท้ายสุดในสาระบบอีกด้วย เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองผ่านไปได้ครึ่งทางทุกคนก็รู้ว่าปอมปอมไปต่อไม่ได้แล้ว เนื่องจากอาวุธปืนมีอัตรายิงต่ำเกินไป ระยะยิงสั้นเกินไป ความแม่นยำน้อยเกินไป ความน่าเชื่อถือน้อยเกินไป ซ่อมบำรุงสุงเกินไป และที่สำคัญระบบระบายความร้อนด้วยน้ำสร้างปัญหาใหญ่เกินไป อังกฤษจึงได้ริเริ่มจัดหาปืนกลต่อสู้อากาศยานรุ่นใหม่มาแทนที่ ปืนต่อสู้อากาศยานโบฟอร์ส 40/L60 มม. และปืนเออลิคอน 20 มม.เป็นผู้ได้รับการคัดเลือก เมื่อปืนทั้ง 2 ชนิดล้าสมัยลงและต้องหารุ่นใหม่มาแทนที่อีกครั้ง อังกฤษก็เลือกจรวดต่อสู้อากาศยานซีแคทมาแทนที่ปืนโบฟอร์ส 40/L60มม. (ตอนแรกจะใช้ปืนโบฟอร์ส 40/L70มม.แต่ได้ยกเลิกไป) และเลือกปืนเออลิคอน 20 มม.รุ่นที่ใหม่กว่ามาแทนที่ของเดิม ปิดฉากปืนต่อสู้อากาศยานเมดอินอิงแลนด์แท้ๆไปโดยปริยาย
รถถังเบาแบบ 73 (Light tank, Carden Loyd Mark VI)
ในปี 2473 กองทัพบกได้สั่งซื้อรถถังแบบ Carden Loyd Mk6 จากประเทศอังกฤษจำนวน 10 คัน เข้ามาใช้งาน ถือเป็นรถถังรุ่นแรกและแบบแรกในประเทศไทย โดยตั้งเป็นกองร้อยที่ 3 กองรถรบใน ม.พัน.1รอ. รถถังขนาดจิ๋วคันนี้สร้างโดยบริษัท วิกเกอร์ อาร์มสตรอง มีชื่อเล่นเรียกกันว่าไอ้แอ้ด ส่วนกองทัพบกได้ตั้งชื่อรถตามปี พ.ศ.ที่นำเข้าประจำการคือรถถังเบาแบบ 73 ก่อนหน้านี้ได้รับภาระกิจจอดคุ้มกันอยู่ด้านหน้าวังปารุสก์
วันแรกของการปะทะกันระหว่างทั้งสองฝ่าย รถถังแบบ 63 รับหน้าที่เป็นหัวหมู่ทะลวงฟันร่วมกับปืนใหญ่ภูเขาแบบ 63 แต่ทว่าปืนกลเบาวิกเกอร์ระบายความร้อนด้วยน้ำขนาด 7.7มม.ของรถ ไม่สามารถทะลุทะลวงรังปืนกลเบา (ขนาด 7.7มม.เช่นกัน) ของฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองได้ จึงต้องเปลี่ยนมาใช้อาวุธที่ทรงประสิทธิภาพกว่า คือปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานแบบ 76 ตามที่ได้เขียนถึง รถถังแบบ 73 ถูกส่งไปปราบคณะกู้บ้านกู้เมืองที่ปากช่องด้วย แต่ไม่ได้แสดงบทบาทอะไรมากมายเท่าไหร่ นอกจากเข้าพิธีสวนสนามฉลองชัยชนะแล้วก็กลับพระนคร
รถถังเบาแบบ 73 หรือไอ้แอ้ดมีความยาว 2.46 เมตร กว้าง 1.70 เมตร สุง 1.29 เมตร ติดปืนกลเบาขนาด 7.7 มม.พร้อมกระสุน 1,000 นัด ใช้เครื่องยนต์แก๊สโซลีน 4 สูบ 22 แรงม้า ความเร็วสูงสุดบนถนน 45 กม/ชม และมีระยะปฏิบัติการ 160 กม ด้วยขนาดที่ค่อนข้างเล็กมากมีเกราะบางและติดอาวุธเบา เลยไม่ได้ออกรบแนวหน้าอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเท่าไหร่นัก ไอ้แอ้ดปลดประจำการในปี 2495 หลังรับใช้ชาติ 22 ปีเต็ม
รถถังเบาแบบ 76 (Lighttank Carden Loyd 6 tons Mark E)
ปี 2476 กองทัพบกสั่งซื้อรถถังขนาดเบาแบบ Carden Loyd 6 tons Mark E จากประเทศอังกฤษเข้ามาใช้งานจำนวน 10 คัน รถถังขนาด 6 ตันสร้างโดยบริษัท วิกเกอร์ อาร์มสตรองเช่นเดียวกับรถถังเบาแบบ 73 รถคันนี้ถูกตั้งชื่อเล่นว่าไอ้โกร่งคล้องจองกับไอ้แอ้ด มีบทบาทสำคัญในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับอินโดจีน ช่วงเดือนธันวาคม 2483 ถึงเดือนเมษายน 2484 โดยเฉพาะการรบที่สมรภูมิบ้านพร้าวระหว่างทหารไทยกับทหารต่างชาติของฝรั่งเศส รถถังเบาแบบ 76 จำนวน 2 คันได้บุกตะลุยไปข้างหน้าอย่างห้าวหาญ และสามารถบดขยี้ฝ่ายตรงข้ามจนได้รับชัยชนะเด็ดขาดในที่สุด สร้างตำนานสงครามรถถังครั้งแรกของประเทศไทยไว้อย่างสง่างาม
ทันทีที่ทราบแน่ชัดว่ามีการก่อกบฎขึ้นแล้ว ฝ่ายรัฐบาลจึงได้เคลื่อนทัพรถถังเบาแบบ 76 มาป้องกันวังปารุสก์ฐานบัญชาการหลักทันที อาวุธใหม่เอี่ยมชนิดนี้ทรงประสิทธิภาพมากที่สุดในประเทศ เพราะรถถังเบาแบบ 76 หรือ Carden Loyd 6 tons Mark E หรือ Vickers 6-Ton Mark E Light Tank หุ้มเกาะแบบเฉียงหนาถึง 13 มม. ติดตั้งอาวุธปืนใหญ่ขนาด 47 มม.รุ่น OQF 3-pounder gun จำนวน 1 กระบอก ปืนกลเบาขนาด 7.7 มม. อีกจำนวน 1กระบอกเคียงคู่กัน (มีรุ่นติดเฉพาะปืนกล 7.7 มม.ลำกล้องแฝดด้วย แต่กองทัพบกไม่ได้จัดซื้อมาใช้งาน) จึงมั่นใจได้ว่าจะไม่มียานยนต์ชนิดไหนในไทยสามารถผ่านรถคันนี้ไปได้ ที่ฝ่ายรัฐบาลรีบเข็นอาวุธสุดทันสมัยออกมาป้องกัน เพราะคาดว่ามีทหารในพระนครเข้าร่วมกับฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองด้วย เพียงแต่พวกเขาไม่มาตามนัดเท่านั้นเอง
กว่ารถถังเบาแบบ 76 ได้ออกรบจริงๆจังๆก็ปาเข้าไปวันสุดท้ายที่มีการยิงกัน วันที่ ๒๔ ตุลาคมที่บริเวณถนนหน้าตลาดดงพระยาเย็นอำเภอปากช่อง ทหารฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองชุดท้ายสุดอยู่ในพื้นที่ตั้งรับ ทหารฝ่ายรัฐบาลใช้รถถังเบาแบบ 76 บุกนำหน้าเข้าไปตามถนนหน้าตลาด เมื่อวิ่งใกล้เป้าหมายผู้บังคับกองพันจึงสั่งให้รถถังยิงขู่ออกไป 1 ชุด ทหารชั้นผู้น้อยของอีกฝ่ายรอจังหวะอยู่แล้วจึงยอมมอบตัวแต่โดยดี ปิดฉากเหตุการณ์กบฏบวรเดชลงแบบไม่เสียเลือดเนื้อเพิ่มเติม ไอ้โกร่งปลดประจำการในปี 2495 หลังรับใช้ชาติ 22 ปีเต็มเช่นเดียวกับไอ้แอ้ด
รถไฟ
หลังจากเขียนมานานพอสมควรจึงถึงเวลาพระเอกตัวจริงเสียที ในปี 2476 การเดินทางระหว่างพระนครกับหัวเมืองทำได้โดยทางรถไฟ ทางเรือ และทางเกวียน การขนทหารจำนวนมากและอาวุธหนักใช้ทางรถไฟเท่านั้นจึงจะสะดวกที่สุด ประกอบกับช่วงเดือนตุลาคมเป็นฤดูน้ำหลาก ทุ่งนาทุ่งข้าวตลอดข้างทางที่ไม่ใช่ที่ดอนล้วนเจิ่งนองไปด้วยน้ำ ท่วมขังการรบกันระหว่างทั้งสองฝ่ายจึงทำกันบนรางรถไฟเสียเป็นส่วนใหญ่ เมื่อมีฝนตกลงมาก็ต้องหาที่หลบใต้ตู้ขบวนโดยสารพลางยิงป้องกันตัววุ่นวายไปหมด บนรางรถไฟกว้าง 1 เมตรจากบางซื่อถึงปากช่องเต็มไปด้วยเรื่องราวมากมาย มีผู้กล้าหาญมีผู้เสียสละ มีคนหักหลังมีคนวิ่งหนี มีผู้ชนะและมีผู้แพ้ หลังเหตุการณ์จบลงประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย ทว่าไม่ได้เป็นไปตามที่คณะกู้บ้านกู้เมืองมีความปราถนาแม้แต่น้อย
ผู้เขียนจะพาไปที่การจัดขบวนรถไฟของทหารฝ่ายรัฐบาล เพื่อตามไปปราบทหารฝ่ายกู้บ้านกู้เมืองซึ่งทราบที่อยู่อย่างชัดเจนแล้ว วันที่ 17 ตุลาคม 2476 รัฐบาลจัดเตรียมทหาร 2 กองพันพร้อมอาวุธหนักกระสุนปืนและเสบียง แล้วยกทัพติดตามไปทางรถไฟเพื่อไล่ล่าทหารหัวเมืองฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดช ด้านหน้าสุดจะเป็นรถไฟขบวนเล็กบรรทุกทหารพร้อมอาวุธ รวมทั้งทหารช่างส่วนหน้าเพื่อทำการสำรวจเส้นทางที่ชำรุดจากการกระทำของอีกฝ่าย การเดินทางเป็นไปด้วยความล่าช้าเพราะต้องจอดซ่อมรางรถไฟเป็นระยะๆ หรือในบางช่วงก็จะมีตู้ชบวนว่างๆถูกผลักให้ตกรางให้เสียเวลาเอาออก ถัดมาจะเป็นหัวรถจักรไอน้ำที่มีใช้งานในเวลานั้น (มีภาพรถจักรสวิส 450 แรงม้าหมายเลข 504 ขณะสวมเกราะกันกระสุน ซึ่งเป็นภาพถ่ายจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้เขียนเข้าใจว่าเป็นช่วงเวลาเข้าปะทะกันที่ดอนเมืองมากกว่าช่วงเวลาที่ตามไปปากช่อง) บางส่วนของตู้ขบวนจะเป็นรถข.ต.(ข้างต่ำ)สำหรับบรรทุก รถถัง ปืนใหญ่ภูเขา รถปตอ. รถหุ้มเกราะ และที่สำคัญมากก็คือ รถปั้นจั่นสำหรับยกอาวุธหนักทั้งหลายขึ้นบนรถข.ต.อีกที บางตู้ขบวนจะเป็นรถตู้ ถ.ค.หรือรถโถงมีหลังคาสุง เพื่อใช้สำหรับโดยสารม้าศึกรวมทั้งเก็บเสบียง อาวุธ และอื่นๆ น้ำหนักบรรทุกที่ค่อนข้างมากทำให้หัวรถจักรทำความเร็วได้ต่ำกว่าปรกติพอสมควร
หัวรถจักรที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในเหตุการณ์กบฎบวรเดช และถือเป็นไอเท็มลับสุดยอดของฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองก็คือ หัวรถจักรไอน้ำแปซิฟิค(ฮาโนแมก)หมายเลข 277 สร้างโดยบริษัท แอนโนเวอร์เช แมชชีนเนนเบอะ (ยอร์จ อีเกสทอฟ์ฟ, แฮนโนเวอร์) ประเทศเยอรมัน วันที่ 15 ตุลาคม 2476 มีการขนอาวุธต่างๆเข้ามาปะทะกันตั้งแต่เช้าตรู่ ทหารทั้งสองฝ่ายต่างยันกันไปยันกันมาไม่มีผลแพ้ชนะเด็ดขาด กระทั่งเวลาประมาณ 16:00 น. คือยิงกันมาเกือบ 10 ชั่วโมงแล้ว ระหว่างที่ฝ่ายรัฐบาลรุกคืบหน้าใกล้สถานีสถานีหลักสี่มากขึ้น โดยใช้อาวุธทันสมัยล่าสุดคือปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานแบบ 76 เป็นไม้เด็ด กระทั่งหัวขบวนรถไฟอยู่ห่างแนวต้านทหารหัวเมืองไม่ไกลนัก เสนาธิการฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองเห็นท่าว่าจะเอาไม่อยู่แล้ว จึงได้ออกคำสั่งปล่อยรถจักรไอน้ำคันนี้ที่จอดติดเครื่องรออยู่ทันที รถเคลื่อนตัวแล่นมาตามทางคู่ขนานด้านตะวันออกจากสถานีดอนเมือง ก่อนคนขับจะเร่งความเร็วจนมิดเกจ์แล้วชิงกระโดดหนีออกมา ทหารฝ่ายรัฐบาลรู้ตัวเมื่อเห็นรถกำลังจะวิ่งผ่านสถานีหลักสี่ แม้จะพยายามช่วยกันระดมยิงสกัดด้วยปืนใหญ่ภูเขาจำนวนหลายนัดแล้วก็ตาม แต่กระสุนปืนลูกกระจ้อยร่อยก็มิอาจทำอะไรยักษ์เฮอคิวลิสคันนี้ได้
หัวรถจักรหมายเลข 277 พุ่งเข้าปะทะขบวนรถไฟของฝ่ายรัฐบาลเสียงดังสนั่นหวั่นไหว แรงปะทะทำให้รถไฟทั้งสองขบวนพลิกคว่ำตกรางในที่สุด ไอเท็มลับสุดยอดยังลากรถไฟฝ่ายรัฐบาลถอยหลังไปไกลประมาณหนึ่งร้อยเมตร ส่งผลให้ทหารที่อยู่บนรถไฟบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานแบบ 76 ใหม่เอี่ยมที่เพิ่งใช้งานได้เพียง 2 วัน และปืนใหญ่ภูเขาแบบ 63 อีกจำนวนหนึ่งเสียหายหนักใช้การไม่ได้ รถจักรไอน้ำหมายเลข 277 มีความเสียหายหนักมากเช่นกัน เมื่อเหตุการณ์ความวุ่นวายสิ้นสุดลง กรมรถไฟได้ทำการซ่อมแซมและนำออกใช้งานตามปกติจนหมดอายุ การยิงกันในวันนั้นเป็นอันยุติลงเมื่อรถไฟทั้งสองขบวนจอดสนิท ทหารฝ่ายรัฐบาลช่วยเหลือคนเจ็บออกจากรถแล้วถอยกลับไปตั้งหลักก่อน ทางด้านฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองก็รีบเก็บข้าวเก็บของรวบรวมไพร่พลทุกนาย แล้วพากันขึ้นรถไฟแล่นไปตั้งหลักที่ปากช่องในคืนนั้นเลย
บทส่งท้าย
การเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยในปี 2475 ได้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงการจัดหาอาวุธหลักสำคัญๆของประเทศอีกด้วย ในส่วนกองทัพบกที่เป็นกำลังพลใหญ่สุดและสำคัญที่สุด ได้มีการจัดหารถถัง ยานเกราะ และอาวุธปืนกลจากประเทศอังกฤษเป็นหลัก โดยได้เริ่มต้นโครงการจัดหาอาวุธทันทีที่ตั้งรัฐบาลสำเร็จ ตามแผนระยะ 10 ปีมีการจัดหารถถังจากอังกฤษรวมทั้งสิ้น 64 คันด้วยกัน (แต่ได้มาเพียง 60 คันเพราะอังกฤษขอยกเลิก 4 คันสุดท้าย) นั่นก็คือ รถถังเบาแบบ 73 จำนวน 10 คัน รถถังเบาแบบ 76 จำนวน 10 คัน รถถังลอยน้ำแบบ 76 จำนวน 2 คัน รถถังเบาแบบ 77 จำนวน 30 คัน รถถังเบาแบบ 81 จำนวน 12 คัน เมื่อรวมกับรถถังเบาแบบ 83 จากญี่ปุ่นอีก 50 คันแล้ว ทำให้กองทัพบกมีรถถังมากถึง 110 คันเลยทีเดียว ขณะเดียวกันก็ยังให้ความสำคัญกับระบบอาวุธต่อสู้อากาศยานมากขึ้น นอกจากรถสายพานติดปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานแบบ 76 จำนวน 10 คันแล้ว ยังได้มีการจัดหาปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานแบบ 77 ขนาด 75 มม.จากสวีเดนมาเพิ่มเติมอีก 8 ระบบ และได้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งกรมป้องกันต่อสู้อากาศยานขึ้นมาทันที
ด้านกองทัพเรือก็มีการเสริมกำลังขนาดใหญ่เช่นกัน โดยสั่งต่อเรือตอร์ปิโดขนาดใหญ่จากประเทศอิตาลีจำนวน 2 ลำก่อนและอีกจำนวน 7 ลำในเวลาต่อมา นอกจากนี้ยังมีเรือวางทุ่นระเบิดจากอิตาลีจำนวน 2 ลำ เรือสลุปติดปืนใหญ่ 120 มม.ระวางขับน้ำ 1,400 ตันจากญี่ปุ่นจำนวน 2 ลำ เรือตอร์ปิโดเล็กจากญีปุ่นจำนวน 3 ลำ เรือปืนหนักหุ้มเกราะติดปืนใหญ่ขนาด 200 มม.ระวางขับน้ำ 2,340 ตันจากญี่ปุ่นจำนวน 2 ลำ เรือดำน้ำชายฝั่งขนาด 430 ตันจากญี่ปุ่นจำนวน 4 ลำ และเรือลำเลียงขนาด 1,374 ตันจากญี่ปุ่นอีกจำนวน 2 ลำ นอกจากนี้ยังได้มีการต่อเรือเล็กเรือน้อยในประเทศอีกจำนวนหนึ่ง กองทัพเรือไทยใช้เวลา 10 ปีเติบโตอย่างก้าวกระโดดเฉกเช่นกองทัพบก
กรมอากาศยานมีการเสริมกำลังเช่นเดียวกัน ก่อนหน้านั้นประจำการด้วยเครื่องบินขับไล่และเครื่องบินทิ้งระเบิดจากฝรั่งเศสเป็นหลัก ทว่าหลังจากปี 2475 ไทยได้หันไปสนใจเครื่องบินจากประเทศอื่นแทน เริ่มจากการจัดหาเครื่องบินขับไล่แบบ ข.9 (ฮอว์ค 2) จากอเมริกาจำนวน 12 ลำในปี 2476 จากนั้นในปีถัดไปกรมอากาศยานได้สร้างเครื่องบินโจมตีทิ้งระเบิด บ.จ.1 คอร์แซร์ลำแรกจากจำนวน 84 ลำ นับเป็นเครื่องบินรบรุ่นแรกสุดที่สร้างเองภายในประเทศ ปี 2479 ได้สร้างเครื่องบินขับไล่แบบ ข.10 (ฮอว์ค 3) ลำแรกจากจำนวนรวม 74 ลำ นับเป็นเครื่องบินขับไล่รุ่นแรกสุดที่สร้างเองภายในประเทศเช่นกัน กรมอากาศยานหรือกองทัพอากาศในปัจจุบันมีการเติบโตแบบก้าวกระโดดเทียบเท่าเหล่าทัพอื่นๆ โดยมีพัฒนาการที่สำคัญกว่าและลึกซึ้งมากกว่า เพราะสามารถสร้างเครื่องบินขึ้นมาได้เองภายในประเทศ ถ้าทัพอื่นกระโดดหนึ่งก้าวทัพนี้จะถือว่ากระโดดสองหรือสามก้าวก็คงไม่ผิด
การจัดหาอาวุธหลักสำคัญๆของทุกเหล่าทัพอาจแตกต่างเรื่องที่มาของอาวุธอยู่บ้างก็ตาม แต่ที่เหมือนๆกันก็มีอยู่ข้อหนึ่งและสำคัญมากที่สุด นั่นก็คือจะพยายามหลีกเลี่ยงการจัดหาอาวุธจากประเทศฝรั่งเศส ด้วยว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลในยุคนั้นสมัยนั้น หรือเป็นแผนการของทุกเหล่าทัพที่จัดวางไว้แล้วก็ตามแต่
ภาคผนวก :
รถไฟไทยเริ่มต้นในรัชกาลที่ 5 (2411-2453) เป็นรถไฟของบริษัทเอกชนเดนมาร์กที่ได้รับสัมปทานในปี 2429 แต่กว่าจะเปิดเดินรถก็จนกระทั่งวันที่ 11 เมษายน 2436 เพราะบริษัทมีทุนน้อยจนรัฐบาลต้องให้ยืมเงิน แต่รถไฟที่มีบทบาทในประเทศไทยคือรถไฟของรัฐบาล กล่าวคือในปี 2430 รัฐบาลได้จ้างวิศวกรชาวอังกฤษสำรวจเส้นทางภาคเหนือและอีสาน ต่อมาในเดือนตุลาคมรัฐบาลได้ตั้งกรมรถไฟ โดยจ้างนายเบทเก (Bethge) วิศวกรเยอรมันเป็นอธิบดี มีสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์เป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ
ต่อมารัฐบาลได้ตัดสินใจสร้างรถไฟสายอีสานเป็นสายแรก เพราะขณะนั้นฝรั่งเศสมีท่าทีคุกคามไทยมากที่สุด โดยยึดเขมรและเวียดนามและสิบสองจุไทไปแล้ว ในปี 2434 มีการประมูลสร้างรถไฟสายอีสานช่วงกรุงเทพฯ-โคราช บริษัทอังกฤษชนะการประมูลในราคา 9.96 ล้านบาท เงินค่าก่อสร้างนำมาจากการขายหุ้นหุ้นละ 100 บาท จำนวน 160,000 หุ้น แต่ปรากฏว่าบริษัทอังกฤษสร้างได้ล่าช้ากว่าสัญญามาก รัฐบาลจึงเลิกสัญญาและสร้างเองช่วงกรุงเทพฯ-อยุธยาสามารถสร้างเสร็จและเปิดเดินรถวันที่ 26 มีนาคม 2439 และเสร็จถึงโคราชเปิดเดินรถวันที่ 21 ธันวาคม 2443 ขนาดความกว้างของราง แบบ Standard Guage (1.435 เมตร)
-ภาคอีสานเปิดเดินรถถึงอุบลราชธานี (สถานีปลายทางอยู่ที่อำเภอวารินชำราบ) เมื่อ 1 เมษายน 2473 ถึงขอนแก่นปี 2476 ถึงอุดรธานีปี 2484 และหนองคายปี 2499 (ร.9)
-ภาคเหนือถึงปากน้ำโพปี 2848 ถึงเชียงใหม่ปี 2464 เสียเวลา 11 ปีเพื่อสร้างอุโมงค์ขุนตาลยาว 1.3 กม.
-ภาคใต้ถึงสุไหงโกลกปี 2464 (ร 6)
-ภาคตะวันออกถึงฉะเชิงเทราปี 2450 อารัญประเทศปี 2469 (ร.7)
- ภาคตะวันตกถึงสุพรรณบุรี ปี 2502 (ร.9)
ในสมัยรัชกาลที่ 5 เปิดใช้ทางรถไฟ 932 กม. กำลังก่อสร้าง 690 กม. ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีทางรถไฟเปิดใช้ 2581 กม. กำลังก่อสร้าง 497 กม. จะเห็นได้ว่าเส้นทางรถไฟไทยเพิ่มอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาไม่กี่สิบปี
หมายเหตุ :
ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทางรถไฟสายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือเป็นทางรถไฟที่มีขนาดความกว้างของราง 1.435 เมตร ซึ่งเป็นขนาดที่ได้มาตรฐานสากล และเส้นทางรถไฟสายใต้ของไทยนั้น รัฐบาลไทยในสมัยนั้นได้กู้ยืมเงินจากประเทศอังกฤษมาทำการก่อสร้าง โดยประเทศอังกฤษมีเงื่อนไขว่าไทยจะต้องสร้างทางรถไฟให้ความกว้างของรางมีขนาด 1 เมตร และจะต้องสร้างเชื่อมต่อกับทางรถไฟในประเทศมลายู สถานีหลักของทางรถไฟสายใต้คือสถานีรถไฟบางกอกน้อยทางฝั่งธนบุรี และสถานีหลักในเส้นทางสายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือคือสถานีหัวลำโพง เพื่อความสะดวกในการเดินทางขนส่ง ทางรัฐบาลไทยจึงต้องตัดสินใจขยับความกว้างของรางรถไฟในเส้นทางสายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 1.435 เมตร เป็นขนาด 1 เมตร และยังได้สร้างสะพานพระราม6 เพื่อเชื่อมต่อทางรถไฟระหว่างสายใต้กับสายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือเข้าด้วยกัน การปรับขนาดรางรถไฟใช้เวลานานพอสมควร จนเสร็จหมดทุกสายในปี พ.ศ.2473
-------------------------------------------------------------------------------------------
อ้างอิงจาก
http://thaimilitary.blogspot.com/2015/12/1933-thai-army-vehicles.html
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%9A%E0%B8%8F%E0%B8%9A%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%8A
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5194.0
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3363.0
http://www.network54.com/Forum/330333/search?searchterm=thai&sort=match
http://www.oocities.org/haadyai.history/source/utapaonihon.html
https://en.wikipedia.org/wiki/QF_2-pounder_naval_gun
http://www.tungsong.com/ram5/Rama5005.html
https://sites.google.com/site/pankungtest/wiwathnakar-rth-thang-thiy
http://portal.rotfaithai.com/modules.php?name=Forums&file=viewtopic&t=1654
http://suwit-history.blogspot.com/2015/06/blog-post_27.html
http://www.wing2rtaf.net/wing2a/wing2/history.html
http://www.dae.mi.th/articles/aeronautical.htm
https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_aircraft_of_the_Royal_Thai_Air_Force
-------------------------------------------------------------------------------------------
ตั้งใจจะเขียนอย่างน้อยเดือนล่ะ 1 บทความ แต่เดือนที่แล้วพลาด +__+ เจ็บใจยิ่งนัก
อ่านกันเพลินๆนะครับ ผมไม่ได้สนใจการเมืองและพยายามพูดถึงให้น้อยที่สุด
อ่านเพลินเลยครับ ขอบคุณท่านซูเปอร์บอยมากครับ :)
ขอบคุณมากครับคุณsuperboy สำหรับบทความและข้อมูลดีๆ โดยเฉพาะเจ้าปตอ.76 เคยพยายามหาข้อมูลว่าเป็นQF1หรือQF2 เพราะเห็นที่จอดหน้าปตอ.แจ้งวัฒนะยังเข้าใจว่าเป็นQF1 ฝ่ายรัฐบาลใช้ปตอ.76ยิงถล่มฐานปืนกลฝ่ายกบฎที่ตั้งในโบสถ์วัดทำให้ฝ่ายกบฎต้องถอนตัวออกไป
ขอบคุณท่าน super boy มากครับ ผมชอบเรื่องราวเก่าๆ พวกนี้มาก ปรกติก็จะหาอ่านเอาจากงานเขียนของท่านสรศัลย์ แพ่งสภา หรือท่าน ฒ. ผู้เฒ่า และอีกหลายๆ ท่าน เป็นกำลังใจให้นะครับ
ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามครับ ที่ทำบทความนี้เพราะค่อนข้างชื่นชอบรถไฟเป็นพิเศษ เลยเฉือนเรื่องราวในปี 2476 ออกมาต่างหาก ตั้งใจว่าจะมีอีกหนึ่งบทความก่อนสิ้นปี แต่ไม่รู้จะทันไหม
ขอบคุณครับ