|
|||
31 สิงหาคม 2558 07:06 น. (แก้ไขล่าสุด 31 สิงหาคม 2558 15:50 น.) |
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เปิดเผยปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ได้ตัดสินใจจะทำการทดลองการปฏิบัติการโจมตีสนับสนุนภาคพื้นดินอย่างใกล้ชิด (Close Air Support Strike) ของเครื่องบิน F-35 “สายฟ้า 2” (Lightning II) โดยจะเปรียบเทียบขีดความสามารถด้านนี้แบบตัวต่อตัวกับ A-10 ซึ่งใช้งานมาตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนาม ปัจจุบันก็ยังเป็นเครื่องบินรบเพียงชนิดเดียวของกองทัพอากาศที่สร้างขึ้นมา เพื่องานนี้โดยเฉพาะ หรือที่เรียกว่า Single Mission Fighter และทั้งฝ่ายสนับสนุน ฝ่ายค้านเครื่องบินรบยุคที่ 5 ต่างข้องใจกันมานาน การทดสอบแบบ "ตัวต่อตัว" อาจจะมีขึ้นในปีหน้า หรืออาจจะเป็น 2560 หรือหลังจากนั้นขึ้นอยู่กับว่าการพัฒนาฟังก์ชัน เพื่อภารกิจ CAS ของ F-35 จะพร้อมเมื่อไร ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อกองทัพอากาศสหรัฐฯ เพียรพยายามจะปลดระวางประจำการ A-10 “ไอ้หมูป่าเขี้ยวตัน” (Warthog) ที่เหลืออยู่ราว 300 ลำในปัจจุบัน โดยอ้างว่าจะช่วยให้ประหยัดเงินงบประมาณได้ถึง 4,200 ล้านดอลลาร์ ในระยะ 5 ปีข้างหน้า และจะได้ใช้งบก้อนนี้ในการพัฒนา F-35 เพื่อให้เป็นเครื่องบินรบร่วมโจมตี หรือ Joint Strike Fighter ที่สมบูรณ์แบบที่สุดของโลก และยังสามารถปฏิบัติหน้าที่เฉพาะกิจได้หลายหน้าที่ รวมทั้งการโจมตีทางอากาศอย่างใกล้ชิดด้วย แผนการเกษียณอายุ A-10 อย่างทันทีทันใดของกองทัพอากาศได้กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันทีในรัฐสภา สหรัฐฯ ซึ่ง 2 ปีมานี้มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง หลายเสียงกล่าวว่า การปลดระวางประการ “ไอ้หมูป่า” เป็นการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบ และกองทัพอากาศกำลังจะทำให้ทหารที่รบอยู่พื้นดินตกอยู่ในอันตรายอย่างยิ่ง เนื่องจากในขณะนี้ยังไม่มีเครื่องบินรบชนิดใด หรืออากาศยานอื่นใดสามารถแทนที่ A-10 ได้ ในขณะที่ยังคงพัฒนา F-35 ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งนี้ วุฒิสมาชิกที่ทรงอิทธิพลทางด้านป้องกันประเทศในรัฐสภาสหรัฐฯ ได้ขอให้กองทัพอากาศจัดทำแผนการที่เรียกว่า A-10X ขึ้นมา เพื่อหาตัวเลือกทำหน้าที่เป็น Single Mission Fighter แทน A-10 ในกรณีที่ F-35 ไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้ดีพอ หรือในวันหนึ่งข้างหน้าก็อาจจะมีความจำเป็นขึ้นมาต้องใช้ F-35 เน้นหนักไปในภารกิจอื่นๆ ซึ่งก็เป็นได้ . |
||||
1 . . หลายคนเชื่อว่ายานไร้คนบังคับก็อาจจะเป็นทางเลือกหนึ่งแทน A-10 แต่ก็ยังไม่มีรูปธรรมใดๆ ที่ให้ความหวัง อย่างไรก็ตาม สำหรับกองทัพอากาศนั้น F-35 เป็นความหวังทั้งหมด เพราะเป็นเครื่องบินรบยุคที่ 5 ใช้เทคโนโลยีล่องหน (Stealth) ทั้งลำ รวมทั้งระบบเซ็นเซอร์อันล้ำหน้าที่ทำให้นักบินสามารถมองเห็นรอบๆ ตัวได้ 360 องศา ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีเครื่องบินรบลำใดในโลกมีระบบนี้ใช้ ทั้งนี้ เป็นข้อมูลของบริษัทผู้ผลิต หลังใช้งานมา 40 ปี กองทัพอากาศต้องการปลดประจำการ A-10 ออกไปให้หมดเพื่อประหยัดงบประมาณมหาศาลดังกล่าว ทั้งยังเห็นว่าสภาพการสู้รบปัจจุบันเครื่องบินรบยุคที่ 3 ย่อมไม่มีอะไรจะไปเทียบเคียงกับ F-35 ได้ แต่คำถามก็ยังเป็นคำถามเดิมคือ .. แล้วจะใช้อะไรในการสนับสนุนภาคพื้นดินอย่างใกล้ชิด ย้อนไปดูความเป็นมาสักนิด กองทัพอากาศสหรัฐฯ ให้บริษัทแฟร์ไชลด์รีพับลิก (Fairchild Republic) เมื่อก่อน สร้าง A-10 ขึ้นมา หวังจะนำไปใช้ในสงครามเวียดนาม ขึ้นบินครั้งแรกในเดือน พ.ค.2515 กว่าจะนำเข้าประจำการได้ก็จนกระทั่งปี 2520 ซึ่งสงครามยุติลงไปแล้ว 2 ปี และคอมมิวนิสต์เวียดนามเหนือ รวมเอาเวียดนามใต้เข้าเป็นประเทศเวียดนามเดียวกัน ในช่วงสงครามครั้งโน้น สหรัฐฯ ต้องการอย่างยิ่งยวด จะต้องมีเครื่องบินรบลำหนึ่งเอาไว้เพื่อภารกิจ CAS โดยเฉพาะ หลังจากพบว่าเครื่องบินไอพ่นทั่วไปทำไม่ได้ เนื่องจากบินเร็วเกินไป ทำให้ต้องฝากความหวังทั้งหมดไว้กับเฮลิคอปเตอร์ติดปืน หรือ “กันชิป” ซึ่งไม่มีเขี้ยวลบแหลมพอที่จะทำลายยานเกราะของฝ่ายเวียดกง กับเวียดนามเหนือได้ ในหลายสมรภูมิรบในเวียดนาม ฝ่ายสหรัฐฯ กับทหารรัฐบาลเวียดนามใต้สูญเสียหนัก เนื่องจากถูกโจมตีจากกองกำลังที่มากกว่าในสงครามเต็มรูปแบบ . |
||||
2 |
||||
3 |
||||
4 A-10 จึงถูกออกแบบมาปฏิบัติภารกิจหลัก คือ ยิงรถถังโซเวียต ที่ฝ่ายเวียดนามเหนือใช้ เครื่องบินทั้งลำจึงสร้างขึ้น โอบหุ้มเอาปืนใหญ่อากาศ GAU-8 “อะเวนเจอร์” (Avenger) ซึ่งเป็นปืนใหญ่ 30 มม. แบบ “แกตลิง กัน” (Gatling Gun) 7 ลำกล้อง ยิงรัวได้แบบหูดับตับไหม้ ติดเครื่องยนต์แบบเทอร์โบแฟน ทำให้ไม่เร็วจนเกินไปจนบินเลยเป้า อย่างเช่น A-7A “คอร์แซร์ II” (Corsair II) ซึ่งเป็นคู่แข่งในยุคโน้น และไม่ช้าเหมือน ฮ.ติดปืนกล กับจรวดที่ไม่นำวิถี ซึ่งเป็นเป้าปืนต่อสู้อากาศยานของข้าศึกได้โดยง่าย ชื่ออย่างเป็นทางการคือ A-10 “ธันเดอร์โบลท์ II” (Thunderbolt II) ตั้งขึ้นตามชื่อ P-47 Thunderbolt ใบพัด ที่ใช้ในการสนับสนุนทางอากาศอย่างใกล้ชิด ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ทั้งนักบิน และช่างผู้ดูแลต่างก็เรียก A-10 อย่างเอ็นดูว่า “วอร์ตฮ็อก” เนื่องจากหน้าตาที่ออกมาดูคล้ายกับหมูป่า รวมทั้งความเป็นพิเศษในเรื่องเสียงของเครื่องยนต์ กับเสียงยิงรัวของปืนใหญ่หมุนรอบตัว ซึ่งว่ากันว่าเป็นเสียงที่ทำให้ทหารราบมีความสุข และพวกเขาต่างเรียกหาในยามลำบาก A-10 สร้างขึ้นมาเพื่อภารกิจเดียวเดี่ยวๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว เคยมีการผลิตต้นแบบรุ่น 2 ที่นั่งออกมา แต่แล้วแผนการก็ล้มเลิกไป แทนที่จะเพิ่มน้ำหนักในส่วนนั้น แฟร์ไชลด์ฯ ได้เสริมเกราะไทเทเนียมหนักกว่าครึ่งตันหุ้มส่วนหน้าของเครื่องบิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรอบๆ ห้องนักบิน ทำให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้นเมื่อโดน “ยิงสวน” ขณะดิ่งหัวลงนำปืนกระบอกใหญ่เล็งเป้าหมาย และ ประสบการณ์ที่ผ่านมาในสงครามตะวันออกกลาง มีหลายครั้งที่ A-10 โดน ปตอ. พรุนเกือบทั่วลำ แต่นักบินปลอดภัย และยังสามารถบินกลับรังได้ . . . ตามข้อมูลของกองทัพอากาศสหรัฐฯ มีการนำเข้าประจำการ A-10 กว่า 700 ลำ ระหว่างปี พ.ศ. 2515-2527 จำนวนหนึ่งประสบอุบัติเหตุเสียหาย ที่ถูกยิงตกในสมรภูมิมีไม่มาก เนื่องจากจะขึ้นปฏิบัติการในสภาพที่กองทัพอากาศครองน่านฟ้าอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่ถูกปลดประจำการเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายนั่นเอง ในปัจจุบันจึงเหลืออยู่ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง ในวันนี้ A-10 ก็ยังคงออกปฏิบัติงานในแนวหน้า เช่น 40 ปีที่ผ่านมา ฝูงหนึ่งถูกส่งไปประจำการในเยอรมนีเมื่อไม่นานมานี้ เพื่อสนับสนุนกองกำลังของนาโต้ยันรัสเซีย หลังเกิดความตึงเครียดรอบใหม่ เมื่อรัสเซียผนวกเอาดินแดนคาบสมุทรไครเมียของยูเครนเข้าเป็นดินแดนของตนเอง โดยอ้างความต้องการของชาวไครเมียเอง รัสเซียยังสนับสนุนฝ่ายกบฏที่ทำสงครามแยกดินแดน ในภาคตะวันออกของยูเครน และประกาศจะรวมกับรัสเซีย ถึงแม้ว่าจะถูกมองเป็นเครื่องบินรบที่ล้าสมัยสุดกู่ แต่ภารกิจสนับสนุนทางอากาศระยะใกล้ชิดก็ยังไม่มีอะไรเทียบปืนโตลูกดกของ A-10 ได้ ทั้งลำบรรจุกระสุนกว่า 2,000 นัด รุ่นใหม่ยังพัฒนาไปติดจรวดนำวิถีเพิ่มเขี้ยวเล็บ ในขณะที่ทราบกันดีว่า “ห้องเก็บอาวุธ” (Weapons Bay) ใต้ท้อง F-35 ใน “สเตลธ์โหมด” ยังติดอาวุธได้อย่างจำกัด ก็เพราะว่าโดยพื้นฐานจะต้องมิให้อาวุธโผล่ เพื่อ “ล่องหน” นั่นเอง นอกจากนั้น F-35 ก็เพิ่งจะทดลองยิงปืนกลอากาศเป็นครั้งแรกเมื่อไม่นานมานี้ ปืนที่ติดข้างลำตัวด้านซ้ายเหนือปีกของ F-35A ซึ่งเป็นเวอร์ชันของกองทัพอากาศ เป็นปืนแบบแกตลิง กันเช่นกัน แต่เป็น GAU-22A ขนาด 25 มม. มีกระสุนเพียง 181 นัด (โปรดชมคลิป) เพราะฉะนั้นการพบกันแบบตัวต่อตัวระหว่างระหว่างเครื่องบินล่องหนยุค ที่ 5 กับนักเลงโบราณอย่าง A-10 ก็จึงเป็นแมตช์ที่คุ้มค่าที่หลายฝ่ายตั้งตารอคอยไม่ว่าจะอีกนานเท่าไรก็ตาม. |
1
2
3
คือว่า มองในเรื่องเศษฐศาสตร์ โดยเฉพาะ โอ แอ่นด์ เอ็ม ( โอเปอเรต แอ่น เมนเทนแน้นซ์ ) ก็คงดีไม่น้อยอ่ะนะ ถ้าเครื่องบินแบบเดียว ทำได้ ทั้งรบทางอากาศ โจมตีขัดขวาง และก็ สนับสนุนการรบโดยใกล้ชิด ....... สายงานส่งกำลังบำรุง การซ่อมแซม การฝึกนักบินเจ้าหน้าที่ การจัดกองกำลังรบ มันง่าย และประหยัด .............. แต่ถ้ามองแง่ประสิทธิภาพ ความคุ้มค่า ดูมันขัดๆนิดๆ ที่เห็นชัดก็คือ เอฟ-35 สู้ เอ-10 ไม่ได้ด้วยประการทั้งปวงในภารกิจสนุนการรบโดยใกล้ชิด อันนี้ยังงัยก็ทำใจเข้าข้างไม่ได้................ และที่สำคัญไปกว่าก็คือ ต้นทุนสินทรัพย์ก่อนหักค่าเสื่อมฯ ............. แหม่ เจ้าล่องหน มันแพงใจขาด เอามาทำภารกิจเสี่ยงๆ เผลอๆร่วงไม่เป็นท่าด้วยอาวุธต้นทุนต่ำๆ เห็นคงจะมีเศรษฐี มะกันเจ้าเดียวละมั้ง ที่ทำได้.........................
แถมหน่อย มะกันมันไปรบไหน มันทำตัวเศรษฐี แต่แท้จริง ในหัวคำนวณเศรษฐศาสตร์........... อย่างมารบเวียตนาม รถถัง ฮิวอี้ เอ็มสิบหก เข็นกลับกันไม่ทัน ............. อัฟกานิสถาน ฮัมวี่ ทิ้งไว้เป็นกุรุด ทั้งหมดเอามาคำนวณแล้ว ค่าแรงขนกลับไม่คุ้ม แพงกว่าจัดหาใหม่ .............. เงิน ๆ ทั้งนั้นที่ทิ้งไป ระเบิดทุกลูก จรวดทุกนัด ลูกปืนทุกตับ เราทุกท่านต่างช่วยเหลือ หนับหนุนกองทัพอเมริกาทั้งนั้น............เอ้าจะเชื่อไม่เชื่อก็ช่าง ที่แน่ๆ ผมทนใช้น้ำมันเติมรถ ลิตรละเกือบ 40 มาสิบกว่าปี.............. ถถถถถถถ (รัวๆ) ................. ทุกบาทเราช่วยกองทัพอเมริกา.........................