ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- เครื่องบินขับไล่โจมตี JAS-39 กริพเพน-ซี (Gripen C) ที่นั่งเดี่ยวของกองทัพอากาศฮังการี อีกลำหนึ่ง เกิดขัดข้องทางเทคนิค ล้อหน้ากางออกไม่สุด ขณะลงจอดที่ฐานทัพอากาศทางตอนใต้ของกรุงบูดาเปสต์ ทำให้ส่วนท้องไถไปกับรันเวย์ เป็นทางยาวก่อนเสียหลักไถลออกนอกทางวิ่ง เครื่องบินเสียหายยับเยิน ถึงแม้นักบินจะดีดตัวเองออกจากเครื่องได้ทัน แต่ก็บาดเจ็บสาหัส เหตุเกิดในสัปดาห์นี้ นับเป็นกริพเพนลำที่ 2 ของกองทัพอากาศฮังการี ที่ประสบเหตุขัดข้องในชั่วเวลาข้ามเดือน ซึ่งทำให้สุดยอดเครื่องบินรบรุ่นหนึ่งของโลกดูเลวร้ายลง ในขณะที่บริษัทผู้ผลิตอยู่ระหว่างเจรจาทำสัญญาซื้อขายกับลูกค้ารายใหม่อีก 30-40 ลำ รวมทั้งข้อเสนอให้เปิดสายการผลิตในประเทศอินเดียด้วย เหตุเกิดวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา ขณะกริพเพนซึ่งติดหมายเลข 30 ลงจอดที่ฐานทัพอากาศเค็กสเกเหม็ต (Kecskemét Air Base) วิดีโอคลิปที่เผยแพร่ในวันถัดมา แสดงให้เห็นช่วงวินาที ที่เกิดความขัดข้องทางกลไก และ นักบินที่มีสติสัมปชัญญะดีเยี่ยม ได้ตัดสินใจดีดตัวเองออกจากเครื่องบินในวินาทีสุดท้าย เขาทำได้สำเร็จ แต่ก็ได้รับบาดเจ็บจากการตกกระแทกพื้นอย่างเห็นได้ชัด การประสบเหตุของกริพเพน-ซี ลำที่สอง ได้ทำให้กองทัพอากาศฮังการีสั่งกริพเพนอีก 12 ลำที่เหลืออยู่ ห้ามขึ้นบิน จนกว่าการตรวจสอบด้านความปลอดภัยจะมีความชัดเจน ก่อนหน้านั้นในวันที่ 19 พ.ค. JAS-39 D หรือ "กริพเพ่น-D" แบบสองที่นั่งลำหนึ่ง ซึ่งติดหมายเลข 42 ได้ประสบ "เหตุขัดข้องทางเทคนิค" ในสาธารณรัฐเช็ก โดยแล่นเลยรันเวย์ เสียหลักแล่นไถลเข้าเขตทุ่งนา ขณะไปร่วมฝึกซ้อมกับกริพเพนของอีกหลายประเทศ ส่วนหัวเครื่องบินหักเสียหายยับเยิน ถึงแม้ว่านักบินทั้งสอง จะดีดตัวเองออกได้ทันเวลา และอย่างปลอดภัยก็ตาม JAS-39 กริพเพน ผลิตโดยกลุ่มซาบแห่งสวีเดน ได้ชื่อเป็นเครื่องบินรบอเนกประสงค์ขนาดเล็ก ที่มีความคล่องตัวสูงมาก กริพเพนรุ่นใหม่ล่าสุด ทำความเร็วสูงสุดได้ถึงมัค 2 ได้เปรียบในเรื่องความกระทัดรัด ขึ้นลงง่าย แม้กระทั่งบนถนนลาดยางทั่วไป และ ใช้เวลาสั้นที่สุดในการเติมเชื้อเพลิง-ติดอาวุธ ก่อนกลับไปปฏิบัติการอีก รวมทั้งมีขีดความสามารถสูง ในปฏิบัติการ "ร่วมโจมตี" โดยเชื่อมต่อข้อมูลกับฝูงบินอื่นๆ กับกองเรือรบผิวน้ำ กระทั่งยานพาหนะโจมตีทางบก ผ่านระบบดาต้าลิงค์ จรวดยิงอากาศยานและโจมตีเป้าหมายภาคพื้นดิน พื้นผิวน้ำ ที่ประดิษฐ์ติดตามกันออกมา ทำให้กริพเพนมีเขี้ยวเล็บที่น่าเกรงขามมากยิ่งขึ้น จนกระทั่งเป็นที่หมายตาของกองทัพอากาศหลายประเทศ รวมทั้งเพื่อนบ้านของไทยด้วย เหตุขัดข้องของกริพเพนฮังการีทั้งสองลำ มีขึ้นในขณะที่บราซิลอยู่ระหว่างทำข้อตกลงซื้อขายกริพเพนรุ่นต่างๆ ถึง 36 ลำจากสวีเดน รวมทั้งเวียดนามเองที่สื่่อตะวันตกรายงานว่า อยู่ระหว่างเจรจาลับๆ กับกลุ่มซาบ เพื่อซื้อกริพเพน-อี (Gripen E) ซึ่งเป็นรุ่นใหม่ล่าสุดจำนวนหนึ่งด้วย . . เหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์ยังมีขึ้น ในขณะที่กลุ่มซาบเพิ่งจะยื่นข้อเสนอใหม่ๆ หมาดๆ ต่อรัฐบาลอินเดีย เพื่อให้เปิดสายการผลิต JAS-39 ในประเทศนี้ ในความพยายามเจาะตลาดใหญ่เอเชีย และ ยังมีขึ้นหลังอินเดียลดจำนวนสั่งซื้อราฟาล (Rafale) จากฝรั่งเศสลงเหลือเพียง 36 ลำ จากแผนการจัดหาทั้งหมด 126 ลำ ทั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี นายนเรนทรา โมดี (Narendra Modi) ที่ให้กองทัพ หันมาใช้วิธี Make-in-India เพื่อลดการนำเข้าอาวุธต่างๆ เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า กองทัพอากาศไทยเองมีโครงการจัดหากริพเพนอีกอย่างน้อย 6 ลำ หลังจากได้รับมอบมาครบฝูงแรก 12 ลำ ทั้งกริพเพน-ซี และ ดี ในปี 2554 และ 2556 เพื่อนำเข้าประจำการแทนเครื้องบินขับไล่โขมตีแบบ F-5 ที่ผลิตโดยนอร์ธร็อปแห่งสหรัฐเมื่อก่อน ซึ่งผ่านการใช้งานมานาน ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มีกริพเพนได้รับความเสียหายในเหตุขัดข้องต่างๆ รวม 7 ลำ รวมทั้งสองลำล่าสุดของกองทัพอากาศฮังการีด้วย อีก 2 ลำเป็นเครื่องบินต้นแบบกับเครื่องที่ผลิตออกมาลำแรก 3 ลำที่เหลือเป็นของกองทัพอากาศสวีเดน นอกจากนั้นกริพเพนก็เคยประสบเหตุขัดข้องอีกหลายครั้ง ขณะเข้าร่วมการฝึกหรือไปร่วมงานแสดงระหว่างประเทศ แม้ว่าที่ผ่านมาจะยังไม่มีใครได้รับอันตรายจนถึงแก่ชีวิตก็ตาม ฮังการีเคยเป็นหนึ่งในบรรดา "รัฐบริวาร" ของสหภาพโซเวียต หลังอาณาจักรใหญ่คอมมิวนิสต์ล่มสลาย ก็ได้เข้าเป็นสมาชิกกลุ่มนาโต้เมื่อปี 2542 และ เริ่มมองหาเครื่องบินรบเพื่อนำเข้าประจำการแทนฝูง MiG-29 ที่เก่ามาก โดยหมายตาเป็นพิเศษไปยัง F-16 มือสอง ซึ่งมีมิตรหลายประเทศเสนอขายให้ ไม่ว่าจะเป็นสวีเดน เบลเยียม อิสราเอล ตุรกี รวมทั้งสหรัฐด้วย อย่างไรก็ตามขณะเจรจาซื้อ F-16 จากสหรัฐอยู่นั้น สวีเดนก็ได้เสนอกริพเพนในรูปแบบของการให้เช่าเป็นเวลา 10 ปี โดยมีอ็อพชั่นให้ซื้อเครื่องบินได้ เมื่อสัญญาเช่าครบกำหนด จนกระทั่งเดือน ก.พ.2546 ฮังการีจึงเซ็นสัญญาเช่า JAS-39 จำนวน 14 ลำ จากกริพเพน A/B ได้ผ่านการอัปเกรดขึ้นเป็น C/D เพื่อให้เข้ากันได้กับระบบเครื่องบินรบของนาโต้ ต่อมาในเดือน ม.ค.2555 ฮังการีกับสวีเดน ได้ตกลงต่อสัญญาเช่ากริพเพนทั้ง 14 ลำ ออกไปอีกเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งรัฐมนตรีกลาโหมของฮังการีกล่าวว่า ช่วยประหยัดได้อย่างมหาศาล แต่เหตุขัดข้องของหมายเลข 30 กับหมายเลข 42 ที่ผ่านมา ทำให้ฮังการีเหลือกริพเพนอยู่ 12 ลำ ทั้งหมดต้องจอดนิ่งรอผลการสอบสวนหาสาเหตุ. . |
||||
1 |
||||
2 |
||||
3 |
ยังดีที่มีชีวิตรอด มารับเหรียญได้ นักบินเทพมากๆ
กริพเพน รุ่น C กับ D ฐานล้อต่างกันตรงไหนครับ
พาดหัวได้managerมากๆ
@Phu2000 ผมว่ามันก็ดีกว่าสื่อไทยรัฐเยอะเลยล่ะ สื่อไทยรัฐเขียนข่าวด้านความมั่นคงในทางลบเยอะกว่า Manager เลยล่ะ น่าจะรู้ดีนะ
หวาดเสียวแทน
ยกมือถามอีกแล้วครับ
บ. ลำที่เป็นข่าวประสบอุบัติเหตุ ล้อหน้ากางออกไม่สุด จนท้องไถลครูดไปกับพื้น แต่ในนักบินสามารถดีดตัวออกได้ คำถามคือเหตุเกิดที่พื้นดินเลยเช่นนี้ การดีดตัวก็ยังสามารถทำได้หรือครับ
ยกเลิกคำถามครับ เห็นคำตอบจากในคลิปแล้วครับ ขออภัยด้วยครับ