เราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า ความใฝ่ฝันของบุรุษอันกล้าแกร่งจำนวนไม่น้อย อยากจะเป็นนักบินรบ อาชีพอันทรงเกียรติที่ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย หรือบุญพาวาสนาส่ง แต่ต้องมาพร้อมความอดทน และความเพียรพยายามอันเปี่ยมล้น เพราะภารกิจแสนสำคัญของนักบินรบ คือ ดูแลน่านฟ้าไทย ปกป้องอธิปไตยของชาติ! ซีรีส์ F16 เหยี่ยวเวหา ฟ้านี้ข้าครอง นี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาท่านผู้อ่านไปค้นทุกซอกทุกมุมของ TOP GUN THAILAND ว่า กว่าจะกลายเป็นสุดยอดนักรบกล้าแกร่ง ผู้ครองอำนาจเหนือน่านฟ้าไทยแลนด์แดนสยามได้ พวกเขาเหล่านั้น ต้องทำอย่างไร
๏ฟผ
โดยในตอนแรกของซีรีส์นี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสได้พูดคุยกับ น.อ.ระวิน ถนอมสิงห์ ผู้บังคับการกองบิน 1 จ.นครราชสีมา หรือในนามเรียกขานว่า Hollywood ผู้การเอก แห่งทัพฟ้า เล่าเรื่องราวชวนเสียวของเหล่านักบินผู้กล้า จะโหด เสี่ยง มันหยด แค่ไหน ต้องดู!
TOP GUN THAILAND
ชวนนักบินมือหนึ่งเล่าเรื่องเสียว แชร์ประสบการณ์เสี่ยง!
แม้ผ่านการเคี่ยวกรำขับเจ้าเครื่องเหยี่ยวเวหา เขี้ยวเล็บสำคัญของกองทัพอากาศจนเสมือนอวัยวะที่ 33 ผ่านชั่วโมงบินมาแล้วกว่า 3,000 ชั่วโมง แต่ใครจะรู้บ้างว่า เจ้าเครื่องบินรบคู่ใจก็เคยออกฤทธิ์เดช ดับกลางอากาศดื้อๆ จนหวิดพาหนึ่งในสุดยอดนักบินรบของไทยรายนี้โหม่งโลกมาแล้วถึง 2 ครั้ง! ทั้งๆ ที่นักบินรบบางคนบินมาเกือบ 1,000 ชั่วโมง ยังไม่เคยเจอปัญหาในลักษณะนี้เลยสักครั้งเดียว
๏ฟผ
สัมผัสเอฟ 16 พาเสียวครั้งที่ 1
เรื่องเครื่องยนต์ดับนี่ จริงๆ แล้วกับ เอฟ 16 เกิดขึ้นน้อยมาก และเท่าที่ทราบในประวัติศาสตร์ของเจ้าเหยี่ยวเวหาไทย น่าจะเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นไม่เกิน 3 ครั้ง โดย 2 ใน 3 ที่เกิดขึ้น ก็เกิดกับผมนี่แหละ! โดยครั้งแรกที่เกิดขึ้น ประมาณปี 2545 ยอมรับเลยว่า รู้สึกกลัวแบบประมาณว่า "นี่กูจะตายไหมวะเนี่ย" เพราะตอนนั้นบินมากับเครื่อง มาคนเดียว จู่ๆ ก็ได้ยินเสียงอะไรดังๆ ปัง ปัง เหมือนเครื่องยนต์จ่ายแต่น้ำมันไม่มีอากาศเข้า จนทำให้ส่วนผสมมันไม่บาลานซ์กันระหว่างอากาศกับน้ำมัน จนน้ำมันไปกองกับเครื่องยนต์ เมื่อมันไปกองรวมกันมากๆ การเผาไหม้มันก็แรง เพื่อนที่บินมาด้วยกันอีกลำเห็นเลยว่า เครื่องที่ผมบังคับอยู่มีลูกไฟยาวออกไปเท่าตัวเครื่อง! จากนั้นมาสักครู่เดียวเครื่องยนต์ก็ดับ พอดับแล้วมันก็เงียบ ตอนนั้นยอมรับเลยว่า งง! เพราะเร่งเครื่องยนต์ไปแล้วมันไม่ตอบสนอง หะแรกเลยตัดสินใจ หันหัวเครื่องกลับสนามบินโดยอาศัยแรงร่อน แต่ด้วยจุดที่เครื่องดับกับสนามบิน อยู่ห่างกันประมาณ 40 ไมล์ จากความสูงประมาณ 20,000 ฟุตกว่า ด้วยเรตระยะของการร่อนด้วยเครื่องเอฟ 16 ซึ่งอยู่ที่ 1,000 ฟุต ต่อ 1 ไมล์ อย่างไรก็คงไปไม่ถึง จึงค่อยๆ ตั้งสติทบทวน Boldface, Critical Action Procedures (CAPS) คู่มือประจำตัวสำหรับนักบินเอฟ 16 ที่ทุกนายต้องท่องให้ขึ้นใจ เพื่อใช้สำหรับการแก้ปัญหาในภาวะฉุกเฉิน เมื่อคู่มือให้ลองดับเครื่องแล้วสตาร์ตขึ้นอีกครั้ง เครื่องก็ติดขึ้นจนสามารถนำเครื่องกลับลงสนามบินได้โดยปลอดภัย
น.อ.ระวิน ถนอมสิงห์ ผู้บังคับการกองบิน 1
ส่วนครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นขณะนั่งบินร่วมไปกับนักบินรุ่นน้อง โดยนั่งอยู่ข้างหลังเพื่อคอยทำหน้าที่ฝึกสอน จำได้เลยว่า เมื่อเครื่องยนต์เกิดอาการดับกลางเวหาอีก ผมสั่งให้รุ่นน้องดับเครื่องยนต์ทันที รุ่นน้องคนนั้น มันก็งง เพราะเอฟ 16 มีเครื่องยนต์เดียว ดับไปแล้วจะบินได้ยังไง ประกอบกับอยู่ที่ความสูงแค่ 9,000 กว่า ฟุต นักบินรุ่นน้องเลยลังเล ผมเลยบอกมันไปว่า "เฮ้ย ไม่ต้องกลัวพี่เคยเจอมาแล้ว" เมื่อน้องนักบินรายนี้ ดับเครื่องแล้วสตาร์ตเครื่องยนต์ดูอีกครั้ง เครื่องก็เดิน จนนำกลับสนามบินได้โดยปลอดภัย
ประสบการณ์เฉียด! สุดยอดนักบินรบ
“ตอนเป็นนักบินใหม่ๆ เคยแม้กระทั่งบินไปคนเดียวแถวๆ จังหวัดอุดรธานี ตอนนั้นบินต่ำมากๆ โดยใช้เครื่อง F5 แต่ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ไม่สามารถติดต่อกับหอบังคับการบินได้ จึงก้มตัวลงไปบิดวิทยุสื่อสาร แต่ท้องกลับไปโดนคันบังคับการบิน ปรากฏว่า เครื่องบิน down ลงทันที พอเงยหน้าขึ้นมาอีกที ก็เห็นเป็นต้นไม้อยู่เต็มเบื้องหน้าแล้ว หากช้าไปเพียงวินาทีเดียวคือชนแน่ แต่โชคดีที่กระชากคันบังคับขึ้นมาได้ทัน เครื่องบินก็เชิดหน้าสู่ท้องฟ้าได้อีกครั้ง ซึ่งตอนนั้นก็พยายามมองไปรอบๆ มองดูตัวเองว่า ที่บินขึ้นมานี่คือ ควันไฟจากการระเบิดของเครื่องบิน หรือเป็นเราจริงๆ กันแน่ นึกว่าตายแล้วเกิดใหม่ด้วยซ้ำ แข้งขาอ่อนไม่ขอทำการบินเป็นอาทิตย์” มือวางอันดับต้นๆ ของกองทัพอากาศไทย แชร์ประสบการณ์เสียว...
เครื่องดับกลางเวหา 2 ครั้ง บุรุษเหล็กผู้นี้ ก็เคยเผชิญมาแล้ว
ที่สุดของนักบินรบไทย
ไขปมสงสัย! เหตุใดบ้างที่จะทำให้นักบิน Eject ตัวออกจากเครื่อง ?
ตามระเบียบก็คือ เมื่อนักบินไม่สามารถควบคุมเครื่องได้ ในระดับความสูงที่ต่ำกว่า 6,000 ฟุต นักบินสามารถทำการสละเครื่องได้ทันที ส่วนความหมายของคำว่า "ไม่สามารถควบคุมเครื่องได้" ก็คือเครื่องไม่ตอบสนอง ทำยังไงก็ไม่ตอบสนอง แล้วก็เกิดเหตุฉุกเฉินที่เครื่องบินไม่สามารถทำการบินต่อไปได้ นักบินก็สามารถสละเครื่องได้ทุกเวลา ซึ่งการสละเครื่องในกรณีนี้มีกฎหมายรองรับ แต่อย่างไรก็ดี เมื่อเกิดกรณีการสละเครื่องแล้ว ก็จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาสาเหตุที่ทำให้เกิดการสละเครื่องในแต่ละครั้งด้วย
แต่ในความเป็นจริงแล้ว นักบินจะพิจารณาตามสถานการณ์ว่า หากสละเครื่องไปแล้วจะสร้างความเสียหายต่อพื้นที่ด้านล่างหรือไม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละคน โดยเฉพาะกับนักบินไทยซึ่งจะมีความแตกต่างจากนักบินชาติอื่นมาก เพราะนักบินไทยส่วนใหญ่จะเกรงว่าเครื่องจะไปตกใส่บ้านเรือนประชาชน เพราะฉะนั้นในจุดสุดท้ายที่จะ Eject ได้ หากไม่มั่นใจว่าเครื่องจะลงในป่าอย่างแน่นอน ก็จะไม่ทำ และเลือกที่จะพยายามควบคุมเครื่องไปลงป่า และตกลงไปพร้อมกับเครื่องเพื่อให้ประชาชนปลอดภัย เพราะการ Eject ออกจากเครื่องบินสามารถทำได้ไม่ยาก เพียงดึงแค่ครั้งเดียว เก้าอี้ก็จะดีดตัวขึ้นสู่ท้องฟ้าทันที โดยเฉพาะกับเครื่องเอฟ 16 แล้ว เคยมีคนดีดตัวขณะกำลังแท็กซี่เครื่องบนสนามบินอยู่ ก็ปรากฏว่านักบินปลอดภัยมาแล้วก็มี๏ฟผ
ท้องฟ้าไทย เอฟ 16 จะคุ้มภัยให้
ผู้บังคับการกองบิน 1 กับเครื่องบินรบคู่ใจ
บินคู่บินเดี่ยว แบบไหนนักบินตัดสินใจดีดตัวเร็วกว่ากัน
บินคู่กันจะเร็วกว่า เพราะเค้ามีเพื่อนคุย แต่ในกรณีเครื่องยนต์ดับซึ่งจะทำให้นักบินคุยกันไม่ได้ เค้าจะมีวิธีปฏิบัติในหมู่นักบินกันอยู่ เช่น ใช้อะไรขว้างหัวนักบินข้างหน้าเพื่อให้รู้ตัว แต่ในลักษณะทั่วๆ ไป ก็คือ ครูการบิน หรือผู้ที่มีความอาวุโสมากกว่า ที่นั่งมาด้านหลังจะให้น้องที่นั่งอยู่ด้านหน้าไปก่อน เมื่อเห็นว่าน้องปลอดภัยแล้ว จึงค่อยดีดตัวตามไปทีหลัง
๏ฟผ
คุมเครื่องบินไม่ได้ ด้านล่างชุมชน โอกาสรอด = 0 จริงหรือ ?
“เมื่อเกิดสถานการณ์เช่นนี้ นักบินยังมีโอกาสรอด เนื่องจากเครื่องบิน F16 สามารถ Eject ตัวออกจากเครื่องบินได้ระดับความสูงที่ 0 หรือระดับความเร็วที่ 0 เพราะเก้าอี้จะดีดตัวเราขึ้นไปเหนือเครื่องบินทันที ซึ่งร่มจะกางก็ต่อเมื่อนักบินอยู่ในชั้นบรรยากาศที่สามารถหายใจได้ แต่ในกรณีที่เครื่องคว่ำหัวลงกับพื้นดิน อาจทำให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้น เพราะเก้าอี้จะดีดตัวลงสู่พื้น” น.อ.ระวิน นักบินเจ้าเวหา อธิบายถึงโอกาสรอด๏ฟผ
นามเรียกขาน Hollywood
ที่สุดแห่งความทรงจำ
การที่ผมสามารถรักษาเครื่องบินรบที่เป็นสมบัติของชาติเอาไว้ได้ จากการที่ออกไปปฏิบัติภารกิจต่างๆ ทั้งที่เปิดเผย และไม่เปิดเผย รวมถึงการได้บินโชว์ผาดแผลงในงานวันเด็กทุกปี ซึ่งถึงแม้เรื่องนี้ อาจดูเป็นเหมือนเรื่องเล็กน้อยไม่ได้ยิ่งใหญ่สำคัญอะไร แต่สำหรับผมรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนของชาติ๏ฟผ
ห้าวหาญ แต่สุภาพบุรุษ
ภารกิจสุดหิน ที่สุดของลูกทัพฟ้า
ส่วนตัวคิดว่า ภารกิจสนับสนุนการโจมตีทางอากาศ ให้กับเหล่าทัพอื่น หรือกองกำลังภาคพื้นดินในระยะประชิด (Close Air Support) ถือเป็นภารกิจที่ยากที่สุดสำหรับผม เพราะมีปัจจัยหลายอย่าง เช่นต้องทำงานกับคนอื่น มีเป้าหมายที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน และเข้าไปในพื้นที่ ที่สุ่มเสี่ยงอันตราย รวมทั้งต้องใช้ความระมัดระวังไม่ให้ไปโจมตีพวกเดียวกันเองที่อยู่ภาคพื้นดิน๏ฟผ
ผ่านการบินมาแล้วกว่า 3,000 ชั่วโมง
TOP GUN ชาติใด ต่อกรด้วยยากที่สุด
"ผมไล่ยิงมาหมดแล้ว แล้วก็โดนเขายิงมาหมดแล้ว (หัวเราะ) แต่เท่าที่สัมผัสมานักบินจากกองทัพอากาศออสเตรเลีย ดูจะเป็นคู่มือที่ต่อกรด้วยยากที่สุด"
แล้วชาติมหาอำนาจทางกองทัพอากาศอย่างสหรัฐฯ หรือ อิสราเอล เก่งจริงไหม!
อิสราเอล เขาเก่งเพราะเขารบอยู่ตลอดเวลา ผมเองก็เคยมีประสบการณ์บินแลกหมัดกับครูจากกองทัพอากาศอิสราเอล ที่ถูกส่งมาสอนแล้วเหมือนกัน กับนักบินกองทัพสหรัฐฯ ที่ขับเครื่องบิน เอฟ 15 ซึ่งทันสมัยและแข็งแกร่งกว่า เอฟ 16 ผมก็เคยได้ลองปะทะมาแล้ว ซึ่งภายใน 30 วินาที ผมก็จะสามารถล็อกเป้าคู่ต่อสู้ได้!๏ฟผ
เก่งแบบนี้นักบินรบชาติอื่นๆ ยังยำเกรง
โซนิคบูม คือ ?
คือย่านความถี่คลื่นเสียง ที่เวลาเครื่องบิน บินเกินความเร็ว 1 มัค หรือ 1 เท่าของความเร็วเสียง จะทำให้มี Vector ของเสียง แล้วแผ่กระจายออกเป็น Shock wave ซึ่งเมื่อคลื่นความถี่ที่กระจายออกไป พอไปกระทบกับอะไรแล้ว มันจะเหมือนแรงอัดระเบิด ซึ่งจะทำให้เกิดเสียงดังสนั่น รวมทั้งแรงอัดมหาศาล ที่สามารถทำให้กระจกแตกได้ โดยส่วนใหญ่จะเกิดเมื่อเครื่องบินมี Vector เข้าหาพื้นดินแล้วความเร็วเกิน 1 มัค๏ฟผ
เอฟ 16 ไทย สามารถปฏิบัติได้ทุกภารกิจ และทำได้ดี
แล้วนักบินทำไปเพื่ออะไร
นักบินจะทำเมื่อ 1. หลบหนีศัตรู 2. ข่มขู่และป้องปรามฝ่ายตรงข้าม
“นักบินเองก็ไม่ได้ฝึกแต่มันเกิดขึ้นเอง โดยเฉพาะการเกิดระหว่างการฝึก บางครั้งนักบินหลบหลีก หรือหนี มีการฝึกไล่ยิง นักบินก็เลี้ยวหนีไม่ได้สนใจจะหนีอย่างเดียว หนีให้เร็วที่สุดเพื่อไม่ให้ศัตรูยิงทัน จนลืมคิดไปว่ามันจะเกิดโซนิคบูม แต่ก็ไม่เคยมีคนมาด่านะ เวลาที่เกิดโซนิคบูม เพราะเขาเข้าใจ ถ้าเราไปพิสูจน์ว่าเกิดจากเราก็มีการชดใช้ค่าเสียหายให้ เรื่องปกติ ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ เพราะส่วนใหญ่นักบินจะฝึกกันสูง ไม่ได้ฝึกกันต่ำ ถ้าฝึกกันต่ำมันไม่ได้เข้าโซนิคบูมอยู่แล้ว ห้ามเข้าความเร็วเสียงต่ำกว่า 10,000 ฟุต เพราะถ้าต่ำกว่า มันจะมีโอกาสเกิดโซนิคบูมได้”
http://www.thairath.co.th/content/493844
EP 2 คร้าบ
กว่าจะเข้าสู่เส้นทางการเป็นนักบินรบ F-16 ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ทุกกระบวนการคัดกรองยากเย็นเข็ญใจเสียยิ่งกว่าสิ่งใด เรียกได้ว่า ใจต้องพร้อม กายต้องพร้อมควบคู่กัน วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รับหน้าที่เปิดเส้นทางท้าฝัน “นักบินรบแห่งทัพฟ้า” จะลำบากแสนเข็ญ ยากเย็นเพียงใด ต้องดู!
ในปีๆ หนึ่ง มีผู้ที่สามารถสอบผ่านได้บินเครื่องบินรบ ที่มีสมรรถภาพสูงที่สุดของกองทัพอากาศไทย ได้เพียง 3-4 คน รู้หรือไม่ เขาเหล่านั้นจะต้องเป็นเพียงคนธรรมดาๆ ไม่มีอีโก้ที่สูงจนเวอร์ และต้องเชื่ออุปกรณ์มากกว่าตัวเอง และที่สำคัญจะต้องเก่งให้ได้ภายในระยะเวลาที่จำกัดจำเขี่ยสุดประมาณ หากคุณมีคุณสมบัติเหล่านี้ คุณถึงจะได้ไปต่อ เป็น TOP GUN THAILAND…
การจะเป็นนักบินรบ ต้องมีความยอดเยี่ยมทั้งความสามารถและทัศนคติ
ชายงาม - ชำแหละด่านอรหันต์สุดหิน กว่าจะเป็นนักบินขับไล่ ต้องผ่านด่านอะไรบ้าง ?
ด่านที่ 1 : จะต้องผ่านการตรวจร่างกาย เพื่อเช็กว่าเหมาะแก่การเป็นนักบินหรือไม่ วัดกันกระทั่งความยาวของแขน ขา เรียกได้ว่าไม่ต่างอะไรกับการประกวดชายงาม เพราะถ้าบางคนขาสั้นก็ไม่สามารถเหยียบ rudder pedal (ตัวห้ามล้อเครื่องบิน) เพราะขาไม่ถึง หากแขนขายาวไปก็จะทำให้เก้งก้างไม่สะดวกต่อการทำการบิน ดังนั้น แขนขาของนักบินจะต้องไม่สั้นไม่ยาวจนเกินไป โดยอยู่ในระดับที่กำหนดไว้แล้ว เนื่องจากเครื่องบินถูกกำหนดออกมาให้สอดคล้องกับสัดส่วนมาตรฐานของมนุษย์
“ขณะที่ F16 คันบังคับจะอยู่ด้านขวา ซึ่งเป็นเครื่องบินไม่กี่แบบในโลกที่คันบังคับไม่ได้อยู่ตรงกลางเหมือนเครื่องบินทั่วไป เพราะฉะนั้น เวลาบินจะให้อารมณ์เหมือนขับรถสปอร์ต คือ นอนขับ ฉะนั้น เครื่องบินรบก็เช่นกัน คือ นอนบิน” ระวิน ถนอมสิงห์ นักบิน F-16 มือวางอันดับต้นๆ ของกองทัพอากาศไทยอธิบายถึงท่าทางการบิน
เครื่องบินรบให้อารมณ์เหมือนขับรถสปอร์ต
ด่านที่ 2 : คือการตรวจ Aptitude Test ซึ่งเป็นการทดสอบวุฒิภาวะ โดยข้อสอบมีจำนวนกว่า 500-1,000 ข้อ โดยภายในจำนวนกว่าหลายร้อยข้อ จะมีข้อเดิมๆ ซ้ำๆ กันประมาณ 3 ข้อ เพื่อทดสอบความมั่นคงในการตัดสินใจ เช่น ข้อที่ 7 ถามว่า คุณชอบสีอะไร ข้อที่ 259 ถามอีกครั้งว่า คุณชอบสีอะไร แต่ข้อที่ 700 ก็ถามคำเดิมซ้ำอีก แต่ถ้าภายใน 3 ข้อ ตอบไม่เหมือนกันเลย เท่ากับว่า คุณเริ่มแปลกแตกต่างจากคนอื่น ซึ่งสำหรับคนที่คิดในลักษณะหรือแปลกออกไป จะถูกบันทึกชื่อเอาไว้ และหมอจิตวิทยาจะสอบถามตอนที่สอบสัมภาษณ์ว่าเหตุใดถึงตอบคำถามเช่นนี้
ทีเด็ดของการสอบข้อสอบ Aptitude Test ของนักเรียนการบิน คือ ที่นี่จะวัดว่า ผู้ที่จะเข้ามาเป็นนักบินสามารถแยกประสาทได้หรือไม่ ยกตัวอย่างการสอบสัมภาษณ์ เช่น จะมีช่องให้ผู้สอบสัมภาษณ์เคาะตามช่อง ช่องที่ 1, 2, 3,..…เคาะพร้อมกับนับไปเรื่อยๆ ตามเส้นทางที่กำหนดไว้ ซึ่งต้องใช้สมาธิในการเคาะให้ถูกทาง โดยระหว่างเดินจะมีผู้สัมภาษณ์คอยถามคำถามต่างๆ เช่น สั่งให้ท่อง A-Z พร้อมกับเดิน เพื่อให้เราตอบโดยแยกสมองในการเดินและตอบไปพร้อมๆ กัน ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นแบบทดสอบว่า คุณจะตัดสินใจแก้ปัญหาอย่างไร เมื่ออยู่ในสภาวะที่ต้องทำอะไรหลายๆ อย่าง
นักเรียนส่วนใหญ่ที่บินเก่ง มักแยกประสาทได้ดี
“เมื่อนักบินขึ้นทำการบิน นักบินต้องทำอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ต้องแยกประสาทให้ได้ ซึ่งนักเรียนการบินบางคนที่สามารถตีกลองชุดได้ นักเรียนเหล่านี้จะเป็นคนที่มีฝีมือการบินที่ดี เพราะสามารถแยกประสาทได้ยอดเยี่ยม” ผบ.กองบิน 1 โคราช ยกตัวอย่างความสามารถพิเศษของศิษย์ให้ฟัง
ด่านที่ 3 : ขั้นตอนนี้จะคัดเลือกจากคะแนนพฤติกรรมเมื่ออยู่ในโรงเรียน ซึ่งผู้ที่โดนตัดคะแนนความประพฤติ อาจเสี่ยงที่จะไม่สามารถเป็นนักบินได้ ซึ่งกรณีเช่นนี้ก็เคยเกิดขึ้นแล้ว
ผ่าด่านหินร้อยแปดกว่าจะเป็นนักบินรบมือหนึ่ง
ด่านที่ 4 : นักเรียนจะเข้าไปเรียนภาคทฤษฎีที่โรงเรียนการบิน ประมาณ 3 เดือน เมื่อเรียนจบหลักสูตรในภาควิชาการแล้ว ก็จะมีการสอบ โดยนำคะแนนมาเรียงลำดับสูง-ต่ำ จากนั้นจะเริ่มทำการบินกับเครื่องบินใบพัดขั้นต้น ซึ่งช่วงเวลานี้จะเป็นการทดสอบว่า คุณจะได้มีโอกาสทำการบินกับเครื่องลักษณะใด โดยมีครูการบินคอยสังเกตบุคลิกลักษณะของนักเรียนแต่ละคนว่า เป็นคนที่มีนิสัยแบบใด บินเป็นอย่างไรบ้าง และเหมาะกับเครื่องประเภทไหน บางคนเป็นนักเรียนที่มีฝีมือบินได้ดีมาก แต่มุทะลุ ครูก็จะแนะนำว่า บินคนเดียวไม่ได้ ซึ่งการบินในด่านนี้ที่ถือว่าเป็นการบินระดับประถม หรือบินเพียงระดับมาตรฐานขั้นต้นเท่านั้น
“ในเรื่องของการบินนั้น คนบินดีจะมีภาษีมากกว่าคนที่สามารถทำข้อสอบภาคทฤษฎีได้ดี บางคนบินได้ดีมาก แต่กลับอาเจียนบนเครื่อง ซึ่งคนประเภทนี้จะได้บินกับเครื่องบินประเภทที่ไม่ผาดแผลง หรือเปลี่ยนแปลงท่าทางการบินไม่มากนัก” ผู้บังคับการกองบิน 1 นครราชสีมา เล่าถึงบททดสอบสุดหิน
กว่าจะมาเป็นนักบิน F16 นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย
ต่อมาจะมีการเรียกนักบินมาพูดคุยกับคณะกรรมการว่า คุณอยากเลือกเครื่องบินประเภทใด ซึ่งส่วนใหญ่กว่า 95% ของนักเรียนต้องการจะบินกับเครื่องบินรบขับไล่ เพราะทุกคนถูกปลูกฝังตั้งแต่เข้ามาเป็นนักเรียนนายเรืออากาศแล้วว่า คุณเข้ามาที่นี่เพื่ออยากเป็นนักบินรบ แต่กระนั้นก็ยังมีผู้ที่ฝีมือบินดีบางคนที่เลือกเครื่องบินเกรดต่ำกว่าเครื่องบินรบ เพราะทำการบินได้ง่ายและสบายกว่า ซึ่งบางทีคณะกรรมการก็จะพูดคุยปรับทัศนคติว่า คนนั้นๆ เหมาะกับเครื่องบินเกรดดีๆ มากกว่า เพราะสามารถบินได้ดี มีข้อผิดพลาดน้อยนิดเท่านั้น แต่ถ้านักบินไม่ยอม บางครั้งคณะกรรมการก็หักคอโดยการเลือกให้เอง
นิกบิน F16 เบอร์ต้นๆ ของกองทัพอากาศไทย แชร์ประสบการณ์
บีบคั้น - สอบสัมภาษณ์แหวกแนว! interview เช็กความเก่งกาจ ตรวจสอบจิตใจ
นอกเหนือกจากการคัดเลือกในด้านวิชาการแล้ว จะมีการตรวจเช็กในเรื่องของจิตวิทยาการบิน ซึ่งจะต้องคัดเลือกคนที่ปกติที่สุด ไม่สุดโต่งไปด้านใดด้านหนึ่ง เพราะบางครั้งคนที่ดีเกินไปหรือเก่งเกินไปโอกาสที่จะเป็นนักบินก็อาจเป็นไปได้ยาก เนื่องจากส่วนใหญ่คนที่เก่งมากๆ จะมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง ฉะนั้น การจะเป็นนักบินขับไล่ หากมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงจะเกิดอันตราย
“อาชีพนี้จะถูกสอนให้เชื่อมั่นต่อเครื่องวัดประกอบการบิน เชื่อมั่นในลูกหมู่ เชื่อมั่นในหัวหน้าหมู่ ไม่ได้ให้เชื่อตัวเอง ต้องอยู่ในลิมิต ไม่สุดโต่งหรือต่ำจนเกินไป เพราะเวลาที่ออกไปบินกันหลายๆ คน นักบินจะต้องมีการช่วยเหลือกัน ไม่ใช่พยายามที่จะเป็นฮีโร่ หรือพระเอกแต่เพียงผู้เดียว” ผู้การเอก แห่งทัพฟ้าพูดอย่างโผงผาง
ตรวจสมรรถภาพเครื่องยนต์ก่อนขึ้นบินและหลังบินอย่างละเอียด
หากเป็นคนที่เก่งมากๆ ทำข้อสอบทฤษฎีได้ 100 เต็ม แต่สอบตกข้อสอบทัศนคติ คนประเภทนี้สามารถเป็นนักบินได้ แต่อาจจะได้บินกับเครื่องที่ต้องใช้นักบิน 2 คน เพราะเครื่องบินประเภทนี้ไม่สามารถบังคับได้ตามอำเภอใจแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งนักบินทั้งคู่จะสามารถแนะนำและห้ามปรามกันได้ ดังนั้น ไม่ใช่ว่าจะเก่งทะลุฟ้า จะได้เป็นนักบิน ซึ่งอาชีพนักบิน โดยนิสัยลึกๆ ก็ถือได้ว่าเป็นอาชีพที่มีอีโก้สูงอยู่แล้ว และที่สำคัญอาชีพนี้ไม่ใช่อาศัยความเก่งแล้วสอบ ก็จะสามารถเป็นนักบินได้เลย แต่ทุกคนที่มายืนถึงจุดนี้ได้ผ่านคัดกรองมาแล้วหลายด่านหลายชั้น ชนิดที่เรียกว่าละเอียดยิบอย่างที่สุด
จุดสุดยอด - รู้หรือไม่ 1 ปี มีคนสอบผ่านขับเหยี่ยวเวหา ได้แค่ 3-4 คน
แต่เหนืออื่นใด ระดับความยากของการที่จะเข้ามาเป็นนักบินเอฟ 16 ก็คือ ระยะเวลาที่กองทัพมีให้ ซึ่งจะแตกต่างจากนักบินพลเรือน ที่เรียน 100 คน จบเกือบจะครบทุกคน น้อยมากที่จะถูกให้ออกไป แต่สำหรับกองทัพ เรียน 100 คน อาจจะจบสัก 60 คน เพราะเรามีงบประมาณและระยะเวลาจำกัด ในการผลิตคน ยกตัวอย่างเช่น หากมีการกำหนดว่า ภายใน 10 เที่ยวบิน 6 เที่ยวบิน ผู้ฝึกจะต้องถูกปล่อยเดี่ยวไปบินคนเดียวได้ 6 เที่ยวบิน จะแค่เพียงเกือบได้ก็ถือว่าไม่ได้ ไม่ได้ก็แปลว่าตกทันที บางคนอีกแค่เที่ยวบินเดียวก็สามารถทำได้แล้ว ก็ถือว่าไม่ผ่าน เพราะไม่มีการให้โอกาสสำหรับนักบินทหาร เพราะฉะนั้น จึงไม่แปลกที่นักเรียนนายเรืออากาศเฉลี่ยรุ่นหนึ่งจบมา 40-50 นาย เราก็อยากได้ทั้งหมดแต่ในความเป็นจริงแล้ว ปีๆ หนึ่งจะมีผู้ที่สามารถถูกฝึกบินให้สามารถเป็นนักบินเอฟ 16 ได้เพียง 3-4 คนเท่านั้น! โดยทั้ง 3-4 นายนี้ คือผู้ที่สามารถทำคะแนนการฝึกของกองทัพอากาศได้สูงสุดเท่านั้น.
*หมายเหตุ : จุดสุดยอด ในที่นี้หมายถึง ความเหนือสุดกว่าสิ่งใดๆ
http://thairath.co.th/content/485903
ไม่ได้โม้
EP.3 ครับ
แม้พันธกิจสำคัญของเหล่ากองทัพอากาศไทย จะมุ่งเน้นไปที่ความเป็นมิตร ไม่เป็นอริศัตรูกับใคร แต่นักบินรบแห่งทัพฟ้าก็ไม่เคยย่อหย่อนในการฝึกปรือฝีมือให้มีความพร้อมตลอดเวลา เพื่อปกป้องชาติได้ทุกเมื่อ พร้อมกันนั้น เหยี่ยวเวหายังมีปฏิบัติการทั้งลับและเปิดเผยอยู่บ่อยครั้ง ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาคุณบุกตะลุยไปกับภารกิจอันยิ่งใหญ่ ดูแลน่านฟ้าไทย เข้มข้นแค่ไหน ต้องดู!
สมรรถนะด้านการรบ
ทำได้ทุกอย่าง เพราะเอฟ 16 เป็นเครื่องบินรบอเนกประสงค์ ที่ปฏิบัติภารกิจได้ดีทั้งการรบในอากาศ โจมตีภาคพื้นดิน แม้กระทั่งทำการรบทางทะเล ทำให้มีความเหมาะสมกับประเทศไทยเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากสมรรถนะยอดเยี่ยมแล้วยังมีราคาไม่สูงนัก และมีขีดความสามารถเหมาะสมสำหรับการรับมือกับภัยคุกคามในรูปแบบต่างๆ สำหรับประเทศไทยในเวลานี้
ผู้การกองบิน 1 เล่าอย่างออกรส
ประจำการในไทย
เอฟ 16 ที่ประจำการในกองทัพอากาศไทย ปัจจุบัน เป็นรุ่น AB บล็อก 15 ซึ่งถึงแม้จะเป็นรุ่นแรกๆ แต่ก็ยังสามารถใช้ปฏิบัติงานได้ดี เพราะมีการอัพเกรดสมรรถนะสม่ำเสมอ ในขณะที่ตัวโครงสร้างของเครื่องนั้น เฉลี่ยแต่ละลำผ่านการใช้งานมาได้เพียงครึ่งหนึ่งของอายุการใช้งานเท่านั้น นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งยังได้ผ่านโครงการปรับปรุงโครงสร้างภายในเพื่อยืดอายุการใช้งานออกไปจากปกติ 4,000 ชั่วโมง เป็น 8,000 ชั่วโมง แล้ว
และในอนาคตข้างหน้า กองทัพอากาศไทย วางแนวทางการปฏิบัติการทางอากาศในรูปแบบเครือข่ายเป็นศูนย์กลาง หรือ network centric warfare เปรียบให้เห็นภาพง่ายๆ ก็คือ เหมือนกับการแชตไลน์ ซึ่งจะมีระบบดาต้าลิงก์ส่งผ่านข้อมูลได้ทุกรูปแบบ แต่จะมีระบบการรักษาความปลอดภัยชั้นความลับ ทำให้นักบินมีข้อมูลที่จะใช้ในการปฏิบัติการรบ หรือภารกิจต่างๆ ได้อย่างละเอียดและครอบคลุมในแต่ละภารกิจ โดยสามารถส่งข้อมูลได้ทั้งระบบ ทั้งจากกำลังภาคพื้นดิน เรือรบ หรือเครื่องบินด้วยกัน ซึ่งส่งจากศูนย์กลางปฏิบัติการรบ
น.อ.ระวิน กับเครื่องบิน เอฟ16
F16 ที่ประจำปกป้องน่านฟ้าไทย ปัจจุบันมีกี่ฝูงบิน
มี 3 ฝูงบิน อยู่ที่กองบิน 1 จ.นครราชสีมา 2 ฝูงบิน คือ ฝูงบิน 102 ซึ่งมีภารกิจหลักคือการป้องกันภัยทางอากาศ หรือ Air to Air และฝูงบิน 103 มีภารกิจหลักคือ การบินโจมตีทางอากาศแบบยุทธวิธี หรือ Air to ground ส่วนที่กองบิน 4 อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ มีฝูงบิน 403 ประจำการอยู่
ค่าบำรุงรักษา ในการดูแลเขี้ยวเล็บสำคัญของกองทัพอากาศไทย
ไม่สามารถบอกได้ว่าเท่าไหร่ เพราะขึ้นอยู่กับว่ามันเสียมากน้อยแค่ไหน โดยประมาณก็บอกได้คร่าวๆ ว่าแต่ละปีก็ไม่เท่ากัน มันไม่ได้บำรุงรักษากี่ครั้ง เครื่องบินมันจะมีระยะเวลาของมัน ชั่วโมงเครื่องยนต์ ชั่วโมงชิ้นอะไหล่ ทุกอย่างจะถูกมอนิเตอร์หมด เช่น อะไหล่ตัวนี้มีชั่วโมงครบ 100 ชั่วโมง ก็จะทำการเปลี่ยน ชั่วโมงเครื่องยนต์ 300 ชั่วโมง ต้องเข้าตรวจโครงสร้างเอกซเรย์ดู เท่ากับว่าเครื่องบินจะใหม่อยู่ตลอดเวลา เครื่องบินบนโลกนี้ไม่มีคำว่าเก่า อะไหล่ทุกชิ้นจะไม่มีการซ่อม จะถูกเปลี่ยนถูกคุมด้วยอายุ หรือหากอายุการใช้งานยังไม่ครบชั่วโมง หากเกิดเสียก่อนก็เปลี่ยน
คติธรรมคอยย้ำเตือนว่าต้องไม่ประมาท
F16 กับการอัพเกรด เพิ่มสมรรถนะ
ปัจจุบันมีอัพเกรดเรื่อยๆ โดยตอนนี้ฝูงบิน 102 และ 103 ได้เข้าโครงการ falcon up - falcon star แล้ว คือการปรับปรุงโครงสร้างหลัก และ ทำการ re-wiring เปลี่ยนสายไฟทั้งหมด ส่วนฝูง 403 ได้ทำการ mid life update คือปรับปรุงระบบของอากาศยาน ซึ่งเปรียบได้เสมือนซื้อเครื่องบินใหม่เพราะเป็นระบบของเครื่องบินรบในยุคใหม่เลย การ midlife update จะทำให้เราสามารถปฏิบัติการรบได้อย่างเต็มขีดความสามารถ เพราะปัจจุบัน การยิงกัน รบกันในระยะประชิดไม่มีแล้ว จำเป็นที่เราต้องปรับปรุงเพื่อให้เรามีขีดความสามารถทัดเทียม หรือเหนือกว่า เพื่อเป็นการป้องปราม ปัจจุบันระบบอาวุธนำวิถี ยิงกันนอกระยะสายตา สามารถยิงกันได้ตั้งแต่ 30-50 กิโลเมตร ถ้าไม่อัพเกรด ก็อาจโดนยิงตายโดยยังไม่ทันรู้ตัว
ทั้งนี้ การจะครองอากาศได้ก็ต้องมีอาวุธที่เหนือกว่า ระบบที่ดีกว่า และมีนักบินที่ฝึกฝนมามากกว่า เปรียบกับฝ่ายหนึ่งมีนักมวยระดับแชมป์โลกอยู่สิบคน แต่อีกฝ่ายมีเด็กเรียนอยู่ 5 คน ผอมแห้งแรงน้อย แต่มีปืนสิบกระบอก กระสุนนับไม่ถ้วน นักมวยก็คงไม่กล้ายุ่งด้วย
การเป็นนักบินรบเอฟ16 ไม่ง่าย
โดยการอัพเกรดจะพิจารณาชั่วโมงของเครื่องบินว่ามันยังมีอายุการใช้งานได้อีกกี่ปี โดย F16 1 ลำ มีอายุ 4,000 ชั่วโมง ซึ่งเครื่องตอนนี้ประมาณ 2,000 กว่าชั่วโมง แต่พอไป falcon up falcon star แล้ว อายุการใช้งานสามารถยืดไปได้ถึง 8,000 ชั่วโมง ซึ่งทั่วโลกก็ทำกันแบบนี้
ในการอัพเกรดแต่ละชนิด เรื่องราคาก็ต้องยอมรับอาจจะสูงนิดหน่อย เพราะว่าประเทศไทย ไม่ได้เป็นประเทศที่สร้างเครื่องบิน หากถามว่าทำแล้วคุ้มค่าหรือไม่นั้น มันก็ทำให้นักบินได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ แต่ถ้าไม่ทำแล้วนักบินสามารถเรียนรู้ภารกิจได้หรือไม่ ก็เรียนรู้ได้นักบินจะต้องขวนขวายเรียนรู้ด้วยตนเองว่าเทคโนโลยีไปถึงไหนแล้ว เพราะว่าหลักการของเครื่องบินรบก็คงเหมือนเดิม สิ่งที่ถูกอัพเกรดขึ้นมาจะช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น ช่วยให้นักบิน บินสบายขึ้น เปรียบเทียบได้จากรถรุ่นเก่ากับรถรุ่นใหม่
“เป็นนักบินแต่ซ่อมเครื่องบินไม่ได้ แต่ก็ต้องรู้ไว้ว่าระบบเป็นอย่างไร ทำงานอย่างไร เพื่อที่จะสามารถอธิบายกับช่างได้ ขณะที่ คนที่เป็นช่างก็ซ่อมเครื่องบินได้อย่างเดียว ขับไม่ได้”
น้อยคนนักที่จะได้ขับเครื่องบินรบ
ความพร้อมรบของนักบินเหยี่ยวเวหาไทย
แม้จะอยู่ในห้วงเวลาปกติ แต่นักบินรบเอฟ 16 ก็จะต้องฝึกซ้อมทุกภารกิจไม่ว่าจะเป็น การรบในอากาศ การโจมตีภาคพื้นดิน และการรบทางทะเล โดยมีชั่วโมงบิน ไม่ต่ำกว่า 12-16 ชั่วโมงบินต่อเดือนโดยประมาณ เพื่อคงความพร้อมรบของแต่ละคนเอาไว้ ซึ่งความพร้อมรบดังกล่าว จะมีการวางแผนล่วงหน้าเป็นปี รวมทั้งจะถูกตรวจสอบมาตรฐานด้วย ซึ่งหากนักบินคนใดไม่ผ่าน ก็จะต้องมาฝึกบินใหม่ทั้งหมด
ซิมูเลเตอร์กับผู้พิชิตน่านฟ้า
เอาเข้าจริงๆ นักบินรบเกือบทุกคนไม่ชอบการบินด้วยซิมูเลเตอร์ เพราะนอกจากจะทำให้เวียนหัวแล้ว ยังไม่ได้ให้ฟีลลิ่งอย่างที่นักบินรบควรพึงได้รับ เพราะการบินกับเครื่องซิมูเลเตอร์ ไม่ได้สร้างภาวะบีบคั้นทางอารมณ์ หรือสร้างแรงกดดันรวมถึงความหวาดกลัว ตื่นตระหนก ให้กับนักบินรบเหมือนกับการเผชิญหน้ากับคู่ต่อสู้หรือสถานการณ์ในระหว่างการรบจริง เพราะฉะนั้นนักบินก็จะบินแบบชิลๆ นั่งนิ่งๆ เหมือนเล่นวิดีโอเกม
แต่อย่างไรก็ดี ซิมูเลเตอร์ จะได้ประโยชน์ในแง่ของท่าทางและฝึกความพร้อมสำหรับการแก้ไขปัญหา ในสภาวะที่อาจจะไม่ได้เจอในการควบคุมเครื่องบินรบจริงๆ โดยเฉพาะกรณีเครื่องยนต์เกิดไฟไหม้ ซึ่งเครื่องซิมูเลเตอร์ สามารถสร้างสภาวะดังกล่าวให้นักบินฝึกการแก้ไขปัญหาจนเกิดความช่ำชองได้
F16 ไทยยังไม่เคยออกทำสงครามเต็มรูปแบบ
ทั้งนี้ เพราะตั้งแต่ เอฟ 16 เข้าประจำการ ประเทศไทยยังไม่เคยมีการทำสงครามเต็มรูปกับชาติใด รวมทั้งนโยบายของไทย เน้นการเป็นมิตรไม่เป็นศัตรูกับใคร ดังนั้น ภารกิจของเอฟ 16 จึงจะเป็นเชิงรับ มีไว้เพื่อป้องกันเป็นหลัก อย่างไรก็ดี เหยี่ยวเวหาของกองทัพอากาศไทยทั้ง 3 ฝูง ก็ได้ออกปฏิบัติการในภารกิจยุทธการย่อยทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผยอยู่บ่อยครั้งและสม่ำเสมอ
เงินมากมายซื้อความพร้อมไม่ได้
เทคโนโลยีไม่เท่า แต่ฝีมือเสืออากาศไทย เล่นเอามหาอำนาจต้อง อึ้ง!และทึ่ง
แม้ปัจจุบันเทคโนโลยีของเครื่องบินรบไทย อาจจะไม่เทียมเท่าชาติมหาอำนาจอื่นๆ ที่มีทุนรอนจำนวนมหาศาลในการซื้อทั้งเทคโนโลยี และเครื่องบินที่มีประสิทธิภาพสูงกว่ามาไว้ใช้งาน แต่รู้กันไว้เถอะว่าแม้เทคโนโลยีเป็นรอง แต่ฝีมือความเก่งฉกาจของเสืออากาศไทย ในการใช้ฝีมือและมันสมองล้วนๆ กับเทคโนโลยีที่จำกัดไปสู้รบทางเวหานั้น เล่นเอาชาติที่ร่ำรวยต่างๆ พากันอึ้ง ทึ่ง และหยิบนำเอาเทคนิคเฉพาะตัวสำหรับการโกงเทคโนโลยีไปพัฒนาปรับปรุงต่อกันมาแล้ว
การฝึกร่วมกับชาติอื่นๆ ที่ผ่านมา เสืออากาศไทยไม่ค่อยได้อะไรจากชาติอื่นๆ เค้าเท่าไหร่ เพราะด้วยเทคโนโลยีที่แตกต่างทำให้การที่จะทำการประสานงานและรับข้อมูลเป็นไปด้วยความยากลำบาก ต่างกับเทคโนโลยียุคใหม่ในเครื่องบิน ทำให้นักบินมีความสะดวกสบาย ง่ายและแม่นยำ
แต่สำหรับเรื่องเทคนิคส่วนตัวต่างๆ นั้น ชาติอื่นๆ ได้จากของเราไปเยอะ เพราะนักบินรบไทย มีกลเม็ดส่วนตัวเด็ดๆ สำหรับการโกงเทคโนโลยี หลายรูปแบบ เพราะต้องเอาไว้ใช้เป็นไม้ตายในการรบกลางเวหา เพื่อชดเชยเทคโนโลยีที่เรามีในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเทคนิคส่วนตัว ที่สังเกตจากท่าทางการบินประกอบกับระยะ และการศึกษาจากระบบจำลองยุทธ เช่น การรับมือกับจรวดต่อต้านอากาศยาน ที่มีวิถียิงได้ไกล 30 ไมล์ หากบินไปเฉยๆ เข้าระยะ 30 ไมล์ ถูกยิงตายแน่นอน เพราะฉะนั้น นักบินไทยจึงใช้วิธี บินเข้าไปที่ระยะประมาณ 25 ไมล์ แล้วเลี้ยวกลับทันทีและบินวนล่อหลอก จรวดที่ถูกยิงออกมา เมื่อเจอการเปลี่ยนทิศกะทันหันแบบนี้ จะหลงทิศทางทันที เพราะจรวดจะคำนวณระยะความเร็วของวัตถุที่วิ่งเข้าหามันเอาไว้นั่นเอง ซึ่งหลังเจอเทคนิคแบบนี้เข้าไป บริษัทอาวุธจึงได้มีการพัฒนาปรับปรุงอาวุธให้มีระบบการคำนวณที่แม่นยำมากขึ้น เพื่อให้สามารถรับมือกับเทคนิคขั้นเทพของเสืออากาศไทยได้
ถ่ายกับเครื่องบินคู่ใจ
"ความมั่นคงและอธิปไตยของชาติไม่สามารถประเมินมูลค่าเป็นราคาได้ ผมคิดว่าเท่าไหร่ก็เท่านั้น ขึ้นกับความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและความมั่นใจของประชาชนในชาติ ขีดความสามารถของกำลังทางอากาศซื้อไม่ได้ด้วยเงิน เราไม่รู้ว่าประเทศจะเกิดความขัดแย้งจนถึงขั้นต้องใช้กำลังทางอากาศตอบโต้เมื่อไหร่ แต่เมื่อเราจำเป็น วันนั้นต่อให้มีเงินมากมายมหาศาลแค่ไหนก็ไม่สามารถซื้อความพร้อมได้ เพราะฉะนั้นกำลังทางอากาศจำเป็นต้องพร้อมทุกวินาทีเพื่อให้ประเทศยังคงมีเอกราชและอธิปไตย"น.อ.ระวิน ถนอมสิงห์ ผู้บังคับการกองบิน 1 กล่าวทิ้งท้ายกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์
http://www.thairath.co.th/content/494074
ท่าไม้ตายบอกเขาแล้ว ต่อไปไม่หมดมุขหรือครับ...
เป้าหมายการซ้อมรบร่วมก็คือเพื่อช่วยกันพัฒนาขีดความสามารถนิครับ ซ้อมเฉพาะกันพันธมิตร เปิดหูเปิดตาซึ่งกันและกัน
อาวุธลับนั่นสมัยที่ อวป.มีระยะ 30 กิโล
ตอนนี้ มันเกินกว่านั้นมากแล้วมั้งครับ
และแกก็บอกแล้วว่า ผู้ผลิตเห็นข้อบกพร่องนี้แล้ว มุกนี้คงไม่ได้ใช้แล้วล่ะครับ
ตอนนี้คงต้องทำอย่างเดียว อย่าให้ถูกเจอก่อน ถ้าถูกเจอคือจบ ไม่ต้องหนี