หน้าแรก    ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบคำถาม    เข้าสู่ระบบ      


พม่าเล็งๆ เรือดำน้ำฝรั่งเศส

โดยคุณ : top4 เมื่อวันที่ : 19/08/2013 18:47:51

       
 

เรือ คาลิด (PNS/M Khalid 137) เป็นเรือชั้นอาโกสตา 90 บี ลำแรกของกองทัพเรือปากีสถาน ขณะแล่นในพิธีปิดงาน IDEAS-2006 Exhibition ในอ่าวการาจีวันที่ 24 พ.ย.2546 เป็นเรือลำที่ต่อสำเร็จจากฝรั่งเศสและเป็นลำแรกของเรือดำน้ำขนาด 1,800 ตันชั้นนี้ ก่อนที่จะต่ออีก 2 ลำถัดมาโดยปากีสถาน ภายใต้สัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยีจากฝรั่งเศส เรือคาลิดขึ้นระวางประจำการปี 2542 ปากีสถานเป็นแหล่งผลิตเรือดำน้ำโจมตีเร็วชั้นดีอีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งพม่าไม่ได้มองข้าม -- ภาพ: APP Photo/Hamid Mujtaba.
       .
       
ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- ความสงสัยของหลายฝ่ายเริ่มดูเป็นจริงเป็นจริงมากยิ่งขึ้น พม่ากำลังจดๆ จ้องๆ จะเป็นเจ้าของเรือดำน้ำอีกรายหนึ่ง ทหารเรือจำนวนหนึ่งกำลังฝึกอบรมในปากีสถานเรียนรู้ทั่วๆ ไปเกี่ยวกับ “สงครามใต้น้ำ” ในประเทศนี้ ซึ่งเป็นแหล่งต่อเรือดำน้ำดีที่สุดอีกรุ่นหนึ่งของฝรั่งเศสแต่มักจะถูกมอง ข้าม
       
       เรื่องนี้ผ่านมานานหลายเดือนนับตั้งแต่สำนักข่าวกลาโหมเจนส์ดีเฟ้น (Jane’s Defense) เริ่มระแคะระคาย
       
       สำนักข่าวกลาโหมในพม่าเพิ่งตั้งคำถามปลายสัปดาห์ที่แล้วว่า เป็นไปได้หรือไม่พม่ากำลังจ้องไปยังเรือดำน้ำชั้นอาโกสตา -90บี (Agosta 90B) ที่ปากีสถานซื้อสิทธิบัตรและต่อเองภายใต้สัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยีจากกลุ่ม DCNS ในฝรั่งเศส และด้วยความช่วยเหลือจากวิศวกร-ผู้เชี่ยวชาญชาวฝรั่งเศสในช่วงกว่า 10 ปีมานี้
       
       สายการผลิตเรือดำน้ำโจมตีเร็วขนาด 1,800 ตันติดตอร์ปีโดกับจรวดเอ็กโซเซต์ชั้นนี้ยังคงเปิดอยู่ในปากีสถาน ซึ่งได้ใบอนุญาตให้ผลิตเพื่อส่งออกอีกด้วย และกลุ่มลูกค้าเป้าหมายก็เป็นที่ชัดเจนคือประเทศอาเซียน
       
       ในช่วงไม่กี่ปีมานี้พม่าซุ่มพัฒนากองทัพเรือยกใหญ่ เว็บข่าวกลาโหมของชาวพม่าเองกล่าวว่า เป็นกองทัพที่ไม่ได้มุ่งเน้นขนาดกองกำลัง ไม่เน้นเรือรบขนาดใหญ่ มีทั้งจัดซื้อจัดหาจากต่างประเทศและต่อเอง เน้นเรือเร็วโจมตีขนาดกลางขนาดเล็ก ติดปืนใหญ่เรือ ตอร์ปีโดและจรวดนำวิถี มีระบบควบคุมที่ทันสมัย
       
       แนวคิดดังกล่าวได้ทำให้เรือดำน้ำเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับกองทัพเรือพม่า ประเทศที่มีชายฝั่งทะเลยาวเหนือจรดใต้หลายพันกิโลเมตร มีน่านน้ำและเขตเศรษฐกิจจำเพาะที่กว้างใหญ่ไพศาล รุ่มรวยด้วยทรัพยากร และห้อมล้อมด้วยเพื่อนบ้านที่มีกองทัพทันสมัยใหญ่โตกว่าทั้งสิ้น
       
       "ในสายตาของฝ่ายยุทธศาสตร์นาวี เรือดำน้ำเป็นสิ่งที่จะขาดไม่ได้ กองทัพเรือกำลังศึกษาเรือดำน้ำของตะวันตกอยู่เงียบๆ" เว็บบล็อกข่าวกลาโหมพม่ารายงานอ้างคำพูดของแหล่งข่าวในกองทัพเรือ ซึ่งไม่สามารถจะให้ระบุตัวตนได้
       
       ย้อนกลับไปสัปดาห์ปลายเดือน มิ.ย. เจนส์ดีเฟ้นซ์เจอร์นัล สำนักข่าวกลาโหมที่เชื่อได้มากที่สุดและเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกได้ รายงานอ้างการเปิดเผยของแหล่งข่าวทางการทูตซึ่งระบุว่า นายทหารเรือกับทหารเรือพม่าราว 20 นาย เดินทางถึงกรุงการาจีในช่วงปลาย เม.ย.กับต้น พ.ค. เพื่อศึกษาเรื่องเรือดำน้ำในปากีสถาน
       
       "ปฏิบัติการนี้นับเป็นขั้นตอนที่เป็นรูปธรรมที่สุดในความพยายามสร้าง กำลังเรือดำน้ำของพม่า" เจนส์ฯ กล่าว โดยแจงรายละเอียดว่าเป็นไปได้ที่ทหารเรือพม่าจะไปศึกษาอบรมที่ฐานทัพบาฮาดู ร์ (PNS Bahadur Base) ซึ่งเป็นแหล่งฝึกอบรมด้วยระบบจำลอง (Simulation) เสมือนจริง มีการสอนประดาน้ำ สอนด้วยด้วยกลไก และฝึกสอบระบบสื่อสาร ระบบควบคุม ตลอดจนการแปลความหมายรหัสต่างๆ ของเรือดำน้ำ
       
       ปากีสถานจึงเป็นทั้งแหล่งเรียนรู้และแหล่งผลิตเรือดำน้ำใกล้ตัวที่ สุด การมีความสัมพันธ์ความร่วมมือที่ใกล้ชิดมากขึ้นกับอินเดียซึ่งเป็นเพื่อน บ้านใหญ่โตชายแดนติดกันนั้น ไม่ได้เป็นอุปสรรคอันใดสำหรับพม่าในการสร้างความร่วมมือด้านกลาโหมกับ ปากีสถาน ที่เป็นศัตรูตลอดกาลกับอินเดีย นักวิเคราะห์ลงความเห็น
       .
 

เรือ ฮัมซา (PNS/M Hamza 139) เรือดำน้ำชั้นอาโกสตา 90 บี ลำที่ 3 ต่อในปากีสถาน 100% ภายใต้สัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยีจากฝรั่ง ขึ้นระวางประจำการเดือน ก.ย.2551 ใช้ระบบ AIP สมบูรณ์แบบ ติดจรวดเอ็กโซเซต์และสามารถดัดแปลงติดระบบอาวุธได้อีกหลายระบบ รวมทั้งอาวุธที่ผลิตในจีนด้วย กองทัพเรือปากีสถานจะต่ออีก 6 ลำ และจะไม่มีความยุ่งยากอันใดถ้าจะพ่วงอีก 2-4 ลำ หากพม่าต้องการ. -- ภาพ: GlobalSecurity.Org
       

2


 

เรือ PNS/M ฮัมซา ที่อ่าวการาจี วันที่ 26 ก.ย.2551 ปากีสถานมีประสบการณ์สงครามทางทะเลพอสมควร เคยสูญเสียเรือรบไป 3 ลำในสงครามกับอินเดียปี พ.ศ.2514 แต่เรือดำน้ำชั้นดาฟเน่ (Daphne-Class) ที่ซื้อจากฝรั่งเศสรุ่นก่อนลำหนึ่ง ก็สามารถจมเรือปราบเรือดำน้ำอินเดียไป 1 ลำเช่นกัน ปัจจุบันแม้ปากีสถานจะพึ่งพาอาวุธยุทโธปกรณ์จากจีนจำนวนมาก แต่หากเป็นเรือดำน้ำต้องเป็นเทคโนโลยีฝรั่งเศสเท่านั้น.
       

3


 

เรือ ดำน้ำชั้นสกอร์ปีน (Scorpene-Class) ที่ปลดระวางประจำการแล้ว 1 ใน 2 ลำ ในภาพวันที่ 22 มี.ค.2551 ที่เมืองลอเรียนต์ (Lorient) ซึ่งต่อมากลายเป็นข่าวฉาวโฉ่ในฝรั่งเศสเองเกี่ยวกับการติดสินบนเจ้าหน้าที่ มาเลเซีย เป็นเรือโจมตีเร็วขนาด 2,000 ตัน ออกแบบต่อจากชั้นอาโกสตา แต่ปัจจุบันก็ยังพูดได้ไม่เต็มปากว่าเหนือกว่าเรืออาโกสตา 90 บี สัญชาติเดียวกันที่ต่อในปากีสถาน. -- ภาพ: En.Wikipedia.Org/Pline
       

4


       .
       ปากีสถานยังมีประสบการทำสงครามทางเรือมายาวนาน ถึงแม้ว่าจะสูญเสียเรือรบไปถึง 3 ลำ ในสงครามกับอินเดียเมื่อปี พ.ศ.2516 แต่เรือดำน้ำชั้นดาฟเน่ (Daphne-Class) ของปากีสถานลำหนึ่งในยุคโน้น ก็ยิงเรือปราบเรือดำน้ำของอินเดียจมไป 1 ลำ
       
       ปัจจุบันปากีสถานมีเรือชั้นอาโกสตาประจำการ5 ลำ เป็นอาโกสตา-70 (Agosta 70) รุ่นเก่า 2 ลำ กับ อาโกสตา 90 บี ซึ่งเป็นรุ่นใหม่อีก 3 ลำ ในนั้น 1 ลำต่อในฝรั่งเศส นำเข้าประจำการในเดือน ธ.ค.2542 อีก 2 ลำ ต่อโดยอู่การาจีของกองทัพเรือทั้งหมดด้วยมาตรฐานของฝรั่งเศส ขึ้นระวางประจำการปี 2545 และ 2549
       
       ตามข้อมูลในเว็บไซต์ PakistanDefence.Pk เรืออาโกสตา 90 บี ที่ต่อในปากีสถานทั้ง 2 ลำ ดัดแปลงให้ขับเคลื่อนด้วยระบบ AIP (Independent Air Propulsion) ซึ่งเป็นแนวโน้มใหม่ที่หลายประเทศเริ่มใช้กับเรือดำน้ำรุ่นใหม่แทนระบบ เครื่องยนต์ดีเซลกับมอเตอร์ไฟฟ้า
       
       แม้ว่าปากีสถานกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการต่อเรือดำน้ำพลังงาน นิวเคลียร์ลำแรกของประเทศก็ตาม แต่ก็มีโครงการที่จะต่อเรือชั้นอาโกสตา 90 บี อีก 6 ลำ เป็นอย่างน้อย จึงไม่มีความยุ่งยากอันใดหากจะพ่วงต่อให้พม่า 2 หรือ 4 ลำ ประเดิมส่งออก
       
       เรืออาโกสตา 90 บี มีขนาดใหญ่กว่าชั้นสกอร์ปีน (Scorpine) หรือ "ไอ้แมลงป่อง" ของมาเลเซีย ที่กองทัพเรือฝรั่งเศสต่อขึ้นในภายหลังและปัจจุบันมีประจำการในกองทัพเรือ อินเดียด้วย แต่เรือดำน้ำพันธุ์ฝรั่งเศสของปากีสถานนั้นใหม่กว่าและปัจจุบันพัฒนาไปไกล กว่าในทุกด้าน
       
       ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับพม่าก็คือ ปัจจุบันอีซีกับสหรัฐฯ ยังไม่ยกเลิกการคว่ำบาตรในด้านการซื้อขายอาวุธ แม้ว่าสิ่งนี้จะต้องยุติลงในวันหนึ่งข้างหน้าก็ตาม แต่ไม่มีผู้ใดล่วงรู้ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญจะเกิดขึ้นเมื่อไร ในขณะที่การสร้างเสริมขีดความสามารถการป้องกันประเทศมีความเร่งด่วน
       .
 

เรือ U206A สามลำในจำนวนสิบแปดลำที่กองทัพเรือเยอรมนีปลดระวางประจำการในภาพที่ไม่ได้ ระบุวันถ่าย เป็นเรือดำน้ำเล็กขนาด 500 ตันเท่านั้นออกแบบในช่วงสงครามเย็นเพื่อใช้ในทะเลเหนือซึ่งเป็นทะเลน้ำตื้น ไทยเจรจาซื้อ 6 ลำแต่ไม่สามารถจะดำเนินการได้ทันกรอบเวลาที่ตกลงกันในต้นปี 2555 วันนี้ยังไม่ทราบแผนการจัดซื้อจัดหาครั้งใหม่. -- ภาพ: GlobalSecurity.Org
       

5


 

เรือ ชังโบโก (SSK Chang Bogo 061) กองทัพเรือเกาหลี ในภาพวันที่ 6 ก.ค.2547 ขณะแล่นในน่านน้ำมลรัฐฮาวายของสหรัฐฯ ครั้งไปร่วมฝึก Rim of the Pacific (RIMPAC) 2004 นี่คือเรือ U209/1200 ของเยอรมนีที่เกาหลีซื้อสิทธิบัตรไปต่อเองในประเทศ ว่ากันว่ากลุ่มแดวูอัปเกรดจนกระทั่งเป็นเรือพันธุ์ใหม่ทันสมัยทันยุคยิ่ง กว่าเดิม ราชนาวีไทยส่งเจ้าหน้าที่ไปศึกษาอบรมเกี่ยวกับเรือชั้นนี้ในเกาหลีแล้วราว กับตีตราจอง. -- ภาพ: US Navy Photo.
       

6


       .
       ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เรือดำน้ำฝรั่งเศสที่สร้างโดยปากีสถานภายใต้สิทธิบัตรไม่ได้อยู่ในเงื่อนไข การคว่ำบาตรซึ่งเปิดโอกาสให้กองทัพเรือพม่าเป็นเจ้าของได้ทันที นอกจากนั้นยังเป็นเรือใหม่เอี่ยม ติดอาวุธและระบบต่างๆ ได้หลากหลาย มีอายุใช้งานอีก 30 ปี ไม่ใช่เรือที่ปลดระวางประจำการแล้ว
       
       เพียงไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ไทยเป็นประเทศที่ 5 ในอาเซียนที่มีแผนพัฒนากองเรือดำน้ำและได้เจรจาซื้อเรือ 206 หรือ U 206 ที่เยอรมนีปลดประจำการแล้วจำนวน 6 ลำ เป็นเรือติดตอร์ปีโดขนาดเล็ก ออกแบบเพื่อปฏิบัติการในทะเลเหนือซึ่งเป็นทะเลน้ำตื้น รับมือเรือรบของกลุ่มสนธิสัญญาวอร์ซอในยุคสงครามเย็น
       
       ไทยพลาดโอกาสเป็นเจ้าของเรือดำน้ำเก่าของเยอรมนีเมื่อต้นปี 2555 ด้วยหลากหลายสาเหตุ และแผนการจัดซื้อจัดหาครั้งต่อไปยังไม่ชัดเจน ถึงแม้ราชนาวีไทยจะให้ความสนใจเรือดำน้ำชั้นชังโบโก (Chang Bogo-Class) ที่เกาหลีซื้อสิทธิบัตรจากเยอรมนีไปต่อเอง อย่างออกหน้าก็ตาม
       
       พม่าจึงเป็นประเทศที่ 6 ในกลุ่มที่เริ่มมองหาเรือดำน้ำ แม้จะไม่เคยการประกาศเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ แต่ได้แสดงออกด้วยรูปธรรมหลายอย่าง รวมทั้งการเพิ่มเงินงบประมาณพัฒนากองทัพอย่างมากมายทุกๆ ปีในช่วงไม่กี่ปีมานี้
       
       กองทัพเรือเวียดนามได้จัดตั้งกองกำลังเรือดำน้ำขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อต้นปี 2556 นี้ ขณะเตรียมรับมอบเรือชั้นคิโล (Kilo-Class) ลำแรกจากทั้งหมด 6 ลำ ที่รัสเซียจะส่งมอบให้ในเดือน พ.ย. และลำที่ 2 มีกำหนดก่อนสิ้นปี
       
       เรือดำน้ำของเวียดนามเป็นชั้นคิโลปรับปรุง (Improved Kilo) เป็นยุคที่ 3 ของชั้น เป็นเรือดำน้ำโจมตีเร็วขนาด 3,000 ตัน ติดตอร์ปีโดกับจรวดนำวิถีความเร็วเหนือเสียง สามารถโจมตีเป้าหมายภาคพื้นดินได้ เป็นเรือชั้นคิโลคนละยุคกันกับเรือสินธุรักศักดิ์ (Sindhurakshak) ของอินเดียที่เกิดระเบิด เพลิงไหม้และจมลงในเขตทหารเรือของเมืองท่ามุมไบกลางสัปดาห์ที่แล้ว
       
       นักวิเคราะห์กล่าวว่า กองเรือดำน้ำของเวียดนามกำลังจะทำให้ดุลยภาพการรบทางทะเลในย่านนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสำคัญ.




ความคิดเห็นที่ 1


ที่จริง ถ้าโพสหัวข่าวอีกแบบนะครับว่า

พม่าจะซื้อเรือดำน้ำ มือ 2 จากปากีสถาน

อารมณ์อาจจะเปลี่ยนไปอีกแบบก็ได้ 555

โดยคุณ delete เมื่อวันที่ 19/08/2013 12:42:36


ความคิดเห็นที่ 2


ซื้อเร็วๆเลยยิ่งดีครับนั่นหมายถึงเราจะได้เห็นเรือดำน้ำของไทยเราเร็วขึ้นเท่านั้นอยากให้ซื้อเยอะๆ

แล้วหา SU 30 อีก สักฝูง คราวนี้คงได้เห็นเครื่องใหม่ของเราเพิ่มอีกแน่

โดยคุณ lfazuru เมื่อวันที่ 19/08/2013 18:47:51