การจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือญี่ปุ่น
ราชนาวีญี่ปุ่นให้ความสนใจในเรือดำน้ำ ตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 โดยมีเรือดำน้ำ Holland VI เป็นแรงบันดาลใจ ซึ่งในเวลานั้น (ปี 1896- 1897) ยาน Holland VI ยังไม่ได้เข้าประจำการในกองทัพเรือสหรัฐ และอยู่ระหว่างการตรวจสอบประเมินสมรรถนะจากคณะกรรมการของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ราชนาวีญี่ปุ่นได้ส่งเจ้าหน้าที่ศึกษาเยี่ยมชมเรือลำนี้ ตั้งแต่ช่วงที่เรือยังต่อไม่แล้วเสร็จที่ อู่เรือ Crescent อลิซาเบทพอร์ท (Elizabeth Port) เช่น ในเดือนกรกฎาคม ปี 1897 เจ้าหน้าที่ของญี่ปุ่น 2 นาย เยี่ยมชมการต่อยาน Holland VI และได้รับอนุญาตให้เข้าไปภายในเรือ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ของญี่ปุ่นอีกหลายนายมีโอกาสเยี่ยมชมเรือและร่วมทดสอบแล่นเรือใต้น้ำ เช่นในปี 1898 เมื่อยาน Holland VI ถูกเคลื่อนย้ายไปยัง Atlantic Yacht Basin เมืองบรูคลิน นิวยอร์ค ท่านเคาท์ โคสุเกะ คิซากิ (Count Kosuke Kizaki) ได้เยี่ยมชมเรือ จากนั้นในเดือนตุลาคม ปีเดียวกัน ท่านเคาท์ เรือโททาคาชิ ซาซากิ (Count Lieutenant Takashi Sasaki) โดยสารไปกับเรือดำน้ำเพื่อร่วมสังเกตการทดสอบแล่นเรือใต้น้ำ อีก 2 ปีต่อมา ในเดือนเมษายน ปี 1900 เรือโทเคนจิ ไอดิ (Kenji Ide) ผู้เดินทางมาปฏิบัติหน้าที่ทูต ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ได้รับโอกาสให้โดยสารในเรือลำนี้ เพื่อชมการสาธิตปฏิบัติงานใต้น้ำ ที่แม่น้ำ Potomac
เรือดำน้ำชุดแรกของราชนาวีญี่ปุ่น มีทั้งสิ้น 5 ลำ ทั้งหมดเป็นเรือดำน้ำเบนซิน – ไฟฟ้า ชั้น A (Adder) ผลิตโดยบริษัท Electric Boat ของ จอห์น ฟิลิปส์ ฮอลแลนด์ (ผู้สร้างยาน Holland VI) ต่อที่อู่ต่อเรือ Fore River ประเทศสหรัฐอเมริกา ประกอบด้วย เรือดำน้ำ No. 1 ปล่อยเรือลงน้ำเมื่อ 20 มีนาคม 1905, No. 2 ปล่อยเรือลงน้ำเมื่อ 2 พฤษภาคม 1905, No. 3 ปล่อยเรือลงน้ำเมื่อ 16 พฤษภาคม 1905, No. 4 ปล่อยเรือลงน้ำเมื่อ 27 พฤษภาคม 1905 และ No. 5 ปล่อยเรือลงน้ำเมื่อ 13 พฤษภาคม 1905
จากนั้นอีกไม่นาน ราชนาวีญี่ปุ่นได้สั่งซื่อเรือดำน้ำเบนซิน – ไฟฟ้า จากบริษัท Electric Boat เพิ่มอีก 2 ลำ ประกอบด้วย เรือดำน้ำ No.6 และ No.7 โดยตั้งชื่อชั้นเรือว่า Kaigun เรือทั้งสองลำต่อเรือที่อู่ คาวาซากิ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นต่อเรือดำน้ำในประเทศ โดยมีเจ้าหน้าที่ของบริษัท Electric Boat จากสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ควบคุมดูแลขั้นตอนการต่อเรือ นอกจากนี้ราชนาวีญี่ปุ่นยังมีส่วนออกแบบเรือชั้นนี้ร่วมกับวิศวกรของบริษัท Electric Boat โดยพัฒนาเรือดำน้ำที่มีน้ำหนักเบากว่าชั้น A (Adder) แต่มีผนังเรือแข็งแรงทนทานกว่า ทำให้สามารถต้านทานแรงกดดันของน้ำได้ดีขึ้น และสามารถปฏิบัติงานใต้น้ำลึกกว่าเดิม พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการแล่นเรือเหนือน้ำ อย่างไรก็ตามเรือดำน้ำชั้นนี้ไม่ได้ถูกใช้ในหน่วยกำลังรบ แต่ทำหน้าที่เป็นเรือดำน้ำฝึกหัดและลาดตระเวนเป็นส่วนใหญ่
เรือดำน้ำ No. 6 ประสบอุบัติเหตุน้ำท่วมเรือ จมลงที่อ่าวฮิโรชิมา เมื่อวันที่ 15 เมษายน ปี 1910 แต่ได้รับการกู้เรือ นำมาซ่อมแซมกลับเข้าประจำการอีกครั้ง No.6 และ No.7 ประจำการในกองทัพเรือญี่ปุ่นเป็นเวลานานประมาณ 14 -15 ปี จึงปลดระวางในปี 1920
ขอบคุณมากค่ะ
ดูแล้วญี่ปุ่นทุ่มเทจริงจังมากๆเลยกับอาวุธทางทะเลสมัยใหม่ ซึ่งต้องบอกเลยว่าเรือดำน้ำยุคนั้นจัดว่าใหม่ถอดด้ามจริงๆ เหมือนเสี่ยงจัดสร้างกองเรือบรรทุกบ.ที่ถือว่าใหม่มากในยุคถัดมา มองกาลไกลและมีความตั้งใจสูงมากครับ
ขอบคุณค่ะ โพสต่อ ...
อุบัติเหตุในเรือดำน้ำ No.6 ประเทศญี่ปุ่น : เรือดำน้ำลำนี้ได้หายสาบสูญไปขณะทำการลาดตระเวนในบริเวณอ่าวฮิโรชิม่า เมื่อวันที่ 15 เมษายน 1910 ซากเรือถูกค้นพบในเวลาต่อมา สาเหตุของการจมคาดว่าเป็นเพราะเรือดำน้ำทำการดำลงใต้น้ำลึกเกินไป เมื่อเกิดอุบัติเหตุน้ำเข้าเรือจนเรือจม ถังน้ำมันชำรุด เกิดการรั่วไหลของน้ำมันเบนซิน เรือไม่สามารถลอยขึ้นเหนือน้ำได้ทัน ส่งผลให้กำลังพลประจำเรือทุกนายเสียชีวิต ร่างของลูกเรือทั้งหมดถูกพบอยู่บริเวณสถานี (station – ที่ปฏิบัติงาน)ของตน ในขณะที่ร่างของผู้บังคับการเรือ เรือโททาคูมะ โฟโทมุ ถูกพบในหอบังคับการเรือ โดยมีจดหมายที่เขาเขียนไว้ก่อนเสียชีวิต บรรยายเหตุการณ์ในช่วงภาวะวิกฤต วางอยู่ข้างกาย ขอยกบางส่วนในจดหมายมาให้อ่านกันดังนี้ ........
“แม้ว่าจะไม่มีคำขอโทษใดสามารถทดแทนความผิด ที่พวกเราทำให้เรือดำน้ำขององค์จักรพรรดิต้องจมลง ด้วยเพราะความอ่อนหัดสะเพร่าของพวกเรา และถึงแม้ภารกิจของเราทุกคนจะต้องสิ้นสุดลง ณ ที่นี้ ทำได้เพียงรอคอยความตายอย่างสงบ ด้วยความภาคภูมิใจที่ได้สละชีพเพื่อชาติ ข้าพเจ้ามีความกังวลใจเพียงประการเดียว นั่นคือ เหตุการณ์ครั้งนี้จะถูกตีความผิดพลาดจากนานาชาติ และส่งผลลบต่อการพัฒนาเรือดำน้ำ (ของญี่ปุ่น) ในอนาคต”
“ท่านสุภาพบุรุษทั้งหลาย ผมหวังว่าพวกคุณจะให้ความสนใจในอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นครั้งนี้ และนำมาเป็นอุทาหรณ์ พร้อมทั้งอุทิศกำลังแรงกายทั้งหมดในการค้นคว้าตรวจสอบข้อผิดพลาด เพื่อพัฒนาให้เรือดำน้ำในอนาคตมีความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งหากพวกคุณทำได้ พวกเราก็ไม่มีอะไรที่จะต้องห่วงกังวลอีกต่อไป”
“ขณะทำการฝึกดำใต้น้ำ เรือของเราดำลึกเกินไป เมื่อพวกเราพยายามปิด วาล์วเปิด-ปิดน้ำ (slice-valve) โซ่วาล์วกลับชำรุด”
“จากนั้น พวกเราพยายามปิดวาล์วด้วยมือแทน แต่ช้าไป พื้นที่ส่วนท้ายเรือเต็มไปด้วยน้ำ ส่งผลให้เรือจมลงใต้น้ำ โดยท้ายเรือดิ่งลงทำมุมประมาณ 25 องศา จนกระทั่งติดกับพื้นน้ำในสภาพเอียง 12 องศา ท้ายเรือชี้ขึ้น แผงวงจรไฟฟ้าจมน้ำ ทำให้ไฟส่องสว่างภายในเรือดับมืดลง ไอระเหยของน้ำมันเบนซินฟุ้งกระจายภายในตัวเรือ ทำให้หายใจลำบากยิ่งขึ้น เรือดำน้ำจมลงเมื่อเวลาประมาณ 10 น. ของวันที่ 15 เมษายน 1910 เป็นช่วงเวลาที่เจ็บปวด จากกลิ่นน้ำมันที่เหม็นรุนแรง เมื่อเรือเริ่มจม พวกเราพยายามไล่น้ำออกจากถังอับเฉาหลัก เพื่อให้เรือดำน้ำเบาขึ้น แต่หลังจากนั้นแสงไฟในตัวเรือดับลง ทำให้ไม่สามารถมองเห็นตัวเลขบนเครื่องวัดได้ อย่างไรก็ตามพวกเราทราบดีว่าน้ำได้ถูกไล่ออกจากถังอับเฉาหลักแล้ว”
" พวกเราไม่สามารถใช้กระแสไฟฟ้าได้เลยอย่างสิ้นเชิง แบตตารี่ก็กำลังรั่วซึม แต่โชคดีที่น้ำเค็มยังไม่ท่วมเข้ามาในตัวเรือ และแก๊สคลอรีนยังไม่ก่อตัวขึ้น อุปกรณ์เดียวที่พวกเรายังนำมาใช้งานได้คือ เครื่องปั๊มน้ำด้วยมือ ความอยู่รอดของพวกเราขึ้นอยู่กับเจ้าเครื่องมือตัวนี้เท่านั้น”
“ข้อความข้างต้น ผมเขียนขึ้นโดยอาศัยแสงไฟในหอบังคับการเรือ เมื่อเวลาประมาณ 11.45 น. สภาพของพวกเราในขณะนี้เปียกโชกไปด้วยน้ำทะเลที่ทะลักเข้ามาภายในเรือเรื่อยๆ เสื้อผ้าเปียกชุ่มทั้งยังรู้สึกหนาวสั่น ที่ผ่านมาผมเคยชินกับการเตือนผู้ใต้บังคับบัญชาให้ระมัดระวังเกี่ยวกับบุคคลิกภาพ เมื่อเผชิญเหตุการฉุกเฉิน ให้พวกเขามีความสงบเยือกเย็น สุขุม และกล้าหาญ อันที่จริงแล้วในสภาพเช่นนี้พวกเราไม่สามารถวางมาดเป็นผู้สุขุมรอบคอบได้สักเท่าไร เพราะต้องเร่งทำงานแข่งกับเวลา คนทั่วไปอาจจะคิดว่าคำพูดของผมดูน่าขับขัน เพราะถึงแม้พวกเราจะพยายามสักเท่าไร ผลลัพธ์ที่ได้คือความล้มเหลว แต่ผมยังคงเชื่อมั่นว่าคำพูดของผมไม่เคยผิดพลาด
“เครื่องวัดระดับความลึก ที่หอบังคับการเรือ ระบุว่าเราอยู่ใต้น้ำที่ความลึก 52 ฟุต ขณะที่พวกเราพยายามสูบน้ำออกจากเรือ เครื่องปั๊มน้ำกลับหยุดทำงาน และคาดว่ามันจะใช้งานไม่ได้อย่างถาวรหลังเที่ยง ความลึกของน้ำเพิ่มเป็น 10 ฟาทอม (60 ฟุต) ผมคิดว่าเครื่องวัดความลึกน่าจะยังคงอ่านค่าได้เที่ยงตรงอยู่”
“เจ้าหน้าที่ทุกนายที่ถูกคัดเลือกให้ทำงานในเรือดำน้ำ จะต้องเป็นผู้กล้าหาญที่สุดในเหล่าผู้กล้า เพื่อให้สามารถเผชิญสถานการณ์ที่กดดันเช่นนี้ได้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ลูกเรือทุกคนมีความสุขที่ได้ทำหน้าที่ของพวกเขาอย่างเต็มที่แล้ว ผมเองเช่นกัน พอใจและเตรียมพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความตาย เพราะผมคิดอยู่เสมอทุกครั้งที่ออกจากบ้าน ว่าผมอาจไม่มีชีวิตรอดกลับไปอีก พินัยกรรมของผมถูกเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะที่ คาราซากิ (Karasaki) คุณ ทากูชิ และอาซามิ ได้โปรดแจ้งบิดาของผมให้ทราบในเรื่องนี้ด้วย”
“สิ่งที่ผมร้องขอด้วยความเคารพอย่างยิ่ง ก็คือผมไม่ต้องการให้ครอบครัวของพวกเราต้องเศร้าโศกที่เราจากไป นี่เป็นสิ่งเดียวที่ผมเป็นกังวลในขณะนี้ (นั่นคืออารมณ์ ความรู้สึกของผู้ที่อยู่ข้างหลัง)”
…... “แรงกดอากาศเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ผมรู้สึกเหมือนแก้วหูจะระเบิด”
“12.30 น. หายใจลำบากจริงๆ ผมหมายถึง......ผมกำลังหายใจเอากลิ่นน้ำมันเบนซินเข้าไป กลิ่นของมันทำเอาผมมึนไปหมด”
“เวลาขณะนี้ เที่ยงสี่สิบนาที …………” คือ ข้อความสุดท้ายของ เรือโททาคุมะ โฟโทมุ (Takuma Faotomu) ผู้กล้าหาญที่สุดของเหล่าผู้กล้าแห่งราชนาวีญี่ปุ่น
การจมลงของเรือดำน้ำ No.6 เสมือนเป็นจุดสิ้นสุดยุคเรือดำน้ำเบนซิน – ไฟฟ้า ของญี่ปุ่น ซึ่งมีจำนวนเพียง 7 ลำ ก่อนหน้าเรือลำนี้จะจมลง 2 ปี ในปี 1908 ญี่ปุ่นได้สั่งซื้อเรือดำน้ำชั้น C จากประเทศอังกฤษ (เรือชั้นนี้เริ่มสร้างใน ปี 1906 โดยลำแรกๆของชั้นใช้ระบบขับเคลื่อนเบนซิน – ไฟฟ้า แต่ญี่ปุ่นเจาะจงใช้ระบบขับเคลื่อนดีเซล – ไฟฟ้า) นับจากนั้นเป็นต้นไป เรือดำน้ำใหม่ๆของราชนาวีญี่ปุ่นติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซล - ไฟฟ้า ทั้งสิ้น
การจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือเยอรมัน
ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ประเทศเยอรมันนี มีลักษณะทางภูมิศาสตร์คล้ายคลึงกับไทย ในบางประการ นั่นคือ มีท่าเรือสำคัญหลายแห่ง เส้นทางเดินเรือพาณิชย์สำคัญ แต่ถูกปิดอ่าวได้ง่าย เช่น ในเหตุการณ์สงครามชเลสวิก ครั้งที่หนึ่ง ระหว่างเยอรมันและเดนมาร์ก (ปี ค.ศ. 1850) ท่าเรือเมืองคีล (Kiel) - เมืองหลวงของรัฐชเลสวิก-โฮลสไตน์ ถูกกองทัพเรือเดนมาร์กปิดอ่าว ทำให้เกิดแนวคิดสร้างเรือดำน้ำ ซึ่งมีคุณสมบัติสำคัญ คือ มีขนาดเล็ก ตรวจจับได้ยาก และติดตั้งอาวุธอานุภาพสูงพอที่จะสามารถทำลายเรือผิวน้ำขนาดใหญ่ได้ เพื่อทำลายกองเรือปิดอ่าว นำมาสู่การออกแบบเรือดำน้ำ Brandtaucher (ประดาน้ำระเบิดเพลิง – ขับเคลื่อนด้วยแรงมนุษย์) โดย Wilhelm Bauer ซึ่งสามารถกดดันเรือรบปิดอ่าวของเดนมาร์กได้ในระดับหนึ่ง แต่เกิดอุบัติทางเทคนิคจมลงก่อนสงครามสิ้นสุด
อย่างไรก็ตามผลงานเรือดำน้ำขับเคลื่อนแรงมนุษย์ ของ Wilhelm Bauer ไม่ได้รับความสนใจจากกองทัพเรือเยอรมันมากนัก ต่างจากฝั่งสหรัฐอเมริกาในช่วงเวลาเดียวกัน (กลางศตวรรษที่ 19) ที่แนวคิดการใช้เรือดำน้ำลอบทำลายเรือผิวน้ำที่มีขนาดใหญ่กว่า ปรากฏชัดเจนเป็นรูปธรรม โดยเริ่มจากสงครามประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ และเด่นชัดในสงครามกลางเมืองสหรัฐอเมริกา ฝ่ายใต้ผลิตเรือดำน้ำและเรือตอร์ปิโดกึ่งเรือดำน้ำหลายลำ เพื่อใช้ทำลายกองเรือฝ่ายเหนือซึ่งถูกส่งมากดดันชายฝั่งทะเลรัฐทางใต้
จากนั้น Bauer เดินทางไปต่างประเทศ เสนอโครงการเรือดำน้ำต่อกองทัพชาติต่างๆเพื่อขอเงินทุนสนับสนุนการต่อเรือ จนกระทั่งประเทศรัสเซียตอบรับ จึงมีการสร้างเรือดำน้ำลำที่ 2 - Marine Devil (ปีศาจทะเล) เมื่อปี 1856 แต่ไม่ได้เข้าประจำการเพราะจมลงเสียก่อนในช่วงทดสอบสมรรถนะเรือ
นอกจาก Bauer ปรากฏชื่อนักออกแบบเรือดำน้ำยุคบุกเบิกของเยอรมันอีก 1 ท่าน คือ Friedrich Otto Vogel และเรื่องราวของเรือดำน้ำ Howakdt ซึ่งเป็นเรือของเอกชน ไม่ทราบที่มา ถูกเก็บรักษาไว้ที่บ้านแห่งหนึ่ง จนกระทั่งมีผู้มาพบและมีการเสนอข่าวครึกโครมเป็นที่สนใจของชาวเยอรมันในยุคนั้น (บางแหล่งข่าวอ้างว่าเรือลำนี้ต่อที่อเมริกา ก่อนจะถูกขนย้ายมาไว้ในเยอรมันอย่างลับๆ) เหตุการณ์เหล่านี้ เกิดขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 เป็นเวลาสั้นๆประมาณ 20 – 30 ปี ถึงแม้ว่าเยอรมันจะนำเรือดำน้ำสมัยใหม่เข้าประจำการช้ากว่าประเทศ มหาอำนาจเพื่อนบ้าน เช่น อังกฤษ และฝรั่งเศส อุตสาหกรรมต่อเรือดำน้ำของเยอรมัน นำโดย Germaniawerf - Krupp ได้เริ่มขึ้นอย่างจริงจังในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และรุดหน้าอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม เรือดำน้ำลำแรกๆที่ Germania – Krupp ผลิตไม่ได้รับความสนใจจากกองทัพเรือเยอรมัน แต่ส่งขายต่างประเทศเป็นหลัก และออกแบบโดย วิศวกรหน้าใหม่ ชาวสเปน นาม Raimondo Lorenzo D’Equevilley-Montjustin แทนที่จะเป็นวิศวกรในประเทศ เรือดำน้ำลำแรกของ Germania – Krupp คือ Forelle ปี 1903 มีขนาดเล็ก ระวางขับน้ำเพียง 16 ตันเหนือน้ำ / 17 ตันใต้น้ำ และใช้ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าล้วน ผลิตให้กับกองทัพเรือรัสเซีย (ก่อนหน้านั้น ไซมอน เลค เจ้าของบริษัท Lake Torpedo Boat แห่งสหรัฐอเมริกา ผู้สร้างเรือดำน้ำ Seal ให้กับกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา และเป็นคู่แข่งคนสำคัญของ จอห์น ฟิลิปส์ ฮอลแลนด์ ได้ติดต่อ Germania – Kruppเพื่อขอร่วมงานกัน แต่ติดปัญหาด้านสิทธิบัตร ตามข้อกฎหมายระหว่างประเทศ ทำให้ Krupp ปฏิเสธ เลค และ D’Equevilley-Montjustin ได้งานไปแทน)
จากนั้น D’Equevilley-Montjustin ได้ออกแบบเรือดำน้ำชั้น Karp ขนาดระวางขับน้ำ 207 ตันเหนือน้ำ / 235 ตันใต้น้ำ จำนวน 4 ลำ ให้กับ Germania – Krupp เรือดำน้ำชั้น Karp ชุดแรก 3 ลำ ซึ่งสร้างให้กับกองทัพเรือรัสเซีย ในช่วงปี 1905 – 1906 ประกอบด้วย เรือดำน้ำ Karp, Karas และ Kambala ทุกลำติดตั้งเครื่องยนต์ Kerosene – ไฟฟ้า (เครื่องยนต์ Kerosene ถูกพัฒนาใช้แทนเครื่องยนต์เบนซิน เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดไฟไหม้จากไอระเหยของน้ำมันเบนซิน เพราะ Kerosene ไวไฟน้อยกว่า) และลำสุดท้าย เรือดำน้ำ Kobben ต่อให้กับประเทศนอร์เวย์ ในปี 1909 ใช้ระบบขับเคลื่อนดีเซล – ไฟฟ้า
ข้อมูลบางแหล่งกล่าวว่ากองทัพเรือเยอรมันสนใจ สั่งซื้อเรือดำน้ำชั้น Karp 1 ลำ โดยเจาะจงใช้ระบบขับเคลื่อนเรือ Kerosene – ไฟฟ้า แต่ดิฉันยังไม่พบข้อมูลเรือดำน้ำชั้นนี้ที่ประจำการในกองทัพเรือเยอรมัน โดยเรือดำน้ำสมัยลำแรกของกองทัพเรือเยอรมัน คือ เรือดำน้ำ U-1 ผลิตโดยบริษัท Germania – Krupp
ความสำเร็จในระดับนานาชาติ Germania – Krup กระตุ้นความสนใจกองทัพเรือเยอรมัน ส่งผลให้กระทรวงตอร์ปิโด (Torpedo Department) แห่งกองทัพเรือจักรวรรดิเยอรมัน จัดตั้งหน่วยงานชื่อ Unterseebootkonstruktionsbüro (Undersea Boat Construction) ในปี 1904 นับเป็นหน่วยงานของรัฐหน่วยงานแรกที่ทำงานเกี่ยวกับเรือดำน้ำโดยตรง โดยมีวิศวกรออกแบบเรือดำน้ำสมัยใหม่คนแรกของชาติ คือ Gustave Berling ซึ่งในเวลาต่อมา Berling ได้ออกแบบเรือดำน้ำทั้งเบนซิน – ไฟฟ้า และดีเซล – ไฟฟ้า ให้กับกองทัพเรือเยอรมันอย่างต่อเนื่อง
เรือดำน้ำสมัยใหม่สามลำแรก ซึ่งมีความสำคัญในฐานะเรือดำน้ำต้นแบบ เปรียบเหมือนดังการเริ่มแผ้วถางทางเดิน เพื่อนำกองเรือดำน้ำเยอรมันไปสู่ความรุ่งโรจน์ ประกอบด้วย
เรือดำน้ำ U-1 เรือดำน้ำสมัยใหม่ลำแรกของเยอรมัน เป็นเรือดำน้ำชั้น U -1 สร้างโดย Germania – Krupp ออกแบบโดย D’Equevilley-Montjustin ถูกสร้างขึ้นจำนวน 3 ลำ คือ เรือดำน้ำ U -1 (ปล่อยเรือลงน้ำเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 1906), U- 3 และ U -4 (สร้างให้กับกองทัพเรือออสเตรียน – ฮังการี ปล่อยเรือลงน้ำ ในวันที่ 20 สิงหาคม 1908 และ 20 พฤศจิกายน 1908 ตามลำดับ) ทั้งหมดใช้ระบบขับเคลื่อนเรือ Kerosene – ไฟฟ้า ระวางขับน้ำ 238 ตัน (เหนือน้ำ) / 283 ตัน (ใต้น้ำ) อาวุธประจำเรือ คือ ตอร์ปิโดขนาด 450 ม.ม. 3 ท่อยิง (ในขณะที่เรือดำน้ำ U-3 และ U-4 ของอาณาจักรออสเตรียน-ฮังการี ติดตั้ง ตอร์ปิโดขนาด 450 ม.ม. 2 ท่อยิง) กำลังพลประจำเรือเรือ 18 นาย