โดย วสิษฐ เดชกุญชร
เมื่อแรกตั้งอาสาสมัครทหารพรานขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๒๑ หรือเมื่อ ๓๔ ปีมาแล้วนั้น เมืองไทยกำลังถูกคุกคามโดยผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะในบริเวณชายแดน ทางราชการต้องใช้กำลังทหารเข้าสนับสนุนตำรวจ หน่วยทหารเหล่านั้นถูกตรึงอยู่ในพื้นที่ติดต่อกันเป็นเวลานาน
รัฐบาลในสมัยนั้นจึงตั้งทหารพรานขึ้นโดยให้ประกอบด้วยอาสาสมัครซึ่งเป็นคนในพื้นที่ โดยอาศัยหลักว่า ทหารพรานจะคุ้นเคยกับสถานการณ์และคนมากกว่าทหารประจำการซึ่งเป็นคนต่างถิ่น ทั้งยังจะมีความผูกพันมากกว่าด้วย กำลังทหารพรานจึงเหมือนกับกองทัพประจำถิ่น
ในที่สุด ทหารพรานก็กลายเป็นกำลังสำคัญและภารกิจขยายออกไปจนทั่วทั้งประเทศอย่างในเวลานี้
ตอนที่ตั้งทหารพรานขึ้นนั้น ผมยังอยู่ในราชการ และถึงแม้จะกำลังดำรงตำแหน่งและทำหน้าที่เป็นนายตำรวจราชสำนักประจำ แต่ก่อนหน้านั้น เมื่อยังสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนอยู่
ผมก็ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เกี่ยวกับการตอบโต้การคุกคามของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ใช่แต่เท่านั้น เมื่อไปเป็นนายตำรวจราชสำนักประจำ ผมยังมีโอกาสได้ตามเสด็จ ฯ ถวายความปลอดภัยแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เวลาทั้งสองพระองค์เสด็จ ฯ ทรงเยี่ยมหน่วยทหารที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ในสนาม ซึ่งมีทหารพรานรวมอยู่ด้วย เพราะ ฉะนั้นผมจึงรู้จักทหารพรานดีพอสมควร
ต่อมาเมื่อพ้นราชการประจำแล้ว ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๕๐ – ๒๕๕๓ ผมได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมตำรวจตระเวนชายแดนแห่งประเทศไทย มีภารกิจต้องเดินทางไปเยี่ยมหน่วยตำรวจตระเวนชายแดนทั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้หลายครั้ง
ทุกครั้งที่ไปผมศึกษาสถานการณ์ในภาคนั้น ๆ และได้รู้เห็นการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยทหารในพื้นที่ รวมทั้งทหารพรานด้วย
ผมจึงใจหายเมื่อได้อ่านข่าวทหารพรานถูกหาว่ายิงราษฎรตายเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๙ มกราคม ที่เพิ่งจะผ่านไปนี้ กรณีที่เกิดขึ้นกำลังอยู่ในระหว่างการสอบสวนของผู้บังคับบัญชา
ใครจะผิดใครจะถูกอย่างไรยังไม่รู้ แต่โดยที่เคยทำหน้าที่ตำรวจในสนาม และเพราะยังสนใจติดตามสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ ผมจึงเห็นใจเจ้าหน้าที่ราชการทุกหน่วย รวมทั้งทหารพราน ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่นั้นอย่างยิ่ง
เพราะในปัจจุบันจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และบางอำเภอในจังหวัดสงขลา อยู่ในภาวะเหมือนสงคราม เป็นสงครามประหลาดที่ผู้คนยังออกจากบ้านไปประกอบอาชีพหรือธุระและกลับเหมือนปกติ
แต่ไม่รู้ว่าเมื่อใดและที่ไหนใครจะถูกผู้ก่อการร้ายลอบยิงหรือลอบวางกับระเบิด ทั้งนี้ไม่เฉพาะแต่ทหารหรือตำรวจเท่านั้น แต่รวมทั้งข้าราชการครู พระสงฆ์ และราษฎรทั้งที่เป็นไทยและมุสลิม และไม่เลือกว่าจะเป็นชาย หญิงหรือเด็กด้วย
ในภาวะเช่นนี้ เป็นธรรมดาที่เจ้าหน้าที่ผู้มีภารกิจในการป้องกันและปราบปรามจะต้องระวังตัวอยู่ตลอดเวลา เผลอไม่ได้ ต้องพร้อมที่จะตอบโต้ทันทีหากเกิดเหตุร้ายขึ้น
เพราะระวังตัวอยู่ตลอดเวลานั่นเอง สภาพจิตของ เจ้าหน้าที่จึงอ่อนล้าและเครียด ยิ่งถ้าต้องอยู่ในสนามเป็นเวลานานติดต่อกันไป โดยมีเวลาพักน้อย หรือไม่มีการสับเปลี่ยนกำลัง เจ้าหน้าที่ก็จะยิ่งอ่อนล้าและเครียดมากขึ้น
และหากผิดสังเกตแม้แต่เล็กน้อย ก็อาจจะเข้าใจผิดว่าอันตรายกำลังจะเกิด แล้วตอบโต้ออกไป เป็นเหตุให้ราษฎรผู้บริสุทธิ์ได้รับบาดเจ็บหรือตายได้
ผมเคยได้ยินคนเรียกทหารพรานว่าเป็น “ทหารรับจ้าง” และไม่แน่ใจนักว่าใครจะรู้หรือไม่ว่าทหารพรานได้ค่าตอบแทนมากน้อยอย่างใด จึงขอนำข้อมูลที่ผมได้จากแหล่งที่เชื่อถือได้มาเปิดเผยในที่นี้
เพื่อให้ทราบว่า อาสาสมัครทหารพราน เมื่อได้รับการบรรจุได้รับค่าตอบแทนรายเดือน ๔,๖๓๐ บาท เงินค่าครองชีพชั่วคราว เดือนละ ๓,๐๗๐ บาท เงินค่าเสี่ยงภัย เดือนละ ๑,๐๐๐ บาท เงินค่าเสบียงอาหารวันละ ๑๕ บาท เดือนละ ๔๕๐ บาท ค่าเบี้ยเลี้ยงเพิ่มเติมวันละ ๑๐ บาท เดือนละ ๓๐๐ บาทและค่าเลี้ยงดูวันละ ๖ บาท เดือนละ ๑๘๐ บาท รวมทั้งสิ้น ๙,๖๓๐ บาท
นอกจากนี้ ยังได้รับการสงเคราะห์ค่ารักษาพยาบาล ในสถานพยาบาลของรัฐ โดยไม่จำกัดวงเงิน ได้รับการสงเคราะห์ค่าการศึกษาบุตร ตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึง ชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพ
ได้รับการสงเคราะห์กรณีคลอดบุตร ครั้งละ ๗๐๐ บาท ได้รับการสงเคราะห์ค่าทำศพ ในกรณีที่ตนเอง บิดา มารดา ภรรยา และบุตร เสียชีวิต รายละ ๗,๐๐๐ บาท
และเมื่อได้รับการบรรจุในสายงาน กอ.รมน. ครบ ๘ เดือน จะได้รับบัตรประจำตัวทหารผ่านศึกนอกประจำการ และได้รับการสงเคราะห์ในกรณีประสบภัยพิบัติธรรมชาติด้วย
การรับสมัครทหารพรานนั้น รับจากผู้ที่สำเร็จชั้นมัธยมปีที่ ๖ แต่ปรากฏว่ามีผู้เรียนสำเร็จปริญญาตรีไปสมัครเป็นทหารพรานและทหารพรานหญิงด้วย
ประสบการณ์จริง ๆ ของทหารพรานเป็นอย่างไร ผมขอคัดเอาบางตอนของข้อความที่อาสาสมัครทหารพรานผู้หนึ่ง ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในจังหวัดหนึ่งในชายแดนภาคใต้เขียน (ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง) มาให้อ่าน
ผมขอโทษท่านผู้เขียนด้วยที่ต้องตัดบางคำบางส่วนออก เพื่อปกปิดชื่อบุคคลหรือหน่วยนั้น ๆ
“ …..หลายครั้งของการทำงานเราไม่มีใครคอยช่วย ทำงานแบบรอวันตาย ก่อนหน้านั้นที่หน้าสถานีรถไฟเจาะไอร้อง ทหารพรานถูกยิงตายไป ๔ นาย
แต่ทหารพรานไม่กล้ายิงตอบ เพราะโจรใต้เอาผู้หญิงเป็นที่กำบัง ตอนนั้น เราขอรถฮัมวี….. เข้าสนับสนุน
แต่เขาไม่ยอมออกเพราะกลัวตะปูเรือใบ
ส่วนทหารพรานมีรถปิ๊กอัพเก่า ๆ กวาดหมด ทั้ง ๔ ล้อ เพื่อไปช่วยเพื่อน พอเหตุการณ์ยุติเราเข้าเคลียร์..
…กลับไล่ตะเพิดเรา แล้วถ่ายรูปคู่หมอพรทิพย์เอาหน้า ราวต้นเดือนร้อยทหารพรานถูกระเบิด ผบ.ร้อยโดนสะเก็ดระเบิดกลางอกแต่ไม่เข้า
RKK (โจรใต้) เอา .๓๘ ไปจ่อยิงอีก ๓ นัด (ช่วยโดนแรงอัดระเบิดสมองไม่สั่งการราว ๒ นาที) แต่ยิงไม่ออก (แกมีหนังเสือไฟ)
ผบ.ร้อยกดออโต้ยิงขึ้นฟ้าไล่โจร ชาวบ้าน (ขออภัยไม่เอ่ยชื่อ) เข้าไปล้อม ไม่ให้ไปช่วย
รุ่นพี่ต้องกระชากลูกเลื่อนหันเล็งใส่ชาวบ้าน พร้อมตะโกนบอก ‘หากไม่ถอยกูยิงทิ้งทั้งหมู่บ้านแน่’
นั่นแหละชาวบ้านถึงยอมถอย (ที่นี่ ถ้าโจรก็ยกหมู่บ้าน ถ้าไม่มีโจรก็ไม่มียกหมู่บ้าน) ส่วน….. บอกเราว่า ‘น้อง ๆ ทหารพรานเข้าไปเลย’ ตาขาวชิบ
ระเบิดลูกที่ ๒ ที่โจรกดดันไม่ทำงาน ชุดที่เข้าไปก็ยิงเอ็ม๗๙ เข้าใส่ ๓ นัดเพื่อไล่โจร
เราจับใด้ ๑ มันบอกโดนโจรจี้ แต่ตอนโจรออกนอกรถหมด ดันไม่รีบไป พอทุกอย่างเคลียร์…..
ก็ไล่…..ออกแล้วไปถ่ายรูปกับหมอพรทิพย์ ไม่แค่นั้น สวัสดิการเราน้อยกว่าทหารเกณฑ์
ทั้งขึ้นรถไม่มีครึ่งราคาแบบทหารเกณฑ์ ทหารเกณฑ์มีสิทธิ์ต่าง ๆ ดีกว่าเรา พวกผมขึ้นรถทุกคนไม่เคยมองเราดี ลงรถก็ไม่มีใครอยากอยู่ใกล้
ผมสู้เพื่ออะไร ? ผม…..ยังคงทำงานอยู่ในพื้นที่นราธิวาสไม่รู้จะตายวันไหน อยากบอกให้รู้ว่า แม้เราเป็นเพียงขยะในสายตากองทัพ
แต่เราทุกคนก็พร้อมสู้ เอาชีวิตกูไป เอาแผ่นดินกูคืน”
เป็นยังไงครับ จ้างเดือนละไม่ถึงหมื่นบาท ถูกหรือแพงไปไหมครับ ?
coppyเขามาให้อ่านกัน