เจอบทความน่าสนใจ เลยฝากมาให้ดูกัน ขออนุญาตงดการเมืองนะครับ (เพื่อบรรยากาศที่ดี) เอาแต่ประเด็นเรื่องยุทธศาสตร์เกี่ยวกับความเหมาะสมของการใช้อาวุธชนิดนี้ว่าควรใช้หรือไม่ และถ้าจำเป็นต้องใช้ควรจะใช้เมื่อใดก็พอครับ
โดรนพิฆาต : ศาลเตี้ยมะกัน ... คอลัมน์ เปิดโลกวันอาทิตย์ โดย ... อุไรวรรณ นอร์มา : เรียบเรียงจาก การ์เดี้ยน เอพี
หลังจากจมปลักกับสงครามทะเลทรายและป่าเขาร้างแล้งในอิรักและอัฟกานิสถานมานานนับทศวรรษ ปัจจุบัน วิถีสงครามของสหรัฐอเมริกา เปลี่ยนรูปมาเป็นสงครามไฮเทคด้วยอาวุธหลักอย่าง ไวรัสคอมพิวเตอร์สกัดความก้าวหน้าโครงการวิจัยอาวุธนิวเคลียร์อิหร่าน กับการส่งเครื่องบินโจมตีไร้คนขับ(ยูเอวี หรือโดรน) ลอบสังหารผู้ต้องสงสัยเป็นสมุนอัลไกดาและตาลีบัน ที่รัฐบาลวอชิงตันเชื่อว่าช่วยขจัดภัยคุกคามก่อนที่ภัยนั้นจะมาถึงตัว โดยประหยัดทั้งเงินและไม่เสี่ยงส่งทหารไปตายหรือพิการกลับมา
แต่การส่งโดรนด้วยการบังคับจากระยะไกลข้ามโลก ไปสังหารผู้คนในประเทศอื่น และหลายครั้งมีพลเรือนบาดเจ็บล้มตาย กำลังจุดคำถามมากมายถึงความรับผิดชอบของอภิมหาอำนาจ ความน่าเชื่อถือ และบรรทัดฐานระหว่างประเทศ เรื่องการใช้กำลังนอกดินแดนที่มิใช่การขัดกันด้วยอาวุธแบบเดิมๆ
ปฏิบัติการโจมตีเป้าหมายด้วยโดรน เป็นกระบวนการตัดสินใจลับ รู้กันอยู่ไม่กี่คน
ทำเนียบขาวเพิ่งบอกสภาคองเกรสรับทราบเป็นครั้งแรก ผ่านรายงานว่าด้วยปฏิบัติการในต่างประเทศรายกลางปีในเดือนมิถุนายนว่า กองทัพสหรัฐกำลังโจมตีเป้าหมายผู้ก่อการร้ายในอัฟกานิสถาน ปากีสถาน โซมาเลีย และเยเมน โดยมิได้เอ่ยว่าปฏิบัติการนั้น มีโดรน และสำนักข่าวกรองกลาง(ซีไอเอ) รวมอยู่ด้วย
แต่แล้วจู่ๆ สื่อยักษ์ใหญ่อย่างนิวยอร์ก ไทม์ส ก็ได้แหล่งข่าววงในแพร่งพรายข้อมูลจัดชั้นความลับให้อย่างละเอียดว่า ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ลงมาเกี่ยวอย่างเต็มตัวและโดยตรง ในกระบวนการตัดสินใจว่า ใครจะเป็นเหยื่อรายต่อไปของโดรนอเมริกัน ที่เรียกว่า "บัญชีสังหารลับ"
ทั้งหมดนี้อยู่นอกการรับรู้ของสภาคองเกรส ศาล และสาธารณชน
สหรัฐถือว่าการส่งโดรนไปกำจัดศัตรู เป็นการป้องกันตัวเองและรักษาชีวิตชาวอเมริกัน และปฏิเสธการตรวจสอบทุกรูปแบบ ล่าสุดยังคงยืนยันไม่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อกฎหมายและกระบวนการคัดเลือกเป้าหมายสังหาร แก่สหภาพสิทธิพลเรือนอเมริกัน(เอซีแอลยู) ที่ยื่นฟ้องศาลภายใต้กฎหมายเสรีภาพข้อมูลข่าวสาร โดยซีไอเอยืนกรานว่าเป็นข้อมูลจัดชั้นความลับ
ขณะทีเอซีแอลยู โต้ว่าเป็นข้ออ้างที่ไร้สาระสิ้นดี สงครามโดรน เป็นความลับที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลนำมาโอ้อวดกับผู้สื่อข่าวเป็นระยะ ทั้งยืนยันว่า ถูกกฎหมายและไม่ทำให้พลเรือนต้องบาดเจ็บล้มตาย
วารสาร ลอง วอร์ สื่อออนไลน์ที่ติดตามปฏิบัติการต่อต้านก่อการร้ายสหรัฐ ระบุว่า สหรัฐภายใต้โอบามาส่งโดรนยิงขีปนาวุธโจมตีเป้าหมายในปากีสถานประเทศเดียว 254 ครั้ง เทียบกับสมัยจอร์จ ดับเบิลยู บุช แค่ 47 ครั้ง และมีอย่างน้อยหนึ่งครั้ง เป็นการสังหารชาวอเมริกันด้วยกันเอง นั่นคือ นายอันวาร์ อัล ออว์ลาคี ผู้นำอัลไกดาในเยเมน เสียชีวิตเมื่อกันยายนปีที่แล้ว
สหรัฐเพิ่มการส่งโดรนโจมตีจนนักวิจารณ์เริ่มสงสัยว่า รัฐบาลโอบามา รับรองนโยบาย ฆ่าอย่างเดียวไม่จับ มาใช้อย่างเป็นทางการแล้ว ขณะที่นิวยอร์ก ไทม์ส รายงานเช่นกันว่าประธานาธิบดีโอบามา ไม่ต้องการมีนักโทษเพิ่ม เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะกระอักกระอ่วนแบบการขังนักโทษกวนตานาโม
ขัดรัฐธรรมนูญ?
การประกาศสงครามเป็นความรับผิดชอบตามรัฐธรรมนูญของสภาคองเกรส บนเจตนารมณ์เพื่อป้องกันประธานาธิบดีไล่กำจัดศัตรูทั่วโลกโดยอาศัยอำนาจของตนในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด นายโอบามาจึงกำลังถูกตั้งคำถามว่า การสั่งการสังหารชาวต่างชาติในประเทศอธิปไตยอื่นโดยที่สภาคองเกรสมิได้ประกาศสงคราม ถือเป็นการขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
ทั้งยังลืมคำสัญญาเมื่อครั้งหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยแรก ที่ว่าจะใช้นโยบายต้านก่อการร้ายโดยไม่ขัดกับกฎหมาย รัฐธรรมนูญ และค่านิยมอเมริกัน และเคยรับปากจะรื้อฟื้นการตรวจสอบปฏิบัติการต้านก่อการร้ายของฝ่ายนิติบัญญัติกับตุลาการ
ความสูญเสีย
ฐานข้อมูลเกี่ยวกับปฏิบัติการโดรนของมูลนิธิ "นิวอเมริกา" ที่รวบรวมตัวเลขจากสื่อกระแสหลักทั้งตะวันตกและปากีสถาน พบว่านับจากปี 2547 จนถึง 25 มิถุนายน 2555 สหรัฐส่งโดรนโจมตีพื้นที่ตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถาน 307 ครั้ง เกิดขึ้นในปีนี้ 25 ครั้ง ขณะยอดผู้เสียชีวิตอยู่ระหว่าง 1,855-2,848 คน ในจำนวนนี้ ประมาณ 1,562-2,377 คน ถูกระบุว่าเป็นสมาชิกกลุ่มติดอาวุธ ฉะนั้น การตายที่ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับความขัดแย้งนับจากปี 2547 จึงอยู่ที่ประมาณ 16%
ด้าน สำนักงานผู้สื่อข่าวเชิงสอบสวน ระบุว่า มีพลเรือนเสียชีวิตอย่างน้อย 551 คนจากการโจมตีด้วยโดรนในปากีสถาน เยเมน และโซมาเลีย แต่ตัวเลขจริงอาจสูงกว่านี้
ขณะที่ตัวเลขจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนปากีสถาน ระบุว่า ยอดเหยื่อโดรนเฉพาะในปี 2553 ปีเดียวมีอย่างน้อย 957 คน และหากนับตั้งแต่ปี 2547 เชื่อว่ามีผู้เสียชีวิตหลายพันคนจากการโจมตี 300 ครั้ง และ 20% เป็นพลเรือน
แต่รัฐบาลสหรัฐยังป่าวประกาศความสำเร็จของโดรนว่าปลิดชีพวายร้ายได้จำนวนมาก รวมทั้งตัวการใหญ่ๆ และยืนกระต่ายขาเดียวว่า ไม่มีพลเรือนเสียชีวิตจากการนี้ ถ้ามีก็น้อยมาก (ซึ่งข้ออ้างนี้คงจะเป็นจริงได้ต่อเมื่อสันนิษฐานว่า ใครที่อยู่ในพื้นที่เป้าหมายของโดรน ย่อมไม่ใช่คนดี ต้องเป็นผู้ร้ายเหมือนกันหมด) โดยยังไม่ต้องพูดถึงว่า ความสำเร็จของสหรัฐในการเด็ดชีพผู้ก่อการร้าย จะเป็นอันตรายต่อเสถียรภาพของรัฐบาลประเทศอย่างเยเมนหรือปากีสถานหรือไม่
หนำซ้ำยังได้ผ่อนมาตรฐานการเล็งเป้าหมายในเยเมนให้ง่ายขึ้นอีก ด้วยการอนุมัติหลักการที่เรียกว่า signature strike คือโจมตีเพราะมีพฤติกรรมบางอย่างน่าสงสัย แทนการยืนยันชัดเจนว่าเป็นสมุนอัลไกดาหรือตาลีบัน
ยูเอ็นร้องความชัดเจน
ในการประชุมที่เอซีแอลยู จัดขึ้นที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เมื่อเร็วๆ นี้ นายคริสตอฟ เฮย์นส ผู้เขียนรายงานพิเศษสหประชาชาติว่าด้วยวิสามัญฆาตกรรม ตั้งศาลเตี้ยหรือการสังหารตามอำเภอใจ ได้วิจารณ์ว่า นโยบายการส่งโดรนมุ่งสังหารเป้าหมาย เป็นการท้าทายระบบกฎหมายระหว่างประเทศที่ใช้มานาน 50 ปีนับจากสงครามโลกครั้งที่สอง อาจเป็นตัวกระตุ้นให้ประเทศอื่นละเลยมาตรฐานสากลแบบเดียวกัน ดังนั้น สหรัฐมีหน้าที่ต้องสร้างความกระจ่างว่า นโยบายลอบสังหารแทนการจับกุม โดยทำให้มีพลเรือนบาดเจ็บล้มตายตามไปด้วย ชอบธรรมอย่างไรภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ
ขณะที่ นายเบน เอ็มเมอร์สัน ผู้เขียนรายงานพิเศษของยูเอ็นอีกคน ชี้ว่า ประเด็นนี้กำลังถูกยกระดับเป็นวาระระดับโลกอย่างรวดเร็ว เพราะจีนและรัสเซียได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ประณามการโจมตีด้วยโดรน ในที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยมีอีกหลายประเทศสนับสนุน
เอ็มเมอร์สัน ยังได้กล่าวอย่างชัดเจนว่า หากสหรัฐ หรือประเทศอื่นใดที่กระทำการโจมตีนอกพื้นที่ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นสมรภูมิ โดยไม่ได้เปิดการสอบสวนอย่างเป็นอิสระเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตจากเหตุโจมตี เมื่อนั้น สหประชาชาติน่าจะพิจารณาเปิดการสอบสวนได้ และว่าคงถึงเวลาแล้วที่จะยุติ "การคบคิดของความเงียบ" เกี่ยวกับปฏิบัติการของโดรน ประชาคมโลกต้องการความชัดเจน เพราะทุกวันนี้มีอย่างน้อย 42 ประเทศที่มีเทคโนโลยีโดรนอยู่ในครอบครอง
ด้าน นายจิมมี คาร์เตอร์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรคเดียวกัน ได้ออกมาเรียกร้องให้วอชิงตัน กอบกู้ความเป็นผู้นำด้านจริยธรรมกลับคืน และว่าการโจมตีด้วยโดรนและการลอบสังหารในบ้านคนอื่น เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในทางที่มีแต่จะยิ่งเพิ่มศัตรู และห่างเหินเพื่อน
คาร์เตอร์ กล่าวด้วยว่า ไม่ทราบว่ามีพลเรือนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่เสียชีวิตไปแล้วเท่าไหร่จากการโจมตีที่ได้รับการอนุมัติจากผู้มีอำนาจสูงสุดในวอชิงตัน เรื่องทำนองนี้ เป็นเรื่องที่คิดไม่ถึงว่าจะเกิดขึ้นได้ในยุคก่อน
อดีตผู้นำสหรัฐยังฝากให้คิดว่า ในห้วงเวลาที่การปฏิวัติด้วยพลังมวลชนกำลังแผ่ขยายไปทั่วโลก สหรัฐควรมั่นคงหนักแน่นกับหลักนิติรัฐและความยุติธรรม มิใช่เสื่อมถอยเช่นนี้ นโยบายต้านก่อการร้ายสหรัฐปัจจุบัน ละเมิดอย่างน้อย 10 มาตราใน 30 มาตราของปฏิญญาสิทธิมนุษยชน รวมถึงการห้ามปฏิบัติหรือลงโทษอย่างไร้มนุษยธรรมและลดค่าของมนุษย์
.....................
(หมายเหตุ : โดรนพิฆาต : ศาลเตี้ยมะกัน ... คอลัมน์ เปิดโลกวันอาทิตย์ โดย ... อุไรวรรณ นอร์มา : เรียบเรียงจาก การ์เดี้ยน เอพี)
http://www.komchadluek.net/detail/20120701/134077/โดรนพิฆาต!ศาลเตี้ยมะกัน.html
คงจะหลากหลายมุมมอง ถ้าการข่าวแม่นยำก็คงไม่มีปัญหา
แต่ที่เคยเห็นข่าว เกิดการยิงใส่ผิดตัวบ่อยๆ จากการวิเคราะห์ใบหน้าจากระยะไกล
คนชี้เป้าจำเป็นต้องตามติดเป้าหมาย อยู่ตลอดเวลา
นี้คือธาตแท้ พวกมัน แล้ยังจะตามตูด มันอีกหรือ...