หน้าแรก    ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบคำถาม    เข้าสู่ระบบ      


ราชนาวีต่อ'เรือสำรวจน้ำมัน'ฝีมือไทย

โดยคุณ : qwertyuiop เมื่อวันที่ : 19/04/2012 19:23:51

 

ราชนาวีต่อเรือสำรวจน้ำมันฝีมือไทย

ราชนาวีต่อยอดองค์ความรู้ เรือสำรวจน้ำมันฝีมือไทย : ตะลุยกองทัพ โดย ทีมข่าวความมั่นคง

 

               หากกล่าวถึงเทคโนโลยีในการสำรวจน้ำมันใต้ท้องทะเล คงเป็นเรื่องยากมากที่ประเทศไทยจะได้รับการยอมรับในระดับโลก เนื่องจากบริษัทสำรวจ และขุดเจาะน้ำมันชั้นนำของโลกล้วนแล้วแต่อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ทวีปยุโรป รวมทั้งประเทศชั้นนำในเอเชียอย่างจีน และญี่ปุ่นทั้งสิ้น

       
                   แต่ในวันนี้ อู่ต่อเรือในประเทศไทยกลับได้รับการยอมรับในระดับโลกให้ทำการ "ต่อเรือสำรวจน้ำมัน" ให้แก่บริษัทชั้นนำในทวีปยุโรปเป็นครั้งแรกของประเทศไทย และในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทั้งยังนำองค์ความรู้เรื่องเทคโนโลยีดังกล่าวถ่ายทอดให้แก่กองทัพเรือไทยนำไปต่อยอดในการต่อเรือสำหรับใช้ในกิจการทหาร และกิจการพลเรือนในอนาคตอีกด้วย
       
                   นายพจน์ บุญดวงประเสริฐ กรรมการอำนวยการบริษัทโอ๊คเวล ชิพยาร์ด จำกัด กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นการร่วมทุนร่วมกันระหว่างนักลงทุนของไทยกับประเทศสิงคโปร์ โดยได้เช่าพื้นที่อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เป็นสถานที่ต่อเรือในสมัยที่ พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.)
       
                   สำหรับเรือที่ทางบริษัทต่อนั้น เป็น "เรือซัพพลาย" ที่ใช้สำหรับการดูแล และตรวจสอบแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางทะเลมาเป็นระยะเวลานานจนเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้บริษัทขุดเจาะน้ำมัน Fugro ของประเทศ "เนเธอร์แลนด์" ได้ว่าจ้างทางบริษัทให้ต่อเรือสำรวจน้ำมันใต้ทะเล
       
                   "ถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศในทวีปยุโรปว่าจ้างบริษัทต่อเรือในประเทศไทย รวมทั้งในภูมิภาคนี้ด้วย โดยก่อนหน้านี้บริษัทดังกล่าวไม่เคยจ้างบริษัทต่อเรือนอกทวีปยุโรปมาก่อน โดยปกติจะจ้างเฉพาะบริษัทของเนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี เท่านั้น เนื่องจากเรือชนิดนี้ต้องใช้ความเชี่ยวชาญ และเทคโนโลยีชั้นสูง" นายพจน์ กล่าว
       
                   นอกจากนี้ ทางบริษัทของเนเธอร์แลนด์ยังว่าจ้างบริษัทให้ต่อเรือถึง 3 ลำ โดยลำแรกจะมีการส่งมอบในวันที่ 11 เมษายน 2555 ลำที่ 2 จะส่งมอบหลังจากนี้อีก 2 เดือน และลำที่ 3 จะส่งมอบหลังจากลำที่ 2 ไปอีกประมาณ 3 เดือน
       
                   เขาอธิบายหลักการทำงานของเรือลำนี้ว่า เรือสำรวจน้ำมันจะใช้เทคโนโลยี "เทเลสโคป" คือ การส่งคลื่นความถี่ลงไปใต้ท้องทะเลเพื่อสำรวจหาน้ำมัน จากนั้นคลื่นความถี่ที่ได้ก็จะสะท้อนกลับมาบนตัวเรือว่ามีน้ำมันปริมาณเท่าใด ซึ่งปกติเรือซัพพลายจะทำหน้าที่เพียงส่งช่าง และอุปกรณ์ไปซ่อมแซมแท่นขุดเจาะเท่านั้น แต่นี่เป็นครั้งแรกที่มีการใช้สำรวจน้ำมันด้วย
       
                   ส่วนสาเหตุที่บริษัทในยุโรปไว้วางใจอู่ต่อเรือของไทยนั้น เขาเผยว่า เป็นเพราะความชำนาญของทีมวิศวกรของบริษัท และฝีมือการ "เชื่อม" ของช่างไทยที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก
       
                   "ที่เขาไว้ใจเรา เพราะเชื่อใจในฝีมือการเชื่อมว่าเราจะสามารถทำให้โครงสร้างตัวเรือแข็งแรงได้ ขณะที่เรื่องเทคโนโลยีเป็นเรื่องรอง เพราะเทคโนโลยีเขาล้ำหน้าเราหลายสิบปี และสามารถซื้อมาใส่ทีหลังได้ ส่วนที่ต้องให้ความสำคัญกับการเชื่อมมาก เนื่องจากเหล็กตัวเรือมีความหนาถึง 6 ซม. ซึ่งช่างเชื่อมต้องเก่งมากๆ เพราะหลังเชื่อมเสร็จต้องเอกซเรย์ดูข้างในว่ามีรูอากาศอยู่หรือไม่ ถ้ามีต้องรื้อแนวที่เชื่อมออกทั้งหมดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสนิม เนื่องจากเรือต้องแล่นกระแทกคลื่นอยู่ตลอดเวลา"
       
                   เขาย้ำว่า การเช่าอู่เรือของกองทัพเรือถือว่าได้ประโยชน์ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย โดยบริษัทได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการต่อเรือในบางด้าน เช่น 1.ความรู้เรื่องการออกแบบเรือด้วยคอมพิวเตอร์ 3 มิติ 2.ความรู้เรื่องการเชื่อม โดยมีบุคลากรของกองทัพเรือเข้ารับการอบรม และมาศึกษาดูงานเป็นประจำ
       
                   สำหรับจุดเริ่มต้นของโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2553 โดยบริษัท โอ๊คเวล ชิพยาร์ด จำกัด จัดให้มีพิธีวางกระดูกงูเรือ ณ อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี โดยมี น.อ.ประมวญ บุณยะปาน นายกสมาคมต่อเรือและซ่อมเรือไทย พร้อมนายทหารระดับสูงของกองทัพเรือร่วมในพิธี
       
                   ทั้งนี้ เรือดังกล่าวชื่อเรือ Fugro Equator เป็นสำรวจน้ำมันขนาดความยาวตลอดทั้งลำ 65.68 เมตร มีกำหนดการจัดสร้างให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 18 เดือน
       
                   ต่อมา ในวันที่ 14 มีนาคม 2554 พล.ร.ต.พงศ์สรร ถวิลประวัติ ผู้อำนวยการอู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ ร่วมกับ นายสตีฟ ดูฟฟิลด์ (Mr.Steve Duffield) ผู้บริหารสูงสุดของบริษัท โอ๊คเวล ชิพยาร์ด จำกัด ได้เริ่มดำเนินการต่อเรือลำที่ 2 คือ เรือสำรวจน้ำมันชื่อ Fugro FSSV P1005 และจัดให้มีพิธีวางกระดูกเรือขึ้น ณ อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช
       
                   นับว่า ความสำเร็จของบริษัทอู่ต่อเรือในประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกนอกจากจะสร้างชื่อให้แก่คนไทยแล้ว ยังนำมาสู่การพัฒนาองค์ความรู้ด้านการออกแบบ และต่อเรือให้ได้มาตรฐานสากลแก่กำลังพลของกองทัพเรือในระยะยาวด้วย
        
    (หมายเหตุ :ราชนาวีต่อยอดองค์ความรู้ เรือสำรวจน้ำมันฝีมือไทย : ตะลุยกองทัพ โดย ทีมข่าวความมั่นค




ความคิดเห็นที่ 1


น่าภูมิใจมากครับ กับความสามารถของคนไทย
ที่มีชื่อเสียงในระดับโลก ยินดีมาก ๆ ครับ

โดยคุณ atith27009 เมื่อวันที่ 19/04/2012 01:20:16


ความคิดเห็นที่ 2


http://tv.ohozaa.com/hourly-rerun/3/2012-04-19/00/

 

ตามลิงค์เลยเสร็จแล้วสวยมากๆ นาทีที่ 59.15

โดยคุณ qwertyuiop เมื่อวันที่ 19/04/2012 01:27:34


ความคิดเห็นที่ 3


^_______^

โดยคุณ hinnoi เมื่อวันที่ 19/04/2012 03:22:20


ความคิดเห็นที่ 4


ส่วนตัวมองว่า องค์ประกอบความรู้เรื่องต่อเรือนั้นเราได้แล้ว สำหรับการต่อเรือสำรวจน้ำมันได้นั้นก็ดูดีทีเดียวครับ ถ้าหากว่ากองทัพเรือมีโครงการเรือฟริเกตผมว่า น่าจะลองให้เอกชนร่วมลงทุนซื้อแบบเรือมาต่อในประเทศน่าจะดี ทัศนคติที่ว่าเราขีดความสามารถไม่พอที่จะต่อเรือฟริเกตเองได้นั้นควรเปลี่ยนใหม่เสียที ส่วนเรื่องเทคโนโลยีระบบอาวุธนั้นไม่ต้องคิดมากกันแล้วเพราะกองทัพเรือมีขีดความสามารถและประสปการณ์ในการติดตั้งอาวุธบนเรือรบอยู่ก่อนแล้ว และระบบอาวุธพวกนี้ก็ซื้อเอาติดตั้งได้เลยไม่ต้องพัฒนาเองแต่อย่างใด อีกทั้งอาจจะทำแผนรองรับจรวดนำวิถีโจมตีเรือจาก DTI ในอนาคตได้ด้วย

โดยคุณ เด็กทะเล เมื่อวันที่ 19/04/2012 14:43:10


ความคิดเห็นที่ 5


   สภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของยุโรปแต่เทคโนโลยี    ทำไมต้องมาต่อในไทย   คำตอบชัดเจนครับ  

1. ฝีมือดีมาก

2. ถูก           แม้ว่าจีนจะถูกกว่า   แต่งานห่วย   และน่าจะถูกกว่าเกาหลีใต้ในงานคุณภาพระดับเดียวกัน   มิน่าล่ะทำไมตอนที่อู่ฮุนไดต้องการมาลงทุนสร้างอู่ต่อเรือขนาด 100,000 ในไทย   ทางรัฐบาลเกาหลีจึงสั่งห้ามเด็ดขาด   เพราะกลัวเราจะขึ้นมาแข่งขัน    แสดงว่าศักยภาพของเรา (ที่คนไทยด้วยกันมองไม่เห็น แถมยังดูถูกคนกันเองด้วย) นั้นต้องดีพอที่เกาหลีใต้จะต้องกลัว     เพราะใกล้แหล่งเหล็กดิบ   มีโรงงานถลุงเหล็ก   ค่าแรงต่ำกว่ามากแต่แรงงานมีฝีมือสูง

   

  เห็นด้วยกับท่านเด็กทะเลครับว่า  ต้องมองกันใหม่จริง    เรือฟรีเกตถ้าจะต่อเองคงไม่ไกลเกินเอื้อมแล้วครับ


โดยคุณ neosiamese2 เมื่อวันที่ 19/04/2012 15:57:23


ความคิดเห็นที่ 6


ดีครับ...

 

คนไทยเก่ง ครับ ขาดเรื่อง team อย่างเดี่ยว เพราะ มี่แต่คนอยากสั่ง.... ไม่ค่อยทำ...

โดยคุณ nidoil เมื่อวันที่ 19/04/2012 16:10:12


ความคิดเห็นที่ 7


เอาใจช่วย กองทัพเรือไทยครับ ต่อไปนี้การจัดหาคงอยู่ในประเทศเราเอง อยากให้ต่อเรือบรรทุกเครื่องบินได้เองเลยครับ

โดยคุณ aunna เมื่อวันที่ 19/04/2012 19:23:51