ขอบคุณ DTI อีกครั้ง ที่นำข้อมูลดีๆมาให้เราอ่าน ^ ^
เมื่อช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา มีข่าวการจัดซื้อทางการทหารหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นข่าวใหญ่ในวงการการบินและการป้องกันประเทศนั่นคือข่าวที่รัฐบาลอินเดียตัดสินใจจัดซื้อเครื่องบินรบ Rafale ของบริษัท Dassault ประเทศฝรั่งเศส สำหรับโครงการจัดหาเครื่องบินรบเอนกประสงค์ขนาดกลาง (Medium Multi-Role Combat Aircraft – MMRCA) จำนวน 126 ลำของกองทัพอากาศอินเดีย การจัดซื้อครั้งนี้ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางในหลากหลายประเด็น เนื่องจากเป็นการตัดสินใจจากรัฐบาลอินเดียที่ค่อนข้างเหนือความคาดหมาย เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งการประมูลครั้งนี้อย่าง Eurofighter Typhoon ของ BAE Systems ที่ใครๆ ก็คิดว่าน่าจะ “ลอยลำ” ชนะการประมูลได้ไม่ยาก ในทางกลับกันเครื่องบินรบ Rafale นั้น เป็นเครื่องบินของฝรั่งเศสที่ “ขายไม่ออก” มาอยู่หลายปี และนี่ถือเป็นการส่งออกครั้งแรกของเครื่องบินรบ Rafale เลยทีเดียว จึงมีคำถามว่าเหตุใดรัฐบาลอินเดียจึงตัดสินใจซื้อเครื่องบินรบ Rafale แทนที่จะเป็นคู่แข่งรายอื่นๆ อย่าง Eurofighter Typhoon หรือตัวเลือกที่เคยเข้ามาร่วมประมูลก่อนหน้านี้แต่ถอนตัวออกไปอย่าง Lockheed Martin F-16, Boeing F/A18 Super Hornet, Mig-35 ของรัสเซีย และ Saab Gripen ของสวีเดน
เมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียได้ตกลงใจเลือกเครื่องบินรบ Rafale ของบริษัท Dassault ประเทศฝรั่งเศส สำหรับโครงการจัดหาเครื่องบินรบเอนกประสงค์ขนาดกลาง (Medium Multi-Role Combat Aircraft – MMRCA) จำนวน 126 ลำ โดยมีมูลค่าสัญญาน่าจะมากกว่า 10.4 พันล้านเหรียญฯ (ราว 3.12 แสนล้านบาท) ทั้งนี้ในสัญญาได้ระบุว่าทาง Dassault Aviation จะผลิตและจัดส่ง Rafale ให้อินเดียจำนวน 18 ลำภายใน 36 เดือน ส่วนอีก 108 ลำ จะผลิตโดย Hindustan Aeronautics Limited (HAL) เมืองบังกาลอร์
หากย้อนกลับไปในปี 2001 กองทัพอากาศอินเดียได้ริเริ่มแนวคิดในการหาเครื่องบินรบขนาดกลางจำนวน 126 ลำ โดยในตอนนั้นทางกองทัพเพียงมีแนวคิดในการผลิตเครื่องบิน Dassault Mirage 2000-5 เครื่องบินรบเครื่องยนต์เดี่ยวร่วมกับทางฝรั่งเศส รวมถึงอัพเกรดเครื่องบิน Mirage ที่มีอยู่ แต่เมื่อโครงการเตรียมที่จะเริ่มต้น ได้มีคนจากกระทรวงกลาโหมออกความเห็นว่าหากทางกองทัพอากาศต้องการซื้อจำนวนมากขนาดนี้ ทางกองทัพน่าจะให้วิธีสั่งซื้อจากต่างชาติเพื่อให้ได้สเปคที่ดีกว่าและให้ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่า เมื่อเริ่มเปิดการประมูลในช่วงแรกได้มี Lockheed Martin F-16, Boeing F/A18 Super Hornet, Mig-35 ของรัสเซีย Saab Gripen ของสวีเดน และ Eurofighter Typhoon ของ BAE Systems จากสหราชอาณาจักร อินเดียได้ตัดเครื่องบิน Mig-35 ออกเป็นอันดับแรกแม้ว่าจะมีความสัมพันธ์อันดีกับรัสเซียก็ตาม เนื่องจากเป็นเครื่องบินที่มีค่าบำรุงรักษาและใช้งานที่สูงเกินไป และได้ตัดเครื่องบินจากทางฝั่งสหรัฐฯ ออกโดยไม่ได้ให้เหตุผลที่แน่ชัด ทำให้เหลือแต่เครื่องบิน Rafale และ Eurofighter Typhoon และสุดท้ายเครื่องบิน Rafale ก็เป็นผู้ชนะประมูล
การตัดสินใจเลือกเครื่องบิน Rafale ของรัฐบาลอินเดียนั้น สร้างความผิดหวังให้กับ BAE Systems รวมถึงรัฐบาลอังกฤษอย่างมาก จนถึงขั้นที่นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ นาย David Cameron ออกมายอมรับว่าผิดหวังกับการตัดสินใจของอินเดียในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ในอังกฤษเท่านั้น การตัดสินใจซื้อเครื่องบิน Rafale ในครั้งนี้ได้รับการพิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างถึงเหตุผลถึงการตกลงใจของรัฐบาลอินเดีย เนื่องจากเครื่องบิน Rafale ไม่เคยประสบความสำเร็จในการส่งออกแม้แต่ลำเดียวก่อนหน้านี้ ส่วน Eurofighter Typhoon ก็ไม่น่าจะพลาดการขายครั้งนี้ไปได้ ทั้งนี้ เหตุผลเบื้องหลังการตัดสินใจดังกล่าวที่ได้จากตามหน้าสื่อต่างๆ สามารถสรุปได้ดังนี้
1. เหตุผลด้านราคา
หากยิงคำถามดังกล่าวไปที่รัฐบาลอินเดีย แน่นอนว่าคำตอบที่ได้คือการเลือก Rafale และปฏิเสธข้อเสนอของ Eurofighter Typhoon ก็เนื่องมาจากเครื่องบิน Rafale นั้นเสนอราคาถูกที่สุด โดยจากแหล่งข่าววงในได้กล่าวว่าเครื่องบิน Rafale นั้นมีราคาถูกกว่า Eurofighter Typhoon ถึงราว 5 ล้านเหรียญฯ ต่อลำ ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่ไม่น้อย ซึ่งแม้แต่ทาง BAE Systems เองยังออกมายอมรับว่าไม่สามารถทำราคาต่ำสู้เครื่องบิน Rafale ของ Dassault ได้ แม้จะบอกว่าเครื่องบิน Eurofighter Typhoon ของตนดีกว่า Rafale ก็ตาม
2. เหตุผลด้านเทคนิค
ส่วนในแง่ของทางเทคนิค เครื่องบิน Rafale นั้นมีความสามารถในการติดตั้งเรดาร์แบบ Active Electronically Scanned Array (AESA) และใช้เครื่องยนต์ Snecma M88 สองเครื่องยนต์ซึ่งมีความสามารถในการทะยานด้วยความเร็ว (Super Cruise) ได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้สันดาปท้าย (Afterburner) ทำให้มีความสามารถในการขึ้นบินจากรันเวย์ที่มีระยะสั้น โดยเฉพาะในบริเวณภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยภูเขาในทางตอนเหนือของอินเดีย ซึ่งเข้ากับความต้องการและการใช้งานของอินเดียมากที่สุด ยิ่งไปกว่านั้น อินเดียดูเหมือนว่ายังคงประทับใจกับสมรรถนะของเครื่องบิน Mirage 2000 ที่ผลิตโดยบริษัท Dassault ซึ่งปัจจุบันอินเดียมีประจำการอยู่ 51 ลำโดยใช้ชื่อว่า Vajra โดยเครื่องบินดังกล่าวนั้นได้รับการกล่าวขานว่าเป็นพระเอกในสงคราม Kargil War ในปี 1999 ระหว่างอินเดียกับปากีสถาน โดยเฉพาะสมรรถนะในการรบบนเพดานบินสูง และความสามารถในการรบในเวลากลางคืน และด้วยการขึ้นบินกว่า 515 ครั้งและการโจมตีกว่า 240 ครั้งส่งผลให้อินเดียประสบความสำเร็จในสงครามดังกล่าว ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่อินเดียเลือก Rafale ของ Dassault นอกจากนี้ Dassault นั้นยังโชคดีตรงที่เครื่องบิน Rafale ได้มีโอกาสเข้าร่วมรบจริงในสงครามประเทศลิเบียที่เพิ่งจบไปเมื่อปีที่แล้ว ทำให้ผู้ซื้อได้เห็นสมรรถนะในการปฏิบัติการในภารกิจสงครามจริง (Combat proved) ของเครื่องบิน Rafale ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของอินเดียเช่นกัน
3. เหตุผลด้านผลประโยชน์ตอบแทนหรือ Offset
อย่างที่ได้เกริ่นมาในข้างต้นว่าสัญญาในการจัดซื้อ Rafale ในครั้งนี้ ทาง Dassault Aviation ยินยอมให้อินเดียได้สิทธิบัตรการผลิต (Licence-built) ในการสร้างเครื่องบิน Rafale เพิ่มเติมได้ 108 ลำ ภายในปี 2017-2018 โดยจะผลิตที่ Hindustan Aeronautics Limited (HAL) เมืองบังกาลอร์ ซึ่งขณะนี้ทาง HAL ได้เริ่มเตรียมความพร้อมของโรงงานในบังกาลอร์เพื่อรองรับการผลิตดังกล่าว โดยในเบื้องต้นจะเริ่มจากการประกอบจากแบบกึ่งสำเร็จรูป (semi-knocked down) และแบบประกอบเองทั้งหมด (completely knocked-down) แต่สุดท้ายแล้วทางอินเดียตั้งใจที่จะผลิตส่วนประกอบต่างๆ ของเครื่องบิน Rafale ให้ได้อย่างน้อย 85% ซึ่งประกอบด้วยลำตัวเครื่องและส่วนอื่นๆ นอกจากนี้ยังสร้างงานให้แก่คนในท้องถิ่นอีกด้วย โดยทาง HAL หวังว่าโครงการ MMRCA ของอินเดียในครั้งนี้จะสามารถแปรแปลี่ยนเป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของอินเดียได้ราว 4-5 พันล้านเหรียญฯ (ราว 1.2 -1.5 แสนล้านบาท) ในช่วงทศวรรษหน้า
4. เหตุผลด้านการเมือง
อันที่จริงแล้ว เหตุผลด้านการเมืองนั้นอาจจะเป็นเหตุผลที่สำคัญต่อการตัดสินใจของรัฐบาลอินเดียมากที่สุดก็เป็นได้ เนื่องจากอินเดียเองมีเหตุผลเบื้องต้นเหนือสิ่งอื่นใดว่าประเทศผู้ผลิตที่อินเดียจะเลือกนั้น “ต้องเป็นประเทศที่ไม่ขายหรือหยุดขายยุทโธปกรณ์ให้กับปากีสถาน” ซึ่งฝรั่งเศสเองยินยอมที่จะหยุดโครงการขายอาวุธให้แก่ปากีสถานทั้งหมด นอกจากนี้ หากมองในแง่ของเกร็ดประวัติศาสตร์แล้ว ฝรั่งเศสเป็นชาติแรกที่ลงนามความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์อย่างเป็นทางการกับอินเดีย นอกจากนี้ หลังจากปี 1998 ที่อินเดียทำการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ อินเดียต้องเผชิญกับการ Sanction จากนานาชาติ จะมีเพียงแต่ฝรั่งเศสเท่านั้นที่ยังคงสนับสนุนรัฐบาลอินเดีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์ของอินเดียกับฝรั่งเศสนั้นมีความแน่นแฟ้นมาจนถึงทุกวันนี้
อย่างไรก็ตาม แม้ทางอินเดียจะเลือกเครื่องบิน Rafale ของฝรั่งเศส แต่การตัดใจดังกล่าวก็ไม่ได้สร้างผลกระทบแง่ลบต่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศตะวันตกอย่างสหรัฐฯ แต่อย่างใด แม้ทางสหรัฐฯ จะออกแสดงความผิดหวัง แต่สหรัฐฯ ก็ยังคงมองเห็นลู่ทางอื่นๆ ในการขายยุทโธปกรณ์ให้แก่อินเดีย อย่างเช่นระบบเรดาร์ AESA หรือระบบจรวดอย่าง Raytheon High Speed Anti-Radiation Missile หรือ HARM ซึ่งสามารถติดตั้งบนเครื่องบิน Rafale ได้ รวมทั้งอุปกรณ์ไฮเทคอื่นๆ ซึ่งอาจจะเป็นที่ต้องการของอินเดียในอนาคต
โดยสรุป การตัดสินใจของอินเดียในการซื้อเครื่องบิน Rafale ในครั้งนี้นั้น แทบจะมีแต่ได้กับได้ เพราะนอกจากตนเองจะได้เครื่องบินสมรรถนะสูงและเทคโนโลยีชั้นสูงที่ทางฝรั่งเศสพร้อมจะถ่ายทอดให้แล้ว อินเดียยังสามารถตอบแทนพันธมิตรเก่าแก่อย่างฝรั่งเศส อีกทั้งยังคงสามารถรักษาความสัมพันธ์อันดีกับประเทศตะวันตกอื่นๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ได้อย่างไม่เปลี่ยนแปลงได้อีกด้วย ด้วยเหตุนี้ การจัดซื้อยุทโธปกรณ์ในแต่ละครั้งของอินเดียนั้นน่าศึกษาและติดตามเป็นอย่างมาก เพราะเกิดจากกระบวนการคิดอย่างแยบยลและคำนึงถึงผลประโยชน์ที่จะกลับสู่ประเทศเป็นหลัก อีกทั้งยังสามารถบริหารความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้เป็นอย่างดี ซึ่งประเทศไทยสามารถนำไปใช้เป็นกรณีศึกษาและเป็นตัวอย่างของแนวคิดในการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ในอนาคตได้อีกด้วย
ขอบคุณมากครับท่าน qwertyuiop
Typhoon ก็ดี แต่ไม่ได้ดีกว่า Rafale ไปเสียทุกอย่าง
Rafale ก็ดี แต่ก็ไม่ได้ดีไปกว่า Typhoon ไปเสียทุกอย่าง
ผลการทดสอบ Evaluation ที่ สวิตเซอร์แลนด์ หลุดมา (แล้วรัฐบาลไม่ได้ปฏิเสธข่าว) ก็เห็นหลายการทดสอบ ที่ RAFALE เอาชนะ Typhoon ได้
ถ้ามองแบบเป็นกลาง เครื่องบินทั้ง 2 แบบ มีประสิทธิภาพ ใกล้เคียงกัน เห็ตุผล ที่ อินเดีย เลือก ก็เป็นราคา และ ผลประโยชน์ตอบแทน offset ที่ดีกว่า
วิเคราะห์ได้ดีมากครับท่านเจ้าของกระทู้ และด้วยเหตุผลเดียวกับอินเดียจะเห็นว่าทุกกระทู้เกี่ยวกับเครื่องของทั้งทอ.และทร.ผมจึงสนับสนุนให้จัดหาเครื่องแบบเดียวจำนวนมากๆใช้ในหลายภาระกิจ ใช้ในทั้งทอ.และทร. จะได้สามารถเปิดสายการผลิตหรือประกอบเครื่องเองได้เต็มที่ ไอเดียของผมก็คือสิ่งที่ท่านเจ้าของกระทู้วิเคราะห์แนวคิดของทางอินเดียนี่แหล่ะครับ ต้องดิ้นรนแบบนี้สิครับ ความก้าวหน้าถึงตามมา