ซือ เซี่ยวเหว่ย แห่งนิตยสาร DEFENCE INTERNATIONAL ของไต้หวัน กล่าวว่า เครื่องบินรบ ซู-35 จะชดเชยศักยภาพกองทัพจีน ก่อนที่เครื่องบินเทคโนโลยีหลบเลี่ยงเรดาร์แบบ สเตลท์ (Stealth) เจ-20 (J -20) ที่จีนพัฒนาและผลิตเองจะสามารถประจำการได้ โดยขณะนี้กองทัพปลดแอกแห่งประชาชนจีน หรือพีแอลเอ กำลังเผชิญปัญหาความเก่าล้าสมัยของกองกำลังสรรพวุธที่มีมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 90 ได้แก่ ซู-27เอสเค (SU-27SK) ที่นำเข้าจากรัสเซีย และ เจ-11 ขณะนี้ จีนได้ทดลองเครื่องบินสเตลท์กว่า 60 ครั้งแล้ว สื่อแดนพญาหมีขาวชี้ว่า การที่จีนซื้อ ซู-35 ครั้งนี้ สะท้อนว่าจีนอาจมีปัญหาการวิจัยและพัฒนาอาวุธ โดยเฉพาะด้านการพัฒนาเครื่องยนต์และเครื่องติดตั้งเรดาร์ สื่อหมีขาวยังระบุว่า แม้จีนได้พัฒนาด้านเครื่องยนต์และประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่ก็ยังห่างชั้นมากเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าระดับสากล อย่างเช่น เครื่องบินหลบหลีกเรดาร์ เจ-20 ใช้เครื่องยนต์ผลิตในจีน แต่ในการทดลองบินขณะนี้ ก็ยังไม่สามารถสลัดเครื่องยนต์เทคโนโลยีของรัสเซียออกได้ และก่อนหน้าที่นี้ จีนเล็งที่จะซื้อเครื่องยนต์ 117S ที่ใช้ในเครื่องบินรบ ซู-35 แต่ก็ประสบปัญหาการเจรจากับรัสเซียและล้มเหลวไปในที่สุด นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่จีนตัดสินใจซื้อ ซู-35 โดยหวังที่จะแกะรอยเทคโนโลยีเครื่องยนต์ 117S นำมาใช้กับ เจ-20 Su-35 เป็นเครื่องบินรบหลากหลายบทบาท สามารถพัฒนาความเร็วได้ถึง 2,500 กิโลเมตร/ชั่วโมง ติดปืนใหญ่ขนาด 30 มม. รวมทั้งจรวดและลูกระเบิด อย่างไรก็ตาม สื่อเทศชี้ว่าความสามารถในการหลบซ่อนของซู-35 ก็ล้าสมัยไปแล้ว แม้ความสามารถด้านอื่นๆยังดีอยู่ เครื่องบินศัตรูสามารถติดตามจับซู-35 ในระยะที่ไกลมาก แม้จีนได้ซู-35 เข้ามาอยู่ในกองทัพ การบรรลุพลังการต่อสู้ชั้นนำของจีนโดยเร็วที่สุดก็น่าจะเป็นในช่วงปี 2561 ถึง 2563 ซึ่งในช่วงเวลานี้ เครื่องสเตลธ์ เจ-20 ก็ใกล้เข้าประจำการได้แล้ว Kommersant รายงานว่า การเจรจาซื้อ ซู-35 ระหว่างจีนและรัสเซีย ติดปัญหาเพียงจุดเดียวคือ พญาหมีขาวเรียกร้องให้พญามังกรรับประกันการคุ้มครองสิทธิการผลิต ซู-35 โดยขอให้การผลิตซู-35 มีใบอนุญาตที่เหมาะสม “รัสเซียไม่เพียงแต่ต้องการรักษาตลาดในจีน ยังต้องการป้องกันการผลิตลอกเลียนแบบอีกด้วย” แหล่งข่าวในรัฐบาลรัสเซีย บอกกับ Kommersant ทั้งนี้ จีนมีประวัติการผลิตเครื่องบินรบที่อาศัยแบบของรัสเซียและประเทศอื่น เครื่องบินขับไล่ เฉิงตู เจ-10 (Chengdu J-10) คล้ายกับเครื่องบินขับไล่ของอิสราเอล Lavi มาก เสิ่นหยัง เจ-11 ก็จำลองแบบมาจาก ซู-30 เฟลนเกอร์-ซี (Su-30 Flanker-C) และ เฉิงตู เอฟซี-1 (Chengdu FC-1) ก็ใช้เครื่องยนต์รัสเซีย และเทคโนโลยีจาก มิค-29 (MiG-29) เป็นต้น |
||||
สื่อจีนยังได้อ้างนิตยสาร Kanwa Information Center ของแคนาดา รายงานเมื่อเร็วๆนี้ จีนปะสบความสำเร็จในการดัดแปลงเครื่องบินรบรัสเซีย ซู-27 และซู-30 และนำมาพัฒนาเป็นเครื่องบินรบ เจ-11บี และ เจ-16 ด้วยพื้นฐานนี้เอง จีนยังอาจดัดแปลงซู-34 มาพัฒนาเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดในเขตแนวหน้ารุ่นมหากาฬ รายงานอ้างแหล่งข่าววงในการบินจีน ระบุว่า ซู-34 เวอร์ชั่นจีนนี้ อยู่ในขั้นตอนพัฒนาและผลิต หลังจากนั้น ก็จะอาศัยฐานเทคโนโลยี ซู-34 นี้ มาพัฒนาเครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่นใหม่ ที่สามารถบรรทุกระเบิดถึง 8 ตัน บุกตะลุยเข้าไปในเขตแนวหน้า และจะกลายเป็นเขี้ยวเล็บชั้นยอดของกองทัพอากาศมังกร ในการประชุมสภาผู้แทนประชาชนจีนสัปดาห์นี้ จีนได้แถลงงบประมาณกองทัพจีนสำหรับปีนี้(2554) ได้เพิ่มขึ้นมาอีกกว่าแสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยเพิ่มในอัตรา 11.2 เปอร์เซนต์ ดันค่าใช้ต่ายด้านการทหารสูงถึง 670,000 ล้านหยวน (หรือ 106,400 เหรียญสหรัฐ) |
คลิปแสดงสมรรถนะของเครื่องบินรบรุ่น Su-34 ของรัสเซีย ซึ่งมีความสามารถจัดจ้าน เทียบเท่า F-15E Strike Eagle ของสหรัฐฯ (คลิปยูทูป)
http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9550000030863