หน้าแรก    ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบคำถาม    เข้าสู่ระบบ      


การปฏิบัติการรบบนที่มั่นตั้งรับ แนวเจมส์ทาวน์ด้านเขาพอร์คชอป สมรภูมิที่ถูกลืม ในสงครามเกาหลี

โดยคุณ : PROTOTYPE เมื่อวันที่ : 09/03/2012 11:50:24

 

เนื่องจากมีคนหลายท่านถามความเป็น มา อยากรู้ความจริงเกี่ยวทหารไทยสมัยก่อนที่รบในช่วงสงครามเกาหลีเเละวีรกรรม ทหารไทยทำไมจึงได้สมญานาม ว่าLittle Tiger

หรือ

"
กองพันพยัคฆ์น้อย" 

        วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๔๙๕ กองพันทหารไทยได้ผลัดเปลี่ยนกับกองพันทหารสหรัฐฯ บนแนวเจมส์ทาวน์ ด้านเขาพอร์คชอป มีเขตปฏิบัติการสำคัญคือ เขาพอร์คชอป (เขา ๒๕๕) กับเขาสนุ๊ค  (เขา ๑๘๗) ที่บังคับการกองพันอยู่ที่หมู่บ้านอันเยิง ส่วนกองร้อยกำลังทดแทน และคลังเก็บของอยู่ที่เมืองยอนชอน
            กองพันทหารไทยได้รับมอบภารกิจ ให้ยึดรักษาเขาพอร์คชอปไว้ให้ได้ โดยได้รับการยิงสนับสนุนด้วยอาวุธหนักจากกรมทหารราบที่ ๙ สหรัฐฯ ได้รับสนับสนุนรถถัง ๑ หมวด เครื่องยิงหนัก ๔.๒ นิ้ว ๑ หมวด และปืนต่อสู้อากาศยาน ๑ หมวด พื้นที่ปฏิบัติการที่กองพันทหารไทยได้รับมอบ มีความกว้างด้านหน้า ประมาณ ๓ กิโลเมตร จึงได้วางกำลัง ๓ กองร้อยในแนวหน้า จัดกองร้อยรักษาด่านรบที่หน้าแนว ๒ แห่งคือ ที่เขาพอร์คชอป มีกำลัง ๑ หมวดปืนเล็กเพิ่มเติมกำลัง และหมู่ตรวจการณ์หน้าปืนใหญ่ ๑ หมู่ ส่วนที่เขาสนู๊คมีกำลัง ๒ หมู่ปืนเล็ก


 

       พื้นที่ที่กองพันทหารไทยได้รับมอบอยู่บริเวณหน้าเขาทีโบน ภูมิประเทศสำคัญหน้าแนวคือ เขาพอร์คชอปกับเขาสนู๊ค เบื้องหน้าเขาพอร์คชอปเป็นภูเขาลูกเล็ก ๆ ที่ฝ่ายข้าศึกยึดอยู่ ๒ ลูกคือ เขาฮาร์คโกล และเขาโพลเค เขาพอร์คชอปตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองชอร์วอน ซึ่งเป็นเมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์เมืองหนึ่งของเกาหลี ลักษณะเป็นสันเขาโดดเดี่ยว ล้อมรอบด้วยหุบเขาสลับซับซ้อน สูงจากระดับน้ำทะเล ๒๕๕ เมตร เป็นชัยภูมิที่ทั้งสองฝ่ายต้องการยึดเอาไว้เพื่อความได้เปรียบทางยุทธวิธี เพราะเป็นจุดคุมเส้นทางหลักที่จะเจาะเข้าถึงเมืองชอร์วอนทางทิศตะวันออก เมืองยอนชอนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ พื้นที่บริเวณเขาพอร์คชอปนี้ได้มีการแย่งยึดเปลี่ยนมือกันไปมา หลายครั้งของทั้งสองฝ่าย และครั้งสุดท้ายได้ตกเป็นของฝ่ายกองกำลังสหประชาชาติ
            หลังจากขึ้นประจำที่มั่น เมื่อ ๒๒ ตุลาคม ๒๔๙๕ กองพันทหารไทยก็รีบดำเนินการปรับปรุงเส้นทางคมนาคม จากที่บังคับการกองพันไปยังที่มั่นบนเขาพอร์คชอป แต่ทำได้ไม่สดวก เพราะถูกข้าศึกยิงรบกวนตลอดเวลา จึงต้องใช้รถสายพานลำเลียงพล จากหน่วยเหนือมาใช้ พร้อมทั้งขอเครื่องทำควันขนาดใหญ่ มาใช้ปล่อยควันกำบังการตรวจการณ์ เพื่อใช้ในการเคลื่อนที่ผ่านเส้นทางนี้เวลากลางวัน ดำเนินการปรับปรุงคูสนามเพลาะ และเครื่องกีดขวางประเภทลวดหนาม โดยเพิ่มแนวลวดหนามจากเดิม ๒ แนวเป็น ๔ แนว วางแผนการใช้ทุ่นระเบิด และหีบระเบิดนาปาล์มที่มีอานุภาพรุนแรงเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นยังได้จัดกำลังกองหนุนเคลื่อนที่เร็ว เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน และจำเป็นโดยใช้กำลังจากกองร้อยกองบังคับการ และกำลังพลอืน ๆ ที่มิได้ติดพันการรบในขณะนั้น พร้อมกันนั้น ทางหน่วยเหนือก็ได้ออกคำแนะนำทางยุทธการ ให้หน่วยระดับกองพันจัดตั้ง ศูนย์ประสานการยิงช่วยขึ้น นับว่าเป็นการกระทำครั้งแรกในระดับกองพัน กองพันทหารไทยได้เตรียมการขอรับการสนับสนุนฉากการยิงคุ้มครอง เป็นวงแหวนรอบที่มั่นรักษาด่านรบเขาพอร์คชอป โดยขอให้ปืนใหญ่กองพลของกองพลทหารราบที่ ๒ สหรัฐฯ ซึ่งมีอยู่ ๔ กองพัน วางฉากการยิงที่เรียกว่าวงแหวนเหล็กเอาไว้ เพื่อใช้ในกรณีที่ถูกข้าศึกเข้าตี ด้านการสื่อสารก็มีการวางข่ายการติดต่อสื่อสารให้แน่นแฟ้น ใช้การสื่อสารทางสายเป็นหลัก ได้จัดวางข่ายการสื่อสารไปยังจุดที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไปยังเขาพอร์คชอปถึง ๗ ทางสาย โดยฝังสายลงใต้ดิน พาดไปบนพื้นดิน และขึงสายเหนือพื้นดิน
            นอกจากนี้ยังจัดกำลังออกลาดตระเวณหาข่าวประจำวัน ๆ ละ ๓ สาย มีการจัดหมวดรบพิเศษ (Ranger Platoon) ขึ้นเป็นครั้งแรก จากผู้อาสาสมัครซึ่งมีเป็นจำนวนมาก แต่คัดเลือกไว้ ๔๐ คน เพื่อใช้ในการลาดตระเวณรบลึกเข้าไปในแนวข้าศึก เพื่อจับเชลยตามคำแนะนำของหน่วยเหนือ
การรบบนที่มั่นเขาพอร์คชอป ครั้งที่ ๑


   ในคืนวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๔๙๕ ฝ่ายข้าศึกประมาณ ๑ หมวด เคลื่อนที่เข้าจู่โจมที่ฟัง การณ์สาย ๘ ทางมุมด้านทิศตะวันออกของเขาพอร์คชอป ศูนย์ประสานการยิงคุ้มครองอย่างต่อเนื่อง จนข้าศึกต้องถอนตัวกลับไป ทิ้งศพผู้เสียชีวิตไว้เท่าที่ตรวจพบ ๑๐ ศพ ต่อมาเมื่อบ่ายวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ ข้าศึกได้ยิงเตรียมมายังที่มั่นเขาพอร์คชอปด้วยปืนใหญ่ และเครื่องยิงลูกระเบิด ฝ่ายเราได้รับความเสียหายมาก ตอนค่ำข้าศึกส่งกำลัง ๑ กองพัน เคลื่อนที่เข้าตี ๒ ทิศทาง ไปยังที่ฟังการณ์สาย ๔ และที่ฟังการณ์สาย ๘ ได้มีการต่อสู้กันในระยะประชิด จนต้องถอนตัวกลับเข้าที่มั่น ข้าศึกก็ได้เคลื่อนที่ติดตามมาอย่างกระชั้นชิด จนถึงบริเวณที่มั่นเขาพอร์คชอป จึงได้มีการยิงฉากวงแหวนทำลายข้าศึกที่เข้ามาถึงขอบที่มั่น จนข้าศึกต้องถอนตัวกลับไป การรบครั้งนี้ฝ่ายเราเสียชีวิต ๘ คน บาดเจ็บ ๑๗ คน ฝ่ายข้าศึกเสียชีวิต ๕๐ คน พบร่องรอยการระดมยิงด้วยปืนใหญ่ และเครื่องยิงหนักกว่า ๖๐๐ นัด ในบริเวณที่มั่นของฝ่ายเรา ในวันรุ่งขึ้นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ ๒ สหรัฐฯ ได้เดินทางมาเยี่ยมกองพันทหารไทย ได้แสดงความประทับใจอย่างมากที่ทหารไทยมีจิตใจห้าวหาญ แกร่งกล้า เป็นที่น่ายกย่องสรรเสริญเป็นอย่างยิ่ง และได้หนังสือชมเชยกองพันทหารไทยด้วย
            ต่อมากองพลทหารราบที่ ๒ สหรัฐฯ ได้ส่งทหารช่างพร้อมที่กำบังสำเร็จรูป (Prefabrication Sef) มาให้ ทำให้มีความมั่นคงแข็งแรงกว่าที่มีอยู่เดิม และปรับปรุงที่มั่นให้กลับสู่สภาพเดิม จากการเสียหายที่ข้าศึกเข้าตีในครั้งนี้

 

 

 

การรบบนที่มั่นเขาพอร์คชอป ครั้งที่ ๒
            เมื่อ ๖ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ เวลาประมาณ ๒๐.๐๐ น. ฝ่ายข้าศึกได้ส่งหน่วยลาดตระเวณ ประมาณ ๑ หมวด เข้าโจมตีที่มั่นเขาพอร์คชอป โดยเข้าโจมที่ฟังการณ์หมายเลข สาย ๔ และสาย ๘ ได้ ข้าศึกได้ระดมยิงด้วยอาวุธประจำหน่วย และอาวุธประจำกายอย่างรุนแรง เพื่อพิสูจน์ทราบที่ตั้งฝ่ายเรา ทหารไทยในที่มั่นได้ยิงพลุส่องสว่างพร้อมกับขอการยิงสนับสนุนจาก หน่วยเครื่องยิงหนักของกองพัน ข้าศึกจึงถอนตัวกลับไป
            ต่อมา ระหว่าง ๐๑.๐๐ - ๐๒.๐๐ น.ฝ่ายข้าศึกทำการเข้าตีที่มั่นเขาพอร์คชอปอีกเป็น ๓ ระลอก ระลอกแรก ข้า ศึกใช้กำลังประมาณ ๑ กองร้อย เข้าตีทางทิศตะวันตก ด้านที่ฟังการณ์ ๘ ระดมยิงด้วยอาวุธประจำกาย และประจำหน่วย พร้อมทั้งปืนใหญ่ และเครื่องยิงหนัก ใช้เวลาประมาณ ๔๕ นาที จึงหยุดการโจมตี แต่ยังคงระดมยิงด้วยปืนใหญ่ และเครื่องยิงหนักต่อไป ระลอกที่สองริ่ม ประมาณ ๐๑.๔๐ น. ข้าศึกใช้กำลังประมาณ ๑ กองร้อย เข้าตีทางทิศเหนือด้านที่ฟังการณ์ ๔ สนับสนุนด้วยปืนใหญ่ และเครื่องยิงหนัก และอาวุธนานาชนิด ฝ่ายเราต้านทานอย่างเหนียวแน่น จนข้าศึกต้องยุติการจมตีเมื่อเวลา ๐๒.๑๕ น.และถอนตัวกลับไป ระลอกที่สามวลา ๐๒.๓๕ น. ข้าศึกใช้กำลังประมาณ ๒ หมวด เข้าตีทางด้านทิศตะวันตกด้านที่ฟังการณ์ ๘ อีกครั้งหนึ่ง ได้อาศัยความมืดคืบคลานเข้ามาใกล้ที่มั่นฝ่ายเรา จนถึงระยะใช้ระเบิดขว้างของทั้งสองฝ่าย ทหารไทยที่ประจำอยู่ ณ ที่ฟังการณ์ทั้งสามสาย ได้รับคำสั่งให้ถอนตัวกลับเข้าที่มั่น ฝ่ายข้าศึกจำนวนมาก ได้ติดตามมาอย่างกระชั้นชิด จนมาถึงหน้าที่มั่นใหญ่ในพื้นที่การยิงฉาก ผู้บังคับที่มั่นจึงขอการยิงฉากวงแหวนเหล็ก ทำให้การเข้าตีของข้าศึกหยุดชะงัก และล่าถอยกลับไป ในการเข้าตีของข้าศึกครั้งนี้ ข้าศึกได้เปลี่ยนยุทธวิธีใหม่ เพื่อหวังผลในการจู่โจม โดยไม่ใช้การยิงเตรียมเหมือนการเข้าโจมตีทั่วไป แต่ได้อาศัยความมืดเป็นเครื่องกำบัง หวังที่จะลอบเข้ามาใกล้ที่มั่น เพื่อหวังผลในการจู่โจม
           


เพื่อ เพิ่มประสิทธิภาพการตรวจการณ์ และเพื่อจำกัดเสรีในการเคลื่อนที่ของข้าศึก ฝ่ายเราได้ยิงพลุส่องแสงจากเครื่องยิงลูกระเบิด และจากปืนใหญ่แบบประสานส่องสว่างอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้ผลอย่างมากในการยับยั้งข้าศึก และยังเป็นการบำรุงขวัญฝ่ายเราได้เป็นอย่างดี
            การสูญเสียจากการที่ข้าศึกเข้าตีครั้งนี้ ฝ่ายเราเสียชีวิต ๕ คน บาดเจ็บ ๕ คน ฝ่ายข้าศึกเสียชีวิต ๑๐ คน เท่าที่พบศพ และคาดว่าจะเสียชีวิตทั้งสิ้น ๕๐ คน บาดเจ็บประมาณ ๑๐๐ คน ฝ่ายเรายึดได้อาวุธยุทโธปกรณ์ของข้าศึกได้ จำนวนหนึ่ง

การรบบนที่มั่นเขาพอร์คชอป ครั้งที่ ๓
            จากการเฝ้าตรวจการณ์ทางอากาศของหน่วยเหนือมีสิ่งบอกเหตุแสดงว่า ฝ่ายข้าศึกจะต้องเข้าตีที่มั่นเขาพอร์คชอปอีกครั้งอย่างแน่นอน ประสบการณ์ที่ได้รับจากการเข้าตีของข้าศึกสองครั้งที่ผ่านมา ได้มาปรับปรุงการตั้งรับของหน่วยให้ดียิ่งขึ้นโดยเฉพาะที่กำบังปิด ให้มีความมั่นคงแข็งแรง สามารถต้านทานอาวุธหนักของข้าศึกได้ดีขึ้นกว่าเดิม และได้ปรับฉากการยิงวงแหวนเหล็กเสียใหม่ ให้สามารถทำลายข้าศึกที่เข้ามาหน้าที่มั่นระยะใกล้อย่างมีประสิทธผล
            ในการเข้าตีครั้งนี้ฝ่ายข้าศึกได้ยิงรบกวนด้วยอาวุธหนักชนิดต่าง ๆ ทั้งกลางวัน และกลางคืนเป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน ในคืนที่สามคือ คืนวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ ตอนค่ำ ข้าศึกได้ระดมยิงอย่างหนักด้วยเครื่องยิงหนักและปืนใหญ่ไปยังเขา อาร์เซนัล (Arsenal) และเขาเอียร์ (Eerie) ตรงปลายด้านใต้ของเขาทีโบน ซึ่งกองพันที่ ๑ สหรัฐฯ ยึดอยู่ แสดงที่ท่าว่าจะเข้าตีทางด้านนั้น แต่ไม่เข้าตี จนถึงเวลา ๒๐.๐๐ น. ได้ส่งกำลังส่วนหนึ่งเข้าตีทางด้านเขาโอลด์บอลดี ซึ่งกองพันทหารราบที่ ๓ ของสหรัฐฯยึดอยู่ และต่อมาได้ใช้กำลัง ๑ กองพัน พร้อมด้วยกองร้อยลาดตระเวณของกรม เคลื่อนที่เข้าสู่เขาพอร์คชอป ในการเข้า

 

 

ตีครั้งนี้ ข้าศึกได้ส่งกำลังเข้าตีถึง ๓ ระลอก ตลอดคืนคือ
            ระลอกแรก  เข้าตีเวลา ๒๓.๒๕ น. ใช้กำลัง ๒ กองร้อยเข้าตีทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ด้านที่ทำการสาย ๘ อย่างจู่โจม โดยไม่มีการยิงเตรียมด้วยปืนใหญ่ เมื่อกำลังจากที่ฟังการณ์ทั้งสามสายถอนตัวกลับที่มั่นแล้ว ได้มีการยิงอาวุธหนักทุกชนิดของฝ่ายเราเพื่อป้องกันที่มั่น พร้อมทั้งยิงพลุส่องสว่างทั้งจากกองร้อยอาวุธหนักของไทย และการทิ้งพลุส่องสว่างจากเครื่องบินฝ่ายเรา เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง และทิ้งระเบิดทำลายเส้นทางรุกต่าง ๆ ของข้าศึก จนถึงเวลา ๒๔.๐๐ น. ข้าศึกส่วนหน้าได้แทรกซึมถึงคูสนามเพลาะ ในเขตที่มั่นเขาพอร์คชอป เนื่องจากเครื่องกีดขวางที่กองพันทหารไทยทำไว้ถึง ๘ ชั้น ทำให้ข้าศึกไปติดอยู่แนวลวดหนาม และถูกยิงตาย ณ ที่นั้นเป็นจำนวนมาก แต่ก็มีบางส่วนเข้าเล็ดลอดผ่านเข้าไปได้ จึงมีการต่อสู้กับทหารไทยถึงขั้นตะลุมบอนเป็นจุด ๆ ข้าศึกใช้ลูกระเบิดขว้างตามช่องที่กำบังปิด เช่นปล่องเตายิง ช่องยิง ช่องระบายอากาศ และประตูที่กำบังปิด รวมทั้งคูติดต่อที่ทหารไทยยึดอยู่ การต่อสู้ขั้นตะลุมบอนเป็นไปประมาณ ๒๐ นาที กองพันได้ส่งหมวดรบพิเศษเข้าไปเสริมกำลัง โดยเคลื่อนที่ฝ่าฉากการยิงของเครื่องยิงลูกระเบิด และปืนใหญ่เข้าไป จนเข้าไปถึงที่มั่นบนเขาพอร์คชอปได้เมื่อ เวลา ๐๐.๑๕ น. ขณะที่การสู้รบในระยะประชิดยังดำเนินต่อไป หลังจากการยิงกระสุนแตกอากาศของปืนใหญ่ฝ่ายเราเหนือที่มั่นสงบลงแล้ว หมวดรบพิเศษก็นำกำลังเข้าผลักดันข้าศึก ร่วมกับฝ่ายเราที่บนที่มั่นจนสามารถผลักดันให้ข้าศึก ถอยกลับไปด้วยความสูญเสียอย่างหนัก


            ระลอกที่สอง  เมื่อเวลา ๐๐.๒๐ น. ฝ่ายข้าศึกประมาณ ๑ กองพัน เข้าตีที่มั่นเขาพอร์คชอปอีกระลอก โดยเข้ามาถึงสามทิศทาง คือทางทิศเหนือตรงที่ฟังการณ์สาย ๔ ทางทิศตะวันออกตรงที่ฟังการณ์สาย ๒ และทางทิศตะวันตก ตรงที่ทำการสาย ๘ ฝ่ายเราได้ยิงพลุส่องสว่างจากกองร้อยอาวุธหนัก เพื่อช่วยในการตรวจการณ์อยู่ตลอดเวลา ฝ่ายเราได้ใช้เครื่องยิงลูกระเบิด และปืนใหญ่ระดมยิงช่วยอย่างรุนแรง จนเวลา ๐๑.๐๕ น.ข้าศึกจึงถอยกลับไป
            ระลอกที่สาม  เมื่อ เวลา ๐๓.๒๒ น. ฝ่ายข้าศึกได้ส่งกำลังเข้าตีที่มั่นเขาพอร์คชอป ๒ ทิศทาง ด้วยกำลัง ๑ กองร้อยเพิ่มเติมกำลัง โดยเข้าตีทางทิศตะวันออก ด้านที่ฟังการณ์สาย ๒ กับอีก ๑ กองร้อยเพิ่มเติมกำลังทางทิศตะวันตก ด้านที่ทำการสาย ๘ หน่วยเหนือได้ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดสะกัดเส้นทางส่งกำลังหนุนของข้าศึก และทิ้งพลุส่องสว่างหน้าแนว ตามคำขอของกองพันทหารไทย เมื่อข้าศึกส่วนใหญ่เคลื่อนที่เข้ามาในพื้นที่การยิงฉากที่เตรียมไว้ ก็เริ่มยิงฉากวงแหวนทันที กองร้อยอื่น ๆ ซึ่งไม่ได้ถูกระดมยิงจากข้าศึก หรือถูกยิงเพียงประปราย ต่างก็ระดมยิงช่วยหน่วยบนที่มั่นเขาพอร์คชอปอย่างเต็มที่ แต่ข้าศึกส่วนหนึ่ง สามารถเคลื่อนที่ถึงหน้าแนวที่มั่นเขาพอร์คชอปได้ เครื่องกีดขวางของฝ่ายเราถูกทำลายด้วยปืนใหญ่ และบังกาลอร์ตอร์ปิโด ที่ใช้ยิงเจาะช่องเข้าไป เกิดการต่อสู้กันในระยะประชิด ฝ่ายเรามีการปรับปรุงการตั้งรับให้มีประสิทธิภาพกว่าเดิม โดยกำหนดให้ปืนกลตั้งยิงในที่กำบังปิดทั้งหมด ส่วนพลปืนเล็กให้ต่อสู้อยู่ในคูยิงนอก ที่กำบัง ทำให้ข้าศึกถูกยิงตายเป็นอันมาก ส่วนที่เล็ดลอดเข้ามาได้ก็ตกเป็นเป้ากระสุนของฝ่ายเราอย่างเต็มที่ เมื่อจวนใกล้สว่างข้าศึกจึงเริ่มหยุดการเข้าตี และถอนตัว คงเหลือกำลังประมาณ ๑ หมวด ยึดภูมิประเทศคุมเชิงอยู่ที่ลาดเขาพอร์คชอปทางด้านเหนือ และถอนตัวกลับไปเมื่อ ๐๗.๐๐ น. ฝ่ายเราได้ส่งหมู่ลาดตระเวณติดตามข้าศึก และสามารถจับเชลยศึกได้ ๔ คน


           

 

ผล การเข้าตีครั้งนี้ ข้าศึกระดมยิงปืนใหญ่ และเครื่องยิงหนักต่อที่มั่นเขาพอร์คชอปเป็นจำนวนประมาณ ๒,๗๐๐ นัด ฝ่ายไทยเสียชีวิต ๑๒ คน บาดเจ็บสาหัส ๓ คน บาดเจ็บเล็กน้อย ๕๔ คน ฝ่ายข้าศึกเสียชีวิตนับศพได้ ๒๐๔ ศพ วันรุ่งขึ้นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ ๒ สหรัฐฯ ได้เดินทางไปเยี่ยม เมื่อเห็นสภาพการสู้รบแล้วก็ได้กล่าวกับผู้บังคับกองพันทหารไทยว่า "ข้าพเจ้าไม่มีอะไรสงสัยในจิตใจแห่งการต่อสู้ของทหารไทยอีกแล้ว"
            เนื่องจากกองพันทหารไทยได้รับความบอบช้ำอย่างหนัก จากการถูกข้าศึกเข้าตีถึง ๓ ครั้ง ในห้วยระยะเวลาเพียง ๑๐ วัน แต่ยังไม่ถึงกำหนดเวลาการผลัดเปลี่ยน จึงได้พิจารณาให้กองร้อยที่ ๑ ถอนตัวกลับไปพักผ่อน และให้กองพันที่ ๒ สหรัฐฯ ซึ่งอยู่ทางปีกซ้ายขยายพื้นที่ความรับผิดชอบเข้ามาแทน

                                                              


ในการ รบดังกล่าวกองพันทหารไทย และทหารไทย จึงได้รับ อิสริยาภรณ์ เหรียญตรา และเกียรติบัตรชมเชยในการประกอบวีรกรรมครั้งนี้ รวมทั้งสมญานาม Little Tiger (พยัคฆ์น้อย) จากพลเอก แวนฟลิค แม่ทัพที่ ๘ สหรัฐฯ สมญานามดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในสมรภูมิเกาหลี
            ต่อมาเมื่อ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ จอมพล ป.พิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีหนังสือชมเชยการปฏิบัติการรบของกองพันทหารไทยที่เขาพอร์คชอป และต่อมากองพันที่ ๘ สหรัฐฯ ได้มอบเกียรติบัตรของประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพื่อเชิดชูวีรกรรมอันดีเด่น และเป็นเกียรติประวัติแก่กำลังพล ในกองพันทหารไทยผลัดที่ ๓ จำนวน ๒๙ คน เป็นลิเยียนออฟเมอริต ดีกรีเลยอนแนร์ ๑ คน คือ พันโท เกรียงศักดิ์  ชมะนันท์ เหรียญซิลเวอร์สตาร์ ๙ คน เหรียญบรอนซ์สตาร์ ประดับอักษรวี ๑๕ คน เหรียญบรอนซ์สตาร์ ๔ คน

เนื้อหาจากบทความ http://atcloud.com/stories/89379


 





ความคิดเห็นที่ 1


สุดยอดครับได้ความรู้มากครับ ผมกำกลังหาข้อมูลอยู่พอดีเลย เคยได้ยินแต่เกรียติศัพท์แต่ไม่รู้ลึกถึงรายละเอียดครับ ขอบคุณมากครับ

โดยคุณ champ thai army เมื่อวันที่ 11/02/2012 18:14:39


ความคิดเห็นที่ 2


รายชื่อบรรทัดล่างสุดทางซ้ายมือเป็นคุณลุงของผมเองครับ ตอนที่ทางการมาส่งข่าวเสียชีวิตก็ตกตะลึงกันทั้งครอบครัวและเสียใจกันมาก เพราะตอนนั้นท่านยังหนุ่มมากและจากไปเร็ว ถ้าผมจำไม่ผิดตอนเสียชีวิตท่านมียศเป็นสิบเอก ดูเหมือนว่า คนเกาหลีใต้จะลืมเลือนเรื่องนี้ไปหมดแล้ว น่าเศร้าจริงๆ
โดยคุณ seaman เมื่อวันที่ 11/02/2012 21:20:59


ความคิดเห็นที่ 3


กลยุทธ การศึก ล้ำลึกปานใด

หากขาดปัจจัย ไร้ฤทธิ

โดยคุณ Easycompany เมื่อวันที่ 13/02/2012 15:17:23


ความคิดเห็นที่ 4


ขอโทษที่หยาบนะครับแต่อ่านแล้วเลือดรักชาติมันขึ้นเลยแต่งเป็นกลอนขึ้นมา   ไม่มีทหารไทยในวันนั้น ก็ไม่มีกรุงโซลในวันนี้ ดงบังชินกิที่พวกมึงได้ยินดี จะไม่มาเต้นอย่างนี้ให้พวกมึงได้ดู

โดยคุณ akenaptec13 เมื่อวันที่ 09/03/2012 00:50:24