ประธานาธิบดีดมิทรี่ เมดเวเดฟ ของรัสเซีย สั่งการให้กองทัพเตรียมส่งขีปนาวุธเข้าประจำการในเขตคาลินินกราด ดินแดนของรัสเซียแต่อยู่ในเขตของยุโรป เพื่อตอบโต้แผนสร้างระบบป้องกันขีปนาวุธของกลุ่มองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต้ ประชิด พรมแดนรัสเซีย
ขีปนาวุธที่จะถูกส่งเข้าไปประจำการณ์ในภูมิภาคแถบทะเลบอลติกนี้ก็คือขีปนาวุธ อิสกันเดอร์ หรือที่นาโต้เรียกว่า เอสเอส 26 สโตน ซึ่งติดตั้งอยู่บนรถบรรทุก หากนำมาติดตั้งที่คาลินินกราด ซึ่งเป็นจุดที่อยู่ด้านตะวันตกที่สุดของรัสเซีย อิสกันเดอร์ สามารถโจมตีทุกประเทศในกลุ่มนาโต้ได้ภายในเวลาแค่ 5 นาที หรือน้อยกว่านั้น
ในการกล่าวสุนทรพจน์ที่เมืองกอร์กี้ ในเขตตอนกลางของประเทศเมื่อวาน เมดเวเดฟ บอกด้วยว่า ขีปนาวุธระบบอื่นๆที่สามารถโจมตีเป้าหมายในยุโรปได้ อาจจะถูกส่งเข้าประจำการเพิ่มเติมในทางใต้และทางตะวันตกของรัสเซียด้วย หากมาตรการแรกไม่เพียงพอสำหรับการป้องกันประเทศ
เขาบอกด้วยว่า รัสเซียจะจัดทำระบบป้องกันขีปนาวุธของตนเองด้วย เพื่อให้มันสามารถโจมตีระบบป้องกันขีปนาวุธของนาโต้ได้
หลังทราบเรื่อง เลขาธิการนาโต้ นายแอนเดิร์ส ฟอจห์ ราสมุสเซ่น บอกว่าท่าทีของรัสเซียน่าผิดหวัง เพราะระบบก้องกันขีปนาวุธของนาโต้ ออกแบบมาเพื่อการป้องกันภัยคุกคามจากนอกยุโรป ไม่ได้ออกมาเพื่อปรับเปลี่ยนความสมดุลของการคานอำนาจทางการทหารระหว่างนาโต้กับรัสเซีย
ด้านนายมาร์ก โทเนอร์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐก็บอกว่า ไม่มีความจำเป็นที่รัสเซียจะต้องมีมาตรการตอบโต้ทางการทหาร เพราะโครงการนี้ทำกันอย่างเปิดเผย โปร่งใสมาเป็นเวลาช้านานแล้ว โครงการนี้เป็นผลมาจากอันตรายของอิหร่าน ที่พันธมิตรของสหรัฐกำลังต้องเผชิญมากขึ้น มันไม่ได้พุ่งเป้ามายังรัสเซียโดยตรง
แต่ผู้นำรัสเซียก็ยังคงเปิดทางสำหรับการแก้ปัญหาเอาไว้ โดยบอกว่ารัสเซียจะเดินหน้าเจรจาเรื่องนี้จนถึงหยดสุดท้าย แต่ก็เสริมว่า ทั้งนาโต้และสหรัฐไม่สนใจในเรื่องการรอมชอม และหากเรื่องนี้ล้มเหลว ก็อาจจะนำไปสู่การแข่งขันสั่งสมอาวุธนิวเคลียร์กันอีกครั้ง
ก่อนหน้านี้ รัสเซียเคยพิจารณาข้อเสนอของนาโต้ ในเรื่องความร่วมมือในโครงการป้องกันขีปนาวุธ แต่ก็ตกลงกันไม่ได้ว่าควรบริหารระบบอย่างไร เพราะฝ่ายรัสเซียเสนอให้เป็นการร่วมกันบริหาร แต่ทางนาโต้ไม่ยินยอม